วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การให้ข้อมูลด้านพลังงานอย่างครบถ้วนต่อประชาชน

มนูญ ศิริวรรณ


ในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมได้รับทราบ (ทั้งจากสัมผัสด้วยตัวเองและมีผู้บอกหรือส่งข่าวมาให้ทราบ) ว่ามีการให้ข้อมูลทางด้านพลังงานของประเทศไทย ซึ่งฟังหรืออ่านแล้วน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะผู้ให้ข้อมูลอ้างตัวว่าเป็นนักวิชาการด้านพลังงานบ้าง เป็นอนุกรรมาธิการหรือที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆของรัฐสภาบ้าง แต่ข้อมูลส่วนใหญ่มักจะเป็นข้อมูลที่มีการตีความหรือแปลความหมายออกมาเป็น เชิงลบ หรือตั้งข้อสงสัยต่อความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาลและ กระทรวงพลังงาน ว่ามีการรวมหัวหรือรู้เห็นกับผู้ประกอบการทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงกว่า ความเป็นจริง

ข้อมูลต่างๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อประเภท social media ในการอภิปรายสัมมนา และผ่านทาง cable TV รวมทั้ง free TV บางช่อง พอสรุปได้ว่า

- ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานเป็นของตนเองทั้งก๊าซและน้ำมันในปริมาณมากติดอันดับ โลก โดยมีแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติมากเป็นอันดับที่ 24 และน้ำมันดิบเป็นอันดับที่ 33 ของโลก
- ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปไปขายต่างประเทศมีมูลค่าสูงกว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่นข้าวเสียอีก
- ประเทศไทยส่งออกน้ำมันดิบไปขายประเทศสหรัฐอเมริกาถึงปีละ 2 ล้านบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯถูกกว่าประเทศไทย
- เหตุที่ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันในปริมาณมาก เพราะน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศถูกส่งออกไปต่างประเทศหมด จึงต้องนำเข้ามาทดแทน
- ความจริงแล้วการใช้น้ำมันในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย แต่ที่ต้องนำเข้ามากขึ้นเพราะนำเข้ามากลั่นเพื่อการส่งออก
- การตั้งราคาหน้าโรงกลั่นโดยอิงราคาตลาดที่สิงคโปร์เป็นราคาที่ไม่ใช่ต้นทุน ที่แท้จริง เพราะประเทศไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงค์โปร์ แต่นำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากลั่นเอง
- การเก็บค่าภาคหลวงจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยต่ำเกินไป เพราะเก็บอยู่ที่ 12.5% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศในแถบอเมริกาใต้เก็บถึง 80%

นอกจากที่ผมสรุปมานี้แล้ว ยังมีข้อมูลอีกมากที่กล่าวถึงข้อสงสัยและความไม่โปร่งใสหรือความไม่มีธรรมา ภิบาลในการบริหารจัดการด้านพลังงานของไทย จนทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าวงการพลังงานบ้านเรามันเลวร้ายขนาดนั้นจริงๆ เชียวหรือ
ความจริงผมก็ชอบนะครับที่สังคมไทยจะมีกลุ่มองค์กรอิสระ นักวิชาการ หรือคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการจากรัฐสภา คอยตรวจสอบนโยบายและการทำงานของรัฐบาลและข้าราชการ ไม่ให้มีการสมยอมกับผู้ประกอบการเพื่อเอารัดเอาเปรียบประชาชน และผมก็เห็นด้วยในหลายๆ เรื่องที่มีการรณรงค์กันอยู่ เช่นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจในสังกัด ของกระทรวงต่างๆ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากให้การให้ข้อมูลต่างๆ ของฝ่ายผู้ตรวจสอบเป็นไปอย่างครบถ้วนและเป็นกลาง โดยไม่ควรเอาความชอบ ไม่ชอบ หรือความรู้สึกส่วนตัวมาตีความข้อมูลเหล่านั้นเพื่อตอบสนองความเชื่อ หรือเพื่อปลุกระดมประชาชนให้มีความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ อันเป็นความจริงของประเทศ และเกี่ยวพันกับอนาคตในระยะยาวของประเทศในเรื่องพลังงาน

ด้วยข้อจำกัดในเรื่องเนื้อที่ของบทความ ผมคงจะไม่สามารถชี้แจงข้อมูลทั้งหมดที่มีการหยิบยกขึ้นมาเผยแพร่ในสื่อได้ ทั้งหมด และบางเรื่องผมก็ได้เขียนบทความชี้แจงไปต่างหากแล้ว เช่น เรื่องประเทศไทยมีสำรองน้ำมันและก๊าซติดอันดับโลก ซึ่งจะไม่มีความหมายใดๆ เลย ถ้าตราบใดที่เรายังใช้มากกว่าที่เราผลิตได้

และที่บอกว่าเราต้องนำเข้ามากเพราะเราส่งออกไปหมดนั้นก็ยิ่งไม่ตรงกับข้อ เท็จจริง เพราะเราส่งออกแต่น้ำมันดิบชนิดที่มีคุณภาพไม่ตรงกับที่โรงกลั่นน้ำมันของ เราต้องการเท่านั้น และน้ำมันดิบที่เราผลิตได้เองก็มีปริมาณน้อยมาก (ประมาณ 230,000 บาร์เรล/วัน เท่านั้น แต่เราใช้ถึง 800,000 บาร์เรล/วัน) ยังไงๆ เราก็ต้องนำเข้าในปริมาณมากๆ อยู่ดี

ส่วนก๊าซธรรมชาติที่เราผลิตได้เองไม่มีการส่งออกเลยนะครับ เพราะไม่พอใช้อยู่แล้ว แถมยังต้องนำเข้าก๊าซมาจากพม่ามาใช้ผลิตไฟฟ้าอีก 21% ของความต้องการก๊าซทั้งประเทศ

ที่เราส่งออกคงจะเป็นก๊าซหุงต้มแบบถัง 15 ก.ก. และ 50 ก.ก. ซึ่งมีการส่งออกทางชายแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็เป็นการส่งออกในราคาตลาดโลกที่ไม่ได้มีการอุดหนุนราคาเหมือนกับที่ขาย ในประเทศแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องที่ว่าการใช้น้ำมันในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เรานำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพราะเอามากลั่นเพื่อการส่งออกนั้น ผมอยากให้ผู้พูดหรือเผยแพร่ข้อความนี้ไปดูตัวเลขการใช้น้ำมันของคนไทย ซึ่งรายงานโดยกรมธุรกิจพลังงานทุกเดือน เป็นตัวเลขที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออกเลยครับ ปรากฏว่าคนไทยใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากก็ตาม

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะหลังนี้ตัวเลขการใช้น้ำมันดีเซลของเราเพิ่ม สูงมาก จากเฉลี่ย 50 ล้านลิตร/วัน กลายเป็นเกือบ 55 ล้านลิตร/วันแล้ว เข้าใจว่าน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ของรัฐบาลชุดที่แล้ว และภาวะน้ำท่วม ทำให้มีผู้หันมาใช้รถ pick up เพิ่มมากขึ้น

ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเพื่อส่งออกนั้นไม่มีโรงกลั่นไหนอยากทำ หรอกครับ เพราะต้องไปแข่งขันกับสิงคโปร์ ซึ่งเรามีข้อเสียปรียบในด้าน logistics ที่ต้องทำก็เพราะมีความจำเป็นต้องกลั่นให้เต็มกำลังการกลั่น เพื่อให้ต้นทุนถูกที่สุด แล้วส่งออกส่วนเกินไปขายต่างประเทศครับ

เรื่องสูตรการตั้งราคาหน้าโรงกลั่น ผมก็อธิบายไว้แล้วในบทความเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว สรุปว่าไม่ว่าจะอิงสิงคโปร์หรือไม่ กลไกตลาดก็จะเป็นตัวกำหนดครับ เพราะถ้าราคาหน้าโรงกลั่นในบ้านเราแพงกว่าราคาที่สิงคโปร์มากจนเกินไป ก็จะมีคนนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแข่งครับ และถ้าการทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยกำไรดีอย่างที่มีผู้ตั้งข้อ สังเกตเอาไว้ ทำไมไม่มีใครคิดจะสร้างโรงกลั่นเพิ่ม มีแต่ข่าวบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติจะขายโรงกลั่นอยู่เรื่อยๆ

สุดท้ายเลยการเปรียบเทียบแบบกำปั้นทุบดินที่บอกว่าไทยส่งน้ำมันดิบไปขาย สหรัฐฯ แต่ราคาน้ำมันเบนซินที่สหรัฐฯขายลิตรละ 32 บาท แต่น้ำมันเบนซินบ้านเราขายกันลิตรละ 40 บาท แล้วสรุปว่า ราคาน้ำมันบ้านเรามีการผูกขาดตัดตอน ทำให้ราคาแพงกว่าราคาน้ำมันในสหรัฐฯนั้น

ผมเห็นว่าเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไปหน่อยครับ เพราะการจะเปรียบเทียบราคาน้ำมันว่าของใครถูกของใครแพง ต้องดูที่โครงสร้างราคาน้ำมันครับ โดยเฉพาะภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากผู้บริโภค

ในบ้านเรารัฐบาลเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน รวมทั้งสิ้น 14.79 บาท/ลิตร ในสหรัฐฯเขาเก็บภาษีเหมือนเราหรือเปล่า ผู้ให้ข้อมูลเรื่องนี้ควรไปศึกษาให้ดีก่อน ก่อนที่จะสรุปแบบกำปั้นทุบดิน ว่าเขาซื้อน้ำมันดิบจากเรา แต่ขายน้ำมันเบนซินได้ถูกกว่าเรา

และขอบอกว่าตัวเลขการส่งน้ำมันดิบของไทยไปยังสหรัฐฯปีละ 2 ล้านบาร์เรล หรือเฉลี่ยวันละ 166,000 บาร์เรล ฟังดูเหมือนจะเยอะสำหรับคนไทย แต่แทบไม่มีความหมายสำหรับสหรัฐฯเลยครับ เพราะเขาต้องนำเข้าน้ำมันวันละ 10 ล้านบาร์เรลครับ

สุดท้ายนี้ผมขอสรุปว่าผมชื่นชมทุกๆ คนที่พยายามมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐในด้านพลังงาน โดยการค้นหาข้อมูลและนำมาตีแผ่ให้สาธารณะชนได้รับทราบความจริง แต่ท่านต้องแน่ใจว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และข้อสำคัญต้องเป็นข้อมูลที่ไม่ผ่านการตีความเพียงด้านเดียว เพื่อจูงใจให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ (เช่นเข้าใจว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานมากมาย จนสามารถส่งออกพลังงานได้เหมือนอย่างประเทศในกลุ่ม OPEC เป็นต้น) จนอาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายพลังงานเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศในอนาคต

เพราะเรื่องของพลังงานเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงในการพูด คุยกัน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาปลุกระดมกันเหมือนเรื่องอื่นๆที่ทำสำเร็จกันมาแล้ว !!!

source : http://www.dailynews.co.th/article/825/113377

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น