วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สองล้อมาแล้ว สองแถวหลบหน่อย

ดร.ศิรดล ศิริธร
       ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์
       มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
      
       ท่ามกลางละอองฝุ่นและควันพิษหนาใต้สถานีบีทีเอสอารีย์ตอนสายวันนั้น ผมยืนมองกลุ่มคนในชุดสีสันฉูดฉาดขี่จักรยานร่วมสิบคันไหลไปตามกระแสจราจร อย่างรวดเร็ว ผมไม่แน่ใจว่าความเร็วระดับนี้เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจหรือถูกกระแสจราจร บังคับ แต่ผมดูด้วยความเป็นห่วงว่าด้วยความเร็วระดับนี้ ด้วยสภาพพื้นที่ถนนแบบนี้ และด้วยร้อยพันเหตุการณ์ต่างๆ บนท้องถนนของกรุงเทพฯ คนกลุ่มนั้นสามารถสร้างข่าวหน้าหนึ่งได้ตลอดเวลา
      
       กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้จักรยาน กลายเป็นประเด็นร้อนในจุดศูนย์กลางความสนใจ แทบทุกประเทศในโลกต้องการให้ประชาชนของตนเองเปลี่ยนมาใช้จักรยาน ในประเทศไทยกลุ่มผู้ขี่จักรยานรวมตัวกันทำกิจกรรมหลากหลาย และเริ่มแบ่งพื้นที่ความสนใจได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการชี้ให้เห็นบทบาทของจักรยานกับการขนส่งอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม พร้อมกับเรียกร้องสิทธิอันพึงได้ในรูปแบบของทางจักรยาน ที่จอดและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าจะเป็นเสียงดังที่ไม่ได้รับการตอบสนองในเวลารวดเร็ว เท่าที่ควร การจัดหาจุดจอดและสิ่งอำนวยความสะดวกในการจอดจักรยานเป็นเรื่องที่ดูไม่ยาก เย็นนัก แต่ทางจักรยานดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่น่าหนักใจใครหลายๆ ฝ่ายเนื่องด้วยมันไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้โดยไม่สร้างผลกระทบกับหลายๆ ระบบขนส่งที่เราเคยชินกันในปัจจุบัน การแลกพื้นที่ถนนส่วนหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นทางจักรยานโดยให้ผู้ขับรถเป็นผู้ เสียผลประโยชน์เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครกล้าตัดสินใจ อาจเป็นเพราะตัวอย่างของการก่อสร้างช่องจราจรรถประจำทางด่วนพิเศษหรือบีอาร์ ทีบนถนนนราธิวาสได้รับเสียงสะท้อนอย่างรุนแรงที่ไม่ใช่การสรรเสริญ ทั้งที่ผมเชื่อว่าหลักการของบีอาร์ทีบนพื้นดินเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพียงแต่เราคงต้องปรับค่านิยมจากการให้ความสำคัญแก่ผู้ที่แสวงหาความสะดวก สบาย มาเป็นการให้ความสำคัญต่อผู้ไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากกว่า
      
       ...
      
       การชักจูงให้คนหันมาใช้รถจักรยานมีอุปสรรคอยู่หลายประการ อุปสรรคที่ใหญ่หลวงที่สุดในการขี่จักรยาน คือความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทางวิ่งที่สะดวกที่สุดของจักรยานมักจะไม่ใช่บนทางเท้าที่มีแต่ความขรุขระและ ขาดความต่อเนื่องแต่เป็นถนนธรรมดาที่มีรถประเภทต่างๆ วิ่งอยู่ปะปน เมื่อจักรยานต้องมาปะทะกับรถยนต์ขนาดสองพันกิโลกรัม โอกาสอยู่รอดของจักรยานมีอยู่ไม่มากนัก
      
       ในโลกของวิศวกรรมจราจร ยังมีข้อสงสัยกันอยู่ในเรื่องหลักการออกแบบช่องทางจักรยานให้มีความปลอดภัย การทำช่องทางจักรยานทำให้ช่องจราจรสำหรับรถยนต์เล็กลง เชื่อกันว่าการที่รถยนต์ต้องวิ่งในช่องแคบๆ จะไม่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ แต่มันจะทำให้รถยนต์ลดความเร็วลงและยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น แต่การมีช่องทางจักรยานแยกต่างหากไม่ได้แปลว่าจะทำให้ผู้ขับขี่ปลอดภัยยิ่ง ขึ้น การศึกษาหลายครั้งชี้ให้เห็นว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุกลับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อมีการจัดให้มีช่องจักรยาน เนื่องจากผู้ขับขี่รถยนต์ลดระดับความระมัดระวังลงจากความเชื่อถือของ “เขตแดน” พิเศษดังกล่าว แนวโน้มอีกอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนคนขี่ จักรยาน ในหลายเมือง เช่น ปอร์ตแลนด์ และซีแอตเติ้ลในประเทศสหรัฐอเมริกา อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลงเมื่อมีจำนวนจักรยานเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับมอเตอร์ไซค์ เพราะผู้ขับขี่รถยนต์เริ่มมีความตระหนักหรือคาดหวังว่าจะมีรถจักรยานหรือ จักรยานยนต์อยู่รอบๆ ตัว ดังนั้น ยิ่งวัฒนธรรมจักรยานแพร่หลายมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งจะมีจำนวนคนขี่จักรยานเพิ่มมากขึ้น และจะเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากขึ้นด้วย
      
       ผลงานการออกแบบโครงข่ายจักรยานในหลายประเทศทำให้เราเรียนรู้ว่าการ ใช้ช่องทางจักรยานมักจะปัญหากับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ช่องช้าที่สุดวิ่ง การที่จักรยานและรถโดยสารประจำทางมีความเร็วที่แตกต่างกัน แต่มีความเร็วเฉลี่ยที่เท่าๆ กันคือ 20 – 30 กม./ชม. ทำให้เกิดปรากฏการณ์แซงกลับไปกลับมา ลองนึกถึงเวลาเราขับรถทางไกลแล้วเร่งเครื่องแซงรถคันหนึ่ง หลังจากนั้นก็ชะลอความเร็วลงเพียงเพื่อจะถูกรถคันเดิมแซงกลับไปอีกครั้ง คู่ของรถจักรยานและรถเมล์ก็จะเป็นคล้ายๆ กัน นั่นเป็นช่วงเวลาที่น่าอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง สุดท้ายก็จะมีฝ่ายหนึ่งที่พยายามเร่งเครื่องเพื่อหนีอีกฝ่ายหนึ่งให้ขาด การมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลารวมทั้งความพยายามที่จะสลัดให้หลุดออกจาก ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง
      
       เมื่อจักรยานต้องการผ่านทางแยกก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า จะต้องมีการออกแบบสัญญาณไฟจราจรที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หรือถ้าทางแยกมีพื้นที่พอเพียงก็สามารถคงจังหวะไฟสัญญาณจราจรเดิมแต่ปรับใช้ การแบ่งพื้นที่อย่างชาญฉลาด ดังแนวคิดตัวอย่างจากประเทศเนเธอร์แลนด์ < http://youtu.be/FlApbxLz6pA > แต่แนวคิดแบบนี้จะใช้งานได้ คนขับรถยนต์จะต้องมีความเคารพในสิทธิของนักปั่นอยู่พอสมควร เรื่องนี้คงต้องใช้เวลาปรับตัวพักใหญ่ในบ้านเรา นอกจากนี้รถที่จอดอยู่ตามข้างถนนก็คงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางจักรยานอยู่ ต่อไป ทางจักรยานไม่ว่าจะออกแบบอย่างดีแค่ไหนก็จะไม่กลายเป็นโครงข่ายคมนาคมที่มี ประสิทธิภาพได้ถ้าไม่สามารถห้ามจอดรถข้างถนนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วงที่จักรยานต้องเบี่ยงออกขวาเพื่อหลบรถที่จอดเหล่านี้จะเป็นจังหวะเสี่ยง อันตรายที่สุด มีการเสนอแนวทางหลากหลายวิธีเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการจอดรถและปฏิสัมพันธ์อัน ไม่พึงประสงค์ระหว่างจักรยานและการจราจรประเภทอื่นๆ สุดท้ายถึงกับมีแนวคิดสร้างทางเดินและทางจักรยานลอยฟ้าซึ่งยังคงรอผู้กล้า ลุกขึ้นมาพิสูจน์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอยู่
      
       แนวความคิดเพื่อให้จักรยานอยู่ร่วมกับรถยนต์ได้ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า คือการออกแบบทางกายภาพของถนน ระบบยับยั้งจราจรเป็นศาสตร์เกี่ยวกับการออกแบบแนวถนนและใช้องค์ประกอบต่างๆ เพื่อลดความเร็วและเพิ่มความปลอดภัย ไม่ว่าจะทำให้ถนนมีความคดเคี้ยวมากขึ้น ใช้ช่องจราจรที่แคบลง การทาสีตีเส้นให้รู้สึกถึงความอันตราย หรือการสร้างเนินชะลอความเร็วในรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้นการออกแบบให้ระบบขนส่งต่างๆ มาอยู่ร่วมกันก็เป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะความเร็วสูงมี ความระมัดระวังมากขึ้น ถนนเซนต์จอร์จในเมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ถูกจับเข้าโครงการ "Road Diet" ด้วยการลดความกว้างจากสี่เลนลงให้เหลือเพียงสองเลนเพื่อเปิดพื้นที่ให้คน เดินเท้าและจักรยาน พร้อมทั้งออกแบบแยกพื้นที่จอดรถยนต์ออกจากทางจักรยานอย่างสิ้นเชิง เมืองกราซในออสเตรียบังคับใช้ขีดจำกัดความเร็ว 30 กม./ชม. ในพื้นที่ 80% ของเมือง เมืองเล็กๆ หลายเมืองในเยอรมัน เนเธอร์แลนด์และอังกฤษใช้แนวคิดการใช้พื้นที่ถนนร่วมกัน (shared space) หรือแม้กระทั่งยกเลิกการใช้ป้ายจราจรทั้งหมดเพื่อบังคับให้ผู้ขับขี่ลดความ เร็วและใช้ความระมัดระวังสูงขึ้นไฟโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามการนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ ทั้งเมืองก็คงไม่เหมาะสมนัก
      
       ...
      
       ปัจจุบันการขี่จักรยานในบ้านเรามักเป็นการขี่เพื่อออกกำลังกาย เพื่อการกีฬา และพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าที่จะเป็นการใช้จักรยานเดินทางในชีวิตประจำวัน ในเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ปากช่อง รวมทั้งเมืองท่องเที่ยวอีกหลายเมืองที่โปรโมท "ความสงบ" และวิถีชีวิตดั้งเดิม จะพบเห็นจำนวนจักรยานมากเป็นพิเศษ รีสอร์ทต่างๆ เริ่มหันมาใช้จักรยานเป็นจุดขาย ขณะที่ในกรุงเทพฯ กลุ่มผู้ขี่จักรยานส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มจักรยานราคาสูง และขี่เพื่อการสันทนาการในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มากกว่าการขี่ไปทำงานหรือทำ ธุระในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุปัจจัยอันเป็นอุปสรรคต่างๆ ทั้งทางด้านความปลอดภัย ด้านความสะดวกสบาย ด้านสภาพอากาศ และความสอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงาน
      
       การที่จักรยานจะกลายเป็นรากฐานแห่งการขนส่งอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้ จริง วัตถุประสงค์ของการเดินทางด้วยจักรยานจะต้องก้าวข้ามคำว่าสันทนาการให้ได้ และก้าวเข้าสู่ความเป็นจักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันจริง สำหรับคนไทยผู้ซึ่งไม่คุ้นชินกับการออกกำลังกายอย่างจริงจัง การจะปั่นจักรยานเดินทางจากเทพารักษ์มาทำงานที่สีลมคงเป็นเรื่องที่เป็นไป ได้ยาก การออกแบบทางจักรยานให้มีความปลอดภัยในทุกองค์ประกอบ รวมทั้งปรับพฤติกรรมขับขี่ของผู้ใช้รถยนต์ให้เคารพสิทธิของจักรยานได้ในชั่ว ข้ามคืนคงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่งกว่า บทบาทของจักรยานแทนที่จะเป็นระบบการเดินทางหลัก น่าจะเริ่มต้นด้วยการเป็นระบบการเดินทางที่เชื่อมต่อในระยะสั้นๆ ระหว่างบ้านและรถขนส่งมวลชนรูปแบบต่างๆ ก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนาไปสู่โครงข่ายคมนาคมบนสายทางหลักที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น
      
       การเดินเป็นรูปแบบการเดินทางสำหรับพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์หนา แน่น แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่โครงข่ายถนนบ้านเราที่แผ่ขยายออกไปเป็นซอย ย่อยๆ เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินเท้า ประกอบกับลักษณะการตัดแต่งกิ่งไม้ตามเส้นทางเพื่อไม่ให้มีปัญหากับสายไฟฟ้า ที่พาดผ่านทั่วเมืองแต่อำนวยความสะดวกให้แสงแดดจ้าส่องถึงทั่วทุกตารางนิ้ว ก็แทบจะไม่มีโอกาสที่ผู้เดินทางยินดีจะเดินไปไหนไกลกว่าสองสามร้อยเมตร จักรยานน่าจะเป็นรูปแบบการเดินทางที่เข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปได้อย่าง เหมาะเจาะ ทุกวันนี้ที่จอดจักรยานหน้าปากซอยที่วางๆ กันไว้เล่นๆ ก็มีรถจักรยานไปจอดกันจริงๆ จนเกินความจุอยู่หลายที่ เพียงแต่โครงข่ายจักรยานภายในซอยที่น่าจะสามารถพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไม่ซับ ซ้อนมากมายนักกลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
      
       การส่งเสริมให้เดินทางด้วยจักรยานไม่ได้มีแต่ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่าง เดียว การพัฒนาโครงข่ายจักรยานให้เป็นระบบต่อเชื่อมการเดินทางก็ย่อมจะมีผลกระทบ ต่อผู้ให้บริการระบบต่อเชื่อมเดิม ถ้าวันหนึ่งคนไทยหันมาใช้จักรยานกันอย่างจริงจัง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมทั้งสองแถวและกะป๊อที่ให้บริการเข้าตรอกซอกซอยก็จะกลายเป็นกลุ่มที่ต้อง สูญเสียรายได้หลัก การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นรูปแบบใดๆ ก็ตามคงไม่สามารถที่จะละเลยความอยู่รอดของคนกลุ่มนี้ได้ แต่นั่นก็คงเป็นสถานการณ์ปลายน้ำที่เราน่าจะเก็บไว้กังวลเป็นเรื่องสุดท้าย
      
       เมื่อย้อนกลับไปดูว่าวัฒนธรรมจักรยานบ้านเราที่ส่วนหนึ่งกำเนิดขึ้น มาตามกระแสแฟชั่น ก็คงจะไม่ผิดที่จะใช้กระแสนี้เป็นเครื่องมือผลักดันการใช้จักรยานอย่างจริง จัง การทำให้ภาพลักษณ์มันมีความดึงดูดก็น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่อาจจะแตกต่างจาก สิ่งที่เราเคยคิด (ทางจักรยาน/จุดจอด) ผมมองเรื่อง "ค่านิยม" เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทย และมันก็ผูกติดกับภาพลักษณ์อย่างมาก เหตุผลเดียวกันกับการอยากมีรถ SUV สวยๆ ไว้ใช้ในเมือง หรือมอเตอร์ไซค์ไว้ขี่ในมหาวิทยาลัย แต่ก่อนมอเตอร์ไซค์ที่เท่ห์และดูดีต้องเป็นมอเตอร์ไซค์แรงๆ แบบไอ้มดแดงหรือช้อปเปอร์ที่นิยมกันในกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ขณะที่สกู๊ตเตอร์ถูกมองเป็นมอเตอร์ไซค์ผู้หญิงหรือมอเตอร์ไซค์ส่งของ แต่วันหนึ่งมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่งพลิกโฉมสกู๊ตเตอร์ให้เป็นที่นิยมกันทุก หัวระแหงเนื่องจากรูปลักษณ์แบบย้อนยุคสวยงามและมีราคาไม่แพงเกินไปนัก ปัจจุบันหลายแห่งถึงกับไม่ต้องเสียเงินดาวน์ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของแฟชั่นมอเตอร์ไซค์เปลี่ยนไป (ถ้าไม่นับกระแสของมังกี้และกอริลล่าที่ตีเทรนด์ของมอเตอร์ไซค์ให้กลับไป เป็นสินค้าราคาแพงอีกครั้งหนึ่ง) จักรยานก็คงจะเป็นในกรณีเดียวกันที่จะรอให้เกิดการพลิกกลับของกระแสเหล่านี้ ผมก็เลยคิดของผมอยู่คนเดียวว่าโจทย์ตอนนี้น่าจะอยู่ที่การสร้างกระแสนี้ให้ แรงและที่สำคัญก็คือซื้อหาได้ เราจะออกแบบจักรยานอย่างไรให้ดูดีแต่ไม่ใช่ราคาคันละเป็นหมื่นเป็นแสน ทำอย่างไรให้บีเอ็มเอ็กซ์หรือจักรยานราคาถูกเป็นที่นิยม หรือสุดท้ายแล้วถ้าไม่สามารถสร้างกระแสเหล่านี้ได้ก็อาจจะต้องถอยกลับมาคิด ใหม่ว่าจักรยานหน้าตาแพงๆ เหล่านี้จับมันมาทำใหม่ให้ราคาถูกๆ ด้วยหน้าตาคล้ายกันเพื่อสร้างแรงดึงดูดและสร้างแฟชั่นราคาถูกได้หรือไม่
      
       ...
      
       ในการขับรถส่วนตัวเราเผาผลาญเชื้อเพลิง 100 ซีซีให้กลายเป็นคาร์บอนได้ออกไซด์ 200 กรัมขึ้นสู่อากาศเพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะน้ำหนักสองตันที่ขนส่งคนสองคน น้ำหนักรวม 150 กิโลกรัมไปได้ไกลหนึ่งกิโลเมตร แต่เราขี่จักรยานไปถึงไหนต่อไหนในหนึ่งชั่วโมงโดยไม่สร้างมลพิษให้กับโลกมาก ไปกว่าการหายใจปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4-5% ของความจุปอด รถหนึ่งคันกินพื้นที่ 15-20 ตารางเมตรซึ่งเป็นพื้นที่เพียงพอที่จะใส่จักรยานให้ขี่ไปพร้อมๆ กันได้สี่ห้าคัน การพัฒนารถยนต์ให้มีประสิทธิภาพในการเผาผลาญเชื้อเพลิงให้ดีขึ้นเป็นการช่วย ลดการใช้พลังงานส่วนหนึ่ง แต่การขับรถแบบประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้นหนึ่งกิโลเมตรไม่ได้แปลว่าเราช่วย รักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
      
       จักรยานเป็นตัวอย่างของการขนส่งอย่างยั่งยืนและการใช้พื้นที่อัน จำกัดของโครงข่ายคมนาคมของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนตระหนักดีว่ามันเป็นคำตอบที่สอดคล้องกับวิกฤติการณ์ของโลกในปัจจุบัน เหตุผลและวิธีการใช้จักรยานในรูปแบบต่างๆ มีอยู่พร้อมให้เลือกสรรโดยไม่ต้องปรับแต่งอะไรให้มากนัก แต่จักรยานก็เหมือนรูปแบบการขนส่งอย่างยั่งยืนอื่นๆ ที่การสร้างแรงคุณค่าในตัวเองอาจจะไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนเดินทางให้หันมา ใช้จักรยานได้ หลายประเทศใช้นโยบายผลักและดันหรือ push and pull ควบคู่กันไป คือการเพิ่มความดึงดูดของระบบขนส่งอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการลดความได้เปรียบของรถยนต์ส่วนตัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเพิ่มค่าที่จอดรถ การเก็บเงินค่าผ่านทางในอัตราสูง การเก็บเงินค่าเข้าเขตจราจรติดขัด ห้ามรถวิ่งบนถนนบางสาย หรือแม้กระทั่งการห้ามใช้รถบางทะเบียนในบางวัน แต่นโยบายเชิงขัดใจมหาชน โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อรถยนต์ส่วนตัวลักษณะนี้ในบ้านเรายังไม่คุ้นชิน และยังต้องอาศัยความกล้าหาญและรอผู้ที่หาญกล้าจะลุกขึ้นมาประกาศใช้ในบ้าน เรากันต่อไป





 source:http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000106095


วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คำถามที่พบบ่อย : ราคาน้ำมันในประเทศ

ทำไมราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศต้องอ้างอิงราคาสิงคโปร์

การกำหนดราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ข้าว น้ำมัน ผัก และผลไม้ มักจะตั้งราคาสินค้าโดยอ้างอิงตลาดใหญ่ๆ ที่มีปริมาณการซื้อขายสูง สำหรับราคาน้ำมันในประเทศไทยจะอ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์ เพราะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันโลกที่อยู่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด รวมทั้งสิงคโปร์ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานตัวแทนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ทั่วโลก กว่า 300 บริษัท และมีปริมาณการซื้อขายสูงเช่นเดียวกับตลาดในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ยากต่อการปั่นราคาโดยผู้ซื้อหรือผู้ขาย ทั้งนี้ ราคาน้ำมันอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์ไม่ใช่ราคาที่โรงกลั่นในสิงคโปร์ประกาศ ขึ้นมาเอง แต่เป็นตัวเลขราคาที่ผู้ค้าน้ำมันจากประเทศต่างๆ ในเอเชียเข้าไปตกลงซื้อขายผ่านตลาดกลางสิงคโปร์ ซึ่งราคาดังกล่าวจะสะท้อนจากอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันในภูมิภาคเอเชีย โดยมี Platts เป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูลการซื้อขายน้ำมันแล้วนำมาประเมิน เพื่อประกาศราคาอ้างอิงของตลาดในแต่ละวัน อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไม่ได้อ้างอิงตลาดสิงคโปร์ จะทำให้เกิดความไม่สมดุลในการผลิตและการจัดหาในประเทศ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ไทยตั้งราคาน้ำมันเองต่ำกว่าราคาที่ตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นในประเทศส่งออกน้ำมันไปขาย เนื่องจากได้ราคาสูงกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันในประเทศได้ ในทางกลับกัน หากโรงกลั่นตั้งราคาน้ำมันสูงกว่าที่ตลาดสิงคโปร์ บริษัทน้ำมันก็หันไปนำเข้าจากตลาดสิงคโปร์แทน เพราะมีราคาที่ถูกกว่า ทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดการนำเข้าและส่งออกโดยไม่จำเป็น ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งวิธีการกำหนดราคาโดยการอ้างอิงราคาสิงคโปร์นั้น เป็นวิธีการปฏิบัติสากลที่ใช้ในการกำหนดราคาน้ำมันทั่วโลก


ราคาน้ำมันหน้าปั๊ม มีที่มาอย่างไร โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกสำเร็จรูปในประเทศประกอบด้วยอะไรบ้าง

ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่สถานีบริการ มีโครงสร้างของราคาประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันที่บริษัทน้ำมันซื้อมาจากโรงกลั่น ที่เรียกว่า “ราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น” ซึ่งอ้างอิงกับราคาตลาดสิงคโปร์ ส่วนประกอบนี้ของโครงสร้างราคาน้ำมัน คือ รายได้หลักของโรงกลั่นน้ำมัน
2. เงินภาษีและกองทุนที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ค้าน้ำมัน ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนเพื่อส่งเสริมการ อนุรักษ์พลังงาน โดยส่วนประกอบนี้ของโครงสร้าง ราคาน้ำมัน ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายการบริหารภาษี หรือ นโยบายพลังงานของภาครัฐ
3. ค่าการตลาด ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายใน การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นผ่านคลังน้ำมันไปยัง สถานีบริการ ค่าปรับปรุงคุณภาพ ค่าส่งเสริมการตลาด และค่าผลตอบแทนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนประกอบ ที่เป็นค่าการตลาดนี้ คือ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของ ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน
จะเห็นว่า ราคาน้ำมันส่วนใหญ่มาจากต้นทุน เนื้อน้ำมันมากถึง 50-65% รองลงมาเป็นเงินภาษีและที่จ่ายเข้ากองทุน 30-50% ส่วนที่เหลือเป็นค่าการตลาด ซึ่งคิดเป็น 3-5% เท่านั้น ดังนั้นราคาน้ำมันหน้าป็มในประเทศจะถูกหรือแพงนั้น สาเหตุหลักมาจาก ราคาน้ำมันในตลาดโลกและการเก็บเงินกาษีและกองทุน มากกว่าเรื่องค่าการตลาด




ทำไมเวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ราคาหน้าปั๊มในประเทศถึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็ว ในขณะที่เวลาราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ราคาหน้าปั๊มกลับปรับลดลงช้า

เนื่องจากราคาหน้าปั๊มประกอบด้วย 3 ส่วนประกอบ ได้แก่ ราคาเนื้อน้ำมัน ภาษี และ ค่าการตลาด ซึ่งโดยปกติ ภาษีนั้นจะค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ราคาเนื้อน้ำมันซึ่งอ้างอิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์จะมีความผันผวน สูง ดังนั้น หากราคาเนื้อน้ำมันปรับสูงขึ้นโดยไม่การเปลี่ยนราคาหน้าปั๊ม ก็จะส่งผลให้ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันหดลงจนบางครั้งอาจติดลบได้ ดังนั้นผู้ค้าน้ำมันจึงจำเป็นต้องปรับราคาหน้าปั๊มขึ้น เพื่อให้ยังคงมีกำไรบางส่วนอยู่บ้าง
โดย ปกติผู้ค้าน้ำมันจะประวิงเวลาในการปรับราคาหน้าปั๊ม จนกระทั่งค่าการตลาดหดตัวลงไปมาก เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันมักถูกผู้บริโภควิจารณ์ในแง่ลบในการปรับขึ้นราคาหน้า ปั๊มในแต่ละครั้ง ดังนั้นจึงจะพบว่า ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำเกือบตลอดเวลา หากติดตามราคาหน้าปั๊มในตลาดโลกอย่างใกล้ชิดทุกวันจะพบว่า ในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้ค้าน้ำมันมักถูกวิจารณ์ว่าปรับราคาหน้าปั๊ม เพิ่มขึ้นรวดเร็วนั้น อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะปกติผู้ค้าน้ำมันมักจะรอให้ค่าการตลาดลดลงมากๆ ก่อน จึงจะปรับขึ้นราคาหน้าปั๊ม ส่วนช่วงเวลาที่ราคาหน้าปั๊มปรับเพิ่มขึ้นเร็วนั้น น่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ผู้ค้าน้ำมันได้ประวิงเวลาในการปรับขึ้นราคา หน้าปั๊มมาแล้วระยะหนึ่ง ทำให้ค่าการตลาดอยู่ในระดับต่ำมาก จนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนั้นราคาหน้าปั๊มจึงถูกปรับให้ขยับเพิ่มขึ้นให้ทันกับราคาน้ำมันในตลาด สิงคโปร์ที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและ รุนแรงนั้น ราคาหน้าปั๊มในช่วงเวลานั้นจะมีการปรับเพิ่มขึ้นบ่อยครั้ง ดังเช่นในปี 2551
ในทางกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ปรับตัวลดลง ผู้ค้าน้ำมันมักถูกวิจารณ์ว่า ปรับลดราคาหน้าปั๊มช้า ซึ่งการที่ ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถลดราคาหน้าปั๊มได้ในทันทีนั้น เนื่องจากค่าการตลาดเฉลี่ยโดยรวมของผู้ค้าน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านั้นที่ราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ได้ปรับตัวสูงขึ้น ผู้ค้าน้ำมันได้มีการชะลอการปรับขึ้นราคาหน้าปั๊ม ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ จึงต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่งให้ค่าการตลาดเฉลี่ยกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะ สม ผู้ค้าน้ำมันจึงจะลดราคาหน้าปั๊มลง

 

ผู้ค้าน้ำมันในประเทศจะปรับราคาหน้าปั๊ม ดูจากปัจจัยอะไรเป็นสำคัญ

การ ปรับราคาหน้าปั๊มของผู้ค้าน้ำมันจะคำนึงถึง ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก โดยจะดูจากแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันของตลาดและพิจารณาถึงปริมาณอุปทานของ น้ำมันชนิดนั้นด้วย เช่น หากผู้ค้าน้ำมันมีปริมาณน้ำมันดีเซลในคลังของจนเองสูง เนื่องจากความต้องการในตลาดลดลงจากราคาที่แพงขึ้น ผู้ค้าน้ำมันก็อาจสามารถปรับลดราคาหน้าปั๊มได้ เพื่อที่จะระบายน้ำมันดีเซลที่ค้างในคลังของผู้ค้าน้ำมันออกไป ทั้งนี้การปรับเพิ่มหรือปรับลดราคาน้ำมันหน้าปั๊ม ผู้ค้าน้ำมันจะต้องคำนึงถึงค่าการตลาดของตนเองด้วย โดยผู้ค้าน้ำมันต้องการค่าการตลาดที่สูงกว่าต้นทุนการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อให้ยังคงทำกำไรได้อยู่


source :  http://topspace.icwdc.com/faqs/index-02-th.php

 

จริงหรือ?ไทยส่งออกน้ำมันดิบมา 13 ปี อเมริการับน้ำมันดิบจากไทย กลั่นและขายหน้าปั๊มต่ำกว่าไทย 10 กว่าบาท

source : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1345693989&grpid=03&catid=05&subcatid=0500

วันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 13.30 น. มีการจัดเวทีสาธารณะ “แก๊ส กับ น้ำมัน: ทำไมแพง?” ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIRNet)


ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน กล่าวว่า  วันนี้ไทยใช้น้ำมันแพงเกินสมควร ขณะที่อเมริกาเป็นประเทศค้าเสรี ไม่พยุงราคาน้ำมัน บริษัทน้ำมันคิดกำไรเต็มที่ แต่อเมริกามีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์


“ไทยส่งออกน้ำมันดิบมา 13 ปี อเมริการับน้ำมันดิบจากไทย กลั่นและขายหน้าปั๊มต่ำกว่าไทย 10 กว่าบาท เมื่อวันที่ 12 มีนาคม เบนซิน 95 ของไทยมีราคาแพงกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และอเมริกา คำถามคือเราจะแข่งขันในเออีซีได้อย่างไร แต่ก่อนน้ำมันดิบกับน้ำมันสุกต่างกัน 5-6 บาท ทุกวันนี้ต่างกัน 20 กว่าบาท ส่วนข้ออ้างว่าน้ำมันดิบตลาดโลกแพง ปี 51 น้ำมันดิบตลาดโลกมีราคา 30 บาท วันนี้น้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาท ขณะที่หน้าปั๊มสำหรับเบนซิน 40 กว่าบาท ถ้าน้ำมันดิบตลาดโลกแพงอเมริกาก็ต้อง 40 บาทเหมือนเราแต่ราคาน้ำมันดิบอเมริกาขณะนี้อยู่แค่เพียง 30 กว่าบาท”

ไทยอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าผู้ผลิตแก๊สธรรมชาติ ระดับโลก ในปี 2010 ไทยผลิตได้ 3.6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าหลายประเทศในกลุ่มโอเปค ขณะที่ราคาแก๊ส NGV ที่อเมริกาอยู่ที่ 2 บาทกว่า ส่วนไทยอยู่ที่ 8.50 บาท ทั้งที่จากข้อมูลสถาบันพลังงานสหรัฐฯ ไทยเป็นผู้ผลิตแก๊สระดับโลก เราอยู่อันดับที่ 24 ส่วนน้ำมันดิบอยู่อันดับ 33 ของโลก


เหตุที่น้ำมันแพงเพราะ (1) ราคาจำหน่ายน้ำมันในประเทศใช้ราคาเทียบเท่านำเข้า เวลาส่งออกให้เทียบเท่าส่งออก (2) การครอบงำธุรกิจโรงกลั่น ปัจจุบันมี 5 โรงมีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียว ทำให้ค่าการตลาดจาก 1-1.50 บาท เป็น 2-12 บาท ถ้ามีการแข่งขันน้ำมันหน้าโรงกลั่นแต่ละโรงจะไม่เท่ากันเพื่อได้ส่วนแบ่งการ ตลาด (3) การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้ม ซึ่งเอาไปหนุนราคาวัตถุดิบให้ธุรกิจปิโตรเคมีด้วย ทั้งที่ควรเป็นกองทุนรักษาระดับราคาเชื้อเพลิง


สิ่งที่ต้องแก้ไข ได้แก่ (1) พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งใช้มากว่า 40 กว่าปี (2) แก้ไขมติ ครม.ในการนำแก๊ส LPG ไปให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีก่อนและต้องขายโดยอิงราคาตลาดโลกให้แก่ประชาชน


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเขียนให้รัฐสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชนได้ แต่ไม่ใช่ครอบงำ ผูกขาด หรือควบรวมธุรกิจอื่น ๆ และยังกำหนดให้ดำเนินนโยบายการแข่งขันอย่างเสรี แต่สิ่งที่ปรากฏคือการผูกขาดในธุรกิจปิโตรเลียม


“ด้านปัญหาในเรื่องการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นหน่วยงานที่ดูแลเฉพาะปลายน้ำ แต่ต้นน้ำตั้งแต่ราคาแก๊สกับขั้นอยู่กับคณะกรรมการปิโตรเลียมกับผู้รับ สัมปทานปิโตรเลียม ประเด็นคือคนกำกับไปทำหน้าที่ตกลงราคาขาย แทนที่จะกำกับให้เกิดการแข่งขัน และที่มากไปกว่านั้น ประธานปิโตรเลียมคือปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) และเป็นประธานของ บมจ.ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับสัมปทานที่ตนต้องไปตกลงซื้อขายแก๊สธรรมชาติ”


คนไทยเป็นเจ้าของแก๊สธรรมชาติแต่ไม่มีสิทธิ์ได้ใช้ทรัพยากรของตัวเอง เพราะมีการกีดกันการเข้าถึงด้วยโครงสร้างสูตรราคากำหนดแก๊สซึ่งเขียน โดยกระทรวงพลังงาน โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานบอร์ดของบริษัทกิจการพลังงาน อีกทั้งยังเป็นประธานปิโตรเลียม และเป็นประธานขุดเจาะสำรวจ


นายศุภกิจ นันทวรการ ตัวแทนจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ไทยผูกขาดระบบพลังงานเพราะแนวคิดการพัฒนาพลังงานแบบรวมศูนย์ ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกแก๊สธรรมชาติ ระบบท่อส่งแก๊ส ระบบไฟฟ้า ขณะที่มีผู้ใช้จำนวนมาก


“เราถูกครอบงำว่าการพัฒนาแบบรวมศูนย์คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ขณะที่ระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ที่ให้ทุกคนเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตกระจายไป ตามครัวเรือนต่าง ๆ เช่น การใช้แผ่นโซลาเซลล์ กังหันน้ำผลิตไฟฟ้า กังหันลมผลิตไฟฟ้า การแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน  ชุมชนหลายแห่งในไทยมีศักยภาพผลิตพลังงานแต่ไม่ได้รับการสนับสนุน”

นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร ตัวแทนจากเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SNV) กล่าวถึงปัญหา 3 ประการในธุรกิจพลังงาน ได้แก่ (1) สื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่มีโอกาสให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านสู่สาธารณะอย่างเปิดเผย (2) กติกาที่ไม่ให้ระบบความเป็นธรรมเกิดขึ้นในพลังงานทุกรูปแบบ แม้แต่พลังงานทดแทน (3) คน ได้แก่ คนที่มีความรับผิดชอบเชิงกำกับสั่งการ ทั้งระบบโครงสร้างพลังงาน คนที่อยู่ในอำนาจตรวจสอบที่เป็นองค์กรอิสระรวมถึงตุลาการ ทั้งหมดไม่มีความรู้เรื่องพลังงานลึกซึ่งพอที่จะตรวจสอบ และคนไทยที่เป็นเจ้าของทรัพยากรแผ่นดินไม่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม


“สิ่งที่เลวร้ายในเวลานี้คือบัตรเครดิตพลังงาน แทนที่จะให้คนไทยทุกคนเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน กลับใช้บัตรเครดิตสร้างบุญคุณระหว่างรัฐกับผู้รับบัตรเครดิต ใช้ระบบประชานิยมทั้งที่ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของประชาชน ซึ่งคนไทยทุกคนควรประณาม”


ส่วนทางออกได้แก่ (1) นักวิชาการต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ (2) นักกฎหมายต้องช่วยแก้กฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทุกฉบับ และกระจายอำนาจพลังงานให้แก่ท้องถิ่น (3) ปลดข้าราชการที่ไปรับตำแหน่งในบริษัทพลังงาน