วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิกฤตพลังงานไฟฟ้า ไม่เอาเขื่อน ถ่านหิน นิวเคลียร์ แล้วจะเอาอะไร? (1)



โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 1 พฤษภาคม 2555

โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ (ภาพกรีนพีซ)

       ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติใหม่ตามความร้อนของสภาพอากาศ ทำให้แผนจัดหาโดยเร่งสร้างโรงไฟฟ้าใหม่มีความชอบธรรมยิ่งขึ้น แต่ข้อมูลอีกด้านของนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน มีข้อเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เขื่อน ถ่านหิน นิวเคลียร์ โดยต้องขจัดคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน และการผูกขาดไปพร้อมกันด้วย
    
       คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัติโนมัติ หรือค่าเอฟที 30 สต./หน่วย เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อให้สะท้อนราคาต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ของภาคครัวเรือนเนื่องจากสภาพอากาศร้อน โดยต่ำกว่าที่ กฟผ.ต้องการให้ปรับขึ้นถึง 57.45 สต./หน่วย เป็นการโยนภาระให้ประชาชนที่ไม่สามารถมีปากเสียงและข้อโต้แย้งใดๆ ไม่เช่นนั้นจะโดนตัดไฟทันทีเช่นเคย
    
       นานมาแล้วนับจากการสถาปนา กฟผ.จวบจนถึงการตั้งคณะกรรมการต่างๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งหมายรวมถึง กกพ. เพื่อเข้ามาวางแผนบริหารจัดการ กำกับดูแลกิจการด้านพลังงานของประเทศ แต่จนบัดนี้ประชาชนยังคงตกเป็นเหยื่อรายสุดท้ายที่ต้องควักจ่ายให้แก่การวาง แผนและจัดหาพลังงานซึ่งเต็มไปด้วยอวิชชา ความฉ้อฉลไม่จบสิ้น คำข่มขู่วิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลน เชื้อเพลิงราคาแพงมีความเสี่ยงสูงที่มาพร้อมกับการวางแผนพัฒนากำลังการผลิต ไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน ต้อนให้เหยื่อรายสุดท้ายยอมรับชะตากรรมโดยไม่กล้าตั้งคำถามถึง “ทางเลือกอื่น” ที่มีอยู่จริง
    
       ทางเลือกอื่นในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช่เขื่อน (โรงไฟฟ้าพลังน้ำ) ถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือก๊าซฯ ซึ่งหมายถึงการลงทุนมหาศาลและสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย แต่มีตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศหรือแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลที่ สังเคราะห์มาจากข้อมูลการศึกษาวิจัยของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ เพียงแต่นโยบายกับการปฏิบัติกลับขัดแย้งกันเองเพราะมีผลประโยชน์บังตา
    
       มาร่วมแสวงหาทางเลือกอื่นจากข้อมูลอีกด้านจาก ดร.คริส กรีเซน และ ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ผู้ซึ่งผันตัวเองจากหน่วยงานวางแผนพลังงานของประเทศไทย มาเป็นนักวิชาการอิสระ ซึ่งนำเสนอ “แผนพัฒนากําลังการผลิตไฟฟ้า 2555-2573 (แผนพีดีพี 2012) และกรอบเพื่อการพัฒนาความรับผิดตรวจสอบได้ของการวางแผนภาคพลังงานไฟฟ้า” เพื่อเปรียบเทียบกับแผนพีดีพีที่มี กฟผ.เป็นหัวหอกในการวางแผน
    
       ชื่นชมเปิดประเด็นว่า แผนพีดีพีของทางการซึ่งเป็นแผนแม่บทสำหรับการลงทุนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ ผ่านมา รวมทั้งแผนพีดีพี 2010 ฉบับล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการวางแผนที่เป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤต เพราะโรงไฟฟ้าจำนวนมากก่อมลพิษ มีปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความขัดแย้ง มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง การลงทุนที่มากเกินจำเป็นยังส่งผลต่อค่าครองชีพ ราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งขัดกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศและผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่
    
       ทั้งที่ “ความมั่นคงทางพลังงาน” ไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการเท่านั้น แต่ต้องควบคู่กันไปใน 4 มิติ คือ ความพร้อมใช้ (ของแหล่งพลังงาน) ความสามารถจ่ายได้ (ราคาของค่าบริการพลังงาน) ความมีประสิทธิภาพและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวนโยบายพื้นฐานด้านพลังงานที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
    
       กระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น มีปัญหาทั้งการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิต ไฟฟ้าที่กำหนดโรงไฟฟ้าที่จะต้องสร้างและป้อนเข้าระบบตามการพยากรณ์ เพราะคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์ การจัดทำแผน และให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายนั้นมีข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงที่เกี่ยว ข้องนั่งเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย โดยที่ขาอีกข้างก็ถ่างควบตำแหน่งคณะกรรมการอำนวยการของบริษัทพลังงานต่างๆ ที่มีผลประโยชน์โดยตรงในกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าด้วย
    
       ขณะที่ผู้บริโภคหรือภาคส่วนประชาชนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการต่างๆ มีจำนวนน้อยและมีบทบาทจำกัดมากในกระบวนการตัดสินใจ
    
       ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและทำให้กระบวนการตัดสินใจบิดเบี้ยวไปตาม ผลประโยชน์ที่บริษัทพลังงานและรัฐวิสาหกิจจะได้รับ ไม่นับว่ายังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเรื่องการผูกขาด และโครงสร้างการจูงใจแบบบวกเพิ่มต้นทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โถมทับ
    
       ชื่นชมวิจารณ์แผนพีดีพี 2010 ว่าไม่ต่างจากแผนฉบับอื่นๆ ซึ่งกำหนดให้มีจำนวนโรงไฟฟ้ามากเกินไป สร้างภาระในการลงทุนสูง และเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ควรสร้าง คือ มีความเสี่ยงสูงและส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแผนพีดีพีดังกล่าวมีข้อผิดพลาดทั้งในขั้นตอนการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า และการจัดหาพลังงาน
    
       ความผิดพลาดในขั้นตอนการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้า โดยคณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าภายใต้กระทรวงพลังงานยังคงมีปัญหา คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา โดยนักพยากรณ์มักเล็งผลเลิศว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้น การบริโภคพลังงานไฟฟ้าจึงต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
    
       เช่น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2550-2554) นักวางแผนคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขั้นต่ำ คือร้อยละ 5 แต่ตัวเลขจริงเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 เท่านั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี ได้กล่าวในการประชุมเกี่ยวกับการวางแผนกิจการพลังงานในภูมิภาคแม่น้ำโขงว่า “ตัวเลข GDP ของไทยนั้นมีลักษณะค่อนข้างเป็นการเมืองและเป็นตัวเลขที่ปรารถนาให้เป็นเสีย มากกว่า”
    
       ไม่นับว่า การเผชิญกับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดหมาย เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 หรือน้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการบริโภคพลังงานไฟฟ้า แต่ไม่เคยถูกนำมาพิจารณาในการพยากรณ์ความต้องการพลังงาน
    
       หากย้อนกลับไปดูความต้องการไฟฟ้าในประเทศไทยโดยเฉลี่ยตลอด ช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 830 เมกะวัตต์ และเมื่อคิดเฉลี่ยในช่วง 15 ปี ลดลงเหลือปีละ 813 เมกะวัตต์ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 772 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มโดยเฉลี่ยเพียงปีละ 407 เมกะวัตต์ แต่การพยากรณ์ในแผนพีดีพี 2010 กลับคาดการณ์ตรงกันข้าม โดยคาดว่าจะมีความต้องการไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 1,491 เมกะวัตต์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยสูงสุดที่ผ่านมาถึงร้อยละ 80 ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยและเกินจริงมาก
    
       ส่วนข้อผิดพลาดในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจัดทำร่างโดย กฟผ. และนำเสนอผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ และเสนอผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนั้น กฟผ.ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เชิงพาณิชย์ที่มีชุดคำสั่งคำนวณเลือกเอาทาง เลือกที่กำหนดไว้ คือ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซฯ โรงละ 800 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงละ 800 เมกะวัตต์ ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่บริเวณที่ไม่เคยมีโรงไฟฟ้ามาก่อน หรือสร้างเพิ่มเติมในบริเวณที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้วที่มีศักยภาพขยายโรงไฟฟ้า เพิ่มเติมได้
    
       นอกจากตัวเลือกข้างต้น แผนพีดีพีของ กฟผ.ก็มีการจัดการไฟฟ้าในปริมาณจำกัดเพียงร้อยละ 0.3 ของความต้องการพลังงานทั้งหมด รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กมากและผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แผนนี้ยังรวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินลิกไนต์จากประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนมาก ซึ่งถูกกำหนดโดยข้อตกลงในการเจรจาทางการเมืองแบบทวิภาคีที่แยกออกจากกระบวน การจัดทำแผนพีดีพี
    
       “การเลือกแหล่งพลังงานเหล่านี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์อันจำกัดอย่างยิ่งในเรื่องทางเลือกต่างๆ สำหรับกิจการพลังงาน”
    
       แล้วทางเลือกแหล่งพลังงานที่มากกว่ามีอะไร ทำไมถึงไม่ถูกเลือก …. โปรดติดตาม ตอน 2 (จบ)

source : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053712

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น