โดย...ประสาท มีแต้ม
http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000044434
ชายหาด อ.ทับสะแก เป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลที่นับวันถอยหลังเพื่อสูญพันธุ์ ในขณะเดียวกันหาก กฟผ.เล็งขอเปลี่ยนผังเมืองรวมชุมชนทับสะแกในบริเวณที่ดินของ กฟผ. 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นสวนมะพร้าวโอบล้อมหาดดอนตาเหว่า และเป็นพื้นที่วางไข่เต่าทะเลทั้งหมดไป เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
|
“ในสังคมประชาธิปไตย ทุกๆ ความคิดที่ผิดเล็กๆ น้อยๆ อาจเติบใหญ่กลายเป็นนโยบายของประเทศได้” ข้างบนนี้คือคำพูดของนักประพันธ์และนักเขียนการ์ตูนชาวอังกฤษ (Ashleigh Brilliant) ที่ผมคิดว่าคมและคือบทสรุปของสิ่งที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ครับ ผมได้เคยเขียนบทความในชื่อนี้เมื่อครั้งที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรได้เชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาให้ข้อมูลต่อคำร้องเรียนของเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในครั้งนั้น ผมรู้สึกว่าคำชี้แจงของผู้แทน กฟผ.ไม่เป็นเหตุเป็นผลที่สากลทั่วไปเขาทำกัน ไม่มีความจริงใจให้แก่ชาวบ้านที่กังวลเรื่องผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมจึงได้ใช้คำว่า “เหลี่ยม” มาคราวนี้ (29 มี.ค. 55) เอาอีกแล้วครับ แต่เป็นคนละแบบกัน มาจากสามหน่วยงานราชการซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานทั้งสิ้น ผมนำเรื่องนี้มาเล่าต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายก็เพื่อเป็นข้อมูลเสริมหรือตอกย้ำให้ชัดเจนว่า หน่วยงานของราชการไทยเขามีทัศนคติอย่างไร ประเทศเราจึงได้แต่สะสมปัญหาความขัดแย้งในสังคม และต่ำต้อยไปไม่ถึงไหนเสียทีเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ และหากภาครัฐยังคงมีทัศนะเช่นนี้ต่อไป ความขัดแย้งทางความคิดเล็กๆ น้อยๆ อาจจะเติบใหญ่กลายเป็นสงครามกลางเมืองซึ่งก็มีปรากฏให้คนรุ่นนี้เห็นชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยกตัวอย่างประกอบให้สะเทือนใจกันเปล่าๆ
ไม่เพียงแต่ปัญหาสังคมที่กล่าวมาแล้ว แต่จะกระทบถึงเงินในกระเป๋าของท่านด้วยโดยออกมาในรูปค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลกระทบใหญ่โตอย่างคาดไม่ถึงจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย
ที่เกริ่นนำมานี้ผมไม่ได้พูดให้ “เวอร์” เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากท่าน แต่โปรดเปิดใจให้กว้าง รับรู้ข้อมูล ความจริง ซึ่งผมเชื่อว่ามันอาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตได้จริงครับ
สองหน่วยงานแรกมาจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เรื่องราวเป็นอย่างนี้ครับ กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวในปัญหาของสาธารณะได้ติดตามปัญหาในท้องถิ่นของตนเองมาอย่างยาวนาน ทางกลุ่มฯ เขาทราบมาว่าทางหน่วยงานของรัฐมีการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า แผนพีดีพี 2010 ซึ่งเป็นแผนการระยะยาว 20 ปีว่าประเทศไทยจะมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าใด ด้วยเชื้อเพลิงอะไรบ้าง
ทางกลุ่มชาวบ้านเขาคิดว่า ถ้าจะป้องกันไม่ให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อำเภอทับสะแก ก็ควรจะต้องมาช่วยกันคิดในแผนรวมของประเทศด้วย ในเมื่อทางราชการกำลังปรับปรุงแผนอยู่พอดี (ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แผนพีดีพี 2012 พ.ศ. 2555) ชาวบ้านจึงขอใช้ช่องทางคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ช่วยตรวจสอบให้หน่อย (ไม่ใช่ชื่อเล่นของคุณจินตนา แก้วขาว) ทั้งนี้เพื่อเสนอความคิดเห็น แนะนำ ท้วงติงกันเสียก่อนแทนที่จะปล่อยให้เขาปรับปรุงเสร็จแล้วซึ่งอาจจะแก้ไขได้ยาก
แต่สิ่งที่น่าแปลกใจมากหลังจากที่ผู้แทนของทั้งสองหน่วยงานได้ชี้แจงถึงขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้วก็คือ “ขอเรียนว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการทำอะไรเลยในแผนพีดีพี 2012 ยังไม่ได้ทำ แต่ก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ก็ติดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป”
พอมาถึงตรงนี้ผมก็ตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไรเลย นายกรัฐมนตรีไม่โกรธเอาเหรอ เพราะในคำแถลงนโยบายของท่านเมื่อเดือนสิงหาคมบอกว่า จะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานฟอสซิลให้ได้ 25% ภายใน 10 ปี นี่อายุรัฐบาลผ่านมา 8 เดือนแล้ว ถ้าคุณไม่ทำอะไรเลย ไม่มีปัญหาเหรอ เพราะในแผนเดิมเขียนไว้ว่าจะใช้พลังงานหมุนเวียนเพียง 6% เท่านั้น” (เอ๊ะ วาระรัฐบาล 4 ปี แต่นโยบายยาวถึง 10 ปี!)
ปรากฏว่าผู้แทนทั้งสองไม่ตอบคำถามของผม แต่ได้นำคำถามก่อนหน้านี้ของท่านอื่นมาตอบแทน ผมเองก็เกรงใจไม่ได้ถามซ้ำเพราะต้องการเปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ร้องได้แสดงความเห็นบ้าง และเชื่อว่าในการเขียนรายงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ต้องกล่าวถึงเรื่องนี้ อะไรเป็นอะไรก็มีหลักฐานกันอยู่ โดยสรุปก็คือ ผู้แทนจากสองหน่วยงานของรัฐได้เรียนว่ายังไม่ได้มีการทำอะไรเลยกับแผนพีดีพี 2010
ต่อมาอนุกรรมการฯ ท่านหนึ่งได้พบหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. (ระดับหัวหน้าแผนกนิเวศวิทยา) ได้ไปนำเสนอในที่ประชุมของ IAEA ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย (19-21 มี.ค. 55) ว่ามี “PDP 2010 Latest Revision (2012)” ซึ่งแปลได้ว่า “แผนพีดีพี 2010 ปรับปรุงล่าสุด 2012” โดยบอกว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง
อ้าว! นี่มัน “เหลี่ยม” กันชัดๆ นี่หว่า!
อีกหน่วยงานหนึ่งคือ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” ก่อนการประชุมผมได้ตั้งคำถามต่ออนุกรรมการสิทธิฯ ท่านหนึ่ง “ลองทายซิว่าคณะกรรมการชุดนี้กำกับกิจการน้ำมันด้วยไหม?” คำตอบคือ “กำกับ”
แต่ในความเป็นจริงทั้งจากพระราชบัญญัติและจากวาจาของเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่าเขาไม่ได้กำกับกิจการน้ำมันซึ่งมีมูลค่าถึง 62% ของมูลค่าพลังงานทั้งหมดที่คนไทยบริโภค แต่เขากำกับเฉพาะกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ (บางส่วน) ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนน้ำมันที่ชอบขึ้นราคาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยนั้นใครกำกับ ผมไม่ทราบ แม้แต่ชื่อองค์กรก็ยัง “เหลี่ยม” และสะสมปัญหารอระเบิดเวลาอยู่ไม่รู้โรย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น