โดย บัณรส บัวคลี่
http://www.manager.co.th/Columnist/ViewNews.aspx?NewsID=9550000047314
การแปรรูป ปตท.เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยระดับโลก 2 เรื่องคือ
ผลกระทบจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2533
ตามมาด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ตามฉันทามติวอชิงตันว่าด้วย Privatization
และเมื่อประเทศไทยเจอวิกฤตต้มยำกุ้งการเข้ามาขององค์กรโลกบาล
ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ.ทำให้แนวคิดผลักดันให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจยิ่ง
ถูกเร่งเร้าผลักดันยิ่งขึ้น
หากจำกันได้ในยุคดังกล่าวเริ่มมีกระแสต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจปรากฏใน
หน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง
แต่การแปรรูปครั้งนี้กลับไม่ได้มาพร้อมกับความชัดเจนเชิงนโยบาย
ไม่เหมือนกับเมื่อครั้ง พ.ศ.2522 ที่มีการตั้ง การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.)
เป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นเสมือนบริษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อความมั่นคงทาง
พลังงานได้แก่การจัดหา สำรองและถ่วงดุลราคาขายในประเทศ
1 ทศวรรษก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง
ปตท.เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2544 เป็นช่วงเวลา 10
ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในวงการน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเลียมไทยอย่างขนาน
ใหญ่ในแทบทุกมิติ
ในมิติของนโยบายรัฐ
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันได้รับการส่งเสริมเพื่อให้ต่อยอด
นโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ดของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
แม้รัฐบาลนี้จะถูกรัฐประหารใน พ.ศ.2534 แต่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน
ก็ดำเนินต่อเช่นการเปิดโรงกลั่นน้ำมันใหม่ต่อจากโรงกลั่นไทยออยล์
ให้กับเอสโซ่ คาลเท็กซ์ เชลล์ โดย ปตท.เข้าร่วมถือหุ้น
ในยุคดังกล่าวมีผู้ค้าหน้าใหม่ทยอยเข้ามาดำเนินการค้าส่งและค้าปลีก เช่น Q8
บี.พี. เจ็ท ตลอดถึงผู้ค้าท้องถิ่นอีกหลายเจ้า
และยังเป็นยุคของการใช้พลังงานก๊าซจากท่อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมายังโรง
กลั่นระยอง
ยุคนี้เองที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของ ปตท. !
เป็นการเปลี่ยนอันเกิดจากการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพลังงานของ
ประเทศ ที่ต้องการให้ ปตท.กลายเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ
(แนวคิดเดิมของการตั้ง ปตท.เมื่อปี 2522
ก็คือบริษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ไม่ชัดเจนเพราะมีแผนและการศึกษาแนวทางปรับโครง
สร้างองค์กรใหม่ทั้งหมดเช่นปี 2534)
กลายมาเป็นองค์กรธุรกิจที่หวังผลต่อการแข่งขัน เข็มมุ่งที่ทำให้
ปตท.แข็งแกร่งเติบโตแข่งขันได้กลับขัดแย้งกับแนวคิดอุดหนุนช่วยเหลือประชาชน
ละเลยการมองประโยชน์สูงสุดประชาชน
ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ อดีตผู้ว่าการ ปตท.ให้ข้อมูลกับคณะวิจัย
ประวัติศาสตร์พลังงานไทยของ สนพ. กระทรวงพลังงาน ว่า “ต่อมา
รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การจัดหาน้ำมันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และมีเสถียรภาพ รวมทั้ง ให้กิจการกลั่นน้ำมันของประเทศมีประสิทธิภาพสูง
เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำมันของประเทศให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่
จะทำได้ ดังนั้น
จึงได้ดำเนินการปรับปรุงการขอและออกใบอนุญาตผู้ค้าน้ำมันเพื่อให้ผู้ค้า
น้ำมันประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น
ยกเลิกการควบคุมการนำเข้าน้ำมันเบนซินและน้ำมันก๊าด รวมทั้ง
ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการกลั่นน้ำมันมากขึ้น ตลอดจน
ส่งเสริมให้มีการแข่งขันในกิจการค้าน้ำมันมากขึ้นด้วย
เพื่อเป็นการปูทางไปสู่การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมันในประเทศในที่สุด
โดยเมื่อกลางปี พ.ศ.2534 รัฐบาลได้ประกาศใช้ระบบราคาน้ำมันลอยตัว
ทำให้มีผู้ค้าน้ำมันรายใหม่เข้ามาลงทุนในธุรกิจน้ำมันมากขึ้น ปตท.
ได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้คานอำนาจผู้ค้าน้ำมันเอกชนไม่ให้มีการ
รวมตัวกันกำหนดราคาน้ำมันเอาเปรียบผู้บริโภค
เมื่อภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมมากขึ้น
ตามลำดับ
ส่งผลให้ตลาดน้ำมันในประเทศมีการแข่งขันกันมากขึ้นและเป็นไปอย่างกว้างขวาง
ทั้งในด้านการสำรวจและพัฒนาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
การขยายและเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่น
การขยายสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
และการเข้าร่วมทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี บทบาทของ ปตท.
ในฐานะกลไกของรัฐและการเป็นแกนนำในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ
เริ่มมีความจำเป็นน้อยลงตามลำดับ
แต่กลับมีความจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เป็นไปในเชิงธุรกิจมากขึ้น
เนื่องจาก ปตท. จำเป็นต้องแข่งขันกับบริษัทน้ำมันคู่แข่ง
และจะต้องสามารถตัดสินใจลงทุนได้ ในเชิงธุรกิจอย่างแท้จริง
ประกอบกับแนวโน้มในหลายๆ
ประเทศทั่วโลกได้พัฒนาบริษัทน้ำมันแห่งชาติให้มีบทบาทในเชิงธุรกิจ
สถานการณ์ดังกล่าวได้นำมาสู่แนวคิดในการปรับเปลี่ยนบทบาทและโครงสร้าง
องค์กรของ ปตท.
ให้มีบทบาทในเชิงพาณิชย์และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2534
ให้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้าง ปตท.
โดยให้พิจารณาว่าควรจัดโครงสร้างในรูปแบบใดจึงจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
แนวทางแปรรูป
ปตท.ชัดเจนเป็นลำดับนับจากนั้นและยังถูกเร่งรัดจากองค์กรโลกบาลในช่วงวิกฤต
เศรษฐกิจ ดังจะเห็นจากรัฐบาลชวน หลีกภัยออกกฏหมายที่ถูกขนานนามว่า
“กฏหมายขายชาติ 11ฉบับ” ตามแรงกดดันของตะวันตกและฉันทามติวอชิงตัน โดยเฉพาะ
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)
ใช้อ้างอิงเพื่อคงสถานะรัฐวิสาหกิจและได้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐในการดำเนิน
ธุรกิจต่อเนื่อง กฏหมายดังกล่าวทำให้ ปตท.
กลายเป็นบริษัทมหาชนติดปีกเพราะได้อำนาจของรัฐ
ได้สิทธิพิเศษมากมายในการแข่งขัน ตลอดถึงสิทธิดำเนินการแบบ
“กึ่งผูกขาด”ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และปตท.เองก็ได้ประกาศวิสัยทัศน์องค์กรของตนว่า
“เป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ”
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวก็บ่งบอกชัดเจนในตัวของมันเองระดับหนึ่งว่าหลังจากการ
แปรรูปไปแล้ว ปตท. ยืนอยู่บนฐานคิดปรัชญาใดเป็นสำคัญ
นโยบายพลังงาน-ขุนนางพลังงาน-ทุนพลังงาน
ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา
กิจการด้านพลังงานของไทยแบ่งเป็น 2 ขาหลักๆ คือ ด้านไฟฟ้า
กับด้านน้ำมันเชื้อเพลิง(ต่อมารวมก๊าซธรรมชาติในยุคหลัง)
ในยุคแรกคือหลังสงครามโลกครั้งที่สองกิจการด้านการไฟฟ้าถือเป็นหัวใจ
ของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ
เพราะในยุคนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศไม่มีไฟฟ้าใช้ การพัฒนาสำคัญๆ
เช่นก่อสร้างเขื่อนยันฮี
และเขื่อนใหญ่อีกหลายเขื่อนตามมาล้วนเพื่อเป้าหมายด้านพลังงานไฟฟ้า ก่อนที่
กฟผ.จะถือกำเนิด (2511)
กิจการด้านพลังงานทั้งหมดรวมอยู่ที่หน่วยงานเรียกว่า “การพลังงานแห่งชาติ”
สังกัดกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ
พ.ศ.2496
แต่ก็ดูเหมือนว่าน้ำหนักยังเทให้ไปทางไฟฟ้าซึ่งดูจะมีความจำเป็นและเกี่ยว
ข้องกับราษฏรส่วนใหญ่
น้ำหนักของงานไฟฟ้ามากกว่างานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่หนักไปทางนำเข้าสำเร็จ
รูป บุคลากรในหน่วยงานนี้เป็นต้นทางให้กับ กฟผ.รวมทั้ง ปตท.ในเวลาต่อมา (*
วิเศษ จูภิบาล อดีตผู้ว่าการ ปตท.
ซึ่งเริ่มงานเป็นลูกหม้อของปตท.มาตั้งแต่ก่อตั้งก็มาจากการพลังงานแห่งชาติ)
กิจการด้านไฟฟ้า กับ น้ำมันเริ่มแยกห่างกันชัดเจนมาขึ้นเรื่อยๆ
หลังการตั้ง กฟผ.เมื่อ พ.ศ.2511
มีหน่วยงานจำหน่ายและบริการอย่างการไฟฟ้านครหลวงและส่วนภูมิภาคแยกดำเนินการ
ออกไปขณะที่งานด้านน้ำมันมีรัฐวิสาหกิจคือ ปตท.
สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม พ.ศ.2521
มีการปรับปรุง พ.ร.บ.การพลังงานแห่งชาติ ในปี 2522
คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในปี 2522 เมื่อมีการตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยี และการพลังงานขึ้นมา
กิจกรรมน้ำมันและปิโตรเลียมมาเกี่ยวโยงกับการผลิตไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อประเทศเริ่มขุดก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้
ในยุคแรกของการนำก๊าซขึ้นมาใช้ก็คือมุ่งป้อนให้กับ
กฟผ.เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ
ระบบพลังงานก๊าซธรรมชาติของไทยที่ถูกวางไว้จากยุคนั้นทำให้ปัจจุบันก๊าซ
ธรรมชาติที่ขุดได้จากอ่าวไทยจะถูกส่งไปยัง กฟผ.โดยตรงในสัดส่วนประมาณ 32%
และหากรวมผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น (ทั้งเอกชนและที่แปรรูปไปจาก กฟผ.) IPPs/SPPs
รวมกันแล้วจะถูกป้อนเพื่อการผลิตไฟฟ้าถึงประมาณ 72% (ที่มา:
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ซึ่ง ปตท.จะคิดค่าจัดส่งก๊าซกับ
กฟผ.และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในราคาคนละอัตรากับก๊าซที่จัดส่งไปยังโรงแยกก๊าซ
กิจการโรงผลิตไฟฟ้าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ
ปตท.ที่ต้องการให้ป้อนเชื้อเพลิงคือก๊าซธรรมชาติให้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นหนึ่งในปมถกเถียงว่าด้วยการเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกิน
ควรเพราะ
ปตท.ได้กำไรจากค่าส่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าในอัตราแพงกว่าต้นทุนก๊าซเข้าโรงแยก
ขณะที่
กฟผ.นำต้นทุนก๊าซดังกล่าวมาคิดเพิ่มกับกฟน/กฟภ.ซึ่งที่สุดคือประชาชนในขั้น
สุดท้าย
(ข้อถกเถียงหลักคือก๊าซธรรมชาติถือเป็นทรัพยากรส่วนรวมของชาติที่ควรจะมีไว้
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมแต่รัฐวิสาหกิจสองหน่วยรวมกันบวกเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้น
ภายใต้ความเห็นชอบจากกลไกควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐ
ข้อถกเถียงดังกล่าวเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน)
โครงสร้างการกำกับควบคุมและนโยบายการพลังงานของไทยถูกปรับรื้อครั้ง
ใหญ่ในปี 2544 ต่อเนื่อง 2545 คือนอกจากจะมีการแปรรูป ปตท.เป็นบริษัทมหาชน
กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
ยังมีการปฏิรูประบบราชการโดยการตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นมา
ยุบรวมหน่วยงานต่างๆ ที่กระจายมาไว้ด้วยกัน เช่น
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)
ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
มาเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นต้น
กระทรวงนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.รใบ.ปิโตรเลียม
พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นหัวใจในการกำกับอนุญาตสัมปทานขุดเจาะสำรวจก๊าซและน้ำมัน
นอกเหนือจากควบคุมกิจกรรมด้านก๊าซธรรมชาติจากต้นธารจนถึงการขายปลีกถึงมือ
ผู้บริโภค อย่างเช่นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
ที่มีอำนาจตัดสินเรื่องสัดส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
ก็มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานและมีสำนักนโยบายและแผนพลังงาน
หรือ สนพ.เป็นเลขาฯ
ซึ่งในทางปฏิบัติกลับไม่ได้แยกขาดจากกิจการน้ำมันยักษ์ใหญ่ ปตท.
เลยบุคลากรบางส่วนยังนั่งเป็นกรรมการบอร์ดของกิจการที่ถูกกำกับควบคุม
แม้จะมีการปรับโครงสร้างใหม่กันอย่างไรแต่
ธรรมเนียมของระบบราชการมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจในสังกัด ในลักษณะ
“บ่อข้าวบ่อน้ำ” ที่เคยเป็นมา เช่น กองทัพอากาศมีบทบาทในการบินไทย
กรมการปกครองจะมีบทบาทใน กฟภ.ฯลฯ
จึงกลายเป็นว่าข้าราชการสังกัดกระทรวงพลังงานต้องเข้าไปมีบทบาท
(และอำนาจวาสนา) ใน ปตท.และบริษัทในเครือทั้งๆ
ที่กลไกราชการควรจะวางตัวเองในฐานะ “กำกับและควบคุม”
เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับประชาชนมากกว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการ
ความสับสนของเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีเอกชนภายนอกเข้ามาถือหุ้น 49%
ข้าราชการจะมีข้ออ้างว่ายิ่งต้องเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเพื่อการกำกับและปก
ป้องผลประโยชน์ให้รัฐ
แต่ขณะดียวกันก็ได้ประโยชน์ค่าตอบแทนจำนวนมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ
เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและเกิดความแคลงใจว่าที่สุดแล้วข้าราชการจะตัดสิน
ใจเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดกันแน่ ?
กรณีตัวอย่าง นายณอคุณ สิทธิพงศ์ เคยเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
ม.ช. 3 สมัย ก่อนจะโอนย้ายมาสังกัดกระทรวงพลังงานในยุค น.พ.พรหมินทร์
เลิศสุริย์เดช เป็น รมว.กระทรวงพลังงาน
วงการเมืองรู้กันดีว่าการโอนย้ายครั้งนั้นเพราะความสนิทสนมกับนักการเมือง
สายไทยรักไทย ณอคุณ เป็นบิดาของอดีตนางสาวไทยปี 2545 “น้องหน่อย” ปฏิพร
สิทธิพงศ์
ซึ่งหลังจากได้รับตำแหน่งเธอยังเคยปรากฏตัวระหว่างพรรคไทยรักไทยหาเสียง
หน่อย-ปฏิพร ได้เป็นผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี
ยุคนิวัฒน์ บุญทรง กุมบังเหียน
หลังการรัฐประหารณอคุณยังอยู่กระทรวงพลังงานและพลาดหวังตำแหน่งปลัดกระทรวง
รอบแรกเมื่อพ่ายให้กับ พรชัย รุจิประภา ลูกหม้อสภาพัฒน์ฯ แต่ต่อมา พรชัย
ทนแรงเสียดทานภายในกระทรวงที่มากผลประโยชน์แห่งนี้ไม่ได้
ขอย้ายตัวเองไปกระทรวงเล็กกว่าอย่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ทำให้ณอคุณขึ้นรับตำแหน่งปลัดกระทรวงในปี 2553
ณอคุณเลยยื่นใบลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.
ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วงในทราบดีว่าเพราะรัฐบาลได้ส่งสัญญาณไม่อยากให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปนั่ง
ในองค์กรที่มีผลประโยชน์ผูกพันจนเกิดครหาได้
แต่ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ณอคุณ
ก็ได้รับการเสนอชื่อกลับมาโดยอ้างว่าไม่มีกฏหมายบังคับห้ามไว้
จะเห็นได้ว่า
การที่ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่กำกับดูแลและต้องรักษาผล
ประโยชน์ประชาชนไปรับผลประโยชน์ได้ตำแหน่งจากรัฐวิสาหกิจก่อให้เกิดครหาและ
ความแคลงใจว่าด้วยอำนาจตัดสินใจเพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชนหรือของใครแน่
นั้น กลับยังไม่มีบรรทัดฐาน หรือมาตรฐานกำหนดที่ชัดเจน
เป็นช่องโหว่รูใหญ่ที่เกิดขึ้นในระบบราชการซึ่งแน่นอนว่าช่องโหว่ดังกล่าว
ย่อมเอื้อให้กับนักการเมืองด้วยเช่นกันหากนักการเมืองกับข้าราชการรวมหัวกัน
จนกระทั่งได้มีการออกพรบ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
เพื่อตั้งคณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
หรือที่รู้จักกันว่า “เรกูเลเตอร์” เช่นเดียวกับในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามดูเหมือนขอบเขตของคณะกรรมการดังกล่าวยังหนักไปด้านไฟฟ้าและก๊าซ
ธรรมชาติเป็นหลัก ยังไม่สามารถก่อให้เกิดความเป็นธรรมดาด้านการแข่งขัน
การกำหนดราคาและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมได้แท้จริง
กิจการปิโตรเลียมและน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเริ่มต้นจากความไม่มี
เป็นลูกไล่ของต่างชาติ มีจุดเปลี่ยนครั้งแรกเมื่อมีการตั้ง
ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติในปี 2522 พร้อมๆ
กับเริ่มมีการขุดพบก๊าซและน้ำมันดิบมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอด 20
ปีต่อเนื่องจากนั้น
เป้าหมายและทิศทางนโยบายพลังงานที่เคยชัดเจนมาโดยตลอดเริ่มแปรเปลี่ยนและขาด
ทิศทางนับจากการแปรรูป
ปตท.เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์และการตั้งกระทรวงพลังงานในปี 2545
เป็นทิศทางที่ละเลยผลประโยชน์ของชาติและประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
และดูเหมือนจะมุ่งทำให้
ปตท.กลายเป็นธุรกิจเข้มแข็งทำกำไรสูงสุดจนละเลยหลักธรรมาภิบาลด้วยซ้ำไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น