วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

จากเอ็นจีวีถึงค่าไฟ ดวงพักตรา ไชยพงษ์

  โล่งใจไปตามๆ กันเมื่อราคาน้ำมันโลกปรับลดลง และทำให้ราคาน้ำมันในประเทศทยอยลดตามมาเรื่อยๆ นับเป็นการปรับลดราคาลง 6 ครั้งแล้วภายใน 1 เดือน จนทำให้ปัญหาการต่อคิวขอปรับขึ้นราคาสินค้าและค่าโดยสารทั้งแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะต่างๆ เป็นอันต้องแตะเบรกกันเป็นแถว เพราะไร้ซึ่งข้ออ้างจะขอขึ้นราคาต่อไปได้

    แต่ที่ยังโล่งใจไม่ได้...ก็คือตัวก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) นี่แหละ ที่กระทรวงพลังงานยังกุมขมับจะเอาไงดีกับโครงสร้างราคา...?

    แม้รัฐบาลจะประกาศตรึงราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่ 16 พ.ค.-16 ส.ค.นี้ก็ตาม แต่ในช่วง 3 เดือนนี้ กระทรวงพลังงานนำทัพโดย นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน จำเป็นต้องเร่งหาตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่แท้จริงให้ได้ก่อนที่จะกลับมา ขึ้นราคา 50 สตางค์ ทุกวันที่ 16 ของแต่ละเดือนอีกครั้งภายหลังหมดระยะเวลาการตรึงราคาของรัฐบาลในเดือน ส.ค.2555 นี้

    สาเหตุที่ต้องเร่งหาตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีให้สำเร็จ ก็เพราะหากปล่อยให้ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ราคาสุดท้ายจะไปแตะ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากผลสรุปโครงสร้างราคาเอ็นจีวีไม่ใช่ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถูกกว่านั้นล่ะ กระทรวงพลังงานจะคืนเงินให้ประชาชนอย่างไร...?

    นับตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ กระทรวงพลังงานยังไม่สามารถสรุปตัวเลขต้นทุนราคาเอ็นจีวีได้สำเร็จ แม้จะมีโครงสร้างราคาเอ็นจีวีออกมาให้เลือกกันถึง 6 แบบ และแต่ละแบบล้วนแล้วแต่ราคาต่ำกว่า 14.50 บาทต่อกิโลกรัมทั้งสิ้น ด้านเจ้ากระทรวงอย่างนายอารักษ์ก็ยังไม่มีอาการเร่งที่จะนัดประชุมสรุป เพราะยังคงติดภารกิจไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)พยายามเร่งเช้าเร่งเย็นทำให้เสร็จโดยเร็ว เพราะรู้ทั้งรู้อยู่ในใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ปัญหาและให้มีการ ยอมรับกันง่ายๆ ถึงขนาดว่าผู้ประกอบการแท็กซี่ไม่เห็นด้วยพร้อมลาออกจากคณะกรรมการพิจารณา ต้นทุนเอ็นจีวีครั้งนี้

    เมื่อหันมาดูราคาเอ็นจีวีที่เคาะกันมาแต่แรก 14.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถขนส่งต่างไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าราคาจะถูกกว่านี้ กระทรวงพลังงานจึงเปลี่ยนใจให้จุฬาฯ มาทำการศึกษาตัวเลขกันใหม่

    โดยประเด็นสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องการให้นำราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ออกจากการคำนวณราคาเฉลี่ยของก๊าซเอ็นจีวี เพราะแอลเอ็นจีที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นก๊าซฯ ที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าเท่านั้น หากนำมารวมเฉลี่ยคิดเป็นต้นทุนของเอ็นจีวีด้วยจะทำให้ราคาสูงและผู้ใช้รถ ยนต์ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเหตุไฉนต้องมาแบกภาระด้วย

    เมื่อเป็นอย่างนี้ผลของการศึกษาจึงต้องแยกเป็นราคากรณีที่รวมแอลเอ็นจีและ ไม่รวมแอลเอ็นจี ดังนี้ 1.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่แท้จริงกรณีรวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 12.25 บาทต่อกิโลกรัม 2.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่อยู่บนแนวท่อก๊าซฯ กรณีรวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 11.20 บาทต่อกิโลกรัม กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีจะอยู่ที่ 11 บาทต่อกิโลกรัม และ 3.ต้นทุนราคาเอ็นจีวีที่อยู่นอกแนวท่อก๊าซฯ กรณีรวมแอลเอ็นจีอยู่ที่ 13.84 บาทต่อกิโลกรัม และกรณีไม่รวมแอลเอ็นจีอยู่ที่ 13.60 บาทต่อกิโลกรัม 

    เห็นตัวเลขสรุปออกมาอย่างนี้แล้ว แน่นอนว่ากระทรวงพลังงานจำเป็นต้องไปแก้ไขราคาต้นทุนเอ็นจีวีที่ประกาศไว้ 14.50 บาทต่อกิโลกรัมให้ปรับลดลงแน่นอน แต่ปัญหาคือ กระทรวงพลังงานจะเลือกใช้ราคาเอ็นจีวีที่รวมแอลเอ็นจีหรือไม่...?  

    ซึ่งแน่นอนว่ากรณีรวมแอลเอ็นจีจะทำให้ผู้ประกอบการคัดค้านแน่นอน แต่กรณีไม่รวมแอลเอ็นจีนี่สิสำคัญ...เพราะต้องผลักต้นทุนราคาแอลเอ็นจีไปคืน ไว้ที่ค่าไฟฟ้า

    และเรื่องนี้ทั้ง สนพ.และจุฬาฯ ก็ทำการศึกษากันไว้เช่นกันว่า ปี 2554 ไทยนำเข้าแอลเอ็นจี 5 แสนตัน คิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประมาณเกือบ 1 สตางค์ต่อหน่วย และแนวโน้มต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5 แสนตัน โดยปีนี้นำเข้ารวม 1 ล้านตัน และหากครบ 5 ล้านตันจะทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับขึ้นอีก 3 สตางค์ต่อหน่วยฃ

    และแนวโน้มการนำเข้าแอลเอ็นจีเป้าหมาย 5 ล้านตันจะเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์กันไว้ หากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) ที่กำลังจะคลอดออกมาเร็วๆ นี้เช่นกัน หันมาพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แน่นอนว่าหาก สนพ.จะต้องปรับแผนให้ ปตท.นำเข้าเร็วกว่ากำหนด ซึ่งมีผลกระทบต่อราคาเอ็นจีวีหรือไฟฟ้าเร็วขึ้นแน่นอน

    ต้องถามว่ากระทรวงพลังงานจะเลือกผลักภาระต้นทุนแอลเอ็นจีไปเฉลี่ยรวมกับค่า ก๊าซทั้งหมด หรือจะโยนไปที่ค่าไฟฟ้าให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมแบกรับ...? ซึ่งเชื่อว่าใน 1-2 เดือนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องนั่งหัวโต๊ะตัดสินใจอย่างเด็ด ขาดเสียที ว่าจะเลือกแบบไหนหรือจะมีทางออกทางอื่น เนื่องจากเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยไว้เนิ่นนาน เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องได้ มีการจัดทำไว้เสร็จสิ้นหมดแล้ว เหลือเพียงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมาตัดสินใจเท่านั้นว่าจะเอา อย่างไรกับอนาคตพลังงานของประเทศ.

+++++++++++++++++++++++

 source : http://www.thaipost.net/news/230512/57193

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น