วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

ยั่วอารมณ์ : ราคาน้ำมันไทยแพงกว่าในสหรัฐฯ!

โดย ประสาท มีแต้ม
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034820


      ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไป กรุณากลับไปดูข้อมูลในแผนภาพข้างบนนี้อีกครั้งครับ ที่เป็นเส้นกราฟขึ้นๆ ลงๆ เป็นราคาน้ำมันหน้าปั๊มและราคาน้ำมันดิบตลอด 7 ปีของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตัวอักษรไทยในแถบสีต่างๆ เป็นการคำนวณของผมเพื่อให้อยู่ในหน่วยเดียวกัน คือบาทต่อลิตร
      
        เราจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 20 และ 21 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลของสองประเทศเกือบเท่ากัน แต่ราคาน้ำมันเบนซินในบ้านเราสูงกว่าบ้านเขาตั้งแต่ 9 ถึง 12 บาทต่อลิตร!
      
        ถ้าเราไปถามผู้บริหารของบริษัทน้ำมันหรือนักการเมืองที่ดูแลเรื่องนี้ว่า “ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” เขาก็คงจะตอบแบบเดียวกับกรณีราคาก๊าซเอ็นจีวีแบบกำปั้นทุบดินว่า “เป็นนโยบายภายในประเทศของเขา” (หวังว่าท่านผู้อ่านคงจะจำได้นะครับ เหตุเพิ่งเกิดเมื่อต้นปีมานี้เอง)
      
        ไม่เพียงเท่านี้ ขณะที่ผมเริ่มเขียนบทความนี้ (16 มี.ค.) ราคาน้ำมันทุกชนิดในกรุงเทพฯ ได้ขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยที่แก๊สโซฮอลล์ 95 (หรืออี10) ได้อยู่ที่ 40.23 บาทแล้ว สูงกว่าเมื่อสามสัปดาห์ก่อนเกือบสามบาทราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ทำให้ราคา สินค้าแพงขึ้นเป็นลูกโซ่ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก
      
        ถ้าคิดในด้านของรายจ่าย ในบ้านเราราคาน้ำมันหนึ่งลิตรพอๆ กับราคาข้าวแกงหนึ่งจานหรืออาหารกลางวันหนึ่งมื้อสำหรับคนชั้นกลาง แต่ถ้าคนในสหรัฐอเมริกาซื้อแซนด์วิชเพื่อเป็นอาหารกลางวันจะต้องใช้เงิน 3 ถึง 4 เท่าของบ้านเรา ถ้าคิดในด้านของรายได้ ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยตลอดทั้งวันจะพอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำของคนอเมริกันเพียงไม่ถึงสองชั่วโมงเท่านั้น ถ้าคิดทั้งสองด้านคือรายรับและรายจ่ายพร้อมกัน เราจะพบว่า ราคาน้ำมันในบ้านเราแพงกว่าในสหรัฐฯ หลายเท่าตัว คราวนี้ไม่ต้องไปถามนักการเมืองและพ่อค้าอีกนะครับ เพราะคำตอบที่ได้จะยิ่งทำให้เราเจ็บใจมากขึ้นไปอีก
      
        ทีนี้มาเปรียบเทียบสภาพระหว่างอดีตกับปัจจุบันในภาพรวมของคนไทยดูบ้าง ปัจจุบันโดยเฉลี่ยคนไทยใช้จ่ายเรื่องพลังงานซึ่งรวมถึงค่าน้ำมัน ไฟฟ้าและก๊าซฯ คิดเป็นร้อยละ 19 ของรายได้ที่คนในประเทศนี้ทั้งหมดหามาได้ นั่นแปลว่าทุกๆ 100 บาท เราจ่ายเป็นค่าพลังงานซึ่งรวมอยู่ในค่าขนส่งสินค้าที่เราบริโภคด้วยแล้วถึง 19 บาท ถ้าย้อนหลังไปเพียง 25 ปีที่แล้ว เราได้จ่ายในหมวดพลังงานไปเพียง 6 บาทเท่านั้น
      
        นั่นหมายความว่า ยิ่งเราเดินตามทิศทางการพัฒนาประเทศที่นักการเมืองกำหนด ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยโดยเฉลี่ยยิ่งอัตคัดขัดสนมากขึ้นทุกวัน เพราะว่าเงินหมวดค่าอาหาร ที่อยู่อาศัย เงินออม ฯลฯ ของเราต้องลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ไม่ไกลนัก แล้วในอนาคตจะสาหัสกว่านี้ไหม?
      
        ส่วนที่เหลือของบทความนี้ผมจะขอกล่าวถึงความรับผิดชอบในการเปิดเผย และนำเสนอข้อมูลที่โปร่งใสเข้าใจง่ายของสาธารณะ
      
        ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “ยั่วอารมณ์” ก็เพราะคาดหวังว่าถ้าคนไทยได้รับทราบความจริงว่าตนเองในฐานะประชาชนได้ถูกคน ของรัฐและนักการเมืองที่สมคบกันเอารัดเอาเปรียบตนแล้ว จะเกิดอารมณ์ไม่พอใจแล้วลุกขึ้นมาค้นหาความจริง เผยแพร่ความจริง (ที่ตนค้นพบแล้ว) รวมถึงการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคมเหมือนกับในหลายประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะทนไม่ไหวกับอาหารขาดแคลนและราคาสูงมากรวมถึงการฉ้อฉลในอีกหลายเรื่อง ผมคงไม่ได้หวังมากเกินไปหรอกนะ ไม่ช้าก็เร็ว ธรรมย่อมชนะอธรรมอย่างแน่นอน
      
        ในเรื่องการเปิดเผยและนำเสนอข้อมูล ผมเชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์ตรง คือรู้สึกว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดราคา แต่ราคาน้ำมันในปั๊มของประเทศเรากลับไม่ลดลงตามหรือลดลงในสัดส่วนที่น้อย กว่า แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาในบ้านเรากลับเพิ่มขึ้นในทันที
      
        ราคาน้ำมันดิบที่เขาประกาศก็อยู่ในรูปของดอลลาร์ต่อบาร์เรล ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครเลยที่จะสามารถแปลงกลับมาเป็นบาทต่อลิตรได้ในทันที ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาเขาแปลงมาเป็นต่อ “แกลลอนสหรัฐฯ” ซึ่งไม่เท่ากับแกลลอนที่สากลใช้กัน ทั้งนี้เพื่อให้ต่อความเข้าใจของประชาชน
      
        ถ้าถามว่าการนำเสนอราคาน้ำมันหน้าปั๊มเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันดิบเป็นเส้นกราฟในช่วงเวลานานเป็นปีนั้นดีอย่างไร ตอบว่าจะ ทำให้คนดูสามารถ (1) เข้าใจได้ง่าย เห็นการขึ้นลงตามฤดูกาลของตลาดโลก (2) รู้ค่าการตลาด ค่าการกลั่น และภาษี (นำมาหักลบกัน ในภาพขวามือมีตัวเลขร้อยละเรียบร้อยแล้ว) และ (3) เห็นการขึ้นลงของราคาว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น เมื่อราคาน้ำมันดิบลง แต่ราคาน้ำมันหน้าปั๊มกลับขึ้นสวนทาง (โปรดกลับไปดูกราฟอีกครั้ง ที่ผมใส่เครื่องหมาย? ไว้ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 50 เพราะสงสัยว่าทำไมราคาเบนซินจึงเพิ่มขึ้นมากกว่า) ถ้าเราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นเราก็สามารถค้นคว้าหาสาเหตุต่อไปได้
      
        การนำเสนอข้อมูลในบ้านเรา รู้สึกได้เลยว่าเหมือนกับ “ตั้งใจไม่ให้ใครรู้เรื่อง” ครั้นจำเป็นต้องค้นคว้าจริงๆ นอกจากจะทำให้เสียเวลานานมากแล้ว ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนอีกด้วย
      
        ผมเคยเขียนถึงหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบ (accountability) ขององค์กรใดๆ ก็ตาม ว่าต้องประกอบด้วย 4 ข้อ โดยที่ 2 ข้อคือ (1) มีความโปร่งใสทุกขั้นตอนในการทำงาน และ (2) มีการตอบสนองต่อคำร้องเรียน เราจะเห็นว่ากิจการพลังงานในบ้านเราที่มีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาทนั้นมีปัญหาในสองข้อนี้มาตลอด ไม่เปิดเผยต้นทุนในแต่ละขั้นตอน แต่เปิดเผยผลกำไรมหาศาลเพื่อยั่วนักลงทุนในตลาดหุ้น แต่เมื่อประชาชนร้องเรียนก็ตอบแบบกำปั้นทุบดินหรือเลี่ยงไม่ตอบ เช่น กรณีที่ศาลสั่งให้คืนท่อก๊าซที่สร้างก่อนการแปรรูป ปตท. เป็นต้น
      
        นักวิชาการสองท่านที่ได้ติดตามผลงานของน้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตแบบ “แฟนพันธุ์แท้” ได้เล่าผ่านรายการวิทยุแห่งหนึ่งว่า ในเนื้อร้องของเพลง “คนกับหมา” ที่มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “ชีวิตฉันมีแต่หมานำ ฉันเดินก้าวตามตามหมาเดิน” นั้น จริงๆ แล้วน้าหมูต้องการจะให้กระทบซิ่งไปถึงนักการเมืองนั่นเอง เป็นไงครับ! เรื่องราวที่ผมยกมาทั้งหมดกับข้อสรุปในตอนท้ายนี้พอ “เกิดอารมณ์” ไหมครับ?

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

ไม่เผา! เกษตรกรพะเยาหมักฟางข้าว-ซังข้าวโพดเป็นปุ๋ยลดหมอกควัน

Source: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034621


Press Release - เกษตรกรพะเยาลดละ เลิกจากการเผาฟางข้าว-ซังข้าวโพด เปลี่ยนมาทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ได้ประโยชน์ทั้งลดต้นทุน และแก้ปัญหาหมอกควัน
      
       กลุ่มบุคคลรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเทศบาลตำบลฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา จัดงานมหกรรมอาหารที่เกิดจากผลผลิตของการใช้ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว-ซังข้าวโพด ซึ่งสืบเนื่องมาจากโครงการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผาฟางข้าวหรือซังข้าว โพด ด้วยวิธีการผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้ในครัวเรือน โดยมีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 17 หมู่บ้าน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่า 75% แถมยังช่วยลดปัญหาปริมาณขยะและลดปัญหาหมอกควันจากการเผาฟางข้าว-ซังข้าวโพด หลังการเก็บเกี่ยว
      
       นายภุชงค์ มหาวงศนันท์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่าเทศบาลตำบลฝายกวาง ร่วมกับกลุ่มบุคคลรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาการเผาเศษฟางข้าว-ซังข้าวโพด เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตร 90% ปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง และพืชไร่ มีทั้งข้าวโพดปีละ 2-3 ครั้ง บางครัวเรือนปลูกถั่ว ยางพารา มันสำปะหลัง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ประชาชนมักจะเผาเศษฟางข้าว-ซังข้าวโพดในพื้นที่โล่ง ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันและกลิ่นรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง มีปัญหาร้องเรียนและส่งผลให้ประชาชนมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ จากสถิติของอนามัยฝายกวางพบว่าในปี 2551 มีผู้ป่วย 280 คน เป็นโรควิงเวียนศีรษะจากกลิ่นเหม็นควันเผาไหม้
      
       ทางโครงการฯ จึงได้จัดให้มีการส่งเสริมประชาชนนำเศษวัสดุเกษตรมาทำปุ๋ยหมักด้วย “สูตรแม่โจ้ 1” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมดูงาน แนะนำ สาธิต และให้ทุกหมู่บ้านได้ทดลองทำปุ๋ย ปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งชาวบ้านได้นำปุ๋ยที่ได้ไปใช้กับแปลงเกษตรของตนด้วย
      
       ด้านนางพร สะสม ชาวบ้านฝายกวาง หมู่  1 ต.ฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า หลังจากร่วมกิจกรรม ได้มีการนำเศษวัสดุการเกษตรทุกอย่าง ทั้งฟางข้าว-ซังข้าวโพด ถั่วแดง และใบไม้ทุกชนิด มาผสมกับมูลสัตว์ ในสัดส่วน 3:1 แล้วมาขึ้นเป็นกองสูงประมาณเมตรครึ่ง ผลัดเวรกันมารดน้ำวันละครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน ก็ได้ปุ๋ยไปใช้แทนปุ๋ยเคมี โดยมีการจัดสรรแบ่งปันกันในกลุ่มสมาชิก มีการคิดราคาเป็นต้นทุนไว้ใช้ซื้อมูลวัวสำหรับการผลิตปุ๋ยครั้งต่อไป ซึ่งต้นทุนปุ๋ยหมักต่ำกว่าต้นทุนปุ๋ยเคมีสูตร 13/13/21 ซึ่งมีราคากระสอบละ 1,050 บาท ขณะที่ปุ๋ยหมักมีต้นทุนเพียงกระสอบละ 290 บาท
      
       ขณะที่นายสยาม บุญต่อ สาธารณสุขเทศบาลตำบลฝายกวาง เสริมว่าจุดเริ่มต้นมาจากการที่เทศบาลต้องการลดปัญหาเรื่องขยะและปัญหาหมอก ควัน ซึ่งสามารถบรรลุผลเป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้และสุขภาพที่ดีขึ้น ทางเทศบาลจึงพร้อมจะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ในทุกครัวเรือนของตำบลฝายกวาง
      
       ทั้งนี้ ปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ 1 จัดเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่ทางชาวบ้านฝายกวาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา นำมาปรับปรุงด้วยการใช้วัสดุที่หลากหลาย ตามสภาพผลผลิตเกษตรในแต่ละพื้นที่ อาทิ ใช้มูลสุกรและมูลไก่ ทดแทนมูลวัว หรือใช้เศษวัสดุเกษตรอื่นๆ ที่มีอยู่ โดยอานิสงส์จากการเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยหมัก ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิต เพราะมีราคาที่ถูกกว่าปุ๋ยเคมี แต่ยังมีส่วนช่วยลดสภาพหมอกควันที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญอยู่ในขณะนี้

เวียดนามซัดจีนคุกคาม-ให้สัมปทานน้ำมันในเขตพาราเซล

Source:http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9550000034140


แผนที่ ของหอสมุด Middlebury College แห่งมลรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐฯ ทำขึ้นใหม่ในเดือน ก.ย.2554 แสดงให้เห็นเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่จีนประกาศเป็นอาณาเขตของจีนเกือบทั้งหมด รวมทั้งเขตหมู่เกาะพิพาทสองแห่งทางตอนเหนือและใต้ด้วย ต่างไปจากกรณีพิพาทหมู่เกาะสแปร็ตลีทางตอนใต้ซึ่งมีหลายประเทศรวมทั้งจีนและ เวียดนามกล่าวอ้างสิทธิ์ เวียดนามกำลังเผชิญหน้าจีนอย่างโดดเดี่ยวในกรณีหมู่เกาะพาราเซล เพราะเป็นกรณีพิพาทระหว่างสองฝ่าย สัปดาห์นี้โฆษกฝ่ายเวียดนามได้ออกเรียกร้องให้จีนยุติ "การรุกล้ำอธิปไตย" ของเวียดนามในบริเวณดังกล่าว.
      
ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่ดูสงบเรียบราบมานานข้ามปีอาจจะไม่เป็น เช่นนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามออกแถลงวันพฤหัสบดี 15 มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า ฝ่ายจีนยังคงเคลื่อนไหวรุกล้ำอธิปไตยเวียดนาม และแสดงการคุกคาม มิหนำซ้ำยังเปิดให้สัมปทานสำรวจขุดเจาะน้ำมันห่างจากหมู่เกาะพิพาทเพียง 1 ไมล์ทะเลเท่านั้น
      
       โฆษกเวียดนามนายเลืองแทงหงิ (Luong Thanh Nghi) กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งยักษ์ใหญ่ของจีนคือ CNOOC (China National Offshore Oil Corporation) ได้เปิดการประกวดราคาการสำรวจน้ำมันจำนวน 19 แปลงในตอนเหนือของ "ทะเลตะวันออก" ซึ่งรวมทั้งแปลงหนึ่งที่อยู่ทางตอนล่าง ห่างจากเกาะใหญ่ในหมู่เกาะพาราเซล เพียง 1 ไมล์ทะเลอีกด้วย
      
       ทั้งจีนและเวียดนามต่างก็กล่าวอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลมายาว นานในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ต่างฝ่ายต่างก็หยิบยกเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาอ้างอิง
      
       แต่ต่างไปจากกรณีพิพาทเหนือหมูเกาะสแปร็ตลีที่อยู่ใต้ลงไปในทะเลจีน ใต้ ซึ่งมีทั้งฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไนแบะไต้หวันกล่าวอ้างสิทธิ์ในบางส่วนหรือทั้งหมด กรณีเกาะพาราเซลเป็นเรื่องระหว่างเวียดนามกับจีนสองฝ่ายเท่านั้น
      
       ในปี 2517 ขณะที่สงครามในเวียดนามกำลังพันตูกันอย่างหนักและใกล้ยุติ จีนได้ส่งทหารเข้ายึดครองหมู่เกาะพาราเซล ขับไล่ทหารเวียดนามออกทั้งหมดและครอบครองมาจนกระทั่งปัจจุบัน แต่เวียดนามก็ยังไม่ยุติการกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกับน่านน้ำที่เชื่อ ว่ารุ่มรวยด้วยน้ำมันดิบและก๊าซ
      
       จีนได้ประกาศใช้แผนที่ฉบับหนึ่งที่ใช่เส้นประแสดงเขตน่านน้ำของ จีนครอบคลุมราว 80% ของทะเลจีนใต้ ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นมารอบใหม่ระหว่างคู่กรณีต่างๆ ขณะที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรหลักในภูมิภาครวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งอ้างว่ามีผลประโยชน์ในเส้นทางเดินเรือเสรีทะเลจีนใต้ ต่างก็ไม่ยอมรับแผนที่ของจีน
      
       แต่จีนก็ให้คำมั่นในหลายเวที จะแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการเจรจาหลากหลายรูปแบบ
      
       โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามกล่าวหาอีกว่า วันที่ 2มี.ค. จีนได้ฝึกซ้อมยิงด้วยกระสุนจริงในเขตน่านน้ำเกาะพาราเซลหว่างซา และ ในวันที่ 7 ระหว่างการประชุมสภาที่ปรึกษาแห่งชาติในกรุงปักกิ่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงองค์การบริหารการท่องเที่ยวแห่งชาติของจีนได้ประกาศจะ ให้มณฑลไหหลำ ขยายการท่องเที่ยวเข้าสู่เกาะพิพาทอีกด้วย
      
       วันที่ 12 มี.ค. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้อำนวยการองค์การมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของจีน ได้กล่าวว่าในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 นี้ จีนจะสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นที่ตอนล่างของทะเลใต้ รวมทั้งสร้างสำนักงานปฏิบัติการขึ้นที่เกาะพาราเซลอีกด้วย
      
       นอกจากนั้นทางการเกาะไหหลำกำลังจะจัดแข่งขันเรือยอชต์จากเมืองซันย่า ไปยังหมู่เกาะพาราเซลในวันที่ 28 เดือนนี้อีกด้วย
      
       โฆษกของฝ่ายเวียดนามได้เรียกร้องให้ทางการจีนหยุดทุกความเคลื่อนไหว ที่เวียดนามเรียกว่าเป็นการ "ละเมิดอธิปไตย" ของฝ่ายเวียดนาม และ ยังย้ำอีกว่าหมู่เกาะพาราเซลกับสแปร็ตลีเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามอย่างมิอาจ จะแบ่งแยกได้และอย่างมิอาจโต้แย้งได้
      
       โฆษกเวียดนามได้เรียกร้องให้ฝ่ายจีนปฏิบัติตามข้อปฏิบัติแห่งทะเลจีน ใต้ที่จีนได้ลงนามยอมรับร่วมกับกลุ่มอาเซียนในปี 2545 อย่างเคร่งครัดอีกด้วย
      
       หลายเดือนที่ผ่านมาหลังการกระทบกระทั่งครั้งใหญ่ในช่วงกลางปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนามดูราบรื่นดีมาก มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายคณะทั้งฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ เมื่อต้นเดือนนี้สองฝ่ายได้ตกลงติดตั้ง "ฮอตไลน์" ขึ้นมาเพื่อปรึกษาหารือกันในการแก้ไขปัญหาและข้อพิพาทต่างๆ อย่างสันติ.


วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

เผยโฉม10 เขื่อนอื้อฉาวของโลก

Source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/world/20120317/442174/news.html


14 มีนาคมที่ผ่านมา ถือเป็นวันสากลแห่งการปฏิบัติการเพื่อแม่น้ำ ที่อาจไม่ได้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากนัก แต่เป็นวันที่นักกิจกรรมพิทักษ์แม่น้ำทั่วโลก ใช้เป็นวันนึกถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำจากการสร้างเขื่อน สิ่งปลูกสร้างบังคับธรรมชาติ ที่เป็นทั้งพระเอกและผู้ร้าย และเป็นข้อถกเถียงกันไม่รู้จบถึงผลดีผลเสีย

ขณะที่การต่อสู้ระหว่างความต้องการพลังงานอย่างไร้ขีดจำกัด กับการปกป้องแม่น้ำและผืนป่า ที่เหลือน้อยลง ยังคงดำเนินต่อไป ในโอกาสนี้ จึงรวบรวมเขื่อนอย่างน้อย 10 แห่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นการก่อสร้างหรือแผนก่อสร้าง ที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียง เริ่มจาก

1.เขื่อนไตรผา ในจีน
เขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำแยงซี ที่ก่อสร้างจากคอนกรีต 16 ล้านตัน กลายเป็นอ่างเก็บน้ำความยาวเกือบเท่ากับอังกฤษ เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่สุดของโลก ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 18,200 เมกกะวัตต์ ช่วยบรรเทาน้ำท่วม ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีในฤดูร้อน แต่การถือกำเนิดของเขื่อน มาพร้อมกับต้นทุนทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจคำนวณได้ รวมถึงการที่ชาวบ้านต้องโยกย้ายที่อยู่ 1.4 ล้านคน น้ำท่วมหมู่บ้านกว่า 1,400 แห่ง
รัฐบาลจีนยอมรับเมื่อปีที่แล้วว่า เขื่อนไตรผา ก่อปัญหาด้านธรณีวิทยา คน และระบบ ทั้งยังพูดเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อปริมาณน้ำและการเดินเรือ ท้ายน้ำอีกด้วย

2.เขื่อน อิไตปู ในบราซิล
เขื่อนกั้นแม่น้ำปาราญา ระหว่างบราซิลกับปารากวัย เป็นเขื่อนใหญ่อันดับสอง ของโลกรองจากเขื่อนไตรผาของจีน ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนปารากวัย 80% จึงกลายเป็นเขื่อนส่งออกไฟฟ้าใหญ่สุดของโลก แม้เขื่้อนอิไตปู เป็นแหล่งจัดหาพลังงานสะอาดและส่งเสริมเศรษฐกิจของสองประเทศ แต่การก่อสร้างเขื่อน ทำให้น้ำท่วมแนวน้ำตกขนาดใหญ่ "เซเต เกดาส" ที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นคู่แข่งของน้ำตกชื่อก้องโลก"อิกัวซู"อย่างสิ้นเชิง ทำลายป่าฝนกินพื้นที่กว่า 700 ตารางกิโลเมตร และชาวบ้านต้องอพยพย้ายถิ่นฐานกว่า 4 หมื่นคน

3.เขื่อน แกรนด์ อินคา
กลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และรัฐบาลประเทศแอฟริกา คาดหวังว่า ในอนาคตว่า เขื่อนแกรนด์ อินคา มูลค่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จะผลิตไฟฟ้าได้สองเท่าของเขื่อนหมายเลขหนึ่งของโลก อย่างไตรผาของจีน และพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่มบนกาฬทวีป ส่งออกไฟฟ้าไปไกลถึงแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอียิปต์ กระทั่งในยุโรปและอิสราเอล แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่มั่นใจว่า คนจนจะไม่ได้รับประโยชน์

4.เขื่อน ซาดาร์ ซาโรวาร์
เป็นเขื่อนอื้อฉาวที่สุด ในโครงการพัฒนาหุบเขาแม่น้ำนาร์มาดา ในรัฐคุชราต ที่ประกอบด้วยเขื่อนสามขนาด เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง กลาง 135 แห่ง และเล็ก 3,000 แห่ง ทุกแห่งออกแบบมาเพื่อการชลประทานและน้ำดื่ม การสร้างเขื่อน ทำให้ประชาชนหลายแสนต้องโยกย้ายถิ่นฐาน และสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมกินวงกว้าง ธนาคารโลก ที่เคยสนับสนุนโครงการในตอนแรก ตัดสินใจถอนตัว ท่ามกลางกระแสประท้วงเมื่อปี 2537 แต่รัฐบาลอินเดีย เดินหน้าก่อสร้างเขื่อนต่อโดยใช้งบประมาณของตนเอง

5.เขื่อนอิลิซู ในตุรกี
เป็นที่รู้จักในตุรกีว่า แก๊ป เป็นโครงการเขื่อน ที่จุดกระแสถกเถียงอย่างมากในระดับนานาชาติ นับจากเริ่มมีข้อเสนอสร้างตั้งแต่ปี 2497 เขื่อนกั้นแม่น้ำไทกริส เริ่มสร้างเมื่อปี 2549 ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 เมกกะวัตต์ แต่จะทำให้ชาวบ้านไร้ที่อยู่ 7 หมื่นคน กับทำให้เมือง ฮาซานคีนฟ์ เมืองโบราณอายุ 10,000 ปี จมหายไปทั้งเมือง พร้อมความหลากหลายทางชีวภาพอันมีค่า กระแสคัดค้านหนักหน่วงจากภาคประชาชน ทำให้ยุโรปถอนการสนับสนุนในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลตุรกี มีแผนเดินหน้าสร้างต่อ

6.เขื่อนอัสวาน ในอียิปต์
เขื่อนอัสวาน สร้างขึ้นเพื่อแก้ภัยแล้งและอุทกภัย เป็นแหล่งชลประทานครอบคลุมพื้นที่หลายล้านไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 2.1 กิกะวัตต์ และสนับสนุนอุตสาหกรรมประมง แต่ผลกระทบทางลบ ก็มากมายมหาศาล พื้นที่ทำการเกษตรแถบลุ่มน้ำไนล์ ในอียิปต์ เสื่อมทรามลงอย่างช้าๆ เพราะน้ำและดินตะกอนอันอุดมในด้วยแร่ธาตุที่เคยมากับกระแสน้ำไนล์ ยามเพิ่มระดับขึ้นสูง ถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ ไม่ได้ไหลลงมาตามธรรมชาติ รัฐบาลอียิปต์ จัดหาโคลนปุ๋ยเทียมแก่เกษตรกรราว 1 ล้านตันต่อปี แต่ก็ไม่อาจชดเชยกับโคลนปุ๋ยที่แม่น้ำไนล์พัดพามา 40 ตันต่อปีเหมือนเมื่อก่อน

7.เขื่อน เอลวา และ ไกลนส์ แคนยอน
เอลวา สร้างเสร็จเมื่อปี 2456 ห่างจากปากแม่น้ำเอลวาประมาณ 6.43 เมตร เหนือขึ้นประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเขื่อนไกลนส์ แคนยอน ที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2470 ทั้งสองเขื่อน ก่อสร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานเยื่อกระดาษในเมืองพอร์ต แอนเจิลส์ และไม่มีบันไดปลา ทำให้ปลาแซลมอน ไม่อาจว่ายผ่านเขื่อนขึ้นไปยังต้นน้ำได้ เขื่อนทั้งสอง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคาบสมุทรโอลิมปิค ในรัฐวอชิงตันช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่แล้ว แต่ในวันนี้ ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เพราะพลังงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ นำเข้ามาจากเมืองพอร์ตแลน์ รัฐโอเรกอน จึงถูกทุบทิ้ง นับเป็นการรื้อถอนเขื่อนใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

8.เขื่อน กิเบ 3 ในเอธิโอเปีย
การพัฒนาทางการเกษตร ริมฝั่งแม่น้ำโอโม เกิดขึ้นพร้อมๆกับการมีเขื่อน กิเบ 3 สูง 243 เมตร ความยาวกว่า 200 กิโลเมตร นับเป็นการลงทุนใหญ่สุดของเอธิโอเปีย และเป็นโรงไฟฟ้าใหญ่สุดในทวีปแอฟริกา แต่การก่อสร้างเขื่อนนี้ เต็มไปด้วยข้อครหาละเมิดสิทธิมนุษยชน และมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรน้ำให้กับการทำเกษตรขนาดอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรายย่อย
อีกทั้ง เมื่อแล้วเสร็จและน้ำเต็มอ่างเก็บภายในปี 2558 ทะเลสาบทูร์คานา ปลายทางแม่น้ำโอโมจะหดลงเหลือแค่หนึ่งในสามของขนาดปัจจุบัน และกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้าน 3 แสนคน

9.เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง
ลาว มีแผนสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้ไทย และจะเป็นการเบิกทางสู่การก่อสร้างเขื่อนอีกหลายสิบแห่งในแม่น้ำโขง แต่แผนการยังถูกคัดค้านอย่างหนักจากกัมพูชาและเวียดนาม สองประเทศท้ายน้ำ ที่เกรงว่าเขื่อนจะกระทบการไหลของน้ำ ที่จำเป็นต่อการทำประมงและชลประทาน รัฐบาลที่เกี่ยวข้องได้แก่กัมพูชา เวียดนาม ลาวและไทย จึงเห็นพ้องระงับโครงการไว้ก่อน เพื่อรอการประเมินผลกระทบอย่างสมบูรณ์


10. เขื่อนเบโล มอนเต ในบราซิล
เขื่อนกั้นแม่น้ำ ซิงกู ในรัฐปารา รัฐในแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2558 ท่ามกลางการคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อมและผู้นำชนเผ่า เพราะแผนสร้างเขื่อน หมายถึงการทำให้ที่ดินจมใต้บาดาลประมาณ 500 ตารางกิโลเมตร คนไร้ที่อยู่อาศัยหลายหมื่น
เขื่อนเบโล มอนเต เป็นส่วนหนึ่งในแผนผลักดันการลงทุนและตอบสนองความต้องการพลังงาน จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยที่บราซิล ยังสามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

"ย่ำโคลนให้เป็นก๊าซ" ไอเดียหัวใสจาก มทร.ธัญบุรี

source : http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033571


 
      ในภาวะที่ราคาแก๊สหุงต้มกำลังขยับราคาขึ้น ส่งผลให้พ่อบ้านแม่บ้านได้รับผลรับกระทบ และต้องปรับตัวไปตามๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการประหยัด และลดการใช้ในปริมาณที่น้อยลง หรือการหาพลังงานขึ้นมาทดแทน อย่างแก๊ซชีวภาพที่ได้จากมูลหมู มูลวัว ที่มีการนำมาใช้แล้วอย่างแพร่หลายและก็มีประสิทธิภาพ 
นศ.มทร.ธัญบุรีและอาจารย์ที่ปรึกษา เจ้าของผลงาน
       นักศึกษาจากคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สร้างชุดเก็บแก๊สชีวภาพจากโคลนขึ้น เพื่อศึกษาพัฒนา และจะนำไปใช้ได้จริงในอนาคต ซึ่งเจ้าของผลงาน ได้แก่ นายพงศ์วรรธน์ ประเสริฐไพบูลย์, นายชัยวัฒน์ ภิรมย์กล่ำ และนายธีรพงษ์ สันป่าแก้ว โดยมีอาจารย์ชัยรัตน์ หงส์ทอง เป็นที่ปรึกษา
ย่ำโคลนให้ก๊าซชีวภาพเข้าสู่ลูกบอล
      
เก็บก๊าซชีวภาพจนเต็มลูกบอลแล้ว
       เจ้าของผลงานเล่าถึงวิธีการกักเก็บก๊าซชีวภาพจากโคลนว่า ใช้ผู้ปฏิบัติงานสองคนลงไปย่ำ (การกระตุ้น)ให้แก๊สที่ทับถมอยู่ในโคลนด้านล่างลอยตัวขึ้นมาสู่ชุดเก็บที่อยู่ด้านบน และปล่อยให้แก๊สผ่านเข้าลูกบอลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 นิ้ว แล้วนำไปทดลองขั้นต้นกับหัวเตาก๊าซชีวภาพสามารถจุดไฟได้ หลังจากนั้นนำไปวัดค่าโดยเครื่องมือวัดก๊าซชีวภาพแบบพกพารุ่น GFM 416
       "ผลปรากฏว่ามีค่าก๊าซชีวภาพประมาณร้อยละ 20.8 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณร้อยละ 0.8 ส่วนที่เหลือเป็นก๊าซชนิดอื่น ๆ เช่น ออกซิเจน ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน และไอน้ำใช้เวลาเพียง 11.16 นาทีในการลงไปเก็บแก๊สชีวภาพก็สามารถนำไปเปิดใช้งาน ได้เฉลี่ย 6.01 นาที โดยการใช้งานจริงได้ทำการทอดไข่สามารถทอดได้จำนวน 2 ฟองต่อการเก็บก๊าซชีวภาพ 1 ครั้ง" 
      
       เจ้าของผลงานยังบอกว่า ตั้งใจที่จะพัฒนาชุดเก็บแก๊สให้มีขนาดพกพา เพื่อความสะดวกเมื่อต้องเดินทางและต้องหุงต้มหาอาหาร เพียงแค่มีชุดเก็บแก๊สชีวภาพแบบพกพา พอเห็นแหล่งน้ำก็สามารถลงไปเก็บแก๊สมาใช้หุงต้มได้อย่างที่ไม่ต้องเสียเงิน อีกทั้งในอนาคตยังจะมีการพัฒนาการเก็บและบรรจุแก๊สชีวภาพจากโคลนสำหรับเก็บไว้ใช้ในครัวเรือนต่อไป

น้ำมันแพง ขึ้นราคาทุกอาทิตย์ เพราะ ปตท. ต้องมาก่อนประชาชน

Source : http://www.manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9550000032288

นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันนี้ ราคาเชิ้อเพลิงทุกประเภท มีแต่ปรับขึ้นไม่มีลง ราคาน้ำมันปรับขึ้น 11 ครั้ง หรือแแพงขึ้นทุกสัปดาห์ รวมแล้วลิตรละ 5 บาทกว่า หรือ ประมาณ 16 % สำหรับน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ และลิตรละ 2.94 บาท หรือ 10 % สำหรับน้ำมันดีเซล
       
       ส่วนแก๊ส แอลพีจี ที่ใช้ในภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 18.08 บาท เป็น 19.58 บาท จะขึ้นราคาอีก 75 สตางค์ ในวันที่ 16 มีนาคม เป็นกิโลกรัมละ 20.33 บาท หรือเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 2.25 บาท เท่ากับ 12.5 % เอ็นจีวี จะขึ้นเป็น กิโลกรัมละ 10 บาท จากเดิม 8.50 บาท เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 1.50 บาท หรือเท่ากับ 17.6 %
       
       เมื่อน้ำมันแพง สินค้าทุกอย่างก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว ตั้งแต่ข้าวแกง สินค้าอุปโภคบริโภค และอีกไม่นาน ค่าแท็กซี่ ค่ารถเมล์ เรือด่วน ค่ารถทัวร์ รถตู้ ก็จะต้องแพงขึ้นยกแผง
       
       นี่คือ ผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ชูนโยบายตอนหาเสียงว่า กระชากค่าครองชีพ ลดความเดือดร้อนของประช่าชน 
       
       ฝันร้ายของคนไทย เพีงจะเริ่มต้น เพราะราคาน้ำมัน จะสูงขึ้นอีกเดือนละ 1 บาทต่อลิตร ติดต่อกันไปอีกอย่างน้อย 4 เดือน ซึ่งจะทำให้น้ำมันเบนซิน 91 มีราคาถึงลิตรละ 45 บาท ในกลางปีนี้ค่อนข้างแน่ ส่วนราคาน้ำมันดีเซล ก็เช่นกันที่อาจตจะต้องขึ้นไปอีกเดือนละ 60 สตางค์ ต่อลิตร ติดต่อกันอีก 4-5 เดือน
       
       ราคาน้ำมันที่จะต้องแพงขึ้นทุกเดือนนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกเลย แต่เป็นผลมาจาก นโยบาย เลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน สำหรับน้ำมันเบนซิน91 ลิตรละ 6.70 บาท น้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 7.50 บาท และน้ำมันดีเซลลิตรละ 3 บาท ซึ่งเป็นนโยบาย “ ทำทันที” ของรัฐบาลนี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง เมื่อเดือนสิงหาคม ปี่ที่แล้ว
       
       คนไทยดีใจได้ใช้น้ำมันราคาถูกลงลิตรละ 6-7 บาท จนถึงป่านนี้ ไม่รู้ว่า รู้ตัวกันหรือยังว่า ถูกรัฐบาลหลอก เพราะนโยบายงดเก็บเงินเข้ากองทุนนี้ มีอายุแค่ 4 เดือนเท่านั้น พอขึ้นปีใหม่ นโยบายนี้ก็ถูกล้มเลิกไปอย่างเงียบๆ เมื่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุน จากผู้ใช้น้ำมันเบนซินลิตรละ 1 บาท ทุกเดือน และลิตรละ 60 สตางค์จากผู้ใช้น้ำมันดีเซล
       
       แม้รัฐบาลจะไม่ยอมประกาศให้ชัดเจนว่า จะเก็บเงินเข้ากองทุนไปอีกนานกี่เดือน แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่า อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องเก็บให้เท่ากับที่เคยยกเลิกไป คือ ต้องเก็บจากน้ำมันเบนซิน ลิตรละ 6-7 บาท ซึ่งขณะนี้ เก็บไปแล้วลิตรละ 2 บาท จะต้องเก็บเพิ่มอีก 1 บาท ในวันที่ 16 มีนาคมนั้ ส่วนน้ำมันดีเซล เพิ่งเก็บไปครั้งเดียวลิตรละ 60 สตางค์
       
       สำหรับน้ำมันดีเซล นอกจากจะต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มแล้ว ยังจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตอีกลิตรละ 5 บาท เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ยกเลิกภาษีสรรพสามิตเพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท มาตรการนี้หมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่รัฐบาลนี้มีมติให้ต่ออายุออกไปอีก 1เดือน จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม นี้ หากไม่มีการต่ออายุอีก เพราะการยกเว้นภาษีน้ำมันดีเซล ทำให้กรมสรรพสามิตขาดรายได้ถึงเดือนละ 9 พันล้านบาท ราคาน้ำมันดีเซลก็จะแพงขึ้นอีกลิตรละ 5 บาทแน่นอน อยู่ที่ว่า จะขึ้นทีเดียว หรือทยอยขึ้นครั้งละกี่บาทเท่านั้น
       
       เช่นเดียวกับ แก๊สแอลพีจี จะแพงขึ้นทุกเดือนๆละ 75 สตางค์ ต่อ หนึ่งกิโลกรัม จนถึงสิ้นปี หรือขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 27 บาท ส่วนแก๊สเอ็นจีวี จะขึ้นไปอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ต่อเดือน จนถึงสิ้นเดือนสิ้นปี หรือขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 14.50 บาท
       
       การยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ทำให้เงินหายไปจากกองทุนฯ เดือนละ 6 พันล้านบาท แม้จะเป็นเพียงชั่วระยะเวลา 4 เดือน แต่ทำให้ฐานะเงินกองทุน ซึ่งก่อนจะยกเลิกการเก็บเงินมีเงินเหลืออยู่ 1 พันกว่าล้านบาท มีฐานะติดลบนับเป็นหมื่นล้านบาท จนต้องประกาศขยายกรอบเงินกู้เพื่อมาพยุงกองทุน จากเดิม 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้น้ำมันจะต้องถูกเก็บเงินเข้ากองทุนอีกหลายปี จนกว่าจะชำระหนี้หมด ดังนั้น ที่ที่นายอารักศ์ ชลธ่ารนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรววงพลังงาน ประกาศว่า จะยกเลิกกองทุนน้ำมัน ในเดือนตุลาคมนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเอลกไปแล้ว หนี้30,000 ล้านบาทของกองทุนฯ ใครจะรับผิดชอบ การบอกว่า จะเลิกกองทุนฯ เป็นเพียงข้ออ้างที่จะขึ้นราคาแก๊สหุ้งต้มมากกว่า
       
       หากเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน หรือมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว คนไทยจะต้องแบกรับภาระราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างฉับพลัน เพราะรัฐบาลไม่มีเครื่องมือสำหรับพยุงราคาน้ำมันชั่วคราว เนื่องจากกองทุนน้ำมัน ได้ถูกทำลายไปแล้ว ด้วยฝีมือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
       
       ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทั้งจากราคาตลาดโลก และนโยบายของรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรววงพลังงาน ไม่เคยแสดงท่าทีเลยว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร ให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง พูดแต่คำว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ
       
       คำว่า ปรับโครงสร้างพลังงาน ทั้งระบบ ของนายอารักษณ์ คือ ขึ้นราคาทุกอย่าง ทั้งน้ำมัน ก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี และกำลังจะขึ้นราคาแก๊สหุ้งต้มในครัวเรือนอีก ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดมีอยู่รายเดียวคือ ปตท. เพราะเป็นผู้ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพียงรายเดียว 
       
       ภาวะราคาน้ำมันและแก๊สที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี และจะแพงขึ้นทุกเดือนๆ หากคนไทยจะลองคิดดูให้ดีว่า ใครได้ ใครเสีย โดยไม่ติดอยู่ในกับดัก กลไกตลาด ก็จะเห็นได้ว่า รัฐบาลนี้ เลือกที่จะรักษาผลกำไรของ ปตท. มากกว่าดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน 

วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

นิวเคลียร์...พลังงานสองด้าน

Source : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/441485


เทคโนโลยีนิวเคลียร์นอกจากผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มหาศาล ยังนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช กำจัดแมลง ศัตรูพืช  กำจัดเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์ ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ตรวจสอบคุณภาพสินค้าในกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกันได้อีกด้วย

:รังสีอุตสาหกรรม
นายสุชาติ วชิรศักดิ์ชัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกเครื่องมือวัด ฝ่ายซ่อมบำรุง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัททีพีไอ มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของแรงงานคนในบางขั้นตอนที่ไม่สามารถใช้แรงงานมนุษย์ได้

“บริษัทใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทต่อปีในการลงทุนด้านการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคนโดยตรง โดยผลที่ได้เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนระยะยาวมากกว่านำเข้าอุปกรณ์เฉพาะทาง จากต่างชาติซึ่งอาจมีราคาแพงกว่ามาก”เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี บริษัท ทีพีไอ โพลีน กล่าว

ปัจจุบันบริษัทนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตปูน ซีเมนต์กว่า 30 รายการ อาทิเช่น โคบอลต์-60 โดยนำมาใช้ในส่วนของการตรวจสอบการอุดตันของวัตถุดิบในเครื่องจักรระหว่าง กระบวนการผลิต รวมถึงการนำไปใช้เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบของวัตถุดิบตั้งต้น ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานจริง

สำหรับซีเซียม-137 ถูกมาใช้ในขั้นตอนป้อนเชื้อเพลิงเข้าเตาเผา เพื่อตรวจวัดอัตราการไหลของวัตถุดิบที่ระดับตันต่อชั่วโมงขณะลำเลียงเชื้อ เพลิง และลำเลียงวัตถุดิบสำหรับผลิตปูน และยังมีแคลิฟอร์เนียม ที่นำมาใช้ในการตรวจสอบธาตุในวัตถุดิบก่อนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้บริษัททีพีไอ โพลีน ยังนำเครื่องเอ็กซเรย์มาประยุกต์ใช้สำหรับสุ่มตรวจสินค้าที่ผลิตได้แต่ละ ล็อต เพื่อคัดกรองผลิตภัณฑ์ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคหรือพ่อค้าคนกลางว่าได้มาตรฐาน จริงตามที่ตั้งไว้หรือไม่ หากไม่ตรงมาตรฐานที่วางไว้จะได้วางแผนแก้ปัญหาได้ทัน

“ความคุ้มค่าที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรมการผลิต คือ กระบวนการผลิตที่แม่นยำเที่ยงตรง ทุ่นค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งอาจต้องใช้เงินบำรุงรักษารายปีสูง อีกทั้งวิธีดังกล่าวยังมีความปลอดภัยในการใช้งาน เมื่อมีการใช้งานรังสีเสร็จหรือหมดอายุของแต่ละรายการแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาตรวจสอบและนำไปทำลายให้ ทั้งหมด”เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี บริษัท ทีพีไอ โพลีน อธิบาย  

:รังสีรักษา
นพ.ธนเดช สินธุเสก ผู้บริหารศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี (ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี มีการประยุกต์ใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ด้านการรักษาโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่ โดยเปิดให้บริการผู้ป่วยมะเร็งทุกเพศทุกวัย ครอบคลุมใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี อยุธยา ปทุมธานี นครนายก และปราจีนบุรี

ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มารับบริการการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี 5 อันดับต้นๆ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก ซึ่งการรักษาปกติจะต้องเริ่มจากการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกก่อน จากนั้นจึงใช้วิธีฉายรังสีรักษาเพื่อทำให้เซลล์มะเร็งตาย และตามด้วยการรักษาแบบเคมีบำบัดอีกครั้ง เพื่อยับยั้งเซลล์เนื้อร้ายให้หายไปจากร่างกาย รวมถึงมีการติดตามผลเป็นระยะตามแพทย์นัดหลังการรักษาด้วย

ผู้บริหารจากศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์มีบริการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่หลากหลายด้วยงบ ประมาณในการบริหารจัดการประมาณ 144 ล้านบาทต่อปี อาทิเช่น การฉายรังสีด้วยเครื่องโคบอลต์-60 การให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเร่งอนุภาค (Linac) การใส่แร่ (Ir-192) การดูแลด้วยเคมีบำบัด การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การตรวจรักษาด้านหู คอ จมูกและคัดกรองมะเร็ง คลินิกระงับปวด

นอกจากนี้ยังมีบริการวินิจฉัยและรักษาทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อาทิเช่น บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 บริการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 บริการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดด้วย Sr-89 และ Sm-153 บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การตรวจกระดูก การตรวจร่างกาย การตรวจไต การตรวจไทรอยด์ เป็นต้น

“การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาทำได้สะดวกยิ่งขึ้น แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างของร่างกาย การทำงานของอวัยวะแต่ละระบบของคนไข้ และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”ผู้บริหารศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี กล่าว

ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากนิวเคลียร์ในการประยุกต์ใช้ งานที่หลากหลาย ซึ่งไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนวิตก ทั้งยังนำไปใช้งานได้อีกหลาย เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น การถนอมอาหาร การเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณี เป็นต้น

“เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับใครประยุกต์ใช้แบบไหน หากนำมาใช้และควบคุมอย่างถูกต้อง จะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของ ปส.มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางรังสีที่คอยให้บริการหน่วยงาน ต่างๆ รวมถึงทำหน้าที่กำจัดกากของสารกัมมันตรังสีที่ถูกใช้งานแล้วให้ด้วย ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน”เลขาธิการสำนักงาน ปรมาณูเพื่อสันติ กล่าว

'SPCG' ขึ้นแท่นผู้นำพลังแสงอาทิตย์ในอาเซียนกฟภ.ชี้ผู้ผลิตขาด 'เงินทุน'ถูกดองใบอนุญาตอื้อ

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์   8 มีนาคม 2555
Source : http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000030597


     พลังงานแสงอาทิตย์ครองแชมป์อันดับ1 ของพลังงานทดแทน ด้านผู้ว่าฯกฟภ. เดินหน้ารับซื้อพลังงานหมุนเวียน แจง ผู้ประกอบการแสงอาทิตย์ขาด 'เงินทุน' ถูกดองใบสัญญาเพียบ! ด้าน SPCG ก้าวเป็นผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน พร้อมลุย34 โครงการครบในปี56
      
       พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ ที่กำลังจะหมดลง หรือเป็นส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล ขยะ ฯลฯ เป็นพลังงานที่มีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งเกิดกระแสบูมขึ้นไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และผลักดันอย่างชัดเจน อาทิ การให้แอดเดอร์สนับสนุน รวมถึงการที่เทคโนโลยีเริ่มทันสมัย และมีราคาที่ต่ำลงกว่าอดีต
      
       ดันพลังงานแสงอาทิตย์แทนก๊าซธรรมชาติ
      
       ณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวถึงบทบาทของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการผลักดัน และพัฒนาาพลังงานทดแทนทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว และจากนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายรับซื้อพลังงานจากกลุ่ม พลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาทำสัญญาแล้วกว่า 700 เมกะวัตต์ ขณะที่ซื้อขายจริงขณะนี้อยู่ที่ 100 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้น คาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีสัญญาที่ครบกำหนดสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ประมาณ 700 เมกะวัตต์
      
       อย่างไรก็ตามโครงการผลิตพลังงานทดแทนส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งอยู่ต่าง จังหวัด ซึ่งมักจะขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีหน่วยงานอยู่หลายพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ หรือ VSPP ให้ขายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถ้าสูงกว่านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเป็นผู้รับซื้อ
      
       “ถ้าทำพลังงานทดแทน เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน จะช่วยลดการนำเข้า และลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีจำนวนจำกัด”
      
       โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะทำหน้าที่ในการจัดหา และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในต่างจังหวัด ยกเว้น กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ จะเป็นหน้าที่ของไฟฟ้านครหลวง
      
       “กฟภ.รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนในรูปแบบ VSPP ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อจำนวน 217 ราย 605.8 เมกะวัตต์ มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก และยังลงทุนในด้านการสนับสนุนการทดลอง และวิจัย เพื่อพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม โดยให้อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยทดลอง มีกองทุนวิจัยงบประมาณ 445 ล้านบาทเพื่อค้นหาพลังงานทดแทนประเภทไหนเหมาะสมกับประเทศไทย”
      
       จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าพลังงานแสงอาทิตย์ขณะนี้ถือว่ามีศักยภาพมาก ที่สุด เนื่องจากอากาศที่ประเทศไทยร้อน และมีแดดทุกวัน รองมาเป็นชีวมวล ขณะที่ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าที่ควร ทั้งนี้พื้นที่ลมดีมักอยู่ที่ในป่า ภูเขาสูง หรืออาจอยู่ในเขตสงวนป่าไม้ต่างๆ ซึ่งจะยากต่อการส่งกระแสไฟฟ้า หรือทำระบบสายส่งอีกด้วย
      
       ผู้ประกอบการแสงอาทิตย์ขาด 'เงินทุน'
      
       ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยถึงมาตรการตรวจสอบ และกำกับดูแลผู้ประกอบการที่ทำสัญญาขอผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ว่า ในแต่ละสัญญาจะมีกำหนดการซื้อขายที่ระบุวันจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน ก่อนถึงขั้นตอนการซื้อขายจริงทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการเข้าตรวจสอบ ความคืบหน้า รวมถึงความพร้อมของผู้ผลิต โดยมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 6 เดือน หรือหากพิจารณาเห็นว่าไม่มีความพร้อม อาจถึงขั้นยกเลิกสัญญา หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม
      
       “มีผู้ที่ขออนุญาติผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากที่ยังไม่ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า หรือลงทุนได้ตามสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่จะติดปัญหาด้านเงินทุน ”
      
       อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่ขอโควต้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสง อาทิตย์ในระยะแรกจะได้แอดเดอร์สูงถึง 8 บาท ดังนั้นการคืนทุนจะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี อยู่ที่ประมาณ 6-7 ปี ขณะที่ส่วนใหญ่สัญญาซื้อขาย และสนับสนุนแอดเดอร์จะอยู่ที่ 10 ปี ดังนั้นหลังจากคืนทุนก็ได้ผลตอบแทนที่ดี หลังจากนั้นผู้ที่ขอรอบหลังจะได้แอดเดอร์อยู่ที่ 6.50 บาท และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย เนื่องจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และราคาถูกลง
      
       “แผงโซล่าเซลล์ส่วนใหญ่จะนำเข้า มีผลิตเองบ้าง แต่น้อยมาก เพราะประเทศไทยไม่มีวัตถุดิบ และหากผลิตเพื่อใช้ในประเทศก็ยังไม่คุ้มแก่การลงทุน ขณะนี้ส่วนแบ่งการตลาดแผงโซล่าเซลล์จะมาจากประเทศจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถสู่ราคาได้ แทบจะครองตลาด มีญี่ปุ่นบ้าง ประสิทธิภาพก็ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับราคา เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ”
      
       อนาคต กฟภ.ลุกปั้มไฟฟ้า
      
       ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงระบบการจัดการกระแสไฟฟ้าจากรายย่อยว่า ทางกฟภ. ได้พัฒนาระบบ Smart Grid หรือ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่มีความทันสมัยในระบบการจ่ายไฟ โดยเอาระบบไอซีทีเข้ามาช่วย ทำให้เกิดความสมดุลของดีมานด์ และซัพพลาย โดยเฉพาะเมื่อมีโรงงาน VSPP ขนาดเล็ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องมีการระบบการจัดการที่ทันสมัย มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการจัดการ ว่ารายไหนขายเมื่อไร และช่วยใด
      
       ขณะที่ในบางประเทศที่มีพลังงานทดแทนเหลือ มีการนำไปชาร์ตเข้ากับรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตประเทศไทยอาจเปลี่ยนจากปั้มแก๊ส เป็นปั้มไฟฟ้าก็เป็นได้ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในอนาคตอาจทำธุรกิจเสริม เช่น ปั้มไฟฟ้า เป็นต้น

       อย่างไรก็ดีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่สนใจแก่นักลงทุนด้านพลังงานหมุน เวียนเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเปิดให้ขอโคต้า หรือสัญญารับซื้อกระแสไฟฟ้า โดยให้แอดเดอร์สูงถึง 8 บาท จึงมีผู้ขอเป็นจำนวนมาก และค่าแอดเดอร์ในครั้งหลังลดลงเหลือ 6.50 บาท
      
       วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงานเปิดโครงการโซล่าฟาร์มของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จ.เลย ว่าเอสพีซีจีถือเป็นผู้นำในการพัฒนาโซล่าฟาร์มเชิงพาณิชย์แห่งแรก และมีกำลังการผลิตรวมทุกโครงการถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน
      
       พลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีเสียงในการทำงาน มีการบำรุงรักษาน้อย ไม่มีค่าเชื้อเพลิง ในด้านการลงทุนจึงมีจุดสำคัญแค่การระดมทุนจำนวนมากรอบแรกเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จไม่ต้องทำอะไรแล้ว ตลอด 30 ปี แผงมีการรับประกัน 25 ปี อายุกว่า 50 ปี อินเวสเตอร์ประมาณ 25 ปี
      
       โดยมีอัตราส่วนการลงทุนค่าที่ดินประมาณ 5-10% แต่ก็จะมีมูลค่าเพิ่มจากที่ดินในอนาคต, มูลค่าอุปกรณ์ รวมถึงแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 70%, ค่าทำถนน รั่ว และค่าก่อสร้างต่างๆ ประมาณ 20%, ค่าใช้จ่ายในการเริ่มพัฒนาโครงการอีกประมาณ 5% โดยต้นทุนต่อแผลงประมาณ 7,000-8,000 บาท ที่ดินต้องเลือกที่ดี อย่าถูกมาก อาจเกิดปัญหาโจรขโมย และควรคำนึงถึงเรื่องมูลค่าของที่ดินด้วย
      
       ลุย34 โครงการครบในปี56
      
       ส่วนการลงทุนแต่ละโครงการพลังแสงอาทิตย์ ภายใต้SPCG มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 600-650 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน และใช้พื้นที่ดินประมาณ 100-150 ไร่ โดยบริษัทมีแผนในการลงทุนไว้ 34 โครงการ มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการจะลงทุน หรือหาทุน 25 % อีก 75% กู้ธนาคาร ระยะเวลาคืนธนาคาร 10 ปีขึ้นไป กำลังการผลิตอยู่ที่โครงการละประมาณ 6 เม็กะวัตต์ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เลือกเพราะ เป็นราบสูง น้ำไม่ท่วม
      
       ปัจจุบันมีโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และได้ขายไปแล้วกว่า 7 โครงการ กำลังจะขายอีก 2 โครงการ อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และเริ่มก่อสร้างอีก 7 โครงการ คาดว่าจะขายได้ในไตรมาสที่ 2 หลังจากนั้นจะก่อสร้างอีก 9 โครงการ และประมาณปี 2556 จะสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมดให้ครบ 34 โครงการที่วางไว้ ซึ่งแต่ละโครงการจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 เดือน ทั้งนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตลอดอายุโครงการ และในทุกโครงการ ประมาณ 7 ปีคืนทุน 3 ปีตอบโจทย์ธนาคาร ได้แอดเดอร์ 8 บาท หลังจากนั้นเป็นในส่วนของผู้ถือหุ้น
      
       “กำลังการผลิตของ 1 โครงการต่อปีเพียงพอต่อความต้องการของครัวเรือนประมาณ 20,000 ครัวเรือน เมื่อเทียบกับอัตราใช้ไฟฟรีที่ไม่เกิน 60 หน่วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้าที่ไม่สูงมาก”
      
       อีก10ปีไม่มีแอดเดอร์ก็ยังคุ้ม
      
       วันดี กุญชรยาคง มองว่าค่าแอดเดอร์ 8 บาท แม้จะหมดลงในอีก 10 ปี แต่แนวโน้มค่าไฟฟ้า และพลังงานไม่ลดลง ปัจจุบันค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาท และอีก 10 ปีมีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยใกล้หมด และยังต้องนำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อค่า FT รวมถึงราคาต้นทุนอุปกรณ์ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มต่ำลง ก็จะเกิดจุดคุ้มทุนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาค่าแอดเดอร์
      
       อีกทั้งในปี 2015 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองว่าหากค่าพลังงานในประเทศไทยยังถูกกว่าประเทศอื่นมาก ก็จะส่งผลให้กลุ่มอาเซียนเข้ามาทำกิจการที่ใช้พลังงานจำนวนมาก จึงควรหามาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิด AEC
      
       “ต่อไปรัฐบาลจะให้ประชาชนยืนขอแอดเดอร์ สามารถนำแผงมาติด เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง น่าจะไม่เกิน 3 เม็กกะวัตต์ คาดว่าอนาคตจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน”
      
       SPCG โกอาเซียนรับ AEC
      
       ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด ประกาศทิศทางของบริษัทในการบุกตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน ว่าขณะนี้ได้เตรียมร่วมลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน และมีการให้แอดเดอร์เหมือนในประเทศไทย แต่ให้น้อยกว่าไทย และให้ภาษีฟรีตลอดอายุโครงการ จึงน่าเข้าไปลงทุนในปลายปี 55
      
       “ปัจจุบันประเทศไทยคือผู้นำ เรื่องการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อผู้ประกอบการต่างชาติสนใจก็อยากมาดูงานที่ประเทศไทย”
 

‘กระทรวงรถไฟ’ ความน่าจะเป็น...จากที่เห็นและเป็นอยู่

ทีมข่าว CLICK   
ASTVผู้จัดการรายวัน 14 มีนาคม 2555
Source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033236

หากจะพูดถึง ‘รถไฟไทย’ แน่นอนว่าหลายคนคงมองว่าเป็นขนส่งมวลชนที่ไม่มีคุณภาพ หากเป็นรถไฟแบบรางที่วิ่งทั่วประเทศก็จะมีติดปากที่พูดกันว่า นั่งรถไฟ ‘ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง’
      
       ด้วยความไร้คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการเดินรถที่ตารางเวลาพร้อม จะผิดเพี้ยนได้เสมอไม่ต่ำกว่าหนึ่งหรือสองชั่วโมงจากหน้าตั๋ว นอกจากบริการขนส่งมวลชนจะมีปัญหาแล้ว ด้านการขนส่งสินค้าที่ให้บริการภาคเอกชนก็ไม่มีคุณภาพเช่นกัน จึงไม่แปลกที่ตลอดมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)จะตกเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมากที่สุดของประเทศ
      
       และด้วยความที่ว่าการขนส่งระบบรางนั้นมีความสำคัญ ในหลายๆประเทศนั้นถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหลายฝ่ายออกมาผลักดันให้รถไฟไทยนั้นเกิดการ พัฒนามาตลอด ทว่าก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘ปฏิรูป’ ระบบรถไฟทั้งหมด
      
       จนถึงตอนนี้ เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยผุดไอเดียอีกครั้ง กับการตั้ง ‘กระทรวงรถไฟ’ ขึ้นมา เพื่อควบรวมดูแลจัดการกิจการด้านรถไฟทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่รถไฟธรรมดา รวมไปถึงรถไฟลอยฟ้าและรถไฟใต้ดิน
       คำถามที่ท้าทายรัฐบาลจากความไว้ใจของประชาชนที่มีต่อการปฏิรูประบบรถไฟก็คือ แล้วจะทำได้หรือ?
      
       สาเหตุยาวนานของปัญหารถไฟไทย
      
       รถไฟไทยเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือร้อยกว่าปีก่อนได้มีการพัฒนาการขนส่งระบบรางขึ้นในประเทศเพื่อเชื่อม ระหว่างเมืองกับชนบท แต่ทว่าในรอบหลายสิบปีกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ การขนส่งระบบรางเหมือนกับจะถูกละเลยไปเฉยๆ และแทบจะหยุดพัฒนาไปโดยสิ้นเชิง จนรถไฟกลายเป็นมาเป็นบริการขนส่งมวลชนของรัฐบาลที่มีไว้สำหรับคนบางกลุ่มแทน ที่จะเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ
      
       ต่อสาเหตุของปัญหาที่เกิดต่อรถไฟไทยนั้น ผศ.ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านลอจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มองว่า ประกอบขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน
      
       “อย่างแรกเลยเกิดจาก ลักษณะการพัฒนาประเทศ ไปเน้นพัฒนาถนนเป็นหลัก ทำให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟ พวกราง สถานี หัวจักร ไม่ได้รับการพัฒนาจากในช่วงห้าสิบหกสิบปีที่ผ่านมา ประการที่สองเนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนหันไปใช้การขนส่งทางอื่น รถไฟกลายเป็นบริการสาธารณะแบบหนึ่ง ซึ่งรัฐยังจำเป็นต้องมีอยู่สำหรับคนที่มีฐานะไม่ดีนัก ซึ่งตรงนี้ก็ขาดทุน ขณะที่ส่วนพอจะมีรายได้ที่ได้จากการขนส่งสินค้า หรือจากทรัพย์สมบัติที่มี พวกที่ดินต่างๆ ก็ยังไม่เพียงพอ และสุดท้ายเป็นการบริหารจัดการของตัวการรถไฟฯเอง ซึ่งค่อนข้างที่จะมีต้นทุนสูง เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่โดยเฉลี่ย อัตราเงินเดือน ค่าจ้างก็ค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับหน้าที่ที่ต้องทำ เป็นองค์กรที่มีค่าบริหารจัดการสูงมาก และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถยกระดับการบริการให้มีความเป็นมืออาชีพเทียบเท่าเอกชน ได้”
      
       ซึ่งในส่วนประเด็นการบริหารจัดการ หรือด้านโครงสร้างองค์กรนั้น เมื่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นของกรุงเทพมหานคร รถไฟใต้ดินหรือรถไฟมหานครเป็นของอีกหน่วยงาน ขณะที่รถไฟแอร์พอร์ตลิงค์กับรถไฟธรรมดาเป็นของการรถไฟ นอกจากนี้การจัดการในปัจจุบัน อย่างการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟธรรมดาตอนนี้ก็ให้สำนักงานนโยบายขนส่ง และจราจรดูแล ส่วนรถไฟฟ้าบีทีเอสกับรถไฟใต้ดินก็แยกของใครของมันดูแลด้วย ผศ.ดร.พงษ์ชัยมองว่า อาจเกิดปัญหาในการบูรณาการเชื่อมต่อกันและกันได้
      
       “ก็ไม่แปลกถ้าจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งเพื่อดูแล เรื่องระบบรางทั้งหมดของประเทศ และตอนนี้มีงบประมาณที่จะเข้ามาพัฒนาด้านรถไฟสูงถึง 1.7แสนล้าน การมีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลจัดสรรงบตรงนี้ก็อาจจะเป็นไปได้”
      
       ‘กระทรวง’ คือทางออกหรือเปล่า?
      
       ย้อนกลับไปถึงการตั้งกระทรวงนั้น หากเทียบกระทรวงรถไฟที่อาจจะเกิดขึ้น อาจสามารถเทียบกับกระทรวงเกิดใหม่อย่างกระทรวงไอซีทีได้ ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีมากขึ้น จึงได้ตั้งกระทรวงไอซีทีแยกออกมาจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
      
       หรือตอนนี้ประเทศไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับรถไฟแล้ว
      
       ทว่าในมุมมองของ ผศ.ดร.พงษ์ชัย ก็เห็นว่า กระทรวงรถไฟนั้น ก็จะใหญ่เกินไปสำหรับประเทศไทย ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกินไปอีกด้วย
      
       “โดยส่วนตัวคิดว่าตั้ง เป็นกรมรถไฟเหมือนที่เมื่อก่อนเคยมีอยู่ก็สามารถทำได้แล้วในการครอบรวม บริหารงานทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยการโยกย้ายหน่วยงานมารวมกัน ซึ่งผลที่ได้จะดีที่สุดและไม่จำเป็นต้องตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาให้เปลืองงบ ประมาณ”
      
       ในส่วนของแนวคิดการตั้งกระทรวงรถไฟนั้น เขาคิดว่าอาจได้ตัวอย่างมาจากประเทศจีน แต่อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย ด้วยเหตุที่ประเทศจีนจำเป็นต้องตั้งกระทรวงรถไฟขึ้นมานั้นก็เพราะประเทศจีน เป็นประเทศใหญ่ และมีการบริหารจัดการที่ซับซ้อนกว่ามาก
      
       ทั้งนี้ทางออกในการจัดการบริหารระบบรถไฟนั้น ในต่างประเทศมี 3 แนวทางหลักด้วยกัน
      
       แบบที่ 1 ซึ่งใช้ในสหรัฐอเมริกา ให้เอกชนเข้ามาทำทั้งหมด ทั้งสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงการให้บริการเดินรถ
      
       แบบที่ 2 รัฐบาลลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนเข้ามาจัดการให้บริการ
      
       แบบที่ 3คือ รัฐบาลลงทุนทั้งหมด และรัฐวิสาหกิจลงมือให้บริการประชาชนเองโดยรูปแบบนี้เป็นแบบที่การรถไฟฯใช้อยู่ และไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
      
       “ทุกรูปแบบมันก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แบบแรกอาจจะทำให้ระบบขนส่งเข้าถึงประชาชนช้า เพราะเอกชนอาจไม่ลงทุนในพื้นที่ที่หาเงินได้ไม่ดี แบบที่สองรัฐบาลก็ต้องแบ่งกำไรให้เอกชนทั้งที่ลงทุนให้ ส่วนแบบที่สามนั้นหากรัฐบาลไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ทำให้ประชาชนมาใช้บริการ ทั้งหมดที่ทำก็สูญเปล่า”
      
       โดยทางออกของเรื่องนี้นั้น ผศ.ดร.พงษ์ชัย เห็นว่า การรถไฟฯนั้นยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของทรัพยากรที่มี และระบบรางที่กำลังจะพัฒนาเป็นระบบรางคู่ซึ่งจะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพ มากขึ้น
       ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ คือ โครงสร้างภายในองค์กรเอง
      
       ซึ่งขณะที่ในมุมมองของ รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อธิบายว่า จริงๆ แล้วโอกาสที่รถไฟจะกลายมาเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งกระทรวงรถไฟ นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก่อนที่จะทำนั้นจะต้องมีการปฏิรูปและปรับวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจเสีย ก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย
      
       “ที่ผ่านมา เรื่องพวกนี้แทบไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐอย่างจริงจังเลย ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องรถไฟเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถบริการประเภทอื่นๆ หากต้องการจะปฏิรูปจริง ก่อนอื่นจะต้องมีการปรับแนวคิดเพื่อให้การสร้างและการบริการเดินไปด้วยกัน โดยอย่างแรกเลยก็ต้องมีการพัฒนาที่ดินอย่างเป็นระบบและเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งอาจจะต้องวางผังเมืองใหม่เลยด้วยซ้ำ เพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะที่ลงไปนั้น มีผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มก้อนและไม่กระจัดกระจาย”
      
       ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ กลายเป็นว่า รัฐไปลากเส้นทางรถไฟเป็นสายสีต่างๆ ให้เสร็จเท่านั้น โดยไม่ได้คิดจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ปล่อยให้เมืองพัฒนาไปเอง สุดท้ายก็ส่งให้ภาพรวมความเจริญของพื้นที่รอบทางรถไฟออกมาอย่างกระจัดกระจาย และใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่
      
       “ผมไม่อยากพูดว่า มีกระทรวงรถไฟไว้เพื่อการสร้างทางรถไฟเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมองไปไกลถึงการพัฒนาเป็นภาพรวม มันจะถึงประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ แอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งไม่ได้คิดเป็นภาพรวม ซึ่งเราลอกแบบมาจากสิงคโปร์ ความแตกต่างก็คือจากสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะมีสถานีต่างๆ ที่ปล่อยคนลงตามจุดต่างๆ โดยไม่ได้วางแผนเลย ปัญหาก็คือ เมื่อจะเข้าไปใช้บริการก็ไม่รู้จะเข้าไปได้ยังไง แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือ เราเสียโอกาสจากการพัฒนาระบบรถไฟและเรื่องอื่นของประเทศด้วย”
      
       ซึ่งแน่นอนว่า หากมีการคำนึงถึงเรื่องพื้นที่มาก่อน ก็จะทำให้สามารถวางระบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ตรงนั้นได้มากขึ้น เช่น พื้นที่ตรงนี้อาจจะเหมาะกับการมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง สำหรับวิ่งระหว่างเมือง หรือพื้นที่ตรงนี้ควรทำแค่ระบบโมโนเรลหรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบยกระดับเท่า นั้น
      
       ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายต่างๆ ก็ถือเป็นสำคัญ เช่น พอผู้โดยสารออกจากสถานีแล้วจะไปทำอย่างไรต่อ แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครพูดถึงเรื่องพวกนี้เลย เพราะสังคมไทยไม่ได้คิดเป็นระบบว่า อะไรต้องทำก่อนทำหลัง ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาของระบบการเมืองการปกครอง และระบบการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
      
       รถไฟในอุดมคติ
      
       แน่นอนว่า การพยายามดำเนินการจัดตั้งกระทรวงรถไฟนั้น เป็นหนึ่งในความพยายามทำให้การบริการรถไฟในไทยดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบันหากนับเพียงรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มันก็มีมาตรฐานที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว แต่มันก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะนำไปเปรียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่ว่ากันว่ามีระบบขนส่งมวลชนโดยรถไฟดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
      
       ศิริเพ็ญ สวนเกิด เจ้าหน้าที่ประสานงานหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้บริการของรถไฟอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดิน ส่วนรถไฟธรรมดานั้นก็ใช้บ้างนานๆ ครั้ง และก่อนหน้านี้ ศิริเพ็ญได้มีโอกาสไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ใช้บริการรถไฟของที่โน่นเป็นประจำ ทำให้เธอมองว่าบริการรถไฟในไทยนั้น แม้จะได้มาตรฐานในระดับหนึ่งแต่ก็ยังคงต้องมีการพัฒนาอีกมาก
      
       “ถ้าถามว่าระบบรถไฟในไทย มันดีไหม เราก็คงต้องบอกว่ามันอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ แต่ไม่ถึงกับดี เพราะเราเคยเจอที่ดีที่สุดมาแล้ว มีหลายอย่างที่จะต้องปรับ อย่างแรกเลยคือเรื่องของระบบการซื้อตั๋ว อย่างรถไฟใต้ดินนั้นโอเคแล้ว มันสามารถเอาแบงค์ไปซื้อได้เลย ส่วนรถไฟฟ้ามันยังต้องไปแลกเหรียญอยู่ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกข้อสำคัญคือเรื่องของความตรงต่อเวลาอย่างที่ญี่ปุ่นนั้นเขามีเวลาบอกเลย ว่า รถขบวนนี้จะไปที่ไหน กี่นาทีจะมาและถึงในกี่นาที มันทำให้เราคำนวณเวลาได้ ขณะที่คุณภาพตัวรถไฟนั้น แม้ที่ญี่ปุ่นจะเก่ากว่าของบ้านเรามากแต่ก็ดูสะอาดสะอ้านไม่ต่างกัน”
      
       และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องก็คือความกว้างขวางครอบคลุมของโครงข่าย และเรื่องของการตรงต่อเวลา ซึ่งถ้าเป็นรถใต้ดินหรือลอยฟ้านั้นคงไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามองไปยังรถไฟธรรมดาแล้วข้อนี้ยังเป็นปัญหาใหญ่
      
       “เรื่องของเวลาในการเดินทางก็เป็นเรื่องใหญ่มาก รถไฟของไทยนั้นมีมานานแล้ว แต่พวกรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าทั้งใต้ดินที่เพิ่งมีมาไม่นาน โครงข่ายมันยังไม่มาก ขณะที่ญี่ปุ่นเวลาที่ไปไหนมาไหนนั้นก็ใช้รถไฟได้ทั้งหมดเลย ไม่ต้องนั่งแท็กซี่ แต่ในไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น บ้านเราอยู่ที่งามวงศ์วาน จะมาทำงานที่เอกมัย เราก็ต้องนั่งรถมาลงที่หมอชิตก่อน ซึ่งเราคาดเดาไม่ได้เลยว่ารถมันจะติดแค่ไหน ก่อนไปถึงสถานีรถไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นช่วงที่อยู่ญี่ปุ่นนั้น เรารู้ได้เลยว่ารถไฟที่เรานั่งนั้นใช้เวลา 27 นาที เราเดินออกจากบ้านมาสถานีรถไฟ 2 นาทีฉะนั้นถ้าจะออกจากบ้านต้องใช่เวลาอย่างน้อย 30 นาที ออกเผื่อไว้นิดนึง มันสามารถกะเวลาเป็นนาทีได้เลย”
      
       ………..
      
       การขนส่งระบบรางนั้น มีความสำคัญต่อประเทศอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่เฉพาะต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย เพราะการขนส่งระบบรางนั้นประหยัดต้นทุน และเป็นหัวใจหลักของการคมนาคมของหลายๆ ประเทศ
      
       การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและขนส่งสาธารณะระบบรางนั้น อย่างไรก็ต้องใช้เวลาทั้งการวางแผน การก่อสร้าง และมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ทว่าเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้น หรือการปฏิรูป
      
       หาก ที่ผ่านมาทั้งหมดร้อยกว่าปีของรถไฟไทยนั้น ในกรุงเทพฯ ที่มีรถไฟฟ้าวิ่งอาจจะดูพัฒนาขึ้น หากแต่การคมนาคมที่เชื่อมโยงโครงข่ายทั้งประเทศต่างหากที่เป็นที่ต้องการ ไม่ใช่เพียงแค่ทางหนีรถติดในเมืองกรุงไปวันๆ เท่านั้นเอง

น้ำมันของเรากำลังถูกปล้น

โดย สุนันท์ ศรีจันทรา
Source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033142

       การขุดเจาะหาน้ำมันที่พุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา ถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้านเพราะหวั่นเกรงผลกระทบที่จะตามมา โดยไม่มีหน่วยงานใดออกมาชี้แจงข้อมูลการขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเอกชนอย่าง ชัดเจน
      
        น้ำมันในเขตทวีวัฒนามีหรือไม่ หลายคนสงสัย คำตอบคือมีแน่ และบริษัทที่ได้รับสัมปทานคงสำรวจตรวจสอบก่อนหน้าแล้วโดยรู้ว่ามี เพราะถ้าไม่มี คงไม่ลงทุนขุดเจาะ
      
        อาจมีคำถามต่อว่า ประเทศไทยมีน้ำมันมากขนาดไหน เท่าที่ดูข้อมูลการสำรวจจากหลายแหล่งต้องยืนยันว่ามีมาก และจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปริมาณน้ำมันติดอันดับต้นของโลก จะด้อยกว่าประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางเท่านั้น
      
        ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน กำลังติดตามข้อมูลปิโตรเลียมในประเทศไทย และเกาะติดการขุดเจาะน้ำมันที่พุทธมณฑลสาย 2 โดยตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการ โดยเฉพาะผลกระทบที่ชาวบ้านเขตทวีวัฒนาจะได้รับ
      
        แต่การชี้แจงจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นคำตอบที่อ้อม แอ้ม ไม่ได้ให้ข้อมูลสัมปทานการขุดเจาะปริมาณน้ำมันและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเขต ทวีวัฒนามากนัก
      
        ส.ว.คำนูณรู้ข้อมูลด้านปิโตรเลียมอยู่พอสมควร แต่ก็ยังรับรู้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีใครรู้ลึก
      
        และแทบไม่รู้เลยว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่มีปิโตรเลีมอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
      
        สาเหตุเพราะข้อมูลปิโตรเลียมจัดหมวดหมู่ไว้กระจัดกระจาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลไม่พยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้ เข้าข่ายการอุ๊บอิ๊บปกปิดข้อมูล
      
        เช่นเดียวกับข้อมูลการบริหารจัดการปิโตรเลียมของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้เลยว่า ใช้น้ำมันดิบในประเทศเท่าไหร่ ขุดก๊าซธรรมชาติมาขายเท่าไหร่ และซื้อปิโตรเลียมจากต่างประเทศในราคาต้นทุนเท่าไหร่ กำลังการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศแต่ใช้หลักเกณฑ์ใดในการคำนวณ
      
        ข้อมูลที่สำคัญเพื่อแสดงความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ถามให้คอแหบแห้งตาย ก็ไม่ได้รับคำตอบจาก ปตท.และไม่เคยมีรัฐบาลชุดใด เค้นคอให้ ปตท.ตอบเสียด้วย
      
        ผลประโยชน์จากน้ำมันมีมหาศาล และนำไปสู่ความขัดแย้งทั่วโลกจนถึงขั้นเปิดศึกทำสงครามเข่นฆ่ากันเพื่อยึดแหล่งน้ำมัน
      
        ปริมาณน้ำมันของไทยมีอยู่ไม่ใช่น้อย มีกลุ่มคนและกลุ่มทุนสามานย์เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์กันนับสิบๆ ปีแล้ว เพียงแต่ประชาชนถูกปิดหูปิดตา
      
        ถ้าประชาชนได้รับรู้ว่า ปู่ย่าตายายของเราทิ้งสมบัติเป็นทองคำอยู่ใต้ดิน ถ้าได้รับรู้ว่า ลูกหลานเรามีทรัพยากรล้ำค่า มีน้ำมันที่ขุดขึ้นมาใช้มาขายทำให้ประเทศมั่นคั่ง ทุกคนได้มีชีวิตที่สุขสบายขึ้น ความขัดแย้งในทางสังคมคงปะทุขึ้น
      
        เพราะประชาชนคงไม่ยอมให้ใครมาปล้นทรัพยากรเหมือนที่เป็นมาหลายสิบปี
      
        ทุกวันนี้มีการขุดปิโตรเลียมขึ้นมาขายไม่ต่ำกว่าวันละ 8 แสนบาร์เรล โดยเป็นปิโตรเลียมในประเทศไทยล้วนๆ กว่า 6 แสนบาร์เรล และอีกกว่า 1 แสนบาร์เรลเป็นการขุดเจาะเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-มาเลเซีย
      
        ในอนาคตจะมีการขุดเจาะขึ้นอีกในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งมีปิโตรเลียมอย่างสมบูรณ์ทั้งน้ำมันและก๊าซโดยบริษัท เชฟรอน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ปักหลักยึดสัมปทานพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้แล้ว
      
        ต้องขอบอกว่า พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างไทย-กัมพูชา มีทรัพยากรปิโตรเลียมมหาศาล และผลประโยชน์ควรตกทอดถึงประชาชนทุกคน
      
        แต่กำลังมีกลุ่มคนทำให้ประเทศเสียผลประโยชน์ ทำให้ไทยเสียเปรียบในข้อตกลงพื้นที่ทับซ้อน เพื่อกอบโกยผลประโยชน์มหาศาลเข้ากระเป๋าตัวเอง
      
        ปัจจุบันประเทศมีการบริโภคน้ำมันวันละประมาณ 100 ล้านลิตร คำนวณคร่าวๆ ใช้น้ำมันดิบประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรล โดย 1 บาร์เรลเท่ากับน้ำมันประมาณ 149 ลิตร
      
        ถ้ามีการขุดเจาะน้ำมันจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาเพิ่มเติม จะทำให้มีการขุดเจาะน้ำมันดิบได้ประมาณวันละ 1 ล้านบาร์เรลเป็นอย่างน้อย เมื่อรวมกับแหล่งที่ขุดเจาะเดิม
      
        ปริมาณน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประเทศไทยโชติช่วงชัชวาลไม่ต้องเดือดร้อนการนำเข้า ไม่ต้องบริโภคน้ำมันแพง ไม่ต้องหวั่นไหวว่าน้ำมันในตลาดโลกจะทะลุไปเท่าไหร่แล้ว
      
        แต่เสียใจด้วย ถึงเราจะมีน้ำมันใต้ดินเท่าไหร่ ประชาชนก็ยังต้องบริโภคน้ำมันแพงต่อไป เพราะพวกเราทุกคนถูกปล้นน้ำมันไปแล้ว

(อ่านต่อ) 

วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

8 จว.เหนือทัศนวิสัยต่ำ-4 จว.แค่ 1 กม.หมอกควันคลุมมิด-เครื่องเข้าแม่ฮ่องสอนดีเลย์ซ้ำ


สภาพอากาศในตัวเมือง ลำปางขณะนี้ หมอกควันที่ปกคลุมอยู่ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้หมอกควันในอากาศจะมองเห็นเป็นสีขาวขุ่น
       ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ปัญหาหมอกควันคลุมพื้นที่ทำทัศนวิสัย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เลวร้าย 4 จังหวัด มองเห็นได้ระยะ 1 กม.เท่านั้น ขณะที่ไฟลต์บินเข้าแม่ฮ่องสอนของกานต์แอร์เช้านี้ ต้องดีเลย์ซ้ำ ส่วนนกแอร์เลื่อนไม่มีกำหนด ค่าฝุ่นละอองในอากาศทั้ง 8 จว.ยังเกินมาตรฐาน ด้านผู้ช่วย ผบ.ตร.สั่งตำรวจลำปาง ช่วยป้องกัน-รณรงค์ลดเผาป่าอีกทาง
      
       จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือวันนี้ (6 มี.ค.) พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 117.7-188.4 ไมโครกรัม/ลบ.ม.8 จังหวัดภาคเหนือ ทั้ง จ.แพร่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน มีฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ทั้งสิ้น รวมถึงคุณภาพอากาศ (AQI) ก็อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ เกินมาตรฐานที่ 100 เช่นกัน
      
       โดยที่ จ.เชียงใหม่ ผลการตรวจวัดระดับฝุ่นละอองรายชั่วโมง เมื่อ 11.00 น.วันนี้ พบว่ามีศาลากลางเชียงใหม่ วัดได้ 153.61 ไมโครกรัม/ลบ.ม., โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย วัดได้ 130.39 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
      
       จ.ลำปาง พบว่า ทั้งค่าฝุ่นละออง และคุณภาพอากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานทุกสถานีเช่นกัน โดยที่ศาลหลักเมืองลำปาง วัดค่าฝุ่นละอองได้ 167.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม., สถานี รพ.สต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้ 172.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม., สถานี รพ.สต.ท่าสี อ.แม่เมาะ วัดได้ 174.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม.และสถานีการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะ วัดได้175.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
      
       อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดระยะเวลาที่เกิดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ จ.ลำปาง ค่าฝุ่นละอองที่วัดได้ และเผยแพร่ต่อสาธารณชน ล้วนแต่เป็นข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษทั้งสิ้น ขณะที่สถานีตรวจวัดของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีอยู่ 11 สถานี ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาเท่าใดนัก
      
       ที่ จ.เชียงราย วันนี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง 24 ชั่วโมง ลดระดับความรุนแรงลงมา หลังจากที่เคยพุ่งขึ้นสูงสุดกว่า 356 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยลดลงมาอยู่ที่ 156.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.ในเขต อ.เมือง ส่วนที่ อ.แม่สาย วัดได้ 180.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
       ส่วนที่ จ.พะเยา สถานีอุทยานการเรียนรู้กว๊านพะเยา วัดค่าฝุ่นละอองได้ 175.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม., จ.ลำพูน สถานีสนามกีฬา อบจ.ลำพูน วัดได้ 125.7 ไมโครกรัม/ลบ.ม.และที่เมืองน่าน สถานีตรวจวัดเทศบาลเมืองน่าน วัดได้ 148.4 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
      
       ขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน จากการตรวจวัดที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ พบว่า ค่าฝุ่นละออง อยู่ที่ 177.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
      
       และในวันนี้พบว่า พื้นที่ จ.แพร่ เป็นจังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศสูงที่สุดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแพร่ วัดค่าได้ 188.4 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
      
       ซึ่งสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ที่ยังคงปกคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอยู่นั้น ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำทุกจังหวัด โดยอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ณ เวลาประมาณ 07.00 น.วันนี้ 8 จังหวัดภาคเหนือมีทัศนวิสัยอยู่ในระดับ 1-4 กม.โดยเฉพาะ จ.ลำพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ และ จ.น่าน มีทัศนวิสัยเพียง 1 กม.เท่านั้น
      
       นางสาวศิริอร รังศิริตานนทร์ ผจก.ห้างหุ้นส่วนแม่ฮ่องสอน ที เอ็น ทัวร์ กล่าวว่า สถานการณ์ควันไฟในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีความรุนแรงมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามาเที่ยว เพราะควันไฟป่าปกคลุมหายใจไม่สะดวก สายการบินกานต์แอร์ ที่ออกจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ เวลา 08.25 น.กำหนดลงสนามบินแม่ฮ่องสอน 09.00 น.ไม่สามารถทำการบินได้ เนื่องจากควันไฟปกคลุมในพื้นที่ ต้องรอจนถึงเวลา 12.15 น.จึงบินได้ ส่วนสายการนกแอร์ เที่ยว 11.35 น.ต้องเลื่อนเวลาทำการบินออกไปอย่างไม่มีกำหนด
      
       สำหรับความพยายามแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น จนถึงวันนี้ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ที่การรณรงค์งดเผา ไถกลบตอซางข้าว-ข้าวโพด ฉีดละอองน้ำขึ้นฟ้า โดย นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “รณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อลดโลกร้อน และลดหมอกควันจากการเผาในที่โล่ง” ที่บริเวณแปลงนาข้างโรงปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านสันกว๊าน ม.8 ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา
      
       พร้อมทั้งขับรถไถรณรงค์ไถกลบตอซังข้าวด้วยตนเอง เพื่อเป็นการรณรงค์และส่งเสริมเกษตรงดเผาตอซังและฟางข้าว และหันมาไถกลบตอซังแทน และแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ปอเทือง ให้กับเกษตรกร ให้นำไปหว่านในนาข้าวเพื่อบำรุงดิน และยังได้ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด และประชาชน หว่านเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดินลงในแปลงนาด้วย
      
       วันเดียวกัน ที่สถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง พล.ต.ท.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้เดินทางมาตรวจราชการพร้อมมอบนโยบายให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัด ภูธรจังหวัดลำปาง หน่วยงานตำรวจในพื้นที่ จว.ลำปาง และตัวแทนภาคประชาชน ร่วม 200 คน
      
       โดยผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เน้นย้ำกับข้าราชการตำรวจทุก นาย ว่า เนื่องจากในช่วงนี้ทางภาคเหนือกำลังประสบวิกฤตหมอกควัน ดังนั้น จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายได้ดูแลเรื่องการทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและป่าไม้ โดยให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกัน ดูแลและช่วยรณรงค์ไม่ให้มีการเผาป่า เกิดขึ้นเพื่อช่วยลดมลพิษ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

Source :  http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000029542

แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 - 2574)

แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554 - 2574)

1. สมมติฐานที่ใช้ในการคาดการณ์ความต้องการพลังงานในอนาคต ประกอบด้วย
(1) อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลร
วมของประเทศ (GDP) เฉลี่ยร้อยละ 4.3ต่อปี
(2) อัตราการเพิ่มของประชากรประมาณร
้อยละ 0.3 ต่อปี และ
(3) แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นใช้ข้อมูลส
ถิติย้อนหลัง 20 ปี จาก ปี 2533 - ปี 2553 โดยได้ใช้ ปี 2553 (ค.ศ.2010) เป็นปีฐาน

2. วัตถุประสงค์ของแผน เพื่อกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางในการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของประเทศในระยะสั้น 5 ปี และระยะยาว 20 ปี ทั้งในภาพรวมของประเทศ และในรายภาคเศรษฐกิจที่มีการใช้พลังงานมาก ได้แก่ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคบ้านอยู่อาศัย

3. เป้าหมาย เพื่อลดความเข้มการใช้พลังงาน (energy intensity) ลง 25% ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553 หรือต้องลดการใช้พลังงานลงให้ได้อย่าง น้อย 38,200 ktoe ทั้งนี้ หากคำนวณค่า EI โดยใช้ปี พ.ศ. 2548 เป็นปีฐาน ไทยสามารถลด EI ได้ถึงร้อยละ 55 ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายของเอเป
ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย 
(1) การใช้มาตรการผสมผสานทั้งการบังคับ และการส่งเสริมสนับสนุนจูงใ
(2) การใช้มาตรการที่ส่งผลกระทบ
ในวงกว้าง สร้างความตระหนัก การเปลี่ยนพฤติกรรมและทิศทางตลาด
(3) การให้เอกชนเป็นหุ้นส่วนสำค
ัญในการส่งเสริมและดำเนินการ
(4) การกระจายงานอนุรักษ์พลังงา
นไปยังหน่วยงานที่มีความพร้อม
(5) การใช้มืออาชีพและบริษัทจัด
การ พลังงาน (ESCO) เป็นกลไกสำคัญ และ
(6) การเพิ่มการพึ่งพาตนเอง และโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีปร
ะสิทธิภาพสูง

กลยุทธ์และมาตรการในการขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่
(1) กลยุทธ์ด้านการบังคับด้วยกฎระเบียบและมาตรฐาน อาทิ การบังคับให้ติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงาน (mandatory labeling)
(2) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน เช่น การสนับสนุนการดำเนินการของบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)
(3) กลยุทธ์ด้านการสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
(4) กลยุทธ์ด้านการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ
(5) กลยุทธ์ด้านการพัฒนากำลังคนและความสามารถเชิงสถาบัน

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน จะก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน ขั้นสุดท้ายในปี 2573 รวมเท่ากับ 38,200 ktoe และลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้ประมาณ 130 ล้านตัน หากคิดเป็นมูลค่าทางการเงินจะส่งผลให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 707,700 ล้านบาท

วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปลี่ยนประเทศ จัดระบบคมนาคมใหม่

โดย ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต
Source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000028767

ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเวียดนามหลายครั้ง ทั้งไปส่วนตัวและพาคณะทัวร์กู้ชาติไปดูงานที่นั่น เพื่อให้คณะที่ไปได้เห็นความรักชาติและรักประชาชนของผู้นำอย่าง “โฮจิมินห์” หรือที่ทุกคนเรียกว่า “ลุงโฮ” ประชาชนชาวเวียดนามเป็นชาติที่แข็งแกร่ง และอดทน กว่าประเทศของเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ เต็มไปด้วยสมรภูมิสงคราม สู้กับจีน รบกับฝรั่งเศส และสุดท้ายคือสงครามที่รบกันเองระหว่างคนในชาติเดียวกัน แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยฝ่ายใต้มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่ แต่คนเวียดนามก็สร้างวีรกรรมจนสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาได้




เวียดนามฟื้นตัวหลังสงครามจากรากฐานทางการเกษตร ด้วยจอบ เสียม และสองมือสองเท้าของพวกเขา ไถนา ถางป่าท่ามกลางดงระเบิดที่ตกค้างจากสงครามในพื้นที่เกษตรกรรมหลายแห่ง ลูกหลานชาวเวียดนามต้องเจ็บป่วยพิการเป็นจำนวนมาก



สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่มีพื้นดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ ที่นี่จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ไร่ นา สวน ถูกพลิกฟื้นกลับมาใหม่ภายในเวลาไม่กี่สิบปี จนในที่สุดจึงกลายมาเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศไทย และกำลังจะแซงหน้าเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนที่เราได้ในไม่ช้า



จากการที่ผมได้ไปศึกษาดูงานด้านการเกษตรที่จังหวัดเตียนยาง ทางตอนใต้ของไซ่ง่อน หรือโฮจิมินห์ในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นคือต้นทุนการผลิตที่มีความแตกต่างจากไทย นั่นก็คือ “การคมนาคมทางน้ำ” ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้อย่างมหาศาล แม่น้ำลำคลอง ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับเกษตรกรชาวเวียดนาม เมื่อได้เห็นแล้วทำให้อดย้อนกลับมานึกถึงบ้านของเรา



กรุงเทพมหานครเคยได้ฉายาว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” ในช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ การคมนาคมทางน้ำคือหัวใจของการขนส่งและการค้า แม้แต่การทำไม้ยังสามารถล่องซุงจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน มาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้



สมัยเด็กๆ การเดินทางจากบ้านเกิดผมที่คลอง 10 อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี เพื่อเข้ากรุงเทพฯ แต่ละครั้ง ต้องนั่งเรือเมล์ที่เราเรียกว่า “เรือตาบู้” ตามชื่อเจ้าของเรือ เรือแวะรับผู้โดยสารตลอดทางเพื่อมาต่อรถที่รังสิต ใช้เวลาเดินทาง 1 วันเต็มจึงจะถึงบ้านคุณปู่ที่ท่าดินแดง ธนบุรี ซึ่งหากเป็นปัจจุบันนี้ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษโดยรถยนต์ก็ถึงแล้ว



เมื่อการเดินทางโดยรถยนต์เข้ามาแทนที่ การสัญจรทางน้ำที่เริ่มหมดคุณค่าลง คูคลองหลายแห่งในกรุงเทพฯ ถูกถมทำเป็นถนน คลองที่เหลืออยู่จึงกลายเป็นเพียงคูระบายน้ำ ขึ้นตรงกับสำนักระบายน้ำของ กทม.และคลองเหล่านั้นส่วนใหญ่ใช้เรือสัญจรไม่ได้แล้ว สองฝั่งคลองถูกสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต กลางคลองยังมีคอนกรีตค้ำยันเป็นช่วงๆ แม้แต่จะขุดลอกด้วยเครื่องจักรก็ยังทำไม่ได้



คลองที่เคยเป็นทางสัญจรจึงทำหน้าที่เป็นเพียงแหล่งรองรับน้ำเสียจากชุมชน หลายแห่งน้ำเสียจนเป็นสีดำสนิท เต็มไปด้วยขยะและส่งกลิ่นเหม็น ไม่เว้นแม้แต่คลองขนาดใหญ่ที่เคยใช้เพื่อการเกษตรและสัญจรทางน้ำอย่างคลองรังสิต และคลองซอยซ้าย-ขวา ตั้งแต่คลอง 1 ไปจนถึงคลอง 13 ซึ่งก็กลายเป็นที่รองรับน้ำโสโครกจากหมู่บ้านจัดสรรที่ไม่มีกติกาในการบำบัดน้ำเสีย ไม่ควบคุมการก่อสร้าง บางแห่งกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มาตั้งอยู่กลางแหล่งชุมชนพักอาศัยเดิม ใครเดือดร้อนก็ต้องย้ายหนีไปหาที่อยู่ใหม่กันเอาเอง



เมื่อน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เราจึงมาพูดถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลองกันมากขึ้น แม่น้ำสายหลักใหญ่ๆ ถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนเกือบทุกสาย การคมนาคมทางน้ำทำได้เพียงระยะสั้นๆ เริ่มมีการพูดถึงอดีตที่ผู้คนในบ้านเรายังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสายน้ำ ต้องยอมรับว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติ ซึ่งเราจะต้องอยู่ร่วมกับมันให้ได้ เมื่อถนนสายหลักกลายเป็นอัมพาต ก็ต้องหาเรือมาใช้แทนทั้งที่ไม่เคยเตรียมการหรือคาดการณ์ไว้ก่อน และยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก ตราบใดที่การแก้ปัญหายังเป็นเรื่องเฉพาะหน้าและยังไม่มีนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์อาสามาทำงานเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง



ทั่วโลกยอมรับกันแล้วว่าระบบการขนส่งที่ประหยัดและดีที่สุดคือการใช้ “รถไฟ” และ “การขนส่งทางน้ำ” ไม่ว่าจะเป็นทางทะเลหรือในแม่น้ำลำคลองก็ตาม การรถไฟในบ้านเราเริ่มมีมากว่า 100 ปีตั้งแต่รัชกาลที่ 5 พร้อมกันกับยุคเมจิของญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันนี้การรถไฟของเราเทียบอะไรกับเขาไม่ได้เลย วันนี้เราถอยหลังลงไปจนแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็กำลังจะแซงหน้าไปใช้รถไฟความเร็วสูงกันแล้ว รถไฟไทยตกรางบ่อยกว่าเดิม เดินทางไม่เคยตรงเวลา ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ไม่พัฒนาคุณภาพและความสะอาด มีแมลงสาบ ตัวหมัด ตัวไรเป็นของแถมให้แก่ผู้โดยสาร ทุกวันนี้การรถไฟฯ ขาดทุนสะสมนับหมื่นล้าน



เราพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มากมายหลายสายด้วยเม็ดเงินเป็นแสนล้าน กระจุกตัวเพื่อบริการคนไม่กี่ล้านคนที่อยู่ในเมืองหลวง แต่กลับไม่ใส่ใจคนต่างจังหวัดอีกหลายสิบล้านคนที่รอรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่ไม่จำเป็นต้องเร็วมากถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง เอาแค่ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น แต่ขอเพียงแค่สามารถใช้งานได้จริงอย่างมีคุณภาพ ประชาชนก็พอใจแล้ว เพราะจะได้ประโยชน์ทั้งการเดินทาง การท่องเที่ยว การขนส่งสินค้า และการกระจายความเจริญสู่ชนบท



ถ้าเราใช้โอกาสหลังน้ำท่วมหันมาศึกษาและพัฒนาระบบการขนส่งและคมนาคมกันใหม่ โดยลดการก่อสร้างถนน 4 เลน ซึ่งต้องเสียเงินคิดเป็นกิโลเมตรละ 7-8 ล้านบาท แล้วหันมาให้ความสนใจกับการคมนาคมทางน้ำให้มากขึ้น ขุดคลองกว้างประมาณ 20 เมตร ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณกิโลเมตรละ 2-3 ล้านบาทเท่านั้น พื้นที่สองฝั่งยังปลูกต้นไม้ได้อีกมหาศาล สองข้างทางทำถนนเพื่อใช้ขนส่งควบคู่กันไป แต่เรือจะสามารถขนสินค้าทางการเกษตรได้จำนวนมากกว่าและมีต้นทุนถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น การใช้เรือลากจูง 1 ลำใช้เครื่องยนต์ประมาณ 6 สูบ 160-200 แรงม้า วิ่ง 10 ชั่วโมงจะกินน้ำมันเพียง 170-180 ลิตร ลากเรือพ่วงได้อีก 3-4 ลำ แต่ละลำบรรทุกได้มากกว่า 100 ตัน มากกว่าหรือเทียบเท่ารถบรรทุกสิบล้อถึง 30 คัน ง



ในขณะที่รถบรรทุกสิบล้อราคาคันละ 3-4 ล้านบาท บรรทุกน้ำหนักได้เพียง 26 ตันรวมน้ำหนักรถประมาณ 9-10 ตันเข้าไปด้วย ก็เท่ากับบรรทุกของได้เพียง 16 ตันต่อเที่ยว หากมากกว่านี้ถนนในบ้านเราก็ไม่สามารถรับน้ำหนักของรถได้แล้ว และหากถนนชำรุดก็ต้องหางบประมาณมาซ่อมแซมอีก ดูตัวอย่างทางสายประตูน้ำพระอินทร์-สระบุรี เลนซ้ายต้องซ่อมแซมกันอยู่ตลอดทั้งปี เพราะรับน้ำหนักรถบรรทุกไม่ไหว และบริษัทขนส่งส่วนใหญ่ก็มักจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อที่จะบรรทุกน้ำหนักให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดกันทั้งนั้น



เรามีนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตและค้ารถยนต์เข้ามากำหนดนโยบายของประเทศ มีพ่อค้านักธุรกิจก่อสร้างถนนเข้ามาร่วมรัฐบาล จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่รถยนต์ขายดีกันอยู่ทุกวันจนแทบไม่มีถนนเพียงพอให้รถวิ่ง ถนนใหม่ๆ ดีๆ ก็ตั้งงบไปรื้อและทำใหม่ ถนนพังๆ ก็พังต่อไปไม่คิดซ่อมแซมให้ดี เพราะถ้าซ่อมดีเกินไปจะเสียโอกาสในการของบใหม่ในครั้งหน้า กลไกการเมืองทุกวันนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองและข้าราชการบางกลุ่ม ไม่แปลกอะไรเลยที่ตรวจพบว่าเงินที่โจรปล้นมาจากบ้านปลัดคมนาคม จะมีสายรัดที่เบิกจากธนาคารหลังจากวันที่เซ็นสัญญารถไฟฟ้าสายหนึ่ง



ทุกวันนี้นักการเมืองที่แย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกัน ก็หวังเพียงเพื่อจะเข้ามาเซ็นสัญญาอะไรก็ได้ก่อนออกจากตำแหน่งก็คุ้มแล้ว ผลที่ตามมาก็คงไม่แตกต่างกันนักกับโครงการโฮปเวลล์ที่เพิ่งพังถล่มลงมา โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบตามเคย เอวัง... ประเทศไทย

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

ใช้พลาสติกน้อยลงแล้วโลกจะเบาขึ้นไหม

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
source: http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=94089

นักการตลาดเคยใช้หลักการดูขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใดขายดีที่สุดในตลาด เหตุผลนี้อาจจะเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้หลายบริษัทที่คิดจะทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นภาระต่อโลกใบนี้ให้น้อยลง 

หนึ่งในกลไกที่จะทำให้การเปลี่ยน แปลงเกิดขึ้นได้เร็วกว่าและใช้ได้ผลเสมอคือ การคิดโจทย์นี้ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ ลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตัวบริษัท และเป็นแรงดึงดูดที่ดีที่จะทำให้ผู้บริหารอนุมัติงบเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นการที่บริษัทดังๆ ระดับโลกหลายรายออกมาดำเนินธุรกิจภายใต้การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองไม่น้อยว่าสิ่งที่คิดมานั้น ทำเพื่อโลกใบนี้จริงแค่ไหน โดยเฉพาะการใช้เวลาพิสูจน์เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับและเชื่ออย่างสนิทใจโดยปราศจากข้อกังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแคมเปญการตลาดที่สื่อสารออกไป 

อย่างไรก็ตาม การคิดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแค่สีสันการตลาดหรือ ของจริง ก็ต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะ อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า ผู้บริโภคยุคนี้ เริ่มตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมบ้างแล้วจริงๆ แต่พึงระวังว่าความรู้สึกนั้นต้องไม่ใช่แค่เทรนด์การตลาดที่ผ่านมา ช่วงสั้นๆ ที่ทำให้กรีนคอนเซ็ปต์เป็นแค่เปลือกหุ้มที่ถูกเลือกใช้เพื่อทำตลาดให้อินเทรนด์ และควรพยายามเปลี่ยนการตลาดเพื่อสิ่งแวด ล้อมที่เป็นเพียงแค่การตลาดทางเลือกไปเป็นการตลาดกระแสหลักที่ผู้บริโภคใช้เป็น ตัวตัดสินใจเป็นประจำ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภค ย่อมจะส่งผลถึงผู้ประกอบการ โดยตรงให้จริงจังกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน 

วันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ออกมาเปิดตัวน้ำดื่มน้ำทิพย์ในบรรจุภัณฑ์ดีไซน์ใหม่ โดยประกาศตัวเต็มที่ว่า “คิดมาเพื่อโลก” ด้วยเทคโนโลยีอีโค-ครัช (Eco-Crush) ซึ่งเป็นขวดพลาสติก PET ที่ลดปริมาณการ ใช้พลาสติกในการผลิตจากขวดแบบเดิมลง 35% 

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ประกาศว่าทำมาเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลาทั้งในไทยและต่างประเทศ มีความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง 

หนึ่งปีก่อนหน้าที่จะเปิดตัวน้ำดื่มใน ขวดพลาสติกอีโค-ครัช บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มของโคคา-โคล่าในไทย เปิดตัวเครื่องดื่มน้ำส้ม มินิเมดพัลพีใน ขวดใหม่ที่ลดปริมาณพลาสติกให้มีน้ำหนัก เบาขึ้นมาแล้วเช่นกัน โดยลงทุนเครื่องจักร ในไลน์การผลิตไปทั้งสิ้น 600 ล้านบาท 

“การทำบรรจุภัณฑ์แบบบางหรือเบา นี้เรียกว่า Sustainable Packaging เป็นความมุ่งมั่นของโค้กทั่วโลกที่พยายามสรรหา นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเราจะมีนวัตกรรมแบบนี้ ในทุกผลิตภัณฑ์ที่จะทยอยออกสู่ตลาดเรื่อยๆ” 

คำบอกเล่าของเรฮาน คาน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจประจำประเทศ ไทย บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ที่พยายามอธิบายให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบรรจุภัณฑ์ใหม่ของน้ำทิพย์ที่คิดมาเพื่อโลกครั้งนี้ จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหน หลังจากเจอคำถามที่โคคา-โคลา มักถูกถาม บ่อยๆ ว่า “กรีนจริงหรือแค่การตลาด” 

นั่นคือคำตอบจากมุมผู้บริหาร แต่ในมุมของผู้บริโภคสามารถพิจารณาคำตอบนี้ได้จากข้อมูลผลิตภัณฑ์และเป้าหมายทางการตลาดจากการเปิดตัวอีโค-ครัชประกอบในหลายประเด็น 

เบเนฟิตแรกที่โคคา-โคลาได้จากการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์โดยลงทุนเพิ่มไลน์การผลิตน้ำดื่มน้ำทิพย์ใหม่ที่โรงงานรังสิตด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 700 ล้านบาทครั้งนี้ ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากระบบเดิมที่ผลิตได้ 500 ขวดต่อนาที เป็น 1,200 ขวดต่อนาที 

ชาญวิทย์ ชรินธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มพัฒนาสินค้าและธุรกิจ ใหม่ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด บอกว่า เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและเร็วที่สุดในเมืองไทยตอนนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำลังการผลิตมากกว่า 30 ล้านลังต่อปี 

แน่นอนว่า นี่คือกำลังการผลิตที่มากขึ้นกว่าเดิมกว่าเท่าตัว ดังนั้นแม้น้ำหนัก บรรจุภัณฑ์ของขวดพลาสติกที่มีน้ำหนักเหลือเพียง 10.8 กรัมต่อขวด จากการลดพลาสติกลง 35% แต่ปริมาณการใช้พลาสติกไม่ได้ลดลง อีกทั้งอาจจะต้องปรับ เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายทางการตลาดที่บริษัท ตั้งไว้สูงขึ้นหลังเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ 

ไทยน้ำทิพย์ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปีนี้ น้ำทิพย์น่าจะมียอดขายเติบโตมากกว่าอัตราการเติบโตของตลาดน้ำดื่มได้ 

ล่าสุดปี 2554 ตลาดน้ำดื่มมีมูลค่า 18,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 10-15% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงกว่าปกติเพราะผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในปีเดียว กัน จากปกติที่เติบโตปีละไม่ถึง 10% 

อีกทั้งหวังไกลไปอีกว่า น้ำทิพย์จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดน้ำดื่มภายในไม่กี่ปีจากนี้ จากเดิมที่ติดแค่ท็อป 5 ของกลุ่ม ประกอบด้วยแบรนด์สิงห์ ช้าง คริสตัล เนสท์เล่ และน้ำทิพย์ เพราะอย่างน้อยก็มีตัวอย่างจากการเปิดตัวขวดอีโค-ครัช ทั้งในญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และเวียดนาม ที่เปิดตัวมาก่อนหน้าไทยและทำให้โคคา-โคลาเติบโตจนมีส่วนแบ่งตลาดน้ำดื่มในประเทศนั้นๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดหลังเปิดตัวเพียง 6 เดือน 

“ในอดีตเราไม่ได้ลงทุนมากเท่านี้ ครั้งนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดในรอบ 34 ปีที่เรารุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมเต็มรูปแบบ เพราะ ฉะนั้นเรามั่นใจว่าคอนเซ็ปต์ Eco-friendly จะทำให้เราประสบความสำเร็จตามที่วางไว้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ตลาดน้ำดื่มถึงแม้จะโต แต่ก็ค่อนข้างนิ่งเพราะไม่ค่อยมีนวัตกรรมอะไร เราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของน้ำทิพย์น่าจะสร้างให้ตลาดคึกคักและทำให้ ผู้บริโภคคิดถึงสินค้ากลุ่มน้ำดื่มมากขึ้น รวมทั้งนึกถึงน้ำทิพย์ที่มีความแตกต่างจากแบรนด์คู่แข่ง” เรฮานกล่าว 

สาเหตุที่โคคา-โคลาทำตลาดโดยเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมเต็มร้อยในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากที่เคยเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตัวสินค้าและราคา ก็เพิ่ม คุณสมบัติด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของตัวผลิตภัณฑ์เข้าไปด้วยเสมอในการตัดสินใจซื้อสินค้า ยิ่งสินค้าที่มีราคาและคุณสมบัติใกล้เคียงกันก็จะยิ่งทำให้เลือกได้ ง่ายขึ้น 

นอกเหนือจากเหตุผลด้านการตลาด และการคิดผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หากย้อน ดูประโยชน์ในฝั่งการผลิตที่โคคา-โคลาได้รับจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังมีอีกหลาย ด้าน ได้แก่ การลดปริมาณบรรจุน้ำดื่มจาก 600 มิลลิลิตร ลงเหลือ 550 มิลลิลิตร การลดปริมาณพลาสติกให้ขวดเบาและบางลงทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งต่อเที่ยว ได้จำนวนมากขึ้น ขวดที่ดีไซน์ให้บิดได้ง่ายช่วยลดเวลาการบดอัดขยะทำให้การขนส่งขวดไปรีไซเคิลได้ทีละมากขึ้นเพราะลดช่องว่างของพื้นที่บรรทุกไปได้มาก และ ลดการปล่อยก๊าซสู่ชั้นบรรยากาศในการรีไซเคิลหรือกำจัดของเสีย 

“ในไลน์การผลิต การลงทุนครั้งนี้เราไม่ได้คิดแค่ตัวโปรดักส์ แต่เราคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ทั้งการลด พลังงาน ลดของเสียในกระบวนการผลิตลงด้วย เรามองหาทุกวิธีการที่จะทำให้ประหยัดทรัพยากรได้มากขึ้น” ชรินธรกล่าว 

จากการคิดวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วจากฝั่งผู้ผลิตอย่างโคคา-โคลา พวกเขาเชื่อ เต็มร้อยว่า คอนเซ็ปต์และรูปลักษณ์ใหม่ ของน้ำดื่มน้ำทิพย์จะเป็น Environmental Friendly choice ของผู้บริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีง่ายๆ จากการบิดขวดน้ำทิพย์หลังดื่มหมด 

แต่ในฝั่งผู้บริโภคอาจจะคิดเพิ่มเติม เพื่อสิ่งแวดล้อมได้อีกว่า นอกจากเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดแล้ว คุณอาจจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดการ ใช้ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการบิดขวดเพื่อลดปริมาณขยะ อย่างน้อยก็มีวิธีง่ายกว่านั้นด้วยการเลือก Reuse บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำดื่มของคุณเอง ก่อนจะคิดถึงกระบวนการ Recycle เพราะนั่นเท่ากับคุณได้ตัดสินใจเลือกลดปริมาณขยะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมยิ่งกว่า