วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ศักดิ์ศรี หรือจะหนีพ้นความเป็นจริง (ตอนจบ)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมจบลงตรงที่ว่า “.....ต้องยอมรับว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจสเปนเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือการที่คนสเปนว่างงาน นอกจากจะเป็นปัญหาอันสืบเนื่องมาจาก “สภาพคล่อง” ในระบบที่บังคับให้บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลงหรือลดการจ้างงาน แต่ยังคงมีส่วนที่เกี่ยวพันกับปัญหา “ความสามารถในการแข่งขัน”เพราะภาคส่งออกของสเปนยังคงติดลบมาตลอดเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว.....แต่ผมยังเชื่อว่าสเปนยังไม่เดี้ยง”

    สัปดาห์นี้ผมจะลองหาคำตอบมานำเสนอท่านผู้อ่านว่าทำไมผมจึงยังเชื่อว่าสเปนจะไม่เดี้ยง
จักรวรรดิ์สเปนที่ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเปลี่ยนนิสัย “กู้เก่ง ใช้เก่ง” มาแต่สมัยโบราณ

พระเจ้าฟิลิปที่สองแห่งสเปนขึ้นครองราชย์ในปีคริสต์ศักราช 1556 และได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “กษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุด” ในยุโรป (ซึ่งในยุคนั้นก็คือรวยที่สุดในโลกนั่นเอง) แต่ในวันที่พระเจ้าฟิลิปที่สามสืบบรรลังก์ต่อมาในอีก 32 ปีให้หลัง สเปนเป็นรัฐที่ “ล้มละลาย” อย่างสิ้นเชิง

เป็นไปได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

คำตอบไม่สลับซับซ้อนแม้แต่น้อย หากท่านเป็นผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ (เหมือนผม) เพราะหากท่านเดินกลับเข้าไปในประวัติศาสตร์ยุโรป จะพบว่าบรรดากษัตริย์ทั้งหลายในยุคนั้นมีนิสัยที่คล้ายคลึงกันอยู่สองสามอย่าง

หนึ่ง ชอบใช้ชีวิตหรูหราฟูฟ่า ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

สอง ชอบแสดงศักดานุภาพ ด้วยการสร้างสมกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ (ซึ่งในยุคหลายร้อยปีที่แล้วก็คือ การสร้างกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า Armada ในภาษาสเปนนั่นเอง)

สาม ชอบสร้างวังและอัครสถานต่างๆ (ซึ่งในบางครั้งรวมทั้งศาสนสถานในบางลักษณะด้วย) เพื่ออวดโอ่ความอลังการณ์ ความมโหฬารพันลึก หรือไม่ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองความเชื่อลี้ลับบางประการ

นิสัยทั้งสามอย่างของจักรพรรดิ์ทั้งหลายล้วนปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์อย่างมากมายหลายรูปหลายลักษณะ (ไม่จำเป็นต้องอรรถาธิบายในรายละเอียด ณ ที่นี้) ในสมัยของพระเจ้าฟิลิปที่สองเอง ที่ใช้เงินรายการใหญ่ที่สุดก็คือกองเรือรบ เพราะต้องรบกับฮอลแลนด์อย่างต่อเนื่องหลายปี เฉพาะเรื่องนี้ก็หมดไปเป็น “สิบล้านดูแคตส์” อีกรายการหนึ่งก็คือการสร้างพระราชวัง El Escorial ซึ่งถือเป็นพระราชวังที่พิสดารมาก เพราะมีลักษณะเป็นทั้งศาสนสถาน และพระตำหนักที่พักอาศัยของพระมหากษัตริย์ แต่ก็ใหญ่โตพอที่จะเป็นสถานที่ “ล่าสัตว์” ได้อีกด้วย เฉพาะรายการนี้ก็ใช้ไปอีกไม่ต่ำกว่า ”ห้าล้าน” ดูแคตส์
------- (มีรูปตามต้นฉบับ)

El Escorial เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1563 หรือเกือบ 450 ปีที่แล้ว ใช้เวลาสร้างประมาณ 21 ปี เป็นสถาปัตยกรรมอันมหัศจรรย์จนยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็น World Heritage ในปี 1984

เมื่อเก็บภาษี (สมัยนั้นมีแต่พ่อค้ากับชาวนาที่ต้องจ่ายภาษี ชนชั้นสูงไม่ต้อง) ก็แล้ว ขุดทองจากทวีปอเมริกาก็แล้ว ยังได้กระแสเงินสดไม่พอใช้ ในที่สุดพระเจ้าฟิลิปก็จำเป็นต้องอาศัย “เครดิตส่วนพระองค์” ทรงกู้เงินจากบรรดานายธนาคารทั้งหลาย (เช่นตระกูลเมดิชีในอิตาลี) ซึ่งตลอดช่วงการครองราชย์ของพระองค์ สเปนก่อหนี้สินไว้ร่วมร้อยล้านดูแคตส์ (ยอดคงค้างตอนสิ้นพระชนม์คือ 85.5 ล้าน) ซึ่งเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดรับของสเปนในขณะนั้น ก็ต้องถือว่ารัฐบาลสเปนอยู่ในสภาวะ “ล้มละลาย” อย่างชัดเจน
อดีตยังคงหลอกหลอนปัจจุบัน : สเปนจะหลุดพ้นบ่วงหายนะนี้ได้อย่างไร?

    สเปนอีกเกือบห้าร้อยปีให้หลัง ยังคงมีนิสัยมือเติบ และกู้เก่งเหมือนเดิม ล่าสุดตัวเลขยอดหนี้สาธารณะ (หนี้ที่รัฐบาลก่อ แต่ประชาชนต้องชำระ) อยู่ที่ประมาณ 80% ของจีดีพี และรัฐบาลก็ยังคงใช้จ่ายเกินตัวอยู่อีกปีละร่วมแสนล้านยูโร คิดเป็น 6-8% ของจีดีพีมาโดยตลอด เมื่อรัฐบาลเป็นเช่นนี้ ภาคเอกชนก็ต้องย่ำแย่ตามไปด้วย ล่าสุดตัวเลขยอดหนี้มีปัญหา (NPLs) พุ่งขึ้นถึงกว่า 8.15% ของยอดหนี้ทั้งระบบ (ก่อนวิกฤติปี 2008 ตัวเลขหนี้เสียเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เศษๆ เท่านั้น) ทำให้มูลค่าหนี้เสียมากกว่า 13% ของจีดีพี (ร่วมสองแสนล้านดอลลาร์ หรือกว่าครึ่งของจีดีพีประเทศไทย) แล้ว ยอดขาดดุลการค้าก็เพิ่มขึ้นตลอด ผลก็คือประชาชนตกงานกันเป็นเบือ ตัวเลขอัตราว่างงานล่าสุดอยู่ที่ 24% กว่าๆ

    และที่เลวร้ายที่สุด ณ ขณะนี้ ก็คือภาพพจน์และสถานะความน่าเชื่อถือทางเครดิต เพราะล่าสุด Standard & Poor ก็ลดเกรดลงจาก A เป็น BBB+ ในขณะที่ Moody’s ยังคงเกรดเดิมที่ A3 และ Fitch Ratings ยังคงระดับไว้ที่ A แต่ผลก็คืออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุสิบปีของสเปนกระโดดขึ้นเป็นร่วม 6% ทันที

ฉะนั้น ทางออกของสเปนในเฉพาะหน้า จึงหนีไม่พ้นต้องแสดงให้ตลาดเห็นถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ และงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล และต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุด

เหตุที่ผมเชื่อสเปนทำได้ก็เพราะ

ประการแรก สเปนเป็นประเทศขนาดใหญ่ (สัปดาห์ที่แล้วผมบอกว่าสเปนใหญ่เป็นอันดับห้าของสหภาพยุโรป ที่ถูกคืออันดับสี่ครับ) มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงมาเป็นเวลาช้านาน พูดง่ายๆ ก็คือ เป็น “เศรษฐีเก่า” ที่มีทรัพย์ศฤงคารมากมายมหาศาล แม้ว่าช่วงนี้จะมีปัญหาใช้จ่ายมือเติบและสร้างหนี้ไว้มากไปหน่อย แต่หลักทรัพย์ค้ำประกันยังมีมูลค่ามากกว่ามูลหนี้มหาศาล

ประการที่สอง สเปนมีศักยภาพทางอุตสาหกรรม และการค้าที่สามารถจะสร้างรายได้ และ “เม็ดเงินสด” ให้แก่รัฐบาลได้ในระยะยาวเพียงพอที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ในระยะสั้น อาจจะจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากทางสากลโดยเฉพาะสหภาพยุโรป เพื่อช่วยเหลือเพิ่มทุนสร้างความมั่นคงให้กับธนาคารพาณิชย์ของสเปนเป็นการเร่งด่วน เพราะถึงแม้จะไม่ได้เป็นคนก่อ แต่ธนาคารสเปนหลายแห่ง (โดยเฉพาะขนาดใหญ่อย่างเช่น “ทานแซนเดร์”) ก็มีเอี่ยวในกิจกรรมซับไพรม์มาตั้งแต่ต้น และค่อนข้างลึกซึ้งอีกด้วย ถ้าให้ประเมินอย่างคร่าวๆ ธนาคารพาณิชย์ในสเปนต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการเพิ่มทุนอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการที่สาม แม้ว่าจะต้องกู้เงินที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ที่แน่ๆ ก็คือรัฐบาลสเปนยังมีความสามารถในการกู้เงินในตลาดทุนโลก และน่าจะรักษาความสามารถนี้ไว้ได้อีกนาน ด้วยเหตุนี้สเปนจึงยังคงมี access to ตลาดทุนโลก และตราบใดที่ยังเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจไม่พังอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ปัญหาท้าทายรัฐบาลสเปนก็คือจะทำอย่างไรให้คนสเปนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลต้องตัดงบประมาณรายจ่ายในแทบทุกรายการ จนผู้คนตกงานกันเป็นว่าเล่น
คงต้องติดตามดูต่อไป.

วีระ มานะคงตรีชีพ
30 เมษายน 2555

source : http://www.thaipost.net/news/300412/56112

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น