วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

"น้ำมันไทย" ธุรกิจเพื่อใคร ?

Source: https://politic.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=98708

หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ในแต่ละวันประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าที่ประเทศเศรษฐีน้ำมันอย่างบรูไนผลิตได้เกือบ 2 เท่าตัว และหลายคนก็อาจยังไม่ทราบอีกเช่นกันว่า ประเทศไทยมีสินค้าส่งออกอันดับ 5 คือ "น้ำมันสำเร็จรูป" ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าสินค้าข้าวเกือบ 2 เท่าตัว แต่ด้วยสัดส่วนการผลิต บริโภค นำเข้า และส่งออกน้ำมันที่ไม่ชอบมาพากลของบ้านเรา ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องเจ็บช้ำกับการจ่ายราคาค่าน้ำมันสูงกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่มีบริษัทน้ำมันเพียงไม่กี่รายเท่านั้นร่ำรวยขึ้นอย่างมหาศาล ความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวมีรายละเอียดเช่นไร ติดตามได้จากที่นี่

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในแต่ละปีประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจำนวนมหาศาลเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งประเทศ ตัวเลขจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา "น้ำมันดิบ" คือสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงสุดของไทย มีมูลค่าการนำเข้าถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี ดังตารางต่อไปนี้



แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ ประเทศไทยของเราก็ส่งออกน้ำมันเป็นมูลค่ามหาศาลต่อปีเช่นเดียวกัน น้ำมันดิบที่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นจนกลายเป็น "น้ำมันสำเร็จรูป" (Petroleum Products) อันประกอบด้วย น้ำมันเบนซิน (Gasoline), น้ำมันดีเซล (Diesel), น้ำมันก๊าด (Kerosene), น้ำมันอากาศยาน (Jet oil), น้ำมันเตา (Fuel oil) และ แก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) รวมทั้งหมดนี้ในปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกไปเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ดังตารางต่อไปนี้




หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยไม่มีศักยภาพในด้านแหล่งพลังงาน แต่มีศักยภาพในการกลั่นน้ำมันดิบ ที่สามารถกลั่นได้ถึงวันละ 1,119,500 บาร์เรล จากบริษัทกลั่นน้ำมันทั้งหมด 8 บริษัท (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) ดังนั้นจึงนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อส่งออกไปขายทำกำไรยังต่างประเทศ



ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว เพราะเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เองวันละ 139,991 บาร์เรล และผลิต "คอนเดนเสท" (Condensate) ซึ่งนำมาเป็นวัตถุดิบหนึ่งในการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้อีกวันละ 84,136 บาร์เรล รวมเป็น 224,127 บาร์เรล/วัน (ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) ซึ่งเป็นปริมาณมากกว่าที่ประเทศบรูไนผลิตได้ในแต่ละวันเกือบ 2 เท่าตัว และมากติดอันดับ Top 40 ของโลก (ข้อมูลจาก U.S. Energy Information Administration)



ปริมาณการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยในปี พ.ศ.2554 ที่ผ่านมาเท่ากับ 673,896 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เราสามารถทำได้เองในแต่ละวัน เท่ากับว่า ประเทศไทยจะต้องนำเข้าน้ำมันดิบอีกประมาณ 450,000 บาร์เรล/วัน แต่ในความเป็นจริงปีที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวน 794,226 บาร์เรล/วัน นั่นจึงเป็นที่มาของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่สูงถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี



ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยได้นำน้ำมันดิบมาผ่านกระบวนการกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 954,829.9 บาร์เรล/วัน และส่งน้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 180,852.4 บาร์เรล/วัน ไปขายยังต่างประเทศ เป็นที่มาของมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปีละ 3 แสนล้านบาทดังที่ได้กล่าวไปแล้ว




เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในตางรางด้านบน จะพบข้อที่น่าสงสัยอยู่หลายประการ เช่น ในขณะที่เราผลิตน้ำมันดิบได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่เรากลับส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตได้นั้นไปขายยังต่างประเทศถึงวันละหลายหมื่นบาร์เรล แล้วนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่มีค่าขนส่งทำให้ต้นทุนสูงกว่าน้ำมันดิบซึ่งเราผลิตได้เองในประเทศ เท่ากับเป็นการเพิ่มราคาน้ำมันให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นไปแล้วหนึ่งรอบ



นอกจากนั้นแล้ว น้ำมันสำเร็จรูปที่เราผลิตได้เองซึ่งมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ แต่เรายังกลับนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศอีกวันละหลายหมื่นบาร์เรลและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งที่มีต้นทุนสูงกว่าน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเรากลั่นได้เอง เท่ากับเป็นการเพิ่มราคาน้ำมันให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นอีกหนึ่งรอบ



ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำมันดิบและคอนเดนเสทที่เราผลิตได้เอง หักลบออกจากปริมาณน้ำมันดิบที่ถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ จะเหลือปริมาณน้ำมันดิบและคอนเดนเสทใกล้เคียงกับปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปที่ถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ จึงเป็นไปได้ว่า บริษัทน้ำมันอาจจะเลือกใช้วิธีการทำกำไรสูงสุด นั่นคือ นำน้ำมันดิบและคอนเดนเสทที่ผลิตได้ในประเทศซึ่งมีต้นทุนต่ำ มาทำการกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปแล้วส่งไปขายยังต่างประเทศซึ่งจะได้ราคาสูง ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายกันอยู่ในประเทศไทยก็ได้มาจากการกลั่นน้ำมันดิบซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ กลายเป็นว่าคนไทยทุกคนต้องแบกรับภาระค่าน้ำมันที่แพงขึ้น เพื่อให้บริษัทน้ำมันมีผลกำไรสูงสุด



บริษัทน้ำมันดังกล่าว แน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากต่างแดน เช่น Chevron (สหรัฐอเมริกา), Mitsui (ญี่ปุ่น) และ Pearl Energy (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ซึ่งได้รับสัมปทานน้ำมันในประเทศไทยกันไปบริษัทละนับสิบสัมปทาน แต่บริษัทน้ำมันที่ได้รับประโยชน์สูงสุดเพียงหนึ่งเดียว ก็คือ ปตท. รัฐวิสาหกิจอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีรายได้ในปีที่ผ่านมาเกือบ 2.5 ล้านล้านบาท และมีกำไรกว่า 1 แสนล้านบาท



ผลกำไรอย่างมหาศาลของ ปตท. มาจากการประกอบกิจการอย่างครบวงจรจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การสำรวจและผลิตน้ำมันดิบ ซึ่ง ปตท. ถือครองสัมปทานสำรวจและผลิตน้ำมันทั้งบนบกและในทะเลของประเทศไทยอยู่กว่า 20 สัมปทาน (มากเป็นอันดับหนึ่ง) ต่อมาถึงกิจการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยที่แทบจะเรียกได้ว่า ผูกขาดโดย ปตท. เพราะแม้ปัจจุบันจะมีบริษัทกลั่นน้ำมันในไทยอยู่ 8 บริษัท แต่ครึ่งหนึ่งนั้นมี ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด และมีอีก 1 บริษัทที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 (ตามตารางด้านล่าง) และสุดท้ายคือกำไรจากการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปทั้งค้าปลีกในปั๊มน้ำมัน ค้าส่งให้องค์กร และส่งออกขายต่างประเทศ




แน่นอนย่อมมีการอ้างว่า ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้น 51.49% โดยกระทรวงการคลัง ดังนั้นกำไรของ ปตท. ก็จะย้อนกลับมาเป็นรายได้ของรัฐบาล แต่หากเรามองไปถึงหุ้นอีกครึ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในมือของนักลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยจำนวนมากในนั้นก็เป็นนอมินีให้กับนักการเมืองใหญ่ตามที่ปรากฏหลายครั้งในสื่อต่างๆ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ทำไมเราต้องแบ่งผลประโยชน์ครึ่งหนึ่งของ ปตท. ให้กับบุคคลคนเหล่านั้น ? และทำไมประชาชนไทยจะต้องมาแบกรับภาระค่าน้ำมันแพงกว่าความเป็นจริง เพื่อสร้างผลประโยชน์ไปให้กับบุคคลเหล่านั้น ?



ถ้า ปตท. กลับมาเป็นของรัฐบาลเต็มตัวอีกครั้งเหมือนในอดีต ปตท. ก็ไม่จำเป็นต้องแสวงหากำไรอย่างถึงที่สุดโดยไม่สนใจความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยด้วยกัน รัฐบาลจะสามารถปรับสัดส่วนการผลิต การกลั่น และการจัดจำหน่ายน้ำมันของ ปตท. ให้เกิดความเป็นธรรมได้มากขึ้น ถึงแม้เวลานั้นกำไรของ ปตท. อาจจะลดลงบ้าง แต่คนไทยทั้งประเทศก็ไม่ต้องโดนขูดรีดจากค่าน้ำมันที่แพงเกินกว่าความเป็นจริงอีกต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น