วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เสียงร้องถึง"ปตท."


โพสท์ทูเดย์ 02 สิงหาคม 2556 

เสียงร้องถึง"ปตท."
โดย...ทีมข่าวในประเทศ
วิกฤตการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเล 5 หมื่นลิตรที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบต่อ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ในกลุ่มบริษัท ปตท. กับความประมาทที่ทำให้เกิดผลกระทบมหาศาลกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนบรรยากาศการท่องเที่ยวของเกาะเสม็ด อีกหลายปมยังคลางแคลงใจ เพราะเชื่อว่าบริษัทปกปิดข้อมูลทั้งเรื่องจำนวนน้ำมันที่รั่วไหล การใช้สารเคมีสลายน้ำมันที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม
โพสต์ทูเดย์รวบรวมความเห็นนักวิชาการ นักอนุรักษ์ ต่อข้อเสนอและความรับผิดชอบไปยัง ปตท. เพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้เกิดซ้ำ
นักวิชาการ
อาภา หวังเกียรติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
“การให้ข้อมูลขณะนี้เป็นการให้ข้างเดียวจากผู้ที่สร้างความเสียหายเอง เป็นการปิดบังข้อมูลเพื่อไม่ให้หุ้นตก บริษัท ปตท. อย่าเพียงแค่เอาน้ำมันออกจากผิวน้ำแล้วเรื่องจบ เพราะมันมีผลกระทบระยะยาว ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเสียโอกาสทำกิน ดังนั้นต้องชดเชยอย่างเป็นธรรม ถ้าเช่นนั้นต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นแน่นอน”
สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“แน่นอนว่าท่อมีโอกาสเสื่อม เขื่อนมีโอกาสร้าว ทุกอย่างมีโอกาสผิดพลาด ปตท.จึงต้องมีความพร้อมเรื่องบริหารจัดการมากกว่านี้ ที่สำคัญขณะนี้สังคมกำลังสับสนว่าปริมาณน้ำมันรั่วออกมาเท่าใดกันแน่ ดังนั้น ปตท.ควรตอบจากสิ่งที่เป็นไปได้ จากสิ่งที่เป็นจริง เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา”
วเรศ วีระสัย นักวิทยาศาสตร์อาวุโสอดีตอาจารย์ภาคเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“หน่วยงานควรมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่ให้รายละเอียดอะไร ไม่บอกว่าใช้สารเคมีสลายคราบน้ำมันที่มีส่วนประกอบจากอะไร และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์หรือไม่”
รักไทย บูรพ์ภาค วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ปตท.พยายามบอกว่าต้องการร่วมงานกับทุกฝ่าย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นดึงฝ่ายวิชาการเข้าไปร่วมที่สำคัญต้องถามว่า ปตท.เป็นของใคร ถ้าเป็นของรัฐบาล รัฐก็ต้องรับผิดชอบร่วม ถ้าเป็นของเอกชนก็ต้องชดเชย ตอนนี้มันมึนไปหมด ยืนยันว่าหากชาวบ้านต้องการข้อมูลเพื่อฟ้องร้อง นักวิชาการจำนวนมากพร้อมจะช่วย”
พลังพล คงเสรี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
“ผู้รับผิดชอบควรเปิดเผยว่าใช้สารเคมีใดในการกำจัดคราบน้ำมัน ควรมีบทสรุปให้ชัด จนถึงวันนี้หน่วยงานกลับยังไม่มีคำตอบว่าสารเคมีดังกล่าวมีโครงสร้างอย่างไร และจะกระทบต่ออะไรบ้าง”
นักอนุรักษ์
สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
"ภาคประชาชนจะร่วมกับทางเครือข่ายสิ่งแวดล้อม เพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนและหน่วยงานของรัฐในประเด็นผลกระทบที่เกิดขึ้น"
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง
“สิ่งที่ต้องการรู้ที่สุดคือรายชื่อสารเคมีที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดคราบน้ำมันจากประเทศสิงคโปร์นำมาใช้ ว่ามีอะไรบ้าง มีกี่ตัว และปริมาณมากแค่ไหน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่ทางเครือข่ายจะช่วยกันตรวจสอบในระยะยาว ข้อมูลเหล่านี้ไม่ควรปกปิด”
ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรออกมาให้ข้อเท็จจริงกับคราบน้ำมันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่กลับถูกจับได้ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม โดยเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษโดยตรง จึงต้องเร่งชี้แจง เพราะตอนนี้ไม่มีใครเชื่อ ปตท.แล้ว”
ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
“การกำจัดน้ำมันรั่วมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว จนถึงขณะนี้ ปตท.ต้องรู้แล้วว่าผิดพลาดตรงไหน ต้องไขข้อสงสัยของสังคม หรือว่าจริงๆ แล้ว ปตท.ก็ไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน เป็นเรื่องสุดวิสัยเกินจากที่คาดการณ์ไว้ หรือขาดประสบการณ์ในการจัดการปัญหา ปตท.ต้องออกมาบอก ต้องชี้แจงให้ชัด”
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว)
“ด้วยพฤติกรรมของบริษัท ปตท.ที่ผ่านมา ผมไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาพสีเขียวของบริษัทได้ จึงขอส่งคืนโล่รางวัลและเงินรางวัล โดยขณะนี้เห็นว่า ปตท.มีความพยายามกลบเกลื่อนข้อเท็จจริงบางอย่าง ทั้งที่เมื่อเกิดแล้วควรจะแสดงความรับผิดชอบทันที”
ข้าราชการ-การเมือง
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน
“ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว โดยเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องที่บริษัท พีทีทีจีซี ต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด รวมถึงการเยียวยาด้านจิตใจด้วย แต่ส่วนตัวผมไม่สนับสนุนแนวคิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และไม่มีแนวคิดที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ปตท. อยากให้เจรจามากกว่า”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม
“จะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้น ต้องรอรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมดจากผู้ได้รับผลกระทบก่อน จากนั้นจึงจะเจรจากับบริษัท พีทีทีจีซี”

วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมียนมาร์ 'ฮับพลังงาน' ประชาชนอาเซียน



     เมียนมาร์เตรียม เป็น “ฮับพลังงาน” แห่งเออีซี หลังจากท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ยาว 800 กิโลเมตรจากท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วในอ่าวเบงกอลขึ้นเหนือผ่านพรมแดนจีนที่รัฐคะฉิ่นเข้าเมืองคุนหมิง เปิดเดินเครื่องส่งก๊าซเดือนมิถุนายนนี้ เผยเมียนมาร์เตรียมโกยเงินกว่าแสนล้านบาทต่อปี จากการขายก๊าซธรรมชาติให้จีนและไทย
      สื่อในกรุงย่างกุ้ง รายงานว่าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จากท่าเรือน้ำลึกจ้าวผิ่วขึ้นเหนือไปที่ชายแดนเมียนมาร์ติดกับจีนที่รัฐคะฉิ่นเพื่อส่งน้ำมันและก๊าซให้ประเทศจีนโดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองคุนหมิงมีความยาวในประเทศเมียนมาร์ 800 กิโลเมตร มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์แล้วในวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาและกำหนดเริ่มก๊าซให้กับบริษัท ไชน่าปิโตรเลียม คอร์ปในเดือนมิถุนายนนี้ขณะที่การขนส่งน้ำมันจะเริ่มในเดือนธันวาคม
      โครงการดังกล่าวจะเป็นการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผ่านท่อน้ำมันยาวรวม 1,500 กิโลเมตรและก๊าซมีความยาวรวม 1,700 กิโลเมตรจากท่าเรือจ้าวผิ่ว ไปถึงเมืองคุนหมิงมูลค่าลงทุน 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 75,000 ล้านบาท) เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของจีนในการขนน้ำมันจากตะวันออกกลาง เข้าสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนและก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาร์ โดยไม่ต้องอ้อมแหลมมะละกา โดยท่อน้ำมันและก๊าซ สามารถขนถ่ายน้ำมันได้มากกว่า 22 ล้านตันและก๊าซ 420,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี
      ก๊าซธรรมชาติที่จะขนผ่านท่อเข้าประเทศจีนจะมาจากแหล่งก๊าซฉ่วย นอกชายฝั่งแถบอ่าวเบงกอล เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างบริษัท แดวูของเกาหลีใต้ บริษัทของอินเดียและบริษัท เมียนมาร์ออยล์แอนด์ก๊าซของเมียนมาร์ โดยจะส่งขายก๊าซให้ประเทศจีนเฉพาะจากแหล่งนี้ปีละ 12,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต
      การส่งออกก๊าซให้ประเทศจีน เมื่อรวมกับการส่งออกให้ประเทศไทย จะทำให้เมียนมาร์มีรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติรวมกันปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 120,000 ล้านบาท) โดยเป็นรายได้จากการส่งออกไปจีน 1,500 ล้านดอลลาร์และส่งออกมาประเทศไทย 2,500 ล้านดอลลาร์
      โดยนอกจากรายได้จากการส่งออกแล้ว รัฐบาลเมียนมาร์ยังมีรายได้จากค่าใช้ถนนปีละ 13.8 ล้านดอลลาร์และการขนน้ำมันดิบผ่านแดนอีกตันละ 1 ดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ให้เมียนมาร์อีกปีละ 35 ล้านดอลลาร์
      อย่างไรก็ดี การที่ท่อก๊าซและน้ำมัน วิ่งผ่านรัฐคะฉิ่น ซึ่งยังมีกองกำลังรัฐฉานติดอาวุธ อยู่ใกล้ ๆ ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งมีผู้นำรัฐฉานและคะฉิ่น หลายรายออกมาระบุว่า ชาวคะฉิ่นไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวและยังเป็นการชักนำทหารให้เข้ามา ในงานรักษาความปลอดภัยให้กับท่อน้ำมันและก๊าซอีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากท่อก๊าซหรือน้ำมันระเบิด
      ทางด้านบริษัทบริษัท ไชน่าปิโตรเลียม คอร์ปฯ ระบุว่า บริษัทได้ใช้เงินกว่า 10 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตชาวคะฉิ่นในแถบที่ท่อน้ำมันและก๊าซวิ่งผ่าน โดยลงทุนเป็นเงิน 10 ล้านดอลลาร์สร้างระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับชาวบ้านและเงินอีก 14 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงชีวิตชาวบ้านทางด้านสุขภาพ การศึกษา ไฟฟ้าและโรงเรียนอาชีวะ
 
Source: http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=185447:2013-06-03-04-06-31&catid=231:aec-news&Itemid=621

อินเดีย กับการปฏิวัติด้านพลังงานทดแทน

Coal mine, Asansol, India (Photograph by Partha Sarathi Sahana/Flickr)  
Source: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1060:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14

ร้อยละ 76 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างในอนาคต รวมทั้งการเติบโตร้อยละ 90 ของความต้องการถ่านหินของโลกในปี 2016 เกิดขึ้นจากยักษ์ใหญ่แห่งพลังงานถ่านหิน 2 ประเทศคือจีนและอินเดีย ในขณะที่ประชากรภายในประเทศของอินเดียมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจสูงกว่าประเทศจีนในไม่ช้า ข้อเท็จจริงหนึ่งที่น่าแปลกใจคือกว่า 1 ใน 4 ของประชาชนภายในประเทศยังไม่มีไฟฟ้าใช้


พลังงานไฟฟ้าในอินเดียยังคงผลิตโดยใช้ถ่านหินเป็นหลัก ซึ่งถ่านหินที่มีมากมายในอินเดียนั้นเริ่มเกิดปัญหาด้านการขนส่ง ส่งผลถึงต้นทุนของถ่านหินที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจนต้องพึ่งพาการนำเข้าถ่านหิน และกำลังจะเปลี่ยนสถานะเป็น ‘ผู้นำเข้า’ ถ่านหินเช่นเดียวกับประเทศจีนเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าอุปสงค์ถ่านหินที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประเทศมหาอำนาจทางถ่านหิน 6 ประเทศที่ผลิตถ่านหินส่งออกคิดเป็นร้อยละ 80 ของถ่านหินทั่วโลก ได้โอกาสขึ้นราคา การนำเข้าถ่านหินที่เพิ่มขึ้นและค่าเงินอินเดียที่อ่อนตัวลงย่อมส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจจนโครงการผลิตไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน

การคาดการณ์ว่าราคาถ่านหินอาจสูงขึ้น 2 – 3 เท่าสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4GW ซึ่งเป็นโรงงานถ่านหินที่มีกำลังผลิตสูงที่สุดในโลก หลายโรงงานเริ่มไม่สามารถจัดหาถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าได้ จนเกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้า ในขณะที่รัฐบาลยังคงไม่ต้องการเพิ่มราคาไฟฟ้า กระทั่งปลายปี 2011 บริษัทจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development Finance Company) ได้ยุติการปล่อยสินเชื่อสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม และในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ธนาคารกลางของอินเดียได้ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคารที่ประสบปัญหาจากการปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อมา Tata Power บริษัทผู้ครอบครองโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดยักษ์ได้ประกาศเปลี่ยนแผนการพัฒนาจากโรงงานถ่านหิน สู่พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แทน

ขณะที่ความต้องการไฟฟ้ามีสูงขึ้น อินเดียเริ่มประสบปัญหาด้านพลังงานที่เริ่มขาดแคลน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จนผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าของอินเดียบางรายเลือกมุ่งไปที่การสร้างประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตไฟฟ้า สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งริเริ่มโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก

อินเดียถือเป็นตลาดอันดับ 3 ของพลังงานลม และปัจจุบันได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิตสูงราว 4 เท่าของกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ภายในประเทศ พร้อมทั้งเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 1 GW ในปี 2012 ซึ่งอินเดียนั้นมีโอกาสอย่างมากเนื่องจากยังไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นโครงการของบริษัท Infosys ที่จะสร้างสำนักงานใหม่ที่ใช้พลังงานลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ใน Bangalore ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทั้งหมดนี้เกิดมาจากความร่วมมือรหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่มุ่งปฏิวัติพลังงานในอินเดียและนำไปสู่การขับเคลื่อนธุรกิจ

ภาพประกอบ : เหมืองแร่ในกรุง Asansol ประเทศ India ภาพถ่ายโดย Partha Sarathi Sahana


วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หมู่บ้านชาวประมงในไนจีเรียแก้ปัญหาน้ำด้วยโรงเรียนลอยน้ำต้นทุนต่ำ


“งานออกแบบมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา” เป็นประโยคที่เราคงเคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ที่เมือง Makoko ซึ่งตั้งด้านหน้าของเกาะ Lagos ประเทศไนจีเรีย ก็ต้องการการแก้ปัญหาเช่นกัน เมืองที่ผู้คนกว่า 250,000 คนอาศัยอยู่บนบ้านเสาสูงแบบหมู่บ้านชาวประมง ด้วยพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนพื้นน้ำ การสัญจรต้องใช้เรือแคนนูเป็นหลัก อีกทั้งยังเสี่ยงจากน้ำท่วมถึงอย่างต่อเนื่อง การมีโรงเรียนเพื่อรองรับนักเรียนจำนวนมากจึงถือว่าเป็นเรื่องยาก
Kunlé Adeyemi สถาปนิกชาวไนจีเรีย ผู้มองเห็นธรรมชาติของพื้นน้ำ แก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่สามารถลอยน้ำได้ ยืดหยุ่นตามระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง โรงเรียนลอยน้ำจึงเกิดขึ้น ด้วยไอเดียการออกแบบที่ใช้วัสดุง่ายๆ หาได้ภายในท้องถิ่น อย่างถังพลาสติกคล้ายถังน้ำมันที่เราเห็นได้ทั่วไปจำนวน 256 ถัง ก็สามารถทำให้รองรับน้ำหนักของโครงสร้างไม้ ซึ่งสามารถจุนักเรียนวัย 4-12 ขวบได้มากถึง 100 คน โดยมีระบบไฟฟ้าเป็นของตัวเองจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์  มีการกักเก็บน้ำฝนและมีห้องน้ำภายในตัวเอง โรงเรียนลอยน้ำมีต้นทุนไม่สูงเนื่องจากวัสดุมีราคาถูกหาง่าย ทั้งยังใช้พื้นที่บนน้้าแทนการใช้ที่ดินซึ่งมีราคาแพง
Kunlé Adeyemi ผู้ออกแบบจึงหวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พื้นที่น้ำทะเลขึ้นสูง และเมืองที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยอีกด้วย นับเป็นอีกตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ใช้ต้นทุนน้อย แต่มีพลังในการช่วยเหลือที่น่าทึ่ง
อ้างอิง: designboomFast Co.Exist


Read more: http://www.creativemove.com/architecture/makoko-floating-school/#ixzz2UJNUJ5FZ

วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ผลิตก๊าซจาก 'หินดินดาน' ความหวังใหม่พลังงานโลก


ปัจจุบันมนุษย์ใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าใจหาย จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าหากเรายังไม่ช่วยกันประหยัด ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอาจหมดไปจากโลกได้ภายในระยะเวลา 50 ปี ทั้งนี้แนวคิดล่าสุด ’การผลิตก๊าซจากหินดินดาน“ จึงนับเป็นความหวังใหม่ของโลกที่จะสามารถนำมาทดแทนได้ แต่เทคโนโลยีการผลิตค่อนข้างซับซ้อน และถือว่ายังใหม่มากสำหรับประเทศไทย...!!

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้ว่า การเจาะบ่อน้ำมันค้นหาพลังงานเริ่มมีครั้งแรกที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมืองไททัสวิลล์ เมื่อปี พ.ศ. 2402 ในขณะนั้นจำนวนประชากรโลกมีเพียงประมาณ 1,000 ล้านคนเท่านั้น และเมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึง 160 ปี มีประชากรโลกเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า เป็นประมาณกว่า 7,000 ล้านคน ซึ่ง BP Statistical Review of World Energy Outlook ฉบับเดือนมิถุนายน 2555 ได้รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโลกมีประมาณ 1.65 ล้านล้านบาร์เรล และ 7,361 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ โดยมีการใช้พลังงานทั้งสอง คือน้ำมันดิบประมาณ 88 ล้านบาร์เรลต่อวันและก๊าซธรรมชาติ 311,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากมีการใช้พลังงานดังกล่าวในปริมาณที่คงที่และไม่มีการค้นพบแหล่งสำรองเพิ่มเติมหรือมีแหล่งพลังงานอื่นทดแทน ปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของโลกที่มีอยู่จะหมดลงในอีก 54 ปี และ 64 ปี ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ปี 2554 ประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวพิสูจน์แล้วประมาณ 400 ล้านบาร์เรล คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 0.02 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสำรองโลก ส่วนปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือประมาณ 0.01 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณสำรองโลก ประเทศไทยผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติได้วันละ 200,000 บาร์เรล และ 2,794 ล้านลูกบาศก์ฟุต หากมีการใช้พลังงานดังกล่าวในปริมาณที่คงที่และไม่มีการค้นพบแหล่งสำรองเพิ่มเติมหรือมีแหล่งพลังงานอื่นทดแทน ปริมาณน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของไทยที่มีอยู่จะหมดลงในภายในระยะเวลา 50-60 ปี ขณะที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงอีกประเภทคือ น้ำมันดิบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 4.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สัดส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิงทั้ง 2 ในปัจจุบันจึงได้วันละประมาณ 800,000 บาร์เรล และ 1.7 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ

จากข้อมูลปริมาณสำรองพิสูจน์ของทรัพยากรพลังงาน อาจสะท้อนให้เห็นอนาคตด้านพลังงานน้ำมันและพลังงานก๊าซธรรมชาติของไทยที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย การยืดอายุแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงของเราที่มีอยู่ให้ยาวนานขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรมต่อรัฐและต่อผู้ประกอบการคงต้องดำเนินการผสมผสานในหลายรูปแบบ เช่น การเพิ่มศักยภาพและเทคโนโลยีด้านการสำรวจ การพิสูจน์ปริมาณสำรอง และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการผลิตในแหล่งเดิม การสำรวจ ค้นหา และพิสูจน์เพิ่มปริมาณสำรองแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมบริเวณอ่าวไทยใกล้เขตกัมพูชาน่าจะมีส่วนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังได้ไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม รายงานการเปลี่ยนแปลงปริมาณสำรองน้ำมันดิบโลกจาก 1.21 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2546 เป็น 1.52 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2554 และ 1.65 ล้านล้านบาร์เรล ในปี พ.ศ. 2555 และการเปลี่ยนแปลงเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของโลก ถึง 11 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา นับเป็นสัญญาณเชิงบวกที่แสดงว่าแนวโน้มในการค้นพบแหล่งปิโตรเลียม   ใหม่ ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเรายังมีความหวังอยู่

โดยเฉพาะพลังงานจาก “หินดิน ดาน” (shale) เป็นหินตะกอนเนื้อเม็ดที่ประกอบด้วยเม็ดตะกอนละเอียดขนาดเม็ดดิน (ขนาด 1/256 มม.) และทรายแป้ง (1/64 มม.) มีลักษณะเป็นชั้นบาง ๆ ส่วนที่ไม่แสดงลักษณะชั้นมักเรียกว่า หินโคลน เกิดสะสมตัวของตะกอนขนาดเล็กและซากพืชสัตว์ ในสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำนิ่ง ทั้งบนบก ชายฝั่งและในทะเล ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง หินตะกอนเนื้อละเอียดกลุ่มนี้พบมากกว่าหินตะกอนกลุ่มอื่น เฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ของหินตะกอนทั้งหมด พวกที่มีอินทรีย์สารเป็นองค์ประกอบมาก มักให้สีดำเข้ม (carbonaceous shale) ซึ่งมักเป็นหินต้นกำเนิดปิโตรเลียม (petroleum source rocks) อย่างดี

หินดินดานที่ให้ก๊าซโดยทั่วไปถือเป็นแหล่งกักเก็บชนิดที่มีความต่อเนื่องและมักมีการกระจายตัวกว้างขวาง จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งกักเก็บที่มีอายุการผลิตที่ยาวนาน ต่างจากแหล่งก๊าซธรรมชาติปกติที่แหล่งกำเนิดและแหล่งกักเก็บก๊าซอยู่ในที่เดียวกัน การผลิตก๊าซจากชั้นหินดินดานในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริเวณอ่าวด้านตะวันออก ส่วนกลางของทวีป และบริเวณเทือกเขาร็อกกี้ ได้มีการพัฒนามานับศตวรรษแล้ว ผลผลิตก๊าซดังกล่าวจากหินดินดานเป็นทั้งหินต้นกำเนิดและหินกักเก็บปิโตรเลียมในก้อนเดียวกัน ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าประทับใจ โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 48 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549

และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ส่วนนี้ได้ครองสัดส่วนของตลาดก๊าซธรรมชาติในประเทศสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทำให้ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติลดต่ำลงมาก จาก 13 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2549 เหลือเพียง 4 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2554 แหล่งก๊าซข้างต้นได้เพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรม ชาติพิสูจน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 36 เปอร์เซ็นต์ หรืออีก 687 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 ศักยภาพของก๊าซในหินดินดานนั้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดก๊าซธรรมชาติบ้างแล้ว และมีหลายประเทศที่ตื่นตัวสนใจในเทคโนโลยีนี้ เช่น โปแลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออส เตรเลีย และ จีน การประเมินปริมาณสำรองก๊าซจากชั้นหินดินดานอยู่กับที่ใน 32 ประเทศทั่วโลก เบื้องต้นประมาณ 22,000 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยมีส่วนที่เทคโนโลยีจะสกัดออกมาใช้ได้ ประมาณ 5,760 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

การผลิตก๊าซจากชั้นหินดินดาน ถือเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เคยมีกรณีศึกษาว่าด้วยเรื่องการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานของไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมสองเรื่อง คือ ’การประเมินศักยภาพก๊าซในหินดินดานจากหลุมเจาะเก่าในแอ่งสกล นคร” โดย ดร.ภูมี ศรีสุวรรณ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (พ.ศ. 2549) ซึ่งได้ประเมินปริมาณสำรองก๊าซ ณ แหล่งประมาณ 4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และ ’การวิเคราะห์ธรณีเคมีของหินดินดานอายุไทรแอสซิก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างรอยแตกเชิงไฮโดรลิกในชั้นหิน บริเวณบ้านซัลพลู อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา” โดยนางสาววิภาดา นิพนธ์ บัณฑิตธรณีศาสตร์ มหา วิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้สรุปผลการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างรอยแตกเชิงไฮโดรลิกในชั้นหินดินดานในระดับดีที่สุด และระดับดีปานกลาง

ตามสภาพธรณีวิทยาของประเทศ ไทยชั้นหินดินดานพบอยู่ทั่วไปในทุกภูมิภาคของประเทศ ในช่วงธรณีกาลต่าง ๆ ตั้งแต่ชั้นหินตะกอนส่วนล่างสุดถึงส่วนที่วางตัวอยู่บนสุด หรือตั้งแต่ยุคพาเลโอโซอิก (ยุคเก่า) ยุคมีโซโซอิก (ยุคกลางหรือยุคไดโนเสาร์) และยุคซีโนโซอิก (ยุคใหม่หรือยุคที่ให้ถ่านหิน หินน้ำมัน และปิโตรเลียมส่วนใหญ่ของภูมิภาค) อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพการสะสมก๊าซ ความสามารถในการให้ก๊าซ ความหนาและความต่อเนื่องของชั้นหินในกลุ่มหินอายุต่าง ๆ ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดชัดเจน

สำหรับข้อจำกัดการขุดเจาะหิน ดินดาน ความซับซ้อนของเทคโนโลยีการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีและทราย คือ 1.ความชัดเจนของศักยภาพก๊าซในหินดินดาน ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นไม่อาจปฏิเสธได้เพราะประสิทธิภาพในการพัฒนาแหล่งของประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเจาะและการผลิต ทำให้สามารถลดต้นทุนได้อย่างมาก อุปสรรคสำคัญคือความไม่สม่ำเสมอของชั้นหินดิน ดานและการที่ต้องเจาะหินพร้อม ๆ กับการอัดน้ำแรงดันสูงให้หินแตก 2.การพัฒนาแหล่งก๊าซในหินดินดานต้องพึ่งพาการเจาะขนานใหญ่ การเจาะต่อเนื่อง การอัดแรงดันน้ำและสารเคมีเพื่อให้เนื้อหินแตกมาก ๆ เป็นการเพิ่มรอยแตก เพื่อก๊าซที่แทรกในช่องว่างระหว่างเม็ดตะกอนจะได้ถูกปล่อยออกมา จึงต้องอาศัยทั้งความชำนาญและความเชี่ยวชาญพิเศษที่เพียงพอ และโดยที่ต้องมีหลุมเจาะที่ค่อนข้างถี่ อาจกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน หากเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่น

3. ด้านสิ่งแวดล้อมที่พึงระวัง เนื่อง จากกระบวนการอัดแรงดันน้ำให้หินดินดานแตกนั้นต้องใช้น้ำจำนวนมากร่วมกับสารเคมี หากไม่มีการควบคุมและจัดการที่เหมาะสม สารเหล่านี้อาจปนเปื้อนแหล่งน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน รวมถึงโอกาสที่ก๊าซมีเทนไหลเข้าสู่บ่อน้ำใช้ผิวดิน 4.กฎเกณฑ์การอนุญาตขุดเจาะเพื่อผลิตก๊าซจากหินดินดาน ในแต่ละภูมิภาค หรือแม้แต่ในแต่ละมลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาก็ไม่เหมือนกัน และด้วยความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม มลรัฐนิวยอร์ก และแมรีแลนด์ได้แขวนการอนุญาตการใช้เทคโนโลยีแรงดันน้ำอัดหินดินดานให้แตกนี้ไว้ก่อน ส่วนประเทศฝรั่งเศสซึ่งพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ได้ออกกฎหมายแบน (ห้าม) การใช้ hydraulic fracturing

5.ประเทศไทยเองควรมีการเตรียมพร้อม และติดตามเทคโนโลยีฯอย่างใกล้ชิด ควรผูกเงื่อนไขให้ผู้ได้รับสัมปทานสำรวจผลิตปิโตรเลียมที่จะมีขึ้นรอบใหม่เป็นผู้ศึกษาเก็บข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับศักยภาพก๊าซในหินดินดานของพื้นที่สัมปทานนั้น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต

และสุดท้ายการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ อย่างจริงจัง ล้วนเป็นทางเลือกของเราสำหรับการเผชิญวิกฤติการพลังงานของประเทศในอนาคต…!!
รู้จักพลังงานทางเลือกอื่น
1.ถ่านหิน ถือเป็นแหล่งพลังงานหลัก ราคาถูกกว่าพลังงานประเภทอื่น ๆ ยกเว้นพลังน้ำ โดยประเทศที่มีปริมาณสำรองแหล่งถ่านหินลำดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย มีปริมาณถ่านหินสำรองพิสูจน์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 909 พันล้านตัน ถ้าใช้ในอัตราปัจจุบันจะสามารถใช้ได้อีกไม่น้อยกว่า 155 ปี สำหรับประเทศนำเข้าถ่านหินรายใหญ่ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี ซึ่งถ่านหินส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประเทศที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากลำดับ
ต้น ๆ ของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย ออสเตรเลีย โปแลนด์ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด เป็นพื้นฐาน ประกอบกับราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น จึงเป็นทางเลือกที่แม้แต่ประเทศร่ำรวยทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียต่างปฏิเสธไม่ได้ โดยประเทศสหรัฐอเมริกาพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินมากถึง 49 เปอร์เซ็นต์

2.พลังงานชีวมวล จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ของเสียหรือขยะชีวมวล เพื่อผลิตพลังงานจากวัสดุข้างต้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม เอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซชีวภาพ ฟาร์มปศุสัตว์ และพลังขยะ พลังงานส่วนนี้แม้ว่าจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

3.พลังงานแสงอาทิตย์ มีมากมายมหาศาล ประเมินว่าถ้าสามารถดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปล่อยออกมาได้เพียง 0.02 เปอร์เซ็นต์ ก็เพียงพอสำหรับความต้องการพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันของคนทั้งโลก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์จึงมีความตื่นตัวและเจริญเติบโตมากที่สุด ถึง 35 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอื่น ๆ โดยเฉพาะในประเทศ จีน อินเดีย อียู ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยก็มีการพัฒนาและใช้พลังงานส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศในแถบที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดนั้นอยู่บริเวณทะเลทราย

4.พลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยที่สุดและผลิตไฟฟ้าราคาต่อหน่วยด้วยต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ Fukushima ประเทศญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ทำให้มีการชะลอการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก

5.พลังงานลม พื้นที่ศักยภาพสูงของพลังงานลมอยู่กลางทะเล มหาสมุทร ไม่มีสิ่งกีดขวาง โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ดำเนินการพัฒนาต้นแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 50-250 KW ความเร็วลมต่ำที่เหมาะสมสำหรับสภาพภูมิประเทศและความเร็วลมของประเทศไทย

6.พลังความร้อนใต้พิภพ พื้นที่ศักยภาพสูงของพลังงานความร้อนใต้พิภพ มักอยู่ใกล้บริเวณที่เป็นแนวสันโค้งภูเขาไฟมีพลัง หรือบริเวณที่อยู่ใกล้ภูเขาไฟมีพลัง และบริเวณใกล้รอยตะเข็บหรือรอยต่อระหว่างแผ่นธรณี เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เม็กซิโก อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนหลายแนวที่ส่งผ่านความร้อนขึ้นมาจากใต้พิภพ แหล่งน้ำพุร้อนต่าง ๆ ล้วนเป็นพื้นที่ศักยภาพพลังความร้อนใต้พิภพ ปัจจุบันได้มีการพบแหล่งน้ำพุร้อนกว่าร้อยแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ บางส่วนอยู่ในภาคใต้และภาคกลาง