วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เสนออกกฎหมายควบคุมการจัดการน้ำมันทอดซ้ำ



      สสส.ชี้น้ำมันทอดซ้ำหายจาก ระบบ หวั่นกำจัดไม่ถูกวิธีและอาจมีการฟอกกลับมาใช้ใหม่ เร่งเพิ่มความร่วมมือในท้องถิ่นเปิดรับซื้อน้ำมันทอดซ้ำทำไบโอดีเซล ขณะที่ สคบ.โอดกฎหมายไม่ครอบคลุม เร่งศึกษาโทษน้ำมันเสื่อมสภาพ เพื่อให้มีผลทางกฎหมาย

       รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศ ไทยบริโภคน้ำมันประมาณ 8 แสนตัน/ปี โดยร้อยละ 50% เป็นการบริโภคในครัวเรือน อีกร้อยละ 50 ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีการนำน้ำมันทอดซ้ำกลับมาเป็นพลังงานไบโอดีเซลล์เพียงร้อยละ 5 ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าน้ำมันทอดซ้ำที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตอาหารนี้หายไปไหน มีการกำจัดอย่างไร ทิ้งในสิ่งแวดล้อม หรือมีกระบวนการฟอกเพื่อกลับมาขายให้ผู้บริโภคใหม่ จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายและระบบการติดตาม โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ เพราะมีปริมาณการใช้ครั้งละจำนวนมากและสามารถติดตามได้ง่าย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหนุนให้เกิดการทำงานทั้ง ภาคปฏิบัติ ภาควิชาการ ด้านการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และการสื่อสารที่ถูกต้องภายในท้องถิ่น
      
       “น้ำมันทอดซ้ำ ไม่ได้หมายถึงการใช้น้ำมันเพียงครั้งเดียวแล้วเปลี่ยน แต่เปลี่ยนเมื่อเหมาะสม ปัจจุบันมีชุดทดสอบอย่างง่ายที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการวัดการเสื่อมสภาพได้ ง่ายขึ้น และที่ผ่านมาเมื่อมีความร่วมมือในระดับท้องถิ่น และภาคธุรกิจในหลายจังหวัดเพื่อลดปัญหาการใช้น้ำมันเสื่อมสภาพ เช่น จ.มหาสารคาม ทำโครงการน้ำมันเสีย 4 ขวด แลกน้ำมันดี 1 ขวด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายจังหวัดเปิดรับซื้อเพื่อนำไปทำเป็นพลังงานไบโอดีเซลล์ ทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพที่อยู่ในระบบน้อยลงพบไม่ถึงร้อยละ 5-10 จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระดับพื้นที่ให้มากขึ้น” รศ.ดร.วิทยากล่าว
      
       นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ขณะ นี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลการใช้น้ำมันเสื่อมสภาพเพื่อนำไปสู่การออกประกาศ ให้มีผลทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมลงโทษผู้ฝ่าฝืนได้ โดยจะต้องหาช่องทางที่จะสามารถทำให้เกิดกระบวนการควบคุมและบังคับใช้ได้จริง เพราะปัญหาที่ผ่านมาคือน้ำมันที่นำไปฟอกและนำกลับมาขายใหม่มักลักลอบทำเพราะ ไม่มีกฎหมายครอบคลุม และจะสามารถจัดการได้เมื่อตรวจพบและมีการร้องเรียนมายัง สคบ.เท่านั้น จึง จำเป็นต้องออกกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้จริงและกำหนดเงื่อนไขว่า น้ำมันประเภทใด ลักษณะอย่างไร จึงจะต้องกำจัดทิ้งหรือแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก ไม่ให้กลับเข้ามาสู่วงจรการบริโภคได้อีก

source : http://manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000056072

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น