วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พม่าเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าจากญี่ปุ่น บรรเทาไฟฟ้าขาดแคลน


ผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า จุดเทียนหน้าเจดีย์สุเล ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ทางการพม่าลงนามข้อตกลงเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังก๊าซจากญี่ปุ่น เพิ่มเติมจากการซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าจากสหรัฐฯและสิงคโปร์ เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าตามเมืองต่างๆ. -- AFP PHOTO/Soe Than Win.

ซินหัว - พม่าจะเช่าเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังก๊าซจากญี่ปุ่น 3 เครื่อง เพิ่มเติมจากแผนการซื้อเครื่องผลิตไฟฟ้าจากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ จำนวน 12 เครื่อง เพื่อบรรเทาปัญหาพลังงานขาดแคลน สื่อทางการพม่ารายงานวันนี้ (28 พ.ค.)

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์รายงานว่า ข้อตกลงเช่ายืมเครื่องกังหันก๊าซขนาด 120 เมกะวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง จากญี่ปุ่น ได้ลงนามกันนอกรอบการประชุมสัมมนา The Future of Asia ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว เมื่อนายโซ เต่ง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมของพม่า อธิบายถึงภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของประเทศต่อนายยูคิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม และนายโคอิชิโระ เก็มบะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น

การชุมนุมประท้วงต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในพม่ามีขึ้นต่อเนื่องนานกว่าสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. ตามเมืองต่างๆ ของพม่า ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองมัณฑะเลย์ พะโค พะสิม และนครย่างกุ้ง

ในการชุมนุมประท้วงอย่างสันติต่อต้านการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเมืองท่าต่างๆ เหล่านี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนบางประการเพื่อบรรเทาวิกฤตพลังงาน ด้วยการสั่งเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังไฟฟ้า 300-500 kVA และเครื่องกังหันก๊าซ จากสหรัฐฯ และสิงคโปร์ โดยบางส่วนได้ส่งมาถึงพม่า และนำไปติดตั้งที่นครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองเปีย สำหรับเสาส่งไฟฟ้าที่ถูกระเบิดทำลายอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมเพื่อให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้อีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน พ.ค. หรือต้นเดือน มิ.ย.

นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. เป็นต้นมา เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอในประเทศ ทำให้หน่วยงานที่ดูแลด้านพลังงานไฟฟ้าของพม่าได้สั่งระงับการใช้ไฟฟ้าในเขตอุตสาหกรรม โรงงาน และสถานที่ทำงานต่างๆ ในช่วงเวลากลางคืนนาน 6 ชั่วโมง เพื่อกระจายพลังงานไฟฟ้าไปสู่ประชาชน ที่ช่วงเวลาใช้พลังงานสูงสุดอยู่ระหว่าง 17.00-23.00 น.

กระทรวงพลังงานไฟฟ้าระบุว่า จำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า และโรงงานทั้งของรัฐ และเอกชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเป็น 1,890 เมกะวัตต์ สูงกว่าพลังงานที่มีเพียง 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ความต้องการพลังงานไฟฟ้ายิ่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทางการต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความต้องการที่เพิ่มขึ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น