วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดูญี่ปุ่น...แล้วย้อนดูไทย ถึงเวลา ชูธงโรงไฟฟ้าถ่านหิน(4)


แม้เป็นช่วงกลางเดือน พ.ค.แล้ว แต่ยังโชคดีได้เห็นดอกซากุระบานเต็มต้นพอให้ชื่นใจ ได้เก็บรูปเป็นที่ระลึกอยู่บ้างต้นสองต้นหน้าโรงแรมที่พักในเขตฟูกุชิมะ ดอกซากุระบานแล้วร่วง สีชมพูอ่อนดูแจ่มกระจ่าง อ้อล้ออยู่กับสายลมหนาวที่พัดผ่าน แม้อีกไม่นานมันก็จะร่วงโรยไป แต่ใช่ว่าจะไม่ผลิบานใหม่ ถึงฤดูกาลปีหน้าซากุระก็จะกลับมาผลิดอกเบ่งบานสะพรั่งให้คนญี่ปุ่น และผู้มาเยือน ได้ตื่นตาตื่นใจกับความงามอันหยดย้อยของมันอีกครั้ง

เฉกเช่นพระอาทิตย์อันเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่น แม้ประเทศนี้ถูกภัยพิบัติกระหน่ำกี่ครั้งกี่หน ก็ลุกขึ้นสู้ใหม่ได้ทุกครั้ง เปรียบพระอาทิตย์ที่ลาลับทางทิศตะวันตก แต่ก็โผล่มาเยือนใหม่ในทิศตะวันออก เป็นเช่นนี้ทุก ๆ วัน เพื่อบอกว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ มิได้มีด้านเดียว มีมืด ย่อมมีสว่าง มีขึ้นก็มีลง มีสุขก็มีทุกข์ มีคนสรรเสริญ ย่อมมีคนนินทา

คงไม่มากไป หากจะเปรียบกับองค์กรใหญ่อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผู้บริหารได้ยอมรับฟังผู้ที่ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยความพยายามอธิบายทำความเข้าใจมากขึ้น...มากขึ้น

นี่ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลง ในทางที่ดี

อย่างที่เขียนไปในตอนก่อนหน้าว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ในโลก เป็นเรื่อง ’ชิล-ชิล“ ไปแล้ว โรงไฟฟ้า “อิโซโกะ” ที่มีกำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ และส่งไปขายในมหานครโตเกียวด้วยนั้น ได้รับการยอมรับว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานเรื่องการลดมลพิษมากสุด ปี ๆ หนึ่งจึงมีคนไปดูงานหลายพันคน เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดล่าสุดของล่าสุดยังพัฒนารุดหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

ย้อนไปปี ค.ศ. 1996 ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ 10 รายของญี่ปุ่นได้ลงขันตั้งองค์กรวิจัยชื่อ “NEDO” เพื่อวิจัยและพัฒนาไฟฟ้าถ่านหินต้นแบบ ระบบ IGCC (Integrated coal Gasification Combinded Cycle) ความสำเร็จนี้ทำให้บริษัท Clean Coal Power R&D และมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสเตรียล กับรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ต่อยอดลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้นแบบที่ใช้ระบบ IGCC ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 จนถึงปัจจุบัน
โดยคาดว่าอีก 5-6 ปีก็จะทำได้คุ้มในเชิงพาณิชย์

โดยย่อ ๆ ระบบ IGCC ที่ว่า คือการไม่เผาเชื้อเพลิงถ่านหินโดยตรง แต่จะนำถ่านหินสะอาดผ่านกระบวนการทำให้เป็นก๊าซและแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเก็บ จากนั้นนำก๊าซที่ได้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ลักษณะเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ถึงเวลานั้น ไม่มีเหตุผลที่ กฟผ.จะไม่นำระบบที่ดีกว่ามาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาดมากขึ้นไปอีก เอ็นจีโอสุดโต่งที่โต้ว่า เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ กฟผ.พานักข่าวไปดูนั้น จะไม่มีการนำมาใช้ เพราะเป็นแค่การสร้างภาพ ถือว่าอคติ และใจคับแคบมาก ปิดกั้นการรับรู้ของตนเองและมวลชน ถ่วงความเจริญ...หรือเปล่า???

ที่จริง กฟผ.ได้พาไปดู โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ คาริวา ที่อยู่ห่างโตเกียวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 200 กม.ด้วย ที่นี่มีทั้งหมด 7 หน่วย (ตอนนี้หยุดหมด) กำลังผลิตรวม 8,212 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่สุดของโลก โรงไฟฟ้านี้ผลิตไฟขายให้บริษัท TEPCO จำเลยสังคมในเหตุการณ์สึนามิถล่มฟูกุชิมะทำให้เตาปฏิกรณ์ปรมาณูโรงไฟฟ้ารั่ว มีกัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมา เหตุหนึ่งเพราะเป็นโรงไฟฟ้าเก่าตั้ง 40 ปี และอีกเหตุ TEPCO หละหลวมในการดูแลรักษา ทำให้ถูกฟ้องล้มละลาย ถูกรัฐบาลเข้าควบคุมทั้งหมด อยู่ระหว่างการเสนอแผนใหม่เพื่อกู้ฐานะให้กลับคืนมา แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี

ผู้บริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิฯ บอกว่า ได้เก็บซับบทเรียนจาก TEPCO โดยกำลังก่อสร้างประตูเขื่อนขนาดสูง 15 เมตร (จากสถิติคลื่นยักษ์ในจุดสูงสุด) โดยรอบ เพื่อป้องกันสึนามิถล่ม ตอนนั้นที่นี่ก็โดนด้วย เสียหาย 6,000 กว่าล้านเยน นอกจากสร้างประตูเขื่อน ยังอุด 2 จุดโหว่ คือ 1. ระบบหล่อเย็น ใช้วิธีพื้น ๆเตรียมรถเทรเลอร์ขนน้ำสำรองไว้ดับไฟที่อาจไหม้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และ 2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ยกขึ้นที่สูงเตรียมไว้เผื่อไฟดับ และมีการทบทวนแผนรับมือสึนามิใหม่หมด เพื่อเตรียมพร้อม หากต้องเปิดดำเนินการอีกครั้ง นี่เป็นเหตุให้วิศวกรโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ยังต้องทำงานทุกวัน

นั่นคือภาพกว้าง ๆ ที่เก็บมาฝาก ดูญี่ปุ่นแล้วย้อนดูไทย นิวเคลียร์ถือเป็นพลังงานสำคัญของญี่ปุ่น แม้ตอนนี้ทั้ง 54 โรงจะปิดหมด เพราะคนญี่ปุ่นยังกังวลความปลอดภัยในเรื่องกัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลอออกมา แต่ที่สุดคนญี่ปุ่นในสายพลังงานยังเชื่อมั่นว่า ที่สุดญี่ปุ่นคงเดินสายกลาง ยอมให้เปิดใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในส่วนที่มีการปรับปรุงใหม่อีกครั้งเพื่อรับมือการใช้ไฟฟ้าที่มีแต่เพิ่มขึ้นและป้องกันไม่ให้ไฟดับทั่วญี่ปุ่น ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น แทบไม่มีปัญหาการต่อต้านให้เห็นเลย

สรุปแล้ว เกือบหนึ่งสัปดาห์กับการดูงาน กลับยิ่งสร้างความมั่นใจว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เป็นคำตอบการในแก้วิกฤติพลังงานขาดแคลนในทศวรรษหน้าของไทย อันเนื่องจากปัจจัยบวกหลายอย่างที่กล่าวมา และต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ เพราะถึงที่สุดแล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ยังไงก็ต้องเกิด หนีไม่พ้น...

เหมือนซากุระกำลังรอผลิดอก...นั่นแหละ.


source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115976

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น