http://www.ryt9.com/s/tpd/1387997
วันก่อนผมได้มีโอกาสดูหนังจีนเก่าเรื่องหนึ่งนำแสดงโดย โจวซิงฉือ (ดาราคนโปรดของผม) ชื่อเรื่อง"ยาจกซูกับไม้เท้าประกาศิต"
ขึ้นชื่อโจวซิงฉือทุกคนก็รู้ว่าหนังตลกแน่นอน แต่ที่ทุกคนคาดคิดไม่ถึงคือเนื้อเรื่องของหนังพลิกผันให้แง่คิดอย่าง น่าสนใจ (แม้จะยังออกสไตล์หนังจีนอยู่บ้าง)
เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านงุนงงมากไปกว่านี้สรุปสั้นๆ ก็คือ โจวซิงฉือเริ่มเรื่องด้วยการเป็นลูกชายพ่อเมืองบ้านนอกมีอันจะกินแต่ ชะตาพลิกผันต้องกลายเป็น "ขอทาน" พูดง่ายๆ ก็คือ "หมดตัว" หมดสิ้นซึ่งทรัพย์ศฤงคารบรรดามีทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งโจวซิงฉือ (หรือยาจกซู) ยอมรับได้ แต่ที่ยอมเสียไม่ได้ก็คือ "ศักดิ์ศรี" และหากจะต้องยอมเสียศักดิ์ศรีเพื่อแลกกับความเป็นจริงที่จำต้องอยู่ รอดก็เพียงเพื่อสักวันหนึ่งจะสามารถ"เรียกคืน" ศักดิ์ศรีแห่งตนนั่นเอง
ผมเองก็เป็นคนเช่นนั้นเหมือนกัน ยอมรับความเป็นจริง แต่ไม่ยอมให้ความเป็นจริงกำหนดชะตาชีวิต
และสัปดาห์นี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านไปพบกับประเทศๆ หนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาศักดิ์ศรีไม่น้อยกว่ายาจกซู และกำลังต่อสู้กับความเป็นจริงที่เหี้ยมโหด เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและความยิ่งใหญ่ของตนเองกลับคืนมา
ผมเชื่อว่าน่าจะประสบความสำเร็จและประเทศนั้นก็คือ "สเปน" นั่นเอง
สเปน : นักล่าทองคำสุดขอบฟ้า ที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าอังกฤษจักรวรรดิ์ที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ แต่ก่อนที่จะมีอังกฤษเป็นเจ้าครองโลก (ก่อนอเมริกา) สเปนคือประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก เป็นเจ้าอาณานิคมที่ครอบครองทวีปอเมริกา (ใต้) แทบทุกตารางนิ้ว และเป็นประเทศที่ "บ้าทอง" ที่สุดประเทศหนึ่ง จนปรากฏเป็นตำนานเกี่ยวกับทองมากมายหลายเรื่องราวนั่นคือประวัติศาสตร์ ในยุคศตวรรษที่ 16 และ 17
สเปนไม่เกี่ยวข้อง (โดยตรง) กับสงครามโลกทั้งสองครั้ง แต่ก็เป็นมหาอำนาจตะวันตกเพียงประเทศเดียวในยุคปัจจุบันที่อยู่ใต้ การปกครองของเผด็จการทหาร คือนายพลฟรังโก ซึ่งปกครองสเปนมาจนถึงปี 1975 ซึ่งต้องถือว่าเป็นอะไรที่ผิดปกติมาก และมีผลทำให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจของสเปนชะงักอยู่พอสมควร แต่หลังจากนายพลฟรังโกตาย สเปนก็ได้เข้าเป็นสมาชิก "สหภาพยุโรป" และก็ได้พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างดีเยี่ยมตลอดเวลาเกือบสี่ สิบปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันสเปนเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับห้าในบรรดาสมาชิกประเทศ ของสหภาพยุโรป ด้วยขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติมากกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เรียกว่าเป็นรองก็แค่เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลีเท่านั้น และถ้าเทียบกับทำเนียมจอมยุทธทั่วโลก ก็มีเพียงจีน อินเดีย รัสเซียและบราซิลเท่านั้นที่พอฟัดพอเหวี่ยง
และที่สำคัญก็คือในเชิงการแข่งขันในตลาดโลก บริษัทยักษ์ใหญ่ของสเปนก็ทรงศักดิ์ศรีที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ธุรกิจมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทเลฟอนนิกา ที่อยู่อันดับห้าในบรรดาเทเลคอมทั่วโลก หรือบริษัทเรฟซอล (Repsol YPF) ซึ่งเป็นเจ้าพ่อปิโตรเคมีในละตินอเมริกา มีสาขาทั่วโลกกว่า 28 ประเทศ ผลิตน้ำมันได้ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือธนาคารกรุ๊ปซานแทนเด (Group Santander) ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับหกของโลกในแง่มูลค่าตลาด (ข้อมูลปี 2010) และเมื่อรวมบริษัทยักษ์สเปนเข้าด้วยก็ติดอันดับฟอร์จูนห้าร้อยถึงกว่า สิบบริษัท
โดยสรุป สเปนไม่ใช่ประเทศสั่วๆ ที่จะถูกเขี่ยตกทำเนียบเหมือนกิ้งกือตกท่อได้ง่ายๆ ฉะนั้นที่มีคนเปรียบว่าสเปนก็เหมือนกับกรีซหรือแย่กว่าเสียอีก จึงเป็นอะไรที่น่าจะดูผิวเผินไปสักหน่อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ส่งผลกระเทือนต่อสุขภาพของสเปนเป็นอย่างยิ่ง
สเปนกับวิกฤติปี 2008 : หนักหนาสาหัสแต่น่าจะยังไม่ถึงตาย (แต่อาจจะโคม่าอีกสักระยะหนึ่ง)
สเปนเริ่มประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2007 โดยตลอดปี 2007 ถึงไตรมาสแรกของปี 2008 เศรษฐกิจเริ่มชะลออย่างหวาดเสียว และหลังจากนั้นก็ดิ่งเหวมาโดยตลอด เลวร้ายที่สุดก็คือไตรมาสแรกของปี 2009 ที่ GDP ติดลบถึงกว่า 6% และคนว่างงานเพิ่มขึ้นทันทีเกือบ 1,000,000 คน
คนว่างงานกลายเป็นปัญหาที่หนักหนาที่สุดที่ดูจะยังคงอยู่กับสเปนอีกนาน ผลจากวิกฤติดังกล่าวทำให้ปัจจุบันสเปนมีคนว่างงานถึงกว่า 4,000,000 คน และเมื่อเทียบอัตราส่วนกับกำลังแรงงานทั้งหมดก็เป็นตัวเลขที่น่าตก ใจยิ่ง เพราะมองไปที่คนสเปนสี่คนต้องมีหนึ่งคนว่างงาน และหากเป็นคนวัยกลางคนขึ้นไป (ซึ่งมักจะหางานใหม่ยากมาก) หนึ่งในสองคนขณะนี้ไม่มีงานทำ และคนยากจะหางานทำได้
เศรษฐกิจสเปนเริ่มดีขึ้นในปี 2010 และ 2011 แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังอยู่ระหว่าง "เกินศูนย์" หน่อยๆ กับไม่ถึงหนึ่ง ซึ่งในภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือไม่มีการเติบโตนั่นเอง
ฉะนั้น ต้องยอมรับว่าวิกฤติเศรษฐศาสตร์ปี 2008 มีผลต่อระบบเศรษฐกิจสเปนเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญคือการที่คนสเปนว่างงาน นอกจากจะเป็นปัญหาอันสืบเนื่องมาจาก"สภาพคล่อง" ในระบบที่บังคับให้บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลงหรือลดการจ้างงาน แต่ยังคงมีส่วนที่เกี่ยวพันกับปัญหา "ความสามารถในการแข่งขัน" เพราะภาคส่งออกของสเปนยังคงติดลบมาตลอดเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
แต่ที่ผมยังเชื่อว่าสเปนยังไม่เดี้ยงก็เพราะสเปนเป็นประเทศที่ มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานดีมาก ใครที่ได้ไปเที่ยวสเปนจะรู้ว่าไม่ว่าจะเป็นระบบไฮเวย์ ระบบโทรคมนาคม ระบบไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม สเปนล้วนแต่อยู่แนวหน้า ฉะนั้น สเปนยากที่จะกลายเป็น "ประเทศร้าง" เหมือนหลายประเทศในเอเชียหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง
เหนือสิ่งอื่นใดสเปนเป็นประเทศที่มี "ศักดิ์ศรี" คนสเปนเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติสเปนไม่น้อยกว่ามหา อำนาจอื่นๆไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส คนสเปน 46 ล้านคน (รายได้เฉลี่ยคนละ 32,000 ดอลลาร์ต่อปี) ล้วนแต่เป็นคนที่มีคุณภาพ ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นในเชิง Biotech หรือในด้าน Renewable Energy นักวิทยาศาสตร์สเปน และนักธุรกิจสเปนล้วนแต่อยู่แถวหน้า
แล้วสเปนจะนำตัวเองออกจากวิกฤติดังกล่าวได้อย่างไร และจะเรียกศักดิ์ศรีของตนเองกลับมาได้อย่างไร (โปรดติดตามตอนต่อไปสัปดาห์หน้า).
วีระ มานะคงตรีชีพ
23 เมษายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น