วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ก้าวย่างต่อไปของไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ(1)


ก้าวย่างต่อไปของไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

          นับวันปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ได้กลายเป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อการดำเนินชีวิตของ คนเรา ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การละลายของน้ำแข็งจากขั้วโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเฉียบพลัน การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำทะเล รวมทั้งการแพร่กระจายของโรคระบาด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร และพวกเราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนดังเช่นเหตุการณ์มหาอุทกภัย ครั้งใหญ่ของประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา

          หากย้อนกลับไปในปี 2531 ความห่วงกังวลเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนได้นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่าง รัฐบาล Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) และต่อมา IPCC ได้ยืนยันผลการศึกษาว่ากิจกรรมมนุษย์เป็นตัวเร่งปริมาณการปล่อยก๊าซ เรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHG) และนำไปสู่การลงนามในสัตยาบันรับรอง United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC 

          อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงเราพบว่ายังมีก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นที่มีผลต่อการทำลายสภาพ ชั้นบรรยากาศและมีศักยภาพในการสร้างภาวะโลกร้อนต่างกัน อาทิ หากเทียบเป็นศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเมื่อเทียบกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าก๊าซมีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน มีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 23 เท่า 296 เท่า 11,900 เท่า และ 22,000 เท่า ตามลำดับ 

          แต่เนื่องจากปริมาณสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมใน ชีวิตของพวกเราสูงสุดถึง 63% เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด จึงทำให้ทั่วโลกต่างแสวงหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้นำไปสู่การจัดตั้งสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ Conference of the Parties: COP ที่ได้มีการประชุมทุกปี เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งหนึ่งในผลงานของ COP ที่มีการกล่าวอ้างถึงบ่อยคือการลงนามให้สัตยาบันกับพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในการประชุม COP ครั้งที่ 3 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2540

          จากการศึกษาของ IPCC พบว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นพลังงานในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลกเป็น สาเหตุสำคัญของการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในชั้นบรรยากาศและก่อให้เกิดปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Global Warming) ภาคพลังงานถือเป็นภาคสำคัญในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการผลิตอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจแล้วพบว่าในภาพรวมสำหรับประเทศไทยภาคพลังงานมีการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกมาเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 56% ตามมาด้วย ภาคการเกษตร 24% ของเสีย 8% การใช้ที่ดินและป่าไม้ 7% อุตสาหกรรม 5% 

          หากจำแนกแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน เราสามารถแบ่งการปล่อยออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (Energy Combustion) และ 2.การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เล็ดลอดออกไปจากกระบวนการผลิตพลังงาน (Fugitive Emissions) เช่น การทำเหมืองถ่านหิน การผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกเกิดจากการเล็ดลอดได้แก่มีเทนและ VOC (Volatile Organic Carbon)

          ด้วยเหตุดังกล่าวการก้าวไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) ที่ใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนน้อย และเน้นการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ๆ ที่พัฒนาจากเทคโนโลยีด้านเชื้อเพลิงที่ก้าวหน้าแทนการใช้พลังงานฟอสซิล จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการในทุกประเทศ อย่างไรก็ตามในสังคมรูปแบบใหม่จะต้องไม่สูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจและ มาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี 

          สัปดาห์หน้าค่อยมาคุยกันต่อถึงแนวทางการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศพัฒนาแล้ว ว่าเขาทำกันอย่างไร


----------
(หมายเหตุ : ก้าวย่างต่อไปของไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (1) : คอลัมน์ รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)
----------

source : http://www.komchadluek.net/detail/20120504/129430/%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3%281%29.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น