วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความจำเป็นกับการสร้างโรงไฟฟ้าในไทย ?

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=42015307

กลับมาดูที่ประเทศไทย ทำไม ? มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ? ที่ประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินสะอาด มาเริ่มดูจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 คือ ตั้งแต่ ปี 2553 - 2573 ที่ได้กำหนดไว้ว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ สัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า จะต้องมาจากก๊าซธรรมชาติสูงที่สุด 58% รองลงมาพลังงานหมุนเวียน 18% ถ่านหินนำเข้า 12% ถ่านลิกไนต์ 7% และนิวเคลียร์ 5% ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เป็น 55,065 เมกะวัตต์ เพราะในอีก 10 - 15 ปีข้างหน้า แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไป ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทยกลับเพิ่มขึ้นทุกปีและจะพุ่งสูงขึ้นถึง 60,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 โดยในปีนี้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค ก็เกือบ 26,000 เมกะวัตต์

ทำให้หน่วยงานหลักในการจัดหาไฟฟ้าเพื่อป้อนให้กับประเทศ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ต้องเร่งหาข้อสรุปเพื่อเดินหน้าผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ป้องกันปัญหาไฟตกไฟดับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายพงษ์ดิษฐ พจนา ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ. เปิดใจว่า อยากเสนอรัฐบาลให้ยกระดับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อหาข้อสรุปว่า ในอนาคตการผลิตไฟฟ้าของประเทศจะต้องใช้เชื้อเพลิงใดเป็นหลัก เช่น พลังงานหมุนเวียน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ น้ำ เพื่อจะได้ลงทุนก่อสร้างได้ถูกต้องตามความต้องการ เพราะปัจจุบันทางเลือกของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีไม่มาก โดยทางเลือกที่ยังสามารถดำเนินการได้ คือ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 2.โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5. การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ 6. การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า และ 7. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่าแต่ละทางเลือกย่อมมีทั้งข้อดี และข้อจำกัดในตัวเอง ซึ่งการที่รัฐบาล และประชาชน จะต้องยอมรับผลที่จะตามมาด้วย เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้ก๊าซธรรมชาติที่ในอนาคตในอ่าวไทยจะหมดไป ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ แอลเอ็นจีจากต่างประเทศ การพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หากมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต อาจทำให้ราคาเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ต้องยอมรับว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีต้นทุนถูกที่สุดอยู่ที่หน่วยละ 2.30 บาท และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แต่คงยากที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้ เพราะสังคมไทยยังยอมรับไม่ได้ ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด มีต้นทุนเพียง 2.36 บาทต่อหน่วย และมีปริมาณสำรองที่ใช้ได้มากถึง 200 ปี

ส่วนพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังน้ำ พลังลม ขยะ แสงอาทิตย์ ที่แม้สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่มีความไม่แน่นอนเพราะผลิตไฟฟ้าได้เพียงวันละ 5-6 ชั่วโมง แถมยังมีต้นทุนสูง โดยการผลิตไฟฟ้าจากลม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5-6 บาทต่อหน่วย แสงอาทิตย์ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8-9 บาทต่อหน่วย ชีวมวล ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.80 - 3.50 บาทต่อหน่วย ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีต้นทุนอยู่ที่ 3.20 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ กฟผ.ยังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เช่น การกำหนดโซนนิ่งเขตอุตสาหกรรมกับไฟฟ้าให้อยู่ใกล้กัน การจัดหา การเวนคืนที่ดิน การสื่อสารกับประชาชน เป็นต้น รวมถึงการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม นายพงษ์ดิษฐ ยังย้ำด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มในปี 2557 อาจเกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นโซน ๆ ก็ได้

จากแผนพีดีพี 2010 และราคาต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกรองลงมาจากนิวเคลียร์ ที่ขณะนี้บ้านเรายังไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่รู้ว่าอนาคตจะสามารถสร้างได้หรือไม่นั้น ทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เป็นตัวเลือกหลักที่เกือบจะดีที่สุดในขณะนี้ ที่ กฟผ.เลือกที่จะก่อสร้างภายในปี 2556 เพราะมีราคาค่าไฟถูก มีปริมาณสำรองที่มากเพียงพอ โดยเลือกพื้นที่ก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ เพราะเป็นพื้นที่เดิมที่โรงไฟฟ้าอยู่แล้ว และความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ก็มีค่อนข้างมาก โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้แค่ 2,100 เมกะวัตต์ สวนทางอัตราการใช้ไฟฟ้าเติบโตปีละ 6% ทำให้การก่อสร้างน่าจะสัมฤทธิ์ผลได้มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท กำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมนิวเคลียร์ กฟผ. กล่าวย้ำว่า กฟผ.มีความจำเป็นจะต้องเลือกเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เพราะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดภายในอีก 20 ปี ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่มีความชัดเจนไปจนถึงปี 2563 การนำเข้าแอลเอ็นจีราคาก็สูงขึ้นทุกวัน โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขยายได้ไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ถ่านหินสะอาดเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ EHIA เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะนำโมเดลจากญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องของระบบ การก่อสร้างและวิธีปฏิบัติงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด มิตสุอุระ เมืองนางาซากิ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดอิโซโกะ เมืองโยโกฮามา มาถ่ายทอดให้ชุมชนกระบี่เกิดความมั่นใจถึง มาตรฐานความปลอดภัยและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ตามปกติ

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขออนุมัติดำเนินการ เมื่อกระบวนการผ่านทุกอย่างไปจนถึงขั้นเริ่มก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนพร้อมเปิดใช้ได้ในปี 2562 ทั้งนี้หากโรงไฟฟ้าสามารถสร้างได้ตามแผน การกำหนดเส้นทางขนส่งถ่านหินสะอาดไปยังโรงไฟฟ้าจะต้องใช้เรือขนส่งขนาด 1.5 แสนตันต่อเที่ยว วันละ 2 เที่ยว เพื่อเก็บสต๊อกถ่านหินไว้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อสำรองไว้ใช้ให้ได้ 30-45 วัน โดยจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียเพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับประเทศเราต่อไป

นั่นเป็นเพียงการผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งเพื่อนำมาตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเราที่นับวันจะมีแต่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตไฟฟ้าในพื้นที่อื่น ๆ หรือ จากเชื้อเพลิงอื่น ๆ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าอนาคตประเทศเราจะใช้เชื้อเพลิงใดเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตจะเป็นอย่างไร และประเทศเราจะมีไฟตกไฟดับหรือไม่ คงไม่ใช่อยู่ที่มือ กฟผ.เพียงอย่างเดียวคงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชนอย่างเราๆ และรัฐบาลว่าอยากให้อนาคตไฟฟ้าไทยเป็นแบบไหน ?

โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดต้นแบบจากญี่ปุ่น

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=42013641

เมื่อเร็ว ๆนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจากการดูงานทำให้รับทราบว่าโรงไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่คนไทยกลัวกันนัก กลับสามารถอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างโรงไฟฟ้าและชุมชน

โดยเริ่มจากโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดของบริษัท เจ พาวเวอร์ หรือ บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีโรงไฟฟ้าในเครืออยู่ประมาณ 67 แห่ง อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน "มัตซูอุระ" ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนางาซากิ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ายูนิตละ 1,000 เมกะวัตต์ 2 ยูนิต รวม 2,000 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิด ที่มีการเทกองถ่านหินในพื้นที่เปิดโล่ง มีเพียงกำแพงกั้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น เพราะแต่ละด้านที่เหลือจะติดกับทะเล ตัวโรงไฟฟ้า และแนวต้นไม้ที่ปลูกไว้เพื่อดูดซับฝุ่นละออง ที่ดูด้วยตาเปล่าแทบมองไม่เห็น และถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะมีการกองถ่านหินอยู่บนลานที่เปิดโล่ง อยู่ใกล้กับชุมชน ที่มีการปลูกข้าว ทำการเกษตร แต่ผลผลิตของเกษตรกรเหล่านั้นกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในขณะเดียวกันทางโรงไฟฟ้าก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการบริหารจัดการในเรื่องของการปล่อยมลพิษต่างๆ ทั้ง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ,ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่นขี้เถ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดและเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันกับชุมชน ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นอกจากนี้ชุมชนเหล่านี้ยังได้รับผลประโยชน์อย่างเช่น เรื่องค่าไฟฟ้า หรือการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ ที่โรงไฟฟ้าได้ทำให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนและโรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา

นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเปิดแล้ว ยังได้มีการโอกาสไปดูโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบปิดด้วย อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน "อิโซโกะ" ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโยโกฮามา ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดที่สุดในโลก เป็นโรงไฟฟ้าแบบปิดที่จัดเก็บถ่านหินไว้ในไซโล มีกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ มีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดักจับมลมีพิษที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 99.94% มีระบบบำบัดน้ำเสียจากกระบวนการผลิต ก่อนปล่อยออกสู่ทะเล ที่สำคัญตั้งอยู่ใจกลางเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่หลายแสนคน ล้อมรอบไปด้วยโรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซ แต่กลับเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งยังนำรายได้จากบริษัทมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ทำให้สามารถอยู่กับชุมชนมานานกว่า 30 ปี

ส่วนเรื่องมลภาวะเป็นพิษที่หลายฝ่ายในบ้านเรากังวลว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อากาศเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ ซึ่งที่นี่ไม่เคยมีปัญหานั้น เพราทางโรงไฟฟ้ามีการบริหารจัดการที่ดี และทางเทศบาลนครโยโกฮามา ยังสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากระบบออนไลน์ ข้อมูลการผลิตไฟฟ้า และการปล่อยสารต่างๆ ส่วนเรื่องปัญหาน้ำเป็นพิษ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เห็นได้กับตาตนเองว่ายังมีชาวบ้านแถวนั้นมานั่งตกปลาข้าง ๆโรงงานเป็นจำนวนมาก จนถึงขั้นเป็นหมู่บ้านชายประมงเลยก็ว่าได้

นั่นคือ ตัวอย่างของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ส่วนอีกโรงที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม คือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ถึงแม้ว่าบ้านเรายังไม่รู้อนาคตว่าจะได้ก่อสร้างหรือไม่ แต่เมื่อได้ไปเห็นของจริง อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "คาชิวาซากิ คาริวะ" ที่เมืองฟูกูชิมา ของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ หรือเทปโก ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 8,212 เมกะวัตต์ต่อปี ก็ต้องตะลึง เพราะเป็นอีกโรงที่มีการบริหารจัดการที่ดีมาก แม้ว่าขณะนี้ต้องหยุดเดินเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศทั้ง 54 โรง ภายหลังจากเกิดปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาจากผลกระทบแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554

ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ ต้องเร่งจัดทำแผนป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดในอนาคตและอยู่ระหว่างการนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาตามข้อกำหนด โดยทุ่มงบประมาณกว่า 70,000 ล้านเยน ในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำที่สูงถึง 15 เมตร ยาวกว่า 1 กิโลเมตร การทำพนังกั้นน้ำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนกรกฎาคม 2556 นอกจากนี้ยังเตรียมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้รถเคลื่อนที่ มี 2 เซต เซตละ 9 คัน แต่ละเซตปั่นไฟได้ 4,500 กิ๊กกะวัตต์ มีขีดความสามารถปั่นกระแสไฟฟ้าสำรองได้มากสุดถึง 9,000 กิ๊กกะวัตต์การสร้างอ่างเก็บน้ำ และแท็งก์น้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 1.5 แสนลิตร เป็นต้น

นายกาทูฮิโกะ ฮายาชิ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวะ แห่งนี้มีทั้งหมด 7 ยูนิต มูลค่าการลงทุนรวม 3 ล้านล้านเยน มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 8,212 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 4.2 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ คาชิวาซากิ กับ คาริวะ ซึ่งสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงได้ตามปกติ เพราะการลงทุนได้นำเทคโนโลยีมีความปลอดภัยสูงสุดซึ่งสามารถทนแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ถึง 3 เท่า ขณะที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ได้มีการออกแบบให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เครื่องจักรจะหยุดทำงานอัตโนมัติหากเกิดความผิดพลาดขึ้นในระบบ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดก็ตามในประเทศญี่ปุ่น การดำเนินงานต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนด หรือแม้กระทั่งการทำตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชนโดยไม่บิดพลิ้ว ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้าและชุมชนอยู่ด้วยกันได้

โรงไฟฟ้าประเทศไทย..ไปทางไหนดี

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=41905614

หลังจากที่มีกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่าง ๆ ก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ในอนาคตอาจเกิดปัญหาไฟตกไฟดับ หรือปริมาณไฟฟ้าไม่พอใช้อาจต้องมีการดับไฟในบางช่วงเวลาเหมือนกับที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงปี 2557 ที่ปริมาณไฟฟ้าจะลดต่ำลงเหลือเพียง 9% จากปัจจุบันที่มีปริมาณสำรองประมาณ 20% แต่หากโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้า และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันก็จะทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 15% ซึ่งสวนทางกับความต้องการใช้ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค ในปีนี้ ที่สูงถึง 23,900 เมกกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งประเทศประมาณ 31,446 เมกกะวัตต์

แต่ปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ที่ยังไม่สามารถก่อสร้างได้เพราะยังมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยหลายๆ ภาคส่วนอยากให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิงในการก่อสร้าง เพราะเห็นว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณที่น้อยกว่า แต่รู้หรือไม่ว่าขณะนี้ประเทศไทยเราใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนสูงถึง 70% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกเลยก็ว่าได้ที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในสัดส่วนที่สูงขนาดนี้ ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากเพราะราคาก๊าซฯ มีความผันผวนสูงขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ประกอบกับมีการประเมินว่าแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยจะใช้ได้อีกเพียง 15-20 ปีเท่านั้น แต่ถ้าเศรษฐกิจโตเร็วขึ้นความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ที่จะหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก อเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ยังไม่ถึงเลย ในขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วอย่างนั้นกลับใช้เชื้อเพลิงที่บ้านเราต่อต้านนักหนา อย่างนิวเคลียร์ในประเทศฝรั่งเศสที่มีการใช้สัดส่วนสูงถึง 76% ในประเทศเกาหลี 34% ขณะที่ประเทศจีน ก็มีการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินสูงถึง 79% สหรัฐอเมริกา 49% ส่วนการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงของประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นอยู่ที่ระดับ 14–26% เท่านั้น

สำหรับพลังงานหมุนเวียนประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เหล่านี้จะมีการกระจายการใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เสริมเท่านั้น มิใช่ตัวหลักอย่างบ้านเรา ที่มุ่งแต่จะใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง ที่มีต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าไฟฟ้าที่สูงลิบลิ่ว ถึงขนาดมีการตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนสูงถึง 20% หรือประมาณ 5,604 เมกกะวัตต์ ในปี 2565 หรือแม้แต่การที่จะต้องไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ อย่างการไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีสัดส่วนสูงถึง 25% โดยเฉพาะประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งหากวันใดที่แหล่งผลิตมีปัญหาอาจเห็นประเทศไทยไฟตกดับก็เป็นได้

ซึ่งทางนายธวัช วัจนะพรสิทธิ์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม กฟผ. ก็ยอมรับว่ามีความกังวลไม่ใช่น้อย จากการที่ไทยไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นใหม่ได้ ทำให้การตัดสินใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบโดยมีหลักในการคัดเลือก 3 ปัจจัย คือ ราคา ความมั่นคงทางพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าในอนาคต หรือ พีดีพี 2010 ได้กำหนดไว้ว่า กฟผ. จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลายประเภท ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซฯ นิวเคลียร์ และพลังงานทดแทน

นายธวัช ให้ความเห็นว่า เชื้อเพลิงที่เหมาะสม และน่าสนใจที่สุดในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นถ่านหินสะอาด เพราะมีจำนวนมาก และต้นทุนราคาไม่แพงมากนัก ประกอบกับปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีการสร้าง การดูแลที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดซ์ออกไซด์ลงได้

แต่หากจะใช้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาเป็นตัวหลักเหมือนที่หลายฝ่าย ๆ เสนอนั้น อาจทำได้ แต่ราคาไฟฟ้าจะค่อนข้างแพง เพราะมีต้นทุนราคาก่อสร้างสูง และยังต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าสำรอง หรือแบ็คอัพเพื่อสำรอง ทำให้เหมือนจะต้องมีโรงไฟฟ้าถึง 2 โรง ส่วนจะใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ประเทศไทยเราก็ใช่ว่าจะมีแสงอาทิตย์ หรือลมตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเพียงบางช่วงหรือบางวันเท่านั้นแล้วหลังจากช่วงเวลานั้นจะใช้ไฟจากไหน หรืออาจเสนอให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ นานวันเข้าราคาก็เริ่มสูงขึ้น ปริมาณก็ลดน้อยลง แต่มีอีก 1 เชื้อเพลิงที่ต้นทุนถูกไม่แพ้ถ่านหิน แถมยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่คงเป็นการยากถ้าจะเกิดในประเทศไทย อย่างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะยังได้รับการต่อต้านถึงแม้ว่าการศึกษายังไม่เสร็จก็ตาม

แต่เมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าในภูมิภาคนี้แล้ว อีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าในทุกรูปแบบ คงหนีไม่พ้นประเทศเกาหลีที่มีทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูงถึง 34% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 21 เตา หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 43% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศทั้งหมด 79,000-80,000 เมกะวัตต์ ที่เหลือก็จะมาจากโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ แต่ที่น่ายกย่อง คือ ประชาชนชาวเกาหลีต่างยอมรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หากถ้าถูกกำหนดขึ้นเป็นกฎหมายแล้วก็จะต้องปฏิบัติตาม ขณะที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเองก็มีงบประมาณในการดูแลประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างเต็มที่จนเป็นที่พึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย จนกลายเป็นว่าหากจะมีคนสร้างโรงไฟฟ้า ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ต้องเสนอตัวเพื่อให้โรงไฟฟ้าเข้าไปตั้งอยู่ในหมู่บ้านของตน เพราะโรงไฟฟ้าจะเข้ามาพร้อมกับความเจริญ ส่วนเรื่องการปล่อยมลพิษ โรงไฟฟ้าก็มีการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้ใคร

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ทาง กฟผ.ได้พาคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ประเทศเกาหลี โดยมีโรงไฟฟ้าที่น่าสนใจ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหิน Yeongheung Thermal Power Site ของบริษัท Korea South-East Power ในเครือ บริษัท Korea Electric Power Corporation หรือ KEPCO ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินบิทูบินัสที่มีกำลังการผลิตถึง 3,340 เมกะวัตต์ และมีการควบคุมดูแลผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีเครื่องตรวจจับแต่ละชนิดเพื่อรายงานค่าไม่ให้เกินมาตรฐาน แต่หากเกินมาตรฐานก็จะส่งสัญญาณมาที่ห้องคุมทันที นอกจากนี้แล้วข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นยังส่งตรงไปยังรัฐบาลที่ดูแลด้านมลพิษ โดยหากปล่อยให้มลพิษเกินค่ามาตรฐาน 3 ครั้งภายใน 1 วัน หน่วยผลิตไฟฟ้านั้นจะต้องถูกสั่งให้หยุดการผลิตเพื่อทำการตรวจสอบทันที ซึ่งถือว่าเป็นการให้ความสนใจในการปล่อยการมลพิษตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Kori Nuclear Power Site ของบริษัท Korea Hydro & Nuclear Power ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคีลยร์ขนาดใหญ่ของเกาหลี มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าอยู่ 6 เตา รวมกำลังการผลิต 5,137 เมกะวัตต์ และเตรียมที่จะเพิ่มเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เองอีก 2 เตา กำลังการผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โคริมีกำลังการผลิตรวมเกือบ 8,000 เมกะวัตต์ ใน 7-8 ปีข้างหน้า แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ นายปีเตอร์ (ซังนัม) นา ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท Korea Electric Power Corporation ก็ระบุว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำให้ประชาชนยอมรับ แต่ทางรัฐบาลเกาหลีต้องแสดงความจริงใจ และชี้แจงว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เชื้อเพลิง ต่างๆ และถ้าหากยอกให้สร้างดรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีข้อดี คือ ค่าไฟฟ้าที่มีราคาถูก และไม่มีการปรับขึ้นราคาในเวลา 20 ปี ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก็จะได้ค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี นี่ยังไม่รวมถึงความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน ส่วนเรื่องการปล่อยมลพิษก็ต้องมีการยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะดูแลให้อยู่ในมาตรฐานที่กำหนดไว้

ไม่ใช่แค่นั้นที่ประเทศเกาหลีให้ความสำคัญ แต่พลังงานหมุนเวียน อย่างพลังน้ำทางเกาหลีก็ให้ความสนใจไม่แพ้กัน โดยมี 1 โรงที่น่าสนใจ คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขึ้น-น้ำลง Sihwa Tidal Power Plant ของบริษัท Korea Water Resources Corporation หรือ K-Water เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากน้ำทะเล มากักเก็บเป็นทะเลสาบ โดยมีความยาวแนวเขื่อนที่กั้นระหว่างทะเลและทะเลสาบรวมทั้งสิ้น 12.7 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 552 ล้านหน่วยต่อปี หรือประมาณ 254 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 500,000 ล้านวอน

โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะใช้ความต่างระดับของน้ำขึ้น-น้ำลงซึ่งต่างกันประมาณ 4-5 เมตร เมื่อน้ำขึ้นน้ำจากทะเลก็จะไหลเข้าไปในทะเลสาบที่สร้างขึ้นและเก็บกักน้ำเอาไว้ เมื่อระดับน้ำในทะเลลดลงก็จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านกังหันน้ำ (turbine) จำนวน 10 ตัว เพื่อปั่นกระแสไฟฟ้า เฉลี่ยต่อวันได้ประมาณ 44.5 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงมี 2 ช่วงเวลาใน 1 วันเท่านั้น โดยโครงการนี้มีเป้าหมายจะลดการใช้น้ำมันลงถึง 862,000 บาร์เรลต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 350,000 ตันต่อปี ลดซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ได้ 589 ตันต่อปี และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) 400 ตันต่อปี และจำหน่ายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 100-120 วอนต่อกิโลวัตต์ โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีน้ำเสียปล่อยทิ้งทะเลด้วย

นอกจากนี้รัฐบาลเกาหลีมีแผนการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกในอนาคตอีก 4 แห่ง เพื่อลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยโรงไฟฟ้าประเภทนี้ คุณธวัช แอบกระซิบบอกว่า เหมือนโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนลำตะคองของบ้านเรา แต่จะต่างกันตรงที่ของเกาหลีเป็นน้ำทะเล ของไทยเป็นน้ำจืด

ก็จะเห็นแล้วว่าในประเทศที่เข้าพัฒนาแล้ว จะต้องมีการกระจายการใช้เชื้อเพลิงให้สมดุลกัน ไม่พึ่งพาชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีความต้องการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะใช้อย่างเดียวและไม่มีการสร้างขึ้นใหม่เลย เห็นทีลูกหลานเราอาจจะต้องเจอปัญหาไฟดับในบางพื้นที่หรือบางเวลา หรือขั้นเลวร้ายสุดอาจต้องมีการจุดเทียนก็เป็นได้ เห็นทีรัฐบาลและประชาชนในบ้านเราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะให้อนาคตด้านไฟฟ้าของบ้านเราเป็นแบบไหน

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทยตอนที่ 10:ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กิจการที่คนไทย ไม่ค่อยคุ้นเคย

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=621327

เป็นเรื่องธรรมดาของคนทำงานเบื้องหลังที่มักจะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ธุรกิจพลังงานก็เช่นเดียวกัน ผู้ใช้พลังงานอย่างเรามักจะรู้จักแต่การไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าตามบ้าน โรงผลิตไฟฟ้า หรือรู้จักแต่สถานีบริการน้ำมันและก๊าซเอ็นจีวีที่เข้าไปใช้บริการเป็นประจำ มากกว่าบริษัทที่เป็นผู้ขุดเจาะสำรวจและผลิต ซึ่งเป็นผู้จัดหาปิโตรเลียม ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้น การสื่อสารให้ประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าใจถึงการทำธุรกิจของบริษัทที่เข้ามาทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในแง่ของการสร้างความกระจ่างและนำมาซึ่งความเข้าใจว่าพลังงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ เชื้อเพลิงต่างๆ และไฟฟ้า ซึ่งกว่าร้อยละ 70 ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ที่พวกเราได้ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น มาจากฝีมือของบริษัทนักสำรวจเหล่านี้

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คือบริษัทแรกที่ผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ได้จากอ่าวไทย นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยอีกหลายราย ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม มิตซุยออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น เพิร์ลออยล์ และเฮสส์ (ไทยแลนด์) เป็นต้น และเมื่อเอ่ยถึงบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ต้องยอมรับว่าเป็นบริษัทที่มีบทบาทต่อการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยเป็นอย่างมากมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว เรามาทำความรู้จักกับผู้จัดหาปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศกันดีกว่าครับ

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นบริษัทลูกของเชฟรอนคอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซานราโมน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่มีประวัติยาวนานมากกว่าศตวรรษ และเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานครบวงจรชั้นนำระดับโลก ปัจจุบันเชฟรอนดำเนินธุรกิจในประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่การสำรวจและผลิตรวมทั้งการขนส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ โรงกลั่นน้ำมัน การตลาดและการขนส่งเชื้อเพลิงยานพาหนะและผลิตภัณฑ์ พลังงานรวมทั้งบริการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ผู้ผลิตพลังงานใต้พื้นพิภพและพัฒนาแหล่งพลังงานอนาคตรวมทั้งพลังงานชีวภาพและพลังงานทดแทนอื่นๆ สำหรับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นั้น เป็นผู้บุกเบิกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครและมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดนครศรีธรรมราช



ปัจจุบัน เชฟรอนสามารถผลิตได้ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว โดยก๊าซธรรมชาติที่เชฟรอนผลิตได้ในประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณความต้องการทั้งหมด โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มากกว่าร้อยละ 70 นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปตท.จะส่งก๊าซผ่านท่อใต้ทะเลไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ที่จังหวัดระยองและนครศรีธรรมราช เพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป ส่วนน้ำมันดิบส่วนใหญ่จำหน่ายภายในประเทศและที่เหลือส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ


ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยคุ้นเคย นับเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อวงการพลังงานและอุตสาหกรรมและการขนส่งของประเทศ ถึงบรรทัดนี้แล้วคุณผู้อ่านที่ต้องขับรถทั้งที่ใช้น้ำมันและก๊าซเอ็นจีวี ตื่นเช้าขึ้นมาและกลับมาบ้านต้องเปิดไฟฟ้าให้แสงสว่าง จะทำอาหารต้องใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซแอลพีจีหรือก๊าซหุงต้ม คงจะรู้จักผู้อยู่เบื้องหลังความสะดวกสบายเหล่านี้ อย่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กันมากขึ้นนะครับ


ข้อมูลอ้างอิง ; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทยตอนที่ 9:ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย สู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=618659

การค้นพบปิโตรเลียมในอ่าวไทย เมื่อกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศให้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “โชติช่วงชัชวาล” ด้วยประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น จนถึงปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ก็ยังคงเป็นพระเอกของแหล่งพลังงาน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี


ธุรกิจสำรวจและการผลิตก๊าซนำมาซึ่งรายได้ของรัฐบาลทั้งในรูปค่าภาคหลวง และภาษีเงินได้ ก่อเกิดการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่อง และการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศหลังการบรรลุข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ ในปี พ.ศ. 2521 ระหว่าง บริษัท ยูโนแคล ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กับภาครัฐ ทำให้เกิดแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์แหล่งแรกในอ่าวไทย โดยใช้ชื่อว่า “แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ” มีความหมายอันเป็นมงคลคือพลังของช้างสามเศียร ซึ่งเป็นช้างทรงของพระอินทร์ จนในปี พ.ศ. 2524 แหล่งเอราวัณได้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติขึ้นเป็นครั้งแรก นำประเทศไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาลอย่างแท้จริง


เพื่อสอดรับกับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่กำลังจะเกิดขึ้น ปตท. จึงได้มีการลงทุนวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล ที่ยาวที่สุดในโลกในขณะนั้น (425 กิโลเมตร) มาขึ้นฝั่งที่จังหวัดระยอง พร้อมกับการลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 1 เพื่อแยกส่วนประกอบของก๊าซธรรมชาติ ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนในรูปของก๊าซหุงต้ม และเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมานับจากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณอ่าว ประเทศไทยจึงมีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งปลาทอง หรือแหล่งบนบกเช่น แหล่งสิริกิติ์ และแหล่งน้ำพอง เป็นต้น


ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ ทำให้ทราบว่า นับจากการเจาะหลุมแรกในอ่าวไทย(หลุมสุราษฎร์-1) ถึงปัจจุบัน มีผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมได้เจาะหลุมปิโตรเลียมแล้วรวมกัน ประมาณ 5,000 หลุมจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีอยู่เกือบ 40 แหล่ง คิดเป็นส่วนแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐได้รับมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยในการนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ หากเราลองเปรียบเทียบให้ประเทศไทยเป็นเสมือนร่างกายของมนุษย์ ปิโตรเลียมในอ่าวไทยก็คงเป็นเหมือนแหล่งอาหารหรือพลังงานที่คอยหล่อเลี้ยงร่างกายให้เราสามารถมีแรงออกไปกระโดดโลดเต้นแข่งขันกับคนอื่นๆ ในเวทีโลกได้


ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 8:รัฐกับประโยชน์ที่ได้รับจากสัมปทานปิโตรเลียม

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=611164

การสำรวจเพื่อค้นหาปิโตรเลียมนั้นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ต้องการบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงเครื่องมืออุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย การเชิญชวนให้เอกชนเข้ามารับความเสี่ยงแทนรัฐ จึงต้องแลกกับเงื่อนไขผลตอบแทนที่จูงใจและเหมาะสมกับความเสี่ยงในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

ระบบแบ่งผลประโยชน์ที่รัฐนำมาใช้ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นกำหนดให้จัดเก็บในรูปของค่าภาคหลวงซึ่งมีอัตราคงที่คือร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขายและมีการจัดเก็บภาษีเงินได้ ในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ



ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 รัฐบาลได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม เพื่อปรับรูปแบบการจัดเก็บค่าภาคหลวง สำหรับบริษัทที่ได้รับสัมปทานในช่วงต่อมา โดยจัดเก็บค่าภาคหลวงในรูปแบบขั้นบันไดตามระดับการผลิตตั้งแต่ร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย ในขณะที่การจัดเก็บภาษีเงินได้ยังอยู่ในอัตราเดิมคือร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ พร้อมทั้งมีส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือมีการจัดเก็บ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษร้อยละ 0-75 ของกำไรปิโตรเลียม ผลประโยชน์พิเศษตรงนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์มากยิ่งขึ้น จะเป็นผลดีต่อทั้งเอกชนและรัฐ โดยหากเป็นช่วงที่ปิโตรเลียมในตลาดโลกมีราคาสูง และบริษัทผู้รับสัมปทานมีการผลิตออกขายมาก ก็จะส่งผลให้รัฐได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย


กระทรวงพลังงานเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้จากกิจการสำรวจและผลิตของผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมภายในประเทศและจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ในรอบ 12 เดือนของปีงบประมาณ 2552 (1 ต.ค. 2551 – 30 ก.ย. 2552) คิดเป็นเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 140,959 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดที่จัดเก็บของปีงบประมาณ 2551 ซึ่งเก็บได้รวม 121,084 ล้านบาท ถึง 19,875 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16)



ในขณะที่ปีงบประมาณ 2553 (1 ต.ค. 2552 – 30 ก.ย. 2553) จัดเก็บรายได้เป็นเงินเข้ารัฐทั้งสิ้น 121,518.91 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่จัดเก็บจากแหล่งในประเทศเป็นเงิน 42,044.67 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้จากการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เป็นเงิน 9,969.47 ล้านบาท และรายได้จากผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เป็นเงิน 1,779.77 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้ที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร คือ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นเงิน 67,725 ล้านบาท


ตัวเลขรายได้ที่รัฐได้รับจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ที่มากกว่า 1 แสนล้านบาทในแต่ละปี ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน มาถึงจุดนี้เราคงได้คำตอบแล้วละว่า การตัดสินใจเชิญชวนและสร้างแรงจูงใจให้เอกชนได้เข้ามาลงทุนสำรวจหาปิโตรเลียมในอดีตเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนกลับคืนสู่รัฐเป็นจำนวนมากในแต่ละปี


ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 7: ปิโตรเลียมหลุมแรก จุดประกายความหวัง

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=606903

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ก้าวแรกของการเดินทาง คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ในเส้นทางของการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีใครเริ่มนับหนึ่งที่จะขุดเจาะสำรวจ จนถึงวันนี้เราก็คงจะยังไม่ได้ใช้ปิโตรเลียมที่มีอยู่ในประเทศไทยของเราเอง ดังนั้น ปิโตรเลียมหลุมแรกที่มีการขุดเจาะสำรวจ รวมถึงปิโตรเลียมหลุมแรกในแหล่งสัมปทานที่รัฐได้ให้สิทธิเอกชนเข้าดำเนินการสำรวจ จึงมีความสำคัญควรค่าแก่การบันทึกจดจำ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการจุดประกายความหวังให้กับคนไทย



ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมแรก ว่าเกิดขึ้นในครั้งที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง ได้ทรงว่าจ้างช่างเจาะชาวอิตาเลียนเข้ามาทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่แอ่งฝาง ในบริเวณที่เรียกว่าบ่อหลวง ในปี พ.ศ. 2465 ซึ่งเป็นจุดที่มีการพบน้ำมันดิบไหลซึมขึ้นมาถึงผิวดินตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งการเจาะในครั้งนั้นถึงแม้จะไม่พบน้ำมันแต่จุดประกายให้เกิดความพยายามจากภาครัฐที่จะขุดค้นหาปิโตรเลียมต่อไป จนประสบความสำเร็จในการค้นพบน้ำมันดิบซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน เมื่อปี พ.ศ. 2496 ในแหล่งที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่าแหล่งไชยปราการ


บทเรียนจากปิโตรเลียมหลุมแรก ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า กระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใต้ผืนดินและท้องทะเลที่ต้องขุดลึกลงไปหลายร้อยหลายพันเมตรนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทย ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องของเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ ได้เรียนรู้หลักวิชาธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ และได้เรียนรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยง


ในเวลาต่อมา กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเปิดสัมปทานเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุน ก่อเกิดการค้นพบปิโตรเลียมในแหล่งใหม่ๆเพิ่มเติม และทำให้คนไทยได้รู้จักแหล่งปิโตรเลียมที่มีความสำคัญ อย่างเช่น แหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกในอ่าวไทย หรือแหล่งอื่นๆ อาทิ แหล่งไพลิน แหล่งเบญจมาศ และแหล่งปลาทอง ในขณะที่พื้นที่บนบกเราก็ได้รู้จักแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ และแหล่งก๊าซธรรมชาติที่น้ำพอง เป็นต้น



จากการขุดเจาะปิโตรเลียมหลุมแรก จนถึงวันนี้ ข้อมูลจากรายงานการผลิตปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติปีงบประมาณ 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีความสามารถในจัดหาปิโตรเลียมได้เฉลี่ยถึงวันละ 783,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,650 พันล้านบาทต่อวัน หรือประมาณร้อยละ 44 ของความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่จัดหาได้ประมาณ 695,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ซึ่งจากอัตราความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เมื่อการเริ่มต้นนำมาซึ่งความหวัง และความหวังได้แปรเปลี่ยนเป็นความเพียรพยายาม ที่จะเสาะแสวงหา ก่อเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้และนำมาซึ่งความสำเร็จในที่สุด ใครจะคาดคิดว่าความหวังที่ดูเหมือนจะเลือนรางในอดีต จะกลายเป็นการค้นพบปิโตรเลียมที่ก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้ได้

ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 6 :บทบาทของภาคเอกชนในประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมไทย

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=600878

เมื่อรัฐบาลได้ตระหนักแล้วว่าการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และยังมีความเสี่ยงที่สูงมาก การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นขอสิทธิ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเป็นครั้งแรกจึงได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากต่างประเทศให้การตอบรับและสนใจ เพราะในทางธุรกิจเชื่อกันว่า เมื่อมีความเสี่ยงสูง ก็ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าเช่นกัน จึงมีบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศเข้ามายื่นขอสิทธิ์การสำรวจหลายราย จนถือได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคตื่นตัวของการสำรวจปิโตรเลียมเลยทีเดียว


จากข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ บริษัท Union Oil Company of California ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด คือบริษัทต่างชาติที่ปักธงเป็นเจ้าแรก ในการได้สิทธิให้ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ภาคอีสาน หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐเมื่อปี พ.ศ.2505 แต่การขุดเจาะหลุมสำรวจน้ำมันของบริษัทก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงจำต้องคืนสิทธิในพื้นที่ทั้งหมดให้กับกรมโลหะกิจ หรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 บริษัท กัลฟ์ออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติรายที่สองก็ได้รับสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เมื่อเริ่มทำการขุดเจาะสำรวจก็ไม่พบปิโตรเลียมเช่นเดียวกัน จึงได้ปรับปรุงหลุมเป็นหลุมผลิตน้ำบาดาลและมอบให้กับกรมทรัพยากรธรณีไป


ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้น การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกจะกลายเป็นความล้มเหลวของบริษัทต่างชาติ แต่หลังจากที่ทางองค์การสหประชาชาติ มีการออกกฎหมายทางทะเล ที่ใช้บังคับแก่ชาติสมาชิกซึ่งอยู่ในอาณาเขตชายฝั่งและให้ทรัพยากรใต้ทะเลในพื้นที่ดังกล่าวเป็นสิทธิแก่เจ้าของประเทศ จึงส่งผลให้ประเทศไทย สามารถออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย และในทะเลอันดามันได้ ซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจและได้รับอนุญาตถึง 6 บริษัท และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการขุดเจาะสำรวจและสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยก็คือบริษัท Union Oil หรือบริษัทเชฟรอนในปัจจุบันนั่นเอง โดยพบทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีปริมาณมากพอที่จะผลิตเชิงพาณิชย์จากแปลงสัมปทาน B12 ซึ่งได้รับการพัฒนาจนกลายมาเป็นแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน


หลังจากนั้น Texas Pacific (ปัจจุบันได้โอนสิทธิให้กับบริษัท ปตท.สผ. และบริษัทผู้ร่วมทุน) ก็กลายเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายที่สองในอ่าวไทย ที่เจาะหลุมสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากแปลงสัมปทาน B17 และมีการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อแหล่งบงกช
จากความล้มเหลวของบริษัทเอกชนในช่วงเริ่มต้นของการเปิดให้สัมปทาน จนกลายมาเป็นความสำเร็จในช่วงต่อมา และกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคแห่งความโชติช่วงชัชวาล มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง และช่วยลดภาระการนำเข้าพลังงาน สะท้อนให้เห็นถึงการตัดสินใจที่ถูกต้องของภาครัฐในการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ


ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

////////////////////////////////////////////////

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 5 :รัฐบาลกับการจัดการความเสี่ยงในธรุกิจปิโตรเลียม

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=597560

หลายคนคงเคยสงสัยว่า ทำไมภาครัฐจึงไม่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมเสียเอง เพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของผลประโยชน์จากทรัพยากรมูลค่ามหาศาลที่เรามีอยู่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แทนที่จะปล่อยให้ผลประโยชน์เหล่านี้ตกเป็นของบริษัทเอกชน

คำตอบก็คือในอดีตรัฐก็เคยมีความคิดเช่นนั้น ในช่วงแรกของการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศ จึงเป็นงานที่สงวนและดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องบุคลากรที่มีความรู้ทางวิชาการด้านปิโตรเลียม รวมถึงขั้นตอนการสำรวจและผลิตซึ่งต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การขุดเจาะสำรวจแต่ละหลุมต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย
อีกทั้งความรู้ หรือ Know-how ในการสำรวจปิโตรเลียมมีจำกัดจึงยังไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่าหลุมที่เจาะลงไปนั้นจะเจอน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติและจะคุ้มค่ากับการลงทุนจำนวนมหาศาลหรือไม่ ทำให้รัฐมีความจำเป็นต้องให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ช่วยรับความเสี่ยงในเรื่องนี้แทนในลักษณะของการให้สัมปทาน โดยที่รัฐเป็นผู้รับบทบาทในการกำกับดูแล ร่วมเรียนรู้วิธีการทำงานและดูแลผลประโยชน์ของประเทศในรูปแบบของการเก็บค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ เมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งที่เอกชนได้สำรวจและผลิต

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่ได้มีการบันทึกไว้ทำให้เราได้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่จะทำการสำรวจหาปิโตรเลียมโดยที่รัฐยังคงความเป็นเจ้าของ ตั้งแต่ช่วงสมัยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ชื่อ Wallace Lee ให้เข้ามาทำการสำรวจหาปิโตรเลียมในแหล่งฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และที่กาฬสินธุ์ เมื่อปีพ.ศ.2464 แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์ในการสำรวจในยุคนั้นยังไม่ทันสมัย

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2492 หน่วยงานภาครัฐ โดยกรมโลหะกิจ หรือก็คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปัจจุบัน ได้สั่งซื้อเครื่องเจาะแบบหมุน จากประเทศเยอรมัน มาทำการเจาะสำรวจด้วยตัวเอง จนกระทั่งพบน้ำมันดิบและได้เริ่มทดลองผลิต แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องหยุดไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์มาตรฐานเพื่อมาเตรียมหลุมผลิตในเชิงพาณิชย์

ต่อมา เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ ในช่วงปีพ.ศ. 2498-2499 กรมโลหะกิจ จึงได้จัดซื้อเครื่องเจาะแบบหมุนชนิดติดตั้งบนรถบรรทุก จากประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งอุปกรณ์การผลิต เครื่องสูบน้ำมันและเครื่องอัดซีเมนต์ มาใช้ในกิจการขุดเจาะน้ำมันดิบที่แหล่งฝาง แต่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพียง 3 หลุม จากการเจาะไปทั้งหมด 9 หลุม จึงจำต้องโอนกิจการน้ำมันฝางให้กับกรมพลังงานทหารไปดำเนินงานต่อตามมติคณะรัฐมนตรี จนเมื่อ พ.ศ. 2504 รัฐบาลจึงได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย เพื่อเข้ามารับความเสี่ยงด้านการลงทุนแทนรัฐ


การขุดเจาะหลุมเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ถือเป็นงานที่ท้าทายในยุคนั้น เพราะบริษัทที่เข้ามาลงทุนต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ ควบคู่กับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมถึงต้องมีเงินลงทุนและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจาก ในการขุดเจาะแต่ละหลุมนั้นใช้งบประมาณหลายสิบล้านบาท หากขุดไปแล้วพบน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติในปริมาณน้อย หรือไม่พบเลย ก็ถือเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้ย่นระยะเวลาในการขุดเจาะลง และใช้งบประมาณน้อยลงกว่าเดิม

หากเราเข้าใจในหลักของการทำธุรกิจ คงต้องยอมรับว่าเมื่อคนลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงที่สูง ก็ต้องได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยเฉพาะในธุรกิจของการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย และยิ่งในช่วงแรกที่รัฐยังขาดแคลนทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ ความรู้ด้านวิชาการ และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งมีงบประมาณที่จำกัด ยุคนั้นจึงได้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว เพราะอาจหมายถึงความสูญเปล่าทางด้านงบประมาณ ในขณะที่รัฐเองยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านอื่นๆ ให้กับประชาชนและประเทศซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินงานเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเว็บไซต์กรมการพลังงานทหาร

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 4 : ตามรอยนักบุกเบิกปิโตรเลียมของไทย

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=594456

ในวงการสำรวจ ผลิต และขุดเจาะปิโตรเลียมของไทยนับตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงยุคปัจจุบัน ชาวต่างประเทศหรือที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า”ฝรั่ง”นับได้ว่าเป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ และทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างปิโตรเลียมทั้งด้านวิชาการ เทคโนโลยี รวมไปถึงการถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานจนเกิดการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลจากเว็ปไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำให้เราได้รู้ว่าฝรั่งนักสำรวจที่เข้ามามีบทบาทในวงการปิโตรเลียมไทยเป็นคนแรกคือ Wallace Lee ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งถูกว่าจ้างให้เข้ามาสำรวจหาปิโตรเลียมที่แหล่งฝาง จ. เชียงใหม่และที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง ซึ่งต่อมาก็ได้มีการว่าจ้างช่างเจาะชาวอิตาเลียนเข้ามาทำการเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่แอ่งฝาง ในบริเวณที่เรียกว่า บ่อหลวง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุที่อุปกรณ์การเจาะในสมัยนั้นส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ จึงไม่สามารถเจาะเข้าถึงชั้นที่มีน้ำมันดิบได้

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การเจาะสำรวจน้ำดิบจึงเริ่มประสบผลสำเร็จ โดยกรมโลหะกิจ ซึ่งปัจจุบันคือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้สั่งซื้อเครื่องเจาะแบบหมุนที่มีขีดความสามารถในการเจาะลึก 1,000 - 1,500 เมตร จากประเทศเยอรมันตะวันตกในขณะนั้นมาใช้ ซึ่งการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ส่งผลให้มีการค้นพบน้ำมันดิบจากการเจาะหลุมที่ 6 (HL-6) ความลึก 760 ฟุต หลุมดังกล่าวห่างออกไปทางด้านตะวันออกของแหล่งฝาง และแม้ว่าภายหลังจะเกิดปัญหาขาดงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานสำหรับการเตรียมหลุมผลิต ทำให้จำต้องหยุดการผลิตลงในที่สุด แต่ถึงกระนั้น การผลิตในครั้งนั้นก็ทำให้ได้น้ำมันทั้งสิ้น 1,040 บาร์เรล และทำให้คนไทยได้รู้จักแหล่งน้ำมันดังกล่าวในนาม “แหล่งไชยปราการ”

ตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุคตื่นตัวและยุคที่เรียกกันว่ายุคโชติช่วงชัชวาล รัฐบาลได้มีนโยบายให้เอกชนเข้ามาทำการสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งแต่เดิมเป็นกิจการที่สงวนไว้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ และในปี พ.ศ. 2505บริษัท Union Oil Company of California ต่อมาคือบริษัทยูโนแคลและปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ค้นพบทั้งก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวในแหล่งที่รู้จักกันดีว่า “แหล่งเอราวัณ” ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณที่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่บริษัท Texas Pacific ก็ได้สำรวจพบแหล่งก๊าซที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “แหล่งบงกช” (และปัจจุบันเป็นของบริษัท ปตท.สผ.) ซึ่งนับเป็นแหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน


การค้นพบปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในสายตาของบริษัทน้ำมันต่างชาติมากขึ้น ทำให้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้มายื่นขอสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งในครั้งนี้เอง มีบริษัท Thai Shell และบริษัท Esso Exploration โดยบริษัท Thai Shell ได้รับสัมปทานคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ซึ่งในปี พ.ศ.2524 ได้มีการขุดพบน้ำมันดิบและกลายเป็นแหล่งน้ำมันที่รู้จักกันดีในนามแหล่งสิริกิติ์(ปัจจุบันเป็นของบริษัท ปตท.สผ.) ส่วนบริษัท Esso Exploration ก็ได้รับสัมปทานในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีการขุดพบก๊าซธรรมชาติที่พัฒนาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม “แหล่งก๊าซน้ำพอง” ในปีเดียวกันนั่นเอง

จากประวัติศาสตร์การสำรวจ ผลิต ขุดเจาะปิโตรเลียมของไทย ทำให้เรารับรู้ถึงบทบาทของนักสำรวจและบริษัทต่างชาติในประเทศไทย ในมุมหนึ่ง ต้องยอมรับว่า “หากไม่มีเขาวันนั้น ก็ไม่มีเราในวันนี้” เพราะจากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาการสำรวจ ผลิต ขุดเจาะนั้นทำให้คนไทยต่อมาได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ของบุคลากรในบริษัทต่างชาติเหล่านี้และยังทำให้เราทุกคนได้กระจ่างใจว่าทรัพยากรที่อยู่ใต้ผืนดินไทยหรือในทะเลไทยมีค่ามากมหาศาลเพียงใด ทั้งที่เราเคยมองว่าการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่วันนี้เราสามารถที่จะเรียนรู้ เข้าใจและทำงานด้านปิโตรเลียมได้อย่างไม่เป็นรองใคร และส่งผลให้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทยในวันนี้กลายเป็นหนึ่งกิจการที่บุคลากรชาวไทยมีความสามารถในการทำงานทัดเทียมในระดับนานชาติเลยทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและเว็บไซต์กรมการพลังงานทหาร

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 3 : ปิโตรเลียมคืนผืนป่า

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=587765

ในอดีต ประเทศไทยมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นทรัพยากรที่เปี่ยมประโยชน์ที่คนไทยในยุคนั้นใช้เป็นแหล่งอาหาร สร้างบ้านเรือนที่พักอาศัย เป็นเชื้อเพลิง กระทั่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญแล้ว เรายังได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากป่าไม้ที่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ เกิดความชุ่มชื้น ไม่แห้งแล้ง มีฝนตกต้องตามฤดูกาล และยังเป็นปราการด่านสำคัญในการป้องกันหรือบรรเทาภัยธรรมชาติได้อีกด้วย

จากพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินในขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวง ที่ทรงตะหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของป่าไม้ และทรงเล็งเห็นว่ากิจการรถไฟที่ใช้ในประเทศไทยซึ่งเป็นแบบหัวรถจักรไอน้ำนั้นจำเป็นต้องใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศลดลง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและค้นหาปิโตรเลียมในประเทศอย่างจริงจัง และแนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นแนวคิดที่มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อมาถึงปัจจุบัน

แม้ว่าการเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมในยุคนั้น จะไม่ประสบผลสำเร็จในการนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนในกิจการรถไฟ แต่พระองค์ก็ทรงมีแนวคิดที่จะนำหัวรถจักรดีเซลเข้ามาใช้ในประเทศไทย เพราะเป็นหัวรถจักรที่มีประสิทธิภาพสูงและสิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่าหัวรถจักรไอน้ำ โดยในปีพ.ศ.2464 กรมรถไฟหลวงได้มีการสอบราคารถจักรดีเซลขนาดกำลัง 1,000 แรงม้า ไปยังบริษัทผู้ผลิตในยุโรป แต่ยังมิได้ตกลงสั่งซื้อจนกระทั่งปี พ.ศ.2471 จึงได้สั่งซื้อรถจักรดีเซลขนาดกำลัง 180 แรงม้า จำนวน 2 คันจากบริษัท สวิสส์ โลโคโมติฟ แอนด์ แมชีน เวิร์ค (Swiss Locomotive and Machine Works) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับเป็นรถจักรดีเซลรุ่นแรกของประเทศไทยที่เป็นรากฐานของความก้าวหน้าให้กับกิจการรถไฟ ขณะเดียวกัน คนไทยก็ได้รู้จักการใช้น้ำมันดีเซลในบทบาทของการเป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนด้วยนั่นเอง


การนำเข้าหัวรถจักรดีเซลที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาทดแทนหัวรถจักรไอน้ำนั้น ถือได้ว่ามีบทบาทอย่างมากในการช่วยคืนผืนป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ได้ในยุคนั้น เพราะเมื่อเทียบค่าพลังงานกันหน่วยต่อหน่วยแล้ว น้ำมันดีเซลมีประสิทธิภาพในการให้พลังงานสูงกว่าเศษไม้หรือฟืนที่เป็นผลผลิตจากป่าไม้ หากลองนึกภาพดูว่าเรายังคงใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนหัวรถจักรไอน้ำต่อเนื่องกันมาโดยไม่มีใครคิดที่เปลี่ยนมาใช้น้ำมันทดแทน เราจะต้องใช้ฟืนเป็นจำนวนมากเพียงใดและต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กันอีกเท่าไหร่



ถึงบรรทัดนี้เราคงได้ตระหนักกันด้วยข้อเท็จจริงว่า ในอดีตน้ำมันมีส่วนสำคัญในการฟื้นคืนผืนป่าในแง่ของการเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ทดแทนฟืน ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าเอาไว้ ในปัจจุบัน ปิโตรเลียมได้ถูกนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ รถไฟ เรือยนต์ ก๊าซหุงต้ม หรือแหล่งพลังงานสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า มิได้จำกัดแต่เพียงเป็นเชื้อเพลิงของหัวจักรรถไฟดังเช่นสมัยก่อน แต่หน่วยงานด้านพลังงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงแนวคิดการอนุรักษ์ผืนป่าเอาไว้ ผ่านโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ


//////////////////////////////////////////////////

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 2 : ประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมกับบุคคลที่ควรจดจำ

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=583685

โลกของเราคงจะไม่มีใครได้รู้เรื่องราวของปิโตรเลียม และพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีด้านการขุดเจาะสำรวจให้มีความก้าวหน้าทันสมัย จนมีโอกาสนำน้ำมันออกมาใช้ประโยชน์ได้เป็นผลสำเร็จจนถึงทุกวันนี้ หากไม่มีคนที่ชื่อ ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ (Samuel Martin Kier) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่รู้จักกันในแวดวงปิโตรเลียมว่าเป็นผู้ขุดค้นพบน้ำมันเป็นคนแรกของโลก และยังได้รับการยกย่องจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นบิดาแห่งอุตสาหกรรมน้ำมันของอเมริกาอีกด้วย
ซามูเอล มาร์ติน เกียร์ เป็นคนเชื้อสายสก็อตและไอริช เกิดที่เมืองเล็กๆ ในอินเดียน่า มลรัฐเพ็นซิลวาเนีย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2356 เขาเป็นนักประดิษฐ์และนักธุรกิจที่บังเอิญได้ขุดพบน้ำมันจากบ่อเกลือของครอบครัวแถบริมฝังแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny) ในมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) เมื่อปี พ.ศ.2392 หรือประมาณ 160 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งในระยะแรกนั้นใช้เป็นยารักษาโรค และเรียกน้ำมันนั้นว่า Rock Oil ซึ่งแปลตรงตัวว่าน้ำมันจากก้อนหิน ต่อมาได้ทำงานร่วมกับนักเคมีและได้กลั่นน้ำมันดิบนั้นเพื่อใช้เป็นน้ำมันตะเกียง ซึ่งการค้นพบดังกล่าวถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการขุดค้นหาแหล่งปิโตรเลียมกันมากขึ้น



ในยุคนั้น เชื้อเพลิงที่นำมาใช้เพื่อให้แสงสว่างทำมาจากน้ำมันของปลาวาฬ ซึ่งเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนให้ได้เห็นกันแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความคิดในการสำรวจหาน้ำมันมาเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่างขึ้น ต่อมาจึงมีการจัดตั้งบริษัทเจาะสำรวจน้ำมันที่ชื่อบริษัท เพ็นซิลวาเนีย ร็อค ออยล์ (Pennsylvania Rock Oil Company) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท ซีนีกา ออยส์ (Seneca Oil Company) ขึ้นมา โดยมี เอ็ดวิน เดรก (Edwin Drake) เป็นผู้เจาะสำรวจหาน้ำมันคนแรกที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในมลรัฐเพ็นซิลวาเนีย (Pennsylvania) ซึ่งเขาได้กลายเป็นผู้ที่ขุดพบน้ำมันเป็นคนแรกและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไป ทั่วทั้งวงการ เพราะเขาสามารถค้นพบน้ำมันที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต โดยที่มีอัตราการไหลของน้ำมันออกมาอยู่ที่ 10-35 บาเรล ต่อวัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ยุคตื่นน้ำมัน” ของโลกทีเดียว และหลังจากนั้นจึงเริ่มมีการผลิตในเชิงพาณิชย์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ตามพงศาวดารล้านนาระบุว่า มีการค้นพบน้ำมันดิบ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่สมัยนั้นได้รับรายงานว่ามีการไหลซึมของน้ำมันดิบที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และชาวบ้านในละแวกนั้นนำน้ำมันดิบที่ไหลซึมออก มาใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง ซึ่งต่อมาเจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้สั่งให้มีการขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำมันดิบที่ไหลซึมออกมา และมีการเรียกขานบ่อดังกล่าวในเวลาต่อมาว่า “บ่อหลวง”



อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะขุดเจาะค้นหาปิโตรเลียมของไทยอย่างจริงจังเริ่มต้นเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจากตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ พ่วงด้วยวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งวิชาทหารช่างที่ชัทแทมด้วย ในปี พ.ศ. 2464 เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ต้องการหาเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ จึงได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันชื่อ Wallace Lee เข้ามาเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบในบริเวณบ่อหลวง และ จังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าการขุดเจาะในครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากไม้จึงมีข้อจำกัดในการขุดเจาะ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทยก็ว่าได้



จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมที่ได้ขยายความมาทั้งหมดนั้น จึงน่าจะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถนำไปเล่าขานสู่ลูกหลานในอนาคตได้อย่างเต็มภาคภูมิ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนักและปลูกฝังลูกหลานไว้แต่เนิ่นๆ คือ “ปิโตรเลียม" หรือแม้แต่ “น้ำมัน” เป็นทรัพยากรอันมีค่าที่มีวันหมด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรใช้อย่างประหยัด เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านี้ ยังคงก่อประโยชน์สู่มนุษยชาติไปจนตราบชั่วลูกชั่วหลาน

ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมป่าไม้

ย้อนรอยปิโตรเลียมไทย ตอนที่ 1 : มารู้จัก “ปิโตรเลียม” กันเถอะ

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=3&art=580563

หากพูดถึง “น้ำมัน” แล้ว หลายคนคงคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี เพราะน้ำมันได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตและอยู่ในเกือบทุกกิจกรรมของเราเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะในการทำงาน การท่องเที่ยว หรือการเดินทาง ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมไปถึงของกินของใช้ที่เราบริโภคกันทุกเมื่อเชื่อวันนั้น ก็ล้วนมีน้ำมันเป็นต้นทุนอยู่ในนั้นแล้วทั้งสิ้น



แต่ถ้าพูดถึง “ปิโตรเลียม” คนจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่ค่อยกระจ่างในคำจำกัดความของมันนักและหลายคนคงคิดว่าปิโตรเลียมก็คืออันเดียวกันกับ “น้ำมัน” นั่นแหละ ดังนั้นวันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ “ปิโตรเลียม” กัน แล้วจะรู้ว่า “ปิโตรเลียม” แท้ จริงแล้วต่างจากน้ำมันอย่างไร และเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากแค่ไหน “ปิโตรเลียม” นั้น เกิดมาจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันเป็นเวลาหลายล้านปีจนมีการแปรสภาพเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ซึ่งประกอบด้วยธาตุหลัก คือ คาร์บอนและไฮโดร เจน รวมกันประมาณ 95% ส่วนที่เหลืออาจมีธาตุอื่นปะปนอยู่ด้วย เช่น กํามะถัน ออกซิเจน ไนโตรเจน

“ปิโตรเลียม” มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคำว่า “เพทรา” (Petra) ที่แปลว่า หิน และคำว่า "โอลิ-อุม" (Oleum) ซึ่งแปลว่า น้ำมัน และเมื่อนำมาแปลรวมกัน ก็จะได้ความหมายว่า น้ำมันที่ได้มาจากหินนั่นเอง ซึ่งจากเหตุนี้อาจทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า “ปิโตรเลียม” คือน้ำมัน แต่จริงๆ แล้ว น้ำมันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ปิโตรเลียม” เท่านั้นเอง เพราะถ้าเรานำ “ปิโตรเลียม” มาแยกตามสภาพทางธรรมชาติแล้ว เราจะได้ผลิตภัณฑ์หลักสองส่วนสำคัญ นั่นคือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมักจะเกิดร่วมกันในแหล่งปิโตรเลียม แต่บางแหล่งอาจมีเฉพาะน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

ทีนี้เราลองมาดูกันอย่างเจาะลึกเข้าไปอีกหน่อยถึงกระบวนการนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ว่าเค้านำไปแปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง โดยเริ่มต้นที่การสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมเมื่อค้นพบแล้ว บริษัทที่ทำธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็จะตั้งแท่นทำการผลิตและแยกปิโตรเลียมออกมาเป็น 2 ส่วนคือ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยในส่วนของน้ำมันดิบจะส่งไปยังโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อแปรสภาพและปรับปรุงคุณภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า อาทิเช่น น้ำมันเบนซิน (gasoline), น้ำมันดีเซล (diesel), น้ำมันก๊าด (kerosene), น้ำมันเตา (fuel oil), น้ำมันหลื่อลื่น (lubricant) และยางมะตอย (asphalt)


ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่จะขนส่งโดยทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำไปเข้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ผสมกันอยู่หลากหลายชนิดออกมา ได้แก่ มีเทน , อีเทน , โพรเพน , บิวเทน, เพนเทน , เฮกซ์เซน และอื่น ๆ โดยก๊าซมีเทนจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต กระแส ไฟฟ้า เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรม เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย และใช้เป็นเชื้อเพลิงรถโดยสารเอ็นจีวีที่วิ่งกันอยู่ทั่วเมือง ก๊าซอีเทนและโพรเพนใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่รู้จักกันเป็นอย่างดีว่า LPG ประกอบด้วยโพรเพนและบิวเทน ส่วนแก๊สโซลีนธรรมชาติ ก็จะส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินอีกต่อหนึ่ง

ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงเกิดความกระจ่างแล้วว่า “ปิโตรเลียม” นั้นแท้จริงแล้วเป็นต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท และอยู่เบื้องหลังความสะดวกสบายต่างๆ ของเรามาอย่างยาวนาน ซึ่งเราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ปิโตรเลียม” เป็นมากกว่า “น้ำมัน” สารพันประโยชน์ทีเดียว

ข้อมูลอ้างอิง; จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

 

"พงษ์ศักดิ์" สั่งเดินหน้าใช้น้ำมันราคาเดียวทั่ว ปท.

source : http://www.thainews-online.com/index.php?mo=14&newsid=330058

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กับกระทรวงพลังงานให้เดินหน้าปรับราคาน้ำมันทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียว พร้อมทั้งอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือแอลพีจี ผ่านบัตรเครดิตพลังงาน และศึกษาผลกระทบกลุ่มรถแท๊กซี่เพื่อกำหนดนโยบายการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ เอ็นจีวี รวมทั้งการเพิ่มสำรองน้ำมัน หนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดสรรผลกำไรกลับคืนสู่สังคม

โดยในส่วนของการปรับราคาน้ำมันทั่วประเทศให้เป็นราคาเดียวนั้น ได้มอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเพิ่มเติมจากท่อหลักที่มีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีแผนจะต่อท่อหลักไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จังหวัดนครราชสีมา และภาคเหนือ ที่ จังหวัดนครสวรรค์ จึงต้องการให้มีการก่อสร้างท่อน้ำมันย่อยเชื่อมโยงไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้ใช้น้ำมันราคาถูกลงและเป็นราคาเดียวกับที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การลงทุนในท่อเส้นใหม่ ๆ อาจจะต้องมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการ เพื่อให้คิดค่าผ่านท่อที่เหมาะสม

ส่วนการปรับราคาแอลพีจีนั้น มอบหมายให้กระทรวงพลังงานศึกษาว่าหากมีการปรับขึ้นราคาแล้วจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างไร และควรจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรหากมีการทยอยปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจี โดยเฉพาะในภาคครัวเรือน เพราะปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการอุดหนุนราคาแอลพีจีไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบอยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท และในอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี จะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในส่วนของการปรับขึ้นราคาแอลพีจี กระทรวงพลังงานได้เสนอข้อมูลให้ตนได้รับทราบแล้วว่าจะมองไปที่กลุ่มผู้ยากจน โดยกำหนดว่าผู้มีรายได้น้อยควรจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน และใช้ก๊าซหุงต้มไม่เกิน 6 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งจะครอบคลุมประชาชน 4 ล้านครัวเรือน ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ามีการอุดหนุนกิโลกรัมละ 10 บาท อาจะต้องใช้เงินปีละ 2,880 ล้านบาท นอกจากนั้น กลุ่มที่ควรได้รับการสนับสนุน คือ ผู้ขายอาหารรายย่อย

โดยทั้งสองส่วนจะใช้วิธีการสนับสนุนผ่านบัตรเครดิตพลังงาน ซึ่งผู้ที่เข้าเกณฑ์ผู้มีรายได้น้อยจะต้องมาขึ้นทะเบียนเพื่อทำบัตรเครดิตพลังงาน และนำบัตรไปใช้ซื้อก๊าซราคาถูก และกระทรวงพลังงานจะใช้วิธีตั้งวงเงินอุดหนุนผ่านบัตรเครดิต และกำหนดปริมาณการซื้อและการใช้ของผู้ที่ได้รับการสนับสนุน โดยประมาณการว่าจะต้องใช้เงินอุดหนุนไม่เกิน 5 พันล้านบาทต่อปี

โดยการลดความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มนี้ จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะลดการเก็บเงินจากใช้น้ำมันได้

ด้านการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าขณะนี้มีผู้ขับขี่รถแท๊กซี่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีจำนวนเท่าใด และได้รับผลกระทบจำนวนเท่าใด ก่อนนำมากำหนดนโยบายว่าควรจะปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีอย่างไร

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้เร่งศึกษาการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศเพิ่มจาก 36 เป็น 90 วัน เพราะเห็นว่ามีความจำเป็น และให้นำโครงการสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ มาเทียบเคียงว่าสามารถใช้ประโยชน์จากผลการศึกษาต่อการเพิ่มสำรองน้ำมันได้อย่างไร แต่เน้นย้ำว่าไม่ได้สั่งให้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพียงแต่ให้นำผลศึกษาที่ทำไว้มาเทียบเคียงเพื่อใช้ประโยชน์บางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าผลการศึกษาในโครงการนี้ จะต้องมีการขนส่งน้ำมันทางท่อจากฝั่งทะเลตะวันตก มาฝั่งทะเลตะวันออก และจะต้องมีการก่อสร้างคลังน้ำมันทั้งสองฝั่ง ซึ่งอาจจะทำให้การสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์น้ำมันทำได้ง่ายขึ้น

ส่วนนโยบายบริหารจัดการเรื่องไฟฟ้า จากแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะยาว หรือพีดีพี ฉบับปัจจุบันมีการกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาด มองว่าหากเป็นเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดจริงก็น่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทยได้ แต่ขณะนี้คนไทยอาจจะฝังใจกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเมื่อหลาย 10 ปีก่อน จึงต้องให้ กฟผ.เร่งสร้างความเข้าใจมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และลดปัญหาราคาค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้น จากการนำก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทนมาผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากขึ้น

ส่วนการกำกับดูแล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดว่า ต้องการให้ ปตท.นำกำไรในแต่ละปีที่มีมาก และถูกโจมตีจากสังคม จึงมีนโยบายให้ ปตท. มีการแบ่งกำไรบางส่วนเข้ามาช่วยเหลือสังคมมากขึ้น จึงมอบหมายให้ ปตท.ศึกษาการจัดสรรงบประมาณจากกำไรมาทำเรื่อง CSR เพื่อตอบแทนประชาชน โดยให้เงินทำวิจัยแก่สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ หรืออื่นๆ และให้ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป และจัดพื้นที่บางส่วนในสถานีบริการน้ำมันเพื่อการจำหน่ายสินค้าโอทอป เป็นต้น

ขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือน: เผือกร้อนในมือรัฐบาล โดย มนูญ ศิริวรรณ

source : http://www.dailynews.co.th/article/825/137474

เดลินิวส์ วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2555
 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์อย่างอาจหาญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ปรับราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนให้เป็นไปตามต้นทุนที่แท้จริง โดยจะเสนอให้ปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม เป็นต้นไป ในอัตราประมาณ 5-6 บาท/ก.ก. (ประมาณ 75-90 บาท/ถังขนาด 15 ก.ก.) ซึ่งจะทำให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นจาก 18.13 บาท/ก.ก. มาเป็น 23-24 บาท/ก.ก แต่จะค่อยๆปรับหรือปรับครั้งเดียว และจะมีมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ก๊าซอย่างไร คงต้องไปพิจารณากันอีกทีในที่ประชุมกพช.
ข่าวนี้ทำให้เรื่องการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อและผู้สนใจติดตามข่าวคราวในวงการพลังงานอีกครั้ง เพราะการตรึงราคาก๊าซหุงต้มในภาคครัวเรือนไว้ในราคาปัจจุบัน (ซึ่งมีการต่ออายุกันมาอย่างยาวนานหลายรัฐบาล) โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าไปชดเชยราคาให้กับก๊าซหุงต้มที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นมหากาพย์เกี่ยวกับการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานที่มีการพูดถึงกันมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะต้องโครงสร้างนี้ จนทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศผู้ส่งออกก๊าซ LPG กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าก๊าซ LPG อย่างในปัจจุบัน และรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปกับปัญหาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มที่คาราคาซังอยู่ในขณะนี้
ก่อนอื่นผมขอเรียนว่า ก๊าซหุงต้มที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีที่มาจาก 3 แหล่ง คือ
1. จากโรงแยกก๊าซ (Gas Separation Plant – GSP) ที่นำเอาก๊าซธรรมชาติ (NG) ในอ่าวไทยมาเข้าโรงแยกก๊าซ แล้วแยกก๊าซ (C2+) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก๊าซหุงต้มออกมา โดยมีสัดส่วน 51.7% ของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ
2. จากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งนำน้ำมันดิบ (ทั้งจากในประเทศและจากการนำเข้าจากต่างประเทศ) มากลั่นแล้วได้เป็นน้ำมันสำเร็จรูปชนิดต่างๆ เช่น น้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซหุงต้มด้วย โดยมีสัดส่วน 33.9%
3. จากการนำเข้าจากต่างประเทศในรูปของก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทนและนำมาผสมกันเป็นก๊าซหุงต้ม โดยมีสัดส่วน 14.4%
ในแง่ของต้นทุน ก๊าซหุงต้มที่ได้จากโรงแยกก๊าซมีต้นทุนต่ำที่สุด รองลงมาคือก๊าซหุงต้มจากโรงกลั่นน้ำมัน และก๊าซหุงต้มที่นำเข้ามีต้นทุนสูงที่สุด โดยปัจจุบันราคานำเข้าผันผวนอยู่ระหว่าง 1,210 – 593 $/ตัน (38.60 – 18.92 บาท/ก.ก.) ในขณะที่ราคขายส่งที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ที่หน้าโรงแยกก๊าซอยู่ที่ 332 เหรียญสหรัฐ/ตัน (10.59 บาท/ก.ก.) เท่านั้น
นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้มถึงตันละ 878 - 261 เหรียญสหรัฐ/ตัน (28-8.33 บาท/ก.ก.) คิดเป็นเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็ไม่ได้มาจากงบประมาณแผ่นดินหรือภาษีอากรของคนทั้งประเทศแต่อย่างใด แต่เป็นเงินที่รัฐบาลเก็บมาจากผู้ใช้น้ำมันทุกคน โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ซึ่งไม่ใช่ผู้มีรายได้สูงทั้งหมด แล้วเอาไปชดเชยให้กับผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด ซึ่งถือเป็นความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้พลังงานชนิดหนึ่งในราคาแพง แล้วเอาไปสนับสนุนผู้ใช้พลังงานอีกชนิดหนึ่งให้ได้ใช้ในราคาถูก ทั้งๆที่ไม่ได้มีข้อสนับสนุนในเรื่องของการกระจายรายได้หรือสร้างความเป็นธรรมในสังคมแต่อย่างใด เพราะผู้ใช้น้ำมันเบนซินและ แก๊สโซฮอล ก็ไม่ได้เป็นผู้มีรายได้สูงทุกคน เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือ เกษตรกรในชนบท หรือแม้กระทั่งคนทำงาน แม่บ้าน ที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างก็ต้องมาแบกรับภาระค่าน้ำมันเบนซินในราคาแพง เพื่อไปอุดหนุนคนใช้รถยนต์ส่วนตัวคันใหญ่ๆ ที่เปลี่ยนมาใช้ LPG หรือคนร่ำรวยที่ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนอย่างฟุ่มเฟือย ทั้งๆที่เขามีปัญญาจ่ายในราคาต้นทุนที่แท้จริง
ดังนั้นการที่รมว.พลังงานมีดำริจะปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มให้เป็นราคาเดียวกันในทุกภาคส่วน จากที่ทุกวันนี้มีถึงสามราคา คือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ผมจึงคิดว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วและใคร่เสนอแนะให้รัฐบาลใช้ความกล้าหาญทางการเมืองปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม โดยดำเนินมาตรการดังต่อไปนี้พร้อมๆ กันคือ
1. ปรับราคา LPG หน้าโรงแยกก๊าซจากปัจจุบันที่ใช้ราคาตายตัวที่ 332 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ซึ่งอ้างอิงที่มาที่ไปไม่ได้) มาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2551 มาจนถึงปัจจุบันโดยเปลี่ยนมาเป็นสูตรราคาอ้างอิงราคาตามแหล่งที่มาของก๊าซ LPG คือ ราคาหน้าโรงแยกก๊าซ 60% และราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน 40% และให้ใช้ราคานี้สำหรับตลาดก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง โดยมีการปรับสูตรราคาทุกๆ 1 เดือน
โดยราคาที่จะต้องปรับใหม่ตามสูตร 60/40 นี้ ถ้าจะต้องปรับให้สูงขึ้น (เพราะราคา LPG หน้าโรงกลั่นจะสูงกว่าราคาหน้าโรงแยกก๊าซ) ก็ให้ค่อยๆทยอยปรับขึ้นไตรมาสละ 1 บาท/ก.ก. โดยให้ปรับขึ้นได้สูงสุดไม่เกิน 5 บาท/ก.ก. เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนมากจนเกินไป
2. แยกตลาดอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีออกไปจากตลาดก๊าซหุงต้มทั่วไปโดยกำหนดให้ใช้ราคานำเข้าที่ปรับขึ้นลงตามราคาในตลาดโลกอย่างแท้จริง และควบคุมการใช้ก๊าซ LPG ในกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด
3. เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มครั้งนี้ โดยเฉพาะแม่บ้านที่ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือนและผู้ขับรถ TAXI ที่ใช้ก๊าซ LPG อยู่ในขณะนี้ รัฐบาลควรกำหนดให้ขายก๊าซหุงต้มขนาดถัง 15 ก.ก. (ราคาเนื้อก๊าซ/ก.ก.) ในราคาต่ำกว่าถัง 48 ก.ก.หรือ 50 ก.ก. เพื่อสนับสนุนผู้ใช้ตามบ้านเรือน และเร่งรีบสนับสนุนรถ TAXI ให้หันมาใช้ก๊าซ NGV มากขึ้น โดยใช้เงินที่ประหยัดได้จากการอุดหนุนการนำเข้าก๊าซ LGP จากต่างประเทศมาใช้ในโครงการเหล่านี้
4. ในกรณีที่รัฐบาลต้องการให้มี LPG ราคาเดียวในท้องตลาดสำหรับทั้งอุตสาหกรรม ครัวเรือนและขนส่ง ให้นำต้นทุน LPG จากทุกแหล่งมาหารเฉลี่ยแล้วตั้งเป็นราคาขายราคาเดียวกัน โดยรัฐบาลอาจให้เงินอุดหนุนกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยแบบเดียวกับเบี้ยยังชีพคนชรา หรือการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 50 หน่วย/เดือน ดังที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน
5. รัฐบาลอาจบรรเทาผลกระทบการปรับโครงสร้างราคา LPG ด้วยการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตและเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันของก๊าซ LPG เพื่อไม่ให้ราคาพุ่งขึ้นสูงมากเกินไปในระยะแรก
ทั้งหมดนี้ผมแนะนำให้ทำโดยรีบด่วนครับ เพราะสถานการณ์พลังงานในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเป็นขาลง และราคา LPG ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ถ้ารีบปรับโครงสร้างตอนนี้ราคาคงปรับตัวขึ้นไม่มากนัก
แต่ล่าสุดเห็นท่านรมว.พลังงานเปลี่ยนท่าทีแล้วว่า จะให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนไปจนถึงสิ้นปีตามมติเดิมของครม. ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ใช้ก๊าซ LPG ที่จะได้ใช้ก๊าซถูกกันต่อไป
แต่ก็ต้องแสดงความเสียใจต่อผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลที่ต้องแสดงบทบาทเป็นผู้เสียสละอุ้มผู้ใช้ก๊าซกันต่อไป !!!.

มนูญ ศิริวรรณ

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ทิศทางพลังงานอาเซียน: ไทยขาดแหล่งทรัพยากร ระยะยาวต้องเร่งเชื่อมโยงพลังงานอาเซียน

source : http://www.siamintelligence.com/asean-energy-cooperation/

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานชี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงาน เหตุเพราะมีแหล่งทรัพยากรในประเทศน้อย และยังไม่สามารถหาข้อยุติเรื่องพลังงานนิวเคลียร์-ถ่านหินได้ ทางออกมีอย่างเดียวคือซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ยังมีเหลือ แต่ก็มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจสูงในอนาคต

ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงระบบพลังงาน

รายงานการสัมมนา “ประชาคมอาเซียนกับการเชื่อมโยงระบบพลังงาน” จัดโดยคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ถนนพระราม 9
วงเสวนาและแสดงความคิดเห็น มีวิทยากรร่วมอภิปราย 4 ท่าน
  • นายไกรสีห์ กรรณสูตร อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา
  • นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
  • นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต่ำและก๊าซธรรมชาติ ปตท.
  • ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นพพร ลีปรีชานนท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1) การเชื่อมโยงประชาคมอาเซียนด้านพลังงาน จากอดีตสู่อนาคต

โดย นายไกรสีห์ กรรณสูตร
อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันเป็นผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการพลังงาน วุฒิสภา
การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างที่ผมไปดูงานในฝรั่งเศส ระบบพลังงานไฟฟ้าในฝรั่งเศสใหญ่มาก โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 1000 เมกะวัตต์ (MW) หลุดไปจากระบบ ปรากฏว่าความถี่ตกไปนิดเดียว ระบบไฟโดยรวมไม่สะเทือนอะไร แต่ถ้าเป็นเมืองไทยเกิดสถานการณ์แบบนี้ รับรองว่าไฟดับแน่
ในสแกนดิเนเวีย ประเทศนอร์เวย์มีน้ำมาก ใช้ไฟฟ้าพลังน้ำคิดเป็น 90% ของพลังงานทั้งประเทศ ส่วนสวีเดนใช้พลังงานนิวเคลียร์มาก สองประเทศนี้เลยใช้วิธีแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกัน เช่น ช่วงฤดูที่น้ำแข็งละลาย นอร์เวย์จะมีน้ำมาก สวีเดนจะผลิตไฟด้วยนิวเคีลยร์น้อย และซื้อไฟจากนอร์เวย์แทน ในทางกลับกัน ถ้าน้ำน้อย นอร์เวย์จะซื้อไฟจากสวีเดนกลับ ข้อดีของวิธีากรนี้คือต้นทุนพลังงานลดลงมาก ยิ่งยุโรปใกล้ชิดกันมากขึ้น การซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานก็ยิ่งง่ายขึ้น

แหล่งพลังงานในอาเซียน

หันมาดูในกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา ถือเป็นโชคดีว่า ในย่านอาเซียนนี้มีแหล่งพลังงานอุดมสมบูรณ์อย่างมาก และที่สำคัญคือมีความหลากหลาย
ตัวอย่างเช่น ตอนเหนือของอาเซียนอย่างพม่า ลาว เวียดนามตอนเหนือ มีน้ำเยอะ มี hydro potential (มีศักยภาพในการใช้น้ำผลิตไฟฟ้า) อยู่มาก
ในพม่ามี hydro potential หลายหมื่นเมกะวัตต์ ถ้าใช้น้ำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมดหมดจริงๆ กำลังผลิตอาจถึงแสนเมกะวัตต์ด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้เท่าไร น้ำในแม่น้ำสาละวินมีเยอะกว่าในแม่น้ำโขงมาก เพราะมีต้นทางมาจากหิมะในเทือกเขาหิมาลัย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาว่าถ้าสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน อาจใช้เป็นโรงงานไฟฟ้าหลัก (base load) ได้เทียบเท่ากับโรงงานถ่านหินและก๊าซได้เลย
พม่าไม่ได้มีแต่น้ำ ยังมีก๊าซที่มากเหลือเกิน ทั้งจีนและอินเดียต่างก็รุมจีบเพราะอยากได้ก๊าซจากพม่า เราก็โชคดีที่ซื้อก๊าชจากพม่าได้ส่วนหนึ่ง
ลาวก็มี hydro potential มาก ผลิตไฟฟ้าได้ระดับหลายหมื่นเมกะวัตต์ ถ้าพูดถึงแม่น้ำโขงอย่างเดียว ก็สร้างได้หลายพันเมกะวัตต์แล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงแม้น้ำอื่นในลาวเลย ส่วนเขื่อนแรกที่สร้างในลาวอย่างไชยบุรี ทุกคนคงรู้กันแล้ว
เวียดนาม ตอนเหนือมีน้ำมาก ตอนใต้มีก๊าซมาก อันนี้เป็นแหล่งพลังงานของเวียดนาม
กัมพูชา มีแหล่งก๊าซเยอะทีเดียวในแห่ลงทับซ้อนอย่างอ่าวไทยตรงพรมแดนไทย-กัมพูชา ปริมาณใกล้เคียงกับปริมาณก๊าซในอ่าวไทย
ไทยเองมีก๊าซมากในอ่าวไทย แล้วก็มีลิกไนต์ที่แม่เมาะ แต่อันนี้ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย
มาเลเซีย มีก๊าซเยอะทีเดียว รัฐซาราวัก (Sarawak) มีน้ำมาก มีเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เขื่อนบากูน (Bakun Dam) ก็พูดกันว่าผลิตไฟฟ้าได้หลายพันเมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังก็มีก๊าซมาก ส่วนรัฐซาบาห์ (Sabah) ก็มีทั้งน้ำ มีทั้งก๊าซ มีทั้งถ่านหิน ถือได้ว่ามาเลเซียมีแหล่งพลังงานมากและหลากหลาย แหล่งก๊าซของมาเลเซียนี่ติดอันดับ 14 ของโลก
บรูไน คงรู้กันดีว่ามีน้ำมัน แต่นอกจากนี้เขายังมีก๊าซ โดยส่งออกเป็น LNG ขายญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นหลัก แต่เขายังไม่ได้ส่งขายในประเทศอาเซียนผ่านทางท่อ มีแต่เป็น LNG เท่านั้น
อินโดนีเซีย มีก๊าซเยอะมากที่แหล่งนาทูนาตะวันออก (East Natuna) มีปริมาณสำรอง (reserve) มากกว่า 190 trillian คิวบิคฟุต เพียงพอต่อการใช้ได้เกิน 60 ปี ส่วนถ่านหินไม่ต้องพูดถึง ใช้ได้มากกกว่า 150 ปี เป็นแหล่งใหญ่ที่ส่งออกทำรายได้ให้ประเทศมาก อินโดยังเป็นประเทศในกลุ่ม OPEC ที่มีน้ำมันมาก
ฟิลิปปินส์ มีก๊าซมาก นอกจากนี้ยังมีภูเขาไฟเยอะ มีน้ำพุร้อนใช้ผลิตไฟฟ้าแบบความร้อนใต้โลก (geothermal) ได้ถึง 13% ของประเทศ ถือเป็นอันดับสองของโลกในเรื่อง geothermal
จะเห็นว่าย่านอาเซียนอุดมสมบูรณ์ในแหล่งพลังงานจริง ๆ ในภาพรวมคือตอนเหนือของไทยเป็นน้ำ ตอนใต้ของประเทศไทยเป็นก๊าซ
บางประเทศมีแหล่งพลังงานมากแต่มีความต้องการใช้พลังงาน (demand) ต่ำ โดยเฉพาะทางเหนือของอาเซียน ตรงนี้เลยเป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ซื้อพลังงานเหล่านี้ได้

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียน อดีต

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียนเริ่มขึ้นเมื่อ 40 ปีก่อน โดยซื้อไฟจากเขื่อนน้ำงึม 1 เพราะลาวมีเขื่อนแต่ต้องการไฟฟ้าน้อย เค้ามีไฟเหลือเยอะมาก สมัยนั้นเราซื้อได้ค่อนข้างถูกทีเดียว ยูนิตนึงไม่ถึงบาท
ภาคใต้บ้านเรามีความเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นน้อย และมีแหล่งผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าภาคอื่น สมัยผมทำงานใหม่ๆ ไฟจะดับบ่อย แต่ภายหลังก็มีการเชื่อมโยงระบบพลังงานกับภูมิภาคอื่นในประเทศมากขึ้น
การส่งไฟฟ้าในทางไกลๆ จะมีปัญหาเสถียรภาพของสายส่ง ทำให้การส่งไฟระหว่างภาคกลางกับภาคใต้มีปัญหาเพราะระยะทางไกลมาก เราเลยมองมาที่มาเลเซีย ซึ่งระบบไฟฟ้าใหญ่ๆ ของเขาอยู่ทางเหนือพอดี อยู่ใกล้กับภาคใต้ของเรามากกว่าภาคกลางของเราด้วยซ้ำ ตอนหลังเราจึงซื้อไฟจากมาเลเซีย จึงมีความมั่นคงทางพลังงานสูงขึ้นมากทีเดียว
ตอนแรกมีปัญหาเรื่องระบบไฟที่ต่างกัน เพราะมาเลเซียใช้ระบบอังกฤษ 130 kV แต่ของเราใช้ระบบอเมริกา 115 kV ต้องผ่านหม้อแปลงซึ่งไม่ค่อยเสถียร แต่ภายหลังก็เปลี่ยนมาจ่ายไฟแบบ DC กระแสตรงระหว่างกัน เลยลดปัญหาไปได้มาก
สิงคโปร์เป็นประเทศเกาะเล็ก แต่ไม่มีทรัพยากรด้านหลังงาน เค้าใช้น้ำมันเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า แต่พอเป็นระบบเล็กก็มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพ เจอเรื่องไฟดับเป็นวงกว้าง (blackout) หลายครั้งในสมัยก่อน ตอนหลังเลยหันมาเชื่อมโยงระบบไฟกับมาเลเซีย เพื่อจะได้ช่วยเหลือกันได้เวลามีปัญหาทางพลังงาน
การเชื่อมโยงไฟฟ้าของอาเซียนเกิดขึ้นบนแผ่นดินคาบสมุทรก่อน เริ่มจากไทย-ลาว, ไทย-มาเลเซีย, มาเลเซีย-สิงคโปร์
การเชื่อมโยงระบบไฟของยุโรปทำได้ง่ายเพราะเป็นพื้นทวีปต่อกันหมด แต่อาเซียนเป็นเกาะเยอะ ต้องเชื่อมโยงผ่านเคเบิลใต้น้ำ ซึ่งต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ดังนั้นช่วงแรกๆ ของอาเซียนจะเป็นการเชื่อมโยงบนแผ่นดินก่อน
การเชื่อมโยงระหว่างไทยกับเขมรจะเป็นจุดๆ มากกว่าเป็นระบบ อย่างตอนนี้เราก็ขายไฟให้เสียมเรียบ

การเชื่อมโยงของพลังงานในอาเซียน อนาคต

การเชื่อมโยงพลังงานภายในอาเซียนจะช่วยลดปัญหาการซื้อเชื้อเพลิงจากกลุ่มประเทศนอกอาเซียน เพราะอาเซียนมีทรัพยากรพลังงานที่หลากหลายอยู่แล้ว
ในอนาคตมีแผนจะเชื่อมโยงพลังงานให้มากกว่านี้ โดยจ้างที่ปรึกษาด้านไฟฟ้าเข้ามา พบว่ามี 16 โครงการ
  • โครงการแรก มาเลเซีย-สิงคโปร์ พบว่าสายเดิมชักเล็กเกินไป จะเพิ่มขนาดสายในปี 2018
  • โครงการที่สอง ไทยกับมาเลเซีย ปัจจุบันเชื่อมโยงกันด้วยสายไฟ DC 300 MW จะเพิ่มระดับในเฟสที่สองในปี 2016
  • โครงการที่สาม มาเลเซียบนคาบสมุทรจะเชื่อมโยงกับซาราวัก ถือเป็นการเชื่อมภายในประเทศของเขาเอง
  • โครงการที่สี่ มาเลเซียจะเชื่อมโยงกับอินโดนีเซีย เพราะสุมาตรามีแหล่งพลังงานมาก ขนาดประมาณ 600 MW ในปี 2017
  • โครงการที่ห้า อินโดนีเซียจะมีเกาะเล็กๆ เรียกเกาะบาทัม (Batam Island) อยู่ใกล้กับสิงคโปร์ จะเชื่อมกันประมาณปี 2015-2017
  • โครงการที่หก มาเลเซียจะเชื่อมกับอินโดนีเซียอีกจุด ระหว่างซาราวักกับเวสต์กลิมันตัน (West Kalimantan)
  • โครงการที่เจ็ด ฟิลิปปินส์กับมาเลเซียจะเชื่อมกันที่ซาบาห์ ซึ่งอยู่ใกล้กัน ฟิลิปปินส์จะใช้พลังงานจากซาบาห์ เพราะตัวเองมีแหล่งพลังงานไม่เยอะนัก
  • โครงการที่แปด ซาราวักจะเชื่อมกับบรูไน ที่ไม่เคยเชื่อมกับใครมาก่อน อันนี้ปี 2016
  • โครงการที่เก้า ไทยกับลาว จะเชื่อมกันอีกหลายจุด ที่ใหญ่ๆ คือ ลิกไนต์ที่หงสา (Hongsa) ปี 2015 จะตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าลิกไนต์ที่ลาวแล้วส่งมาไทย ส่วนไชยบุรีจะโอนไฟมามากขึ้นปี 2019
  • โครงการที่สิบ ลาวกับเวียดนามจะเชื่อมโยงกัน
  • โครงการที่สิบเอ็ด ไทยกับพม่าอยู่ใกล้กัน แต่การเชื่อมโยงยังน้อยมาก จะเริ่มประมาณปี 2016 เป็นต้นไป โดยเราไปช่วยพัฒนาเขื่อนที่พม่า อยู่แถวๆ แม่สอด แล้วขายไฟกลับเข้ามาในไทย และมีลิกไนต์ขนาดไม่ใหญ่ที่พม่า และเชื่อมกลับมา
  • โครงการที่สิบสอง ปี 2017 เวียดนามกับเขมร มากกว่า 200 MW
  • โครงการที่สิบสาม เชื่อมระหว่างลาวกับเขมร
  • โครงการที่สิบสี่ ไทยกับเขมร ปราจีนไปพระตะบอง (Battambang)
  • โครงการที่สิบห้า เพิ่งเสนอมาใหม่ ซาบาห์กับอีสต์กลิมันตัน
  • โครงการที่สิบหก โครงการสุดท้าย สิงคโปร์กับสุมาตรา
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแน่นอน การเชื่อมโยงของระบบไฟฟ้าในอาเซียน ทุกคนเห็นประโยชน์ว่าเชื่อมโยงกันแล้วจะลดการซื้อพลังงานจากภายนอก และลดการลงทุนได้
16 โครงการนี้มีการศึกษาแล้วพบว่ามีความคุ้มทุนมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ ประหยัดเงินได้ 1,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะลดปริมาณไฟสำรองที่แต่ละประเทศต้องมีลงได้
การเชื่อมโยงของอาเซียนเกิดขึ้นได้แต่จะไปช้าๆ ไม่เร็วเหมือนยุโรป เพราะระบบภายในของอาเซียนบางประเทศ อย่าง ลาว เขมร พม่า ยังมีระบบภายในไม่แข็งแรง ในประเทศเองก็ยังไม่เชื่อมต่อกันดีนัก ต้องรอให้ประเทศเหล่านี้ค่อยๆ พัฒนา ถ้าเราไปเชื่อมกับระบบที่ไม่แข็งแรงก็อาจดึงเราไฟดับได้
แต่สุดท้ายแล้ว ตามแผนคือปี 2020 ทุกประเทศในอาเซียนจะต้องเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากัน

2) การเชื่อมโยงโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน

โดย นายสุเทพ ฉิมคล้าย
ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายแผนงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หลายอย่างที่ผมจะพูด คุณไกรสีห์พูดไปแล้ว ดังนั้นบางอย่างจะไม่ขอพูดซ้ำ

ความร่วมมือทางพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน

อาเซียนมีทรัพยากรสำหรับผลิตไฟฟ้ามาก ประเทศไทยเองกลับไม่ค่อยมีทรัพยากร แต่มีความต้องการไฟฟ้าเยอะ ในขณะที่พม่า-ลาวมีทรัพยากรเยอะแต่ความต้องการน้อย ดังนั้นถ้าจับมือกัน 3 ประเทศก็สามารถพัฒนาระบบพลังงานได้คุ้มค่า เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต่อให้มีทรัพยากร แต่ถ้าไม่มีความต้องการก็ทำไม่ได้ในเชิงพาณิชย์

พอมีความคิดจะเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในภูมิภาคแล้ว ก็มี MOU ระหว่างประเทศตกลงซื้อขายไฟฟ้ากัน ของไทยมี 7,000 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตน่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้อีกมาก
ของไทยกับพม่าคือ 1500 เมกะวัตต์ อันนี้ตกลงไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งอีกไม่นานนี้คงต้องปรับปรุงไปอีก เพราะพม่ามีศักยภาพระดับ 20,000-30,000 MW แล้วตอนนี้
ไทย-จีนมีข้อตกลงมานานแล้ว แต่โอกาสในตอนนี้คงน้อยเพราะจีนพัฒนาประเทศไปเยอะ และพลังงานในประเทศไม่พอใช้

ไทย-ลาว
  • เข้ามาในระบบแล้ว 1891 MW
  • ลงนาม PPA (Power Purchase Agreement) ตกลงแล้วกำลังก่อสร้าง 2913 MW
    • โครงการ หงสา เป็นโครงการเดียวที่เป็นลิกไนต์ เพราะอย่างอื่นเป็นน้ำหมด โครงการลิกไนต์จะมั่นคงกว่า เพราะบางปีน้ำน้อยอาจผลิตน้ำได้น้อยลง ถือเป็นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง
    • เขื่อนไชยบุรีก็ลงนามไปแล้ว กำลังผลิต 1220 MW
  • ลงนาม MOU แล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็น PPA 1077 MW
    • น้ำงึม 3
    • เซเปียน
    • น้ำเงี๊ยบ
รวมๆ แล้วตอนนี้เกือบเต็มข้อตกลง 7000 MW แล้ว อนาคตต้องขยายตัวเลขเพดานนี้ออกไปอีก

ระบบไฟฟ้าของไทย ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีระบบไฟเชื่อมกันหมด จ่ายไฟได้ทั้งประเทศ (เฉพาะระบบส่ง ไม่รวมจำหน่าย) ระบบสูงสุด 500 kV รองลงมา 230 kV
กฟผ. ยังมีศูนย์ควบคุม 5 แห่งทั่วประเทศ 4 ภาค + 1 ส่วนกลาง ตอนนี้ระบบของเราพร้อม รอประเทศเพื่อนบ้านให้พร้อมตาม ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ทันที
ปี 2015 ถึงจะมี AEC ก็คงมีแค่ MOU แต่ยังไม่มีระบบไฟฟ้าจริงๆ เพราะต้องรอเพื่อนบ้านให้พร้อมด้วย อันนี้ต้องใช้เงินอีกเยอะ

ไทยมีแหล่งพลังงานในประเทศน้อย ลิกไนต์แม่เมาะใกล้หมดแล้ว ในอนาคตต้องพึ่งพลังงานภายนอกเกือบ 100% ก็มีความลำบากในการหาแหล่งพลังงาน ถ่านหินก็ลำบาก นิวเคลียร์ก็ลำบาก คงต้องซื้ออย่างเดียวจากลาวและพม่า

แนวคิดด้านความร่วมมือพลังงานของอาเซียน


มีอยู่สองแนวทางหลักๆ
RPTCC (Regional Power Trade Coordination Committee)
เป็นความร่วมมือในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (GMS) ตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม โครงสร้างการดำเนินงานอยู่ภายใต้ รมว. พลังงานของ GMS
อนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นศูนย์ RPCC (Regional Power Community Committee) เป็นศูนย์ควบคุมการส่งไฟฟ้าของลุ่มน้ำโขง เช่น ไทยจะซื้อไฟจากเวียดนาม จะต้องผ่านศูนย์นี้ อันนี้เป็นแนวคิดที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไร ตอนนี้ยังหาสถานที่ตั้งศูนย์ไม่ได้ ถึงแม้ทุกประเทศจะสนใจให้ศูนย์ไปอยู่ในประเทศของตัวเอง แต่ประเทศที่มีเงินก็มีโอกาสสูงกว่า ผมว่าน่าจะเป็นประเทศจีนได้ไป
ไทยเราก็อยากมีแต่เรื่องเงินคงแพ้ แต่ไม่ว่าศูนย์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ไหน ประเทศไทยคงได้ประโยชน์เพราะที่ตั้งเราอยู่ตรงกลาง
HAPUA (Head of ASEAN Power Utilities Authority)
เป็นความร่วมมือระดับอาเซียน การดำเนินงานขึ้นกับ AMEM (รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน) มีการจัดประชุมทุกปี

โครงสร้างเดิมของ HAPUA มีมานานพอสมควร มีการประชุมทุกปีแต่ผลงานไม่ค่อยคืบหน้า และการมีคณะทำงานมากถึง 8 คณะต้องใช้คนเยอะ มีการประชุมของทุกคณะทำงานเยอะมาก มากเกินไป จึงมีแนวคิดว่าจะลดโครงสร้างของ HAPUA ให้เล็กลง ลดคณะทำงานเหลือ 5 คณะแต่ทำงานได้เท่าเดิม ให้แต่ละประเทศเป็นประธาน-รองประธานในแต่ละกลุ่ม แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ประเทศไทยจะได้เป็นประธานกลุ่มที่ 2 โดยมีเวียดนามเป็นรองประธาน

แนวคิดของ RPTCC และ HAPUA คล้ายๆ กันคือการซื้อขายไฟในประเทศสมาชิก กรณีของ HAPUA ทำแผนเสร็จแล้ว 16 โครงการตามที่คุณไกรสีห์พูดไปแล้ว
ปัญหาของการเดินตามแนวทางนี้คือ ระบบสายส่งของประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้คนอื่นมาใช้ได้นอกจาก กฟผ. เพียงรายเดียว (single buyer ผู้ขายไฟรายอื่นต้องขายให้ กฟผ. ก่อน) ถ้าจะเชื่อมโยงระบบต้องเปลี่ยนระบบส่งแบบนี้ให้ได้ก่อน

ความต้องการไฟฟ้าตามแผน PDP ของประเทศไทย


ตามแผน PDP 2010 ฉบับปัจจุบัน ถ้าไม่ทำอะไรเพิ่มกับมันเลยเลย มีกำลังผลิตเท่าใดก็ใช้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปกำลังผลิตจะลดลง เพราะโรงไฟฟ้าเก่าจะถูกปลดจากระบบ จากปัจจุบันประมาณ 30,000 MW จะเหลือประมาณ 10,000 กว่าในประมาณปี 2573 ดังนั้นเราต้องหาแหล่งผลิตใหม่ๆ เข้ามา

ในปี 2573 ตามที่คาดกันไว้ ประเทศไทยจะมีความต้องการไฟฟ้าสูง 53,000 MW และตามระเบียบแล้ว จะต้องมีกำลังผลิตสำรองเผื่อไว้อีก 15%
ตามแผนถึงปี 2562 มีแผนแน่นอน สบายใจได้ว่ามีไฟพอใช้ แต่หลังจากนั้นยังไม่มีความแน่นอน เพราะความซับซ้อนของระบบไฟมีมาก ยังไม่รู้ว่าจะเอานิวเคลียร์ดีไหม เอาถ่านหินดีไหม ซื้อไฟจากต่างประเทศได้ไหม ดูจะถูกคัดค้านทุกเรื่อง เลยวางแผนไม่ได้ อะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด (หัวเราะ)

เราพยายามจะหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำสุด เพื่อให้ค่าไฟฟ้าถูกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ การซื้อไฟจะคิดเป็น 15% ของพลังงานในประเทศ ที่เหลือก็ต้องหาวิธีผลิตด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่ กฟผ. ทำเองหรือซื้อไฟจากเอกชน
ASEAN Power Grid คงเริ่มเซ็นสัญญาในปี 2015 แต่ในการทำงานจริงๆ คงต้องหลังจากนั้น
ระบบส่งเป็นหัวใจของการซื้อขายไฟ ถ้าไม่มีระบบส่งก็ซื้อขายไฟไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยก็ทำระบบไปเยอะแล้ว เช่น ซื้อจากหงสาก็เข้ามาที่แม่เมาะ ถ้าจากลาวตอนกลาง (เช่น น้ำงึม) จะเข้ามาที่อุดร ส่วนทางใต้อาจเข้ามาที่ปากเซ จะเข้ามาที่สถานีอุบลราชธานี 3 ส่วนใหญ่ ครม. อนุมัติให้ก่อสร้างแล้ว

3) การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน

วิชัย พรกีรติวัฒน์
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต่ำและก๊าซธรรมชาติ
ปตท.

แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน

การเชื่อมโยงของอาเซียน (ASEAN Connectivity) แบ่งออกเป็น 3 มิติใหญ่ๆ
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  • ด้านกฎระเบียบ
  • ด้านประชาชน


อาเซียนแบ่งกลยุทธ์การเชื่อมโยงระหว่างกันออกเป็น 7 กลยุทธ์ โดยพลังงานเป็นกลยุทธ์ที่ 7 เน้น การเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้า (ASEAN Power Grid) ที่ กฟผ. ดูแล และ ด้านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (Trans-ASEAN Gas Pipeline) ที่ ปตท. ดูแล
โครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) เริ่มพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2540 ลงนามในปี 2545 (2002) แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ในปี 2554 มีการพูดคุยกันอีกรอบว่าน่าจะเซ็น MOU ใหม่เพราะของเดิมเริ่มล้าสมัย ร่าง MOU ใหม่มีเป้าหมายเหมือนเดิม แต่วิธีการเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีเดิมมองการส่งทางท่อเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีเรื่อง LNG มาแทน ซึ่งก็เข้าทาง ปตท. เพราะมีระบบ LNG อยู่แล้ว เป็นระบบทดแทนกรณีการส่งผ่านท่อมีปัญหาได้ด้วย
กลยุทธ์เดิมของแผน Trans-ASEAN Gas Pipeline มองเรื่องพหุภาคี (multilateral) เป็นหลัก แต่ MOU ใหม่จะใช้ทวิภาคี (bilateral) แทน เพื่อแก้ปัญหาการเจรจาให้รวดเร็วขึ้น

ตาม MOU ใหม่มีองค์กรดูแล 3 เรื่อง คือ Petronas, Pertamina, PTT ดูเรื่องเทคนิค LNG

จากกราฟ สีเขียวคือความสามารถในการผลิตก๊าซ ส่วนสีชมพูคืออัตราการบริโภคก๊าซ
อัตราการบริโภคก๊าซ ของไทยมี demand มากกว่า supply (net import)
ส่วนมาเลเซีย บรูไน อินโด มี supply มากกว่า demand (net export) ราคาก๊าซไทยจึงขึ้นกับราคาก๊าซภายนอกด้วย

อีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการก๊าซจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนก๊าซในอ่าวไทยจะหมดหรือไม่ ขึ้นกับราคาก๊าซในประเทศว่าจะถูก-แพงแค่ไหนด้วย
ในปี 2573 จะมีความต้องการก๊าซประมาณ 35000 คิวบิกฟุตต่อวัน ซึ่งเกินกว่าก๊าซทางท่อจะรองรับได้ ตรงนี้ LNG จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้

แผนที่ท่อส่งก๊าซในอาเซียน (สีแดง=มีอยู่แล้ว, สีเขียว=กำลังจะทำ, สีน้ำเงิน = แนวคิด)

ขอนอกเรื่องนิดนึง สื่อมวลชนลงเยอะว่าราคาก๊าซธรรมชาติในไทยแพงกว่าในสหรัฐมาก ถ้าดูจากแผนผังที่ผมนำมา ราคาก๊าซธรรมชาติอเมริกาในตลาด Henry Hub ตกลงเยอะ เหตุเพราะเจอแหล่งใหม่ในชั้นหินเชลล์ (shell gas) ทำให้ supply มากกว่า demand
แต่นั่นไม่ใช่ราคา LNG เป็นราคาก๊าซดิบ ทำให้ราคา HenryHub ดูถูกกว่าตลาดอื่นๆ แต่ถ้าผลิตเป็น LNG แล้วนำมาขายในไทย ค่าใช้จ่ายจะพอๆ กัน และถ้าดูราคาก๊าซในตลาดอื่นจะเห็นว่าไม่ต่างกันเท่าไร

ความท้าทายของการเชื่อมโยงก๊าซในอาเซียนมีหลายประการ ที่น่าสนใจคือคุณสมบัติของก๊าซในแต่ละแหล่งที่แตกต่างกันไป เช่น ก๊าซพม่ามีไนโตรเจนเยอะ ก๊าซในอ่าวไทยมีคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เอามาปนกันก็มีปัญหา

4) ประเทศไทยกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้านพลังงาน

ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทิศทางพลังงานของอาเซียน

ตอนนี้ประเทศไทยนำเข้าพลังงานคิดเป็น 60% ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ ในปี 2020 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 80% และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอาเซียน พลังงาน oil & gas เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
  • อาเซียนเป็น net importer นำเข้า oil
  • อาเซียนเป็น net exporter ส่งออก gas
ความต้องการพลังงานของประเทศอาเซียนจะมากขึ้นเรื่อยๆ และในอีก 20 ปีข้างหน้า อาเซียนจะต้องพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงมากขึ้น ทีนี้ปัญหาขึ้นกับราคาที่เหมาะสมว่าควรเป็นเท่าไร เพราะถ้าเรายินดีสู้ทุกระดับราคา ยังไงก็หาแหล่งพลังงานได้ แต่เรามีกำลังจำกัดที่ราคาระดับหนึ่ง ก็จะมีข้อจำกัดในการหาแหล่งพลังงานมากขึ้น
ในอดีตมีการวางยุทธศาสตร์ gas pipeline เอาไว้ ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็น LNG แทน ทำให้ gas pipeline มีความสำคัญลดลง

Renewable Energy

ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในเขตศูนย์สูตร สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ และมีศักยภาพเรื่องพืชพรรณที่สังเคราะห์แสงมาก ทำให้ศักยภาพของ biofuel เยอะมากอีกต่อหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาว่าคลื่นลมน้อย ซึ่งสถานการณ์กลับกันกับประเทศซีกโลกเหนือ-ใต้ ที่คลื่นลมเยอะ แต่แดดน้อย
อาเซียนมีศักยภาพเรื่อง renewable energy มาก แต่ปัจจุบันยังใช้น้อยเพราะต้นทุนมันสูง แต่ธุรกิจก็น่าจะเติบโตในอนาคตได้
ในอนาคต อาเซียนจะถูกครองโดย biofuel เป็นหลัก ก๊าซจะยังเป็นหลักอยู่ แต่สัดส่วนการใช้ก๊าซจะลดลงเพราะร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ถ่านหิน: ทางเลือกที่เลี่ยงไม่ได้

เรายังมีพลังงานสำรองอีกอันที่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะภาพลักษณ์ไม่ดีคือถ่านหิน ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะยาว (แม้พม่าเพิ่งจะล้มโครงการไป) ถ่านหินอาเซียนมีในเวียดนามและอินโดนีเซีย
แม้ว่าตอนนี้ เราจะต้องการใช้แต่พลังงานสะอาด คือก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มันจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ ราคาย่อมเพิ่มขึ้น ต้องดูว่าในความเป็นจริงแล้ว อาเซียนจะยอมรับเรื่องพลังงานสะอาดแต่แพงแบบนี้ได้ไหม อาเซียนพร้อมสู้ทางเศรษฐกิจได้ไหม ผมเชื่อว่าไม่ได้ ดังนั้นเราต้องใช้พลังงานอย่างอื่น เช่น ถ่านหิน เข้ามาเพิ่มด้วย
ปัจจุบันอินโดนีเซีย ส่งออกถ่านหินเยอะอยู่ ส่งออกมาไทยด้วย แต่อนาคต อินโดนีเซียเองจะหันมาใช้ผลิตไฟฟ้าในประเทศด้วยถ่านหินมากขึ้น ส่งออกน้อยลง เงื่อนไขตรงนี้จะมาบีบประเทศไทยให้ต้องปรับตัว ต้องวางแผนว่าจะทำอย่างไร
อาเซียนในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา มีอัตรา energy intensity (ประสิทธิผลของการใช้พลังงานต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ) ดีขึ้นเล็กน้อย อันนี้แปลว่าเรายังพัฒนากันไม่ดีเลย แต่มองในแง่ดีก็คือ ยังมีโอกาสปรับปรุงอีกมาก
ประเด็นก๊าซเรือนกระจกยังจะเป็นปัญหา เพราะคนเยอะขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ก๊าซเรือนกระจกจะเยอะขึ้น
อีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการพลังงานอาเซียนจะเพิ่ม 70% โดยถ่านหินจะเพิ่มสูงสุด เราต้องเตรียมตัว แม้ว่าตอนนี้คนที่ยุ่งกับถ่านหินจะสกปรกในตอนนี้
ตอนนี้เราพึ่งพาก๊าซ 70% และตามแผน PDP พยายามจะกระจาย (diversify) แหล่งพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงทำได้ยาก เพราะการคัดค้านจากสังคม และเสถียรภาพด้านการเมือง ความไม่แน่นอนสูง

พลังงานไฟฟ้า

สัดส่วนของไฟฟ้ากับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ จะเพิ่มสูงขึ้นมาก เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมเมือง ประชาชนต้องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ต้องการไฟฟ้า
ถ้ามองในระยะไกล ASEAN Power Grid มีความสำคัญแน่นอน แต่ต้องมองเรื่องเศรษฐกิจให้ชัดด้วย จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการแก้กฎหมาย เช่น open access หรือการเปิดให้ผู้ค้าไฟรายอื่นมาใช้สายส่ง ถ้าประสานผลประโยชน์ลงตัว โครงการเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้

ทิศทางพลังงานอาเซียน

สถานะของประเทศไทยเป็น net importer ซึ่งจะ import มากขึ้นเรื่อยๆ แต่อยู่ใน ASEAN ที่เป็น net expoter ที่มีทรัพยากรมากพอสมควร (แต่ไม่ถึงกับคำว่ามหาศาล) เราสามารถร่วมกับอาเซียนเพื่อให้เราได้ประโยชน์ แต่ต้องหาวิธีที่ทุกประเทศได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ไทยได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
ประเด็นอื่นๆ นอกจาก power grid และ gas pipleline ก็ควรดูเรื่อง efficiency, ASEAN on Coal ซึ่งมีแนวทางความร่วมมืออยู่แล้ว แต่ยังขาดความสนใจจากฝั่งรัฐบาลอย่างจริงจังเท่านั้น
efficiency หรือการทำให้ภาค demand มีการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้ต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย
ทุกวันนี้ไทยยังลงทุนในโครงการพลังงานเดิมๆ แต่ไม่ค่อยรู้โครงการของเพื่อนบ้านเท่าไรนัก ต้องหาข้อมูลให้มากกว่านี้