source : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/446611
อาคารเขียว ไม่ใช่แค่การทาสีเขียว แต่เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน น้ำ ไฟ มีธรรมชาติในพื้นที่ และใช้ทรัพยากรทุกอย่างในอาคารอย่างคุ้มค่า จึงจะเป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่ใช่แค่ชื่ออาคารเขียวแค่นั้น
:อาคารเขียวในไทย นายจักรพันธ์ ภวังคะรัตน์ ผู้อำนวยการบริษัทร่วม สถานที่ให้บริการและการจัดการสินทรัพย์ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาเมื่อเร็วๆนี้ ในหัวข้อ “อนาคตของอาคารเขียวในประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันสังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าอาคารเขียวน้อยมาก ทำให้ปัจจุบันมีอาคารเขียวที่เกิดขึ้นจริงและได้ตรงตามมาตรฐานน้อยมากๆ
“อาคารเขียวสำหรับเมืองไทย ถือว่าอยู่ในช่วงผลักดันให้ผู้ซื้อหรือผู้เช่าอาคารมีความรู้ความเข้าใจและ ความคุ้มค่าในการใช้งานอาคารเขียว เพราะผู้ซื้อหรือผู้เช่านี้เองที่จะเป็นแรงกระตุ้นให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ก่อสร้างต้องตอโจทย์ผู้ใช้งานอีกทีหนึ่ง”ผู้บริหารจากบริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
เขาอธิบายอีกว่า ตึกที่ได้ชื่อว่าเป็นอาคารเขียว ต้องมีคุณสมบัติเด่น 5 ประการคือ พื้นที่และบริเวณรอบอาคารต้องมีธรรมชาติ ทั้งตึกต้องมีระบบประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน รวมถึงก่อสร้างด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการทรัพยากรในสำนักงานทุกอย่าง เช่น เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ หรือนำไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นได้ และสุดท้ายผู้ใช้งานอาคารจะต้องมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ จึงจะถือว่าเป็นอาคารเขียวที่สมบูรณ์แบบ
“คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการสร้างอาคารเขียวใช้ทุนสูง จะคุ้มค่าไหมถ้าลงทุน ทำให้มองข้ามความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น”ผู้บริหารจากธุรกิจอสังหา อธิบายและว่า อาคารเขียวอาจมีต้นทุนเพิ่มจากตึกธรรมดา 10% ความคุ้มค่าที่มีคือ ภาคอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง จะหันมาวิจัยและพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือก ลดต้นทุนในการนำเข้ามากขึ้น และสุดท้ายค่าวัสดุก่อสร้างจะถูกลงตามตบาดที่มีความต้องการมากขึ้น
เขายังกล่าวต่ออีกว่า อนาคตเมืองไทยจะมีอาคารเขียวเพิ่มขึ้นแน่ๆ เพราะตอนนี้หลายธุรกิจหันมาตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น อย่างเช่น บริษัทโตโยต้า บริษัทปูน หรือแม้แต่ธนาคาร ก็เริ่มกันมาสร้างสำนักงานภายใต้คอนเซ็ปต์อาคารเขียวมากขึ้นแล้ว เพราะไม่เพียงคนในองค์กรมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี แต่ยังมีผลดีกับกิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทเองในแต่ละปีโดยตรงอีกด้วย
ประโยชน์ของการมีอาคารเขียว ไม่เพียงทำให้องค์กรใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แต่วิศวกร สถาปนิกไทย อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างจะมีประสบการณ์ในการทำงานทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง พัฒนาวัสดุที่รองรับอาคารเขียวมากขึ้น
:ภาครัฐพร้อมลุย
นาย ดนัย เอกกมล ผู้อำนวยการสำนักกำกับและการอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานพยายามจัดกิจกรรมประกวดออกแบบบ้านและอาคารเขียวมาตลอด เพื่อปลูกฝังตั้งแต่เยาวชนและภาคธุรกิจที่ร่วมกิจกรรมมีความรู้เกี่ยวกับคำ ว่าอาคารเขียวว่าดีและคุ้มค่าอย่างไร เพื่อรองรับกระแสอาคารเขียวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
นอกจากกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนตื่นตัว พพ.ยังออกกฏเกณฑ์พื้นฐานในการก่อสร้างอาคารเขียว เพื่อรองรับการตรวจและรับรองความเป็นอาคารเขียวที่เป็นของไทยขึ้นด้วยจาก เดิมที่อ้างอิงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจทำให้เราต้องนำเข้าวัสดุของเขามาใช้ในงานก่อสร้างด้วยจึงจะได้ มาตรฐานตามที่ประเทศเขากำหนดไว้
“ประเทศไทยจะมีมาตรฐานอาคารเขียวเป็นของตัวเอง เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่วัสดุก่อสร้าง ตกแต่งบ้าน รวมไปถึงนักออกแบบบ้าน วิศวกร ผู้รับเหมาได้ใช้ความรู้และฝีมือของตัวเองอย่างเต็มที่ตามรูปแบบที่กำหนดไว้ ไม่ต้องนำเข้าวัสดุและบุคลากรต่างชาติที่มีความรู้เฉพาะทางโดยตรง ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นการลดต้นทุนอย่างแท้จริง”ผู้บริหารจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวและว่า นอกจากกฎเกณฑ์มาตรฐานในการก่อสร้างแล้ว อนาคตพพ. ยังจะผลักดันให้มีผลต่อการลดหย่อนภาษีรายปีของผู้ประกอบการที่ใช้บริการ อาคารเขียวอีกด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนหันมาใช้บริการอาคารเขียวกันมากยิ่งขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของประเทศ
:กสิกรไทยเป็นมิตร
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้บริหารของไทยที่มองเห็นความจำเป็นของการมีสำนักงานเขียว กล่าวว่า สำหรับธนาคารกสิกร แนวความคิดที่จะมีสำนักงานใหม่เกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Green Building เกิดตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน โดยเลือกที่จะสร้างสำนักงานสีเขียวจากการต่อยอดอาคารพาณิชย์เดิมที่มีการก่อ สร้างมาก่อนแต่ไม่ได้ใช้งาน เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้น
“บริษัทลงทุนไปประมาณ 3 พันล้านบาท ซื้ออาคาร ซื้อที่ดินขนาดประมาณ 5 ไร่ ในเมืองทองธานี และปรับสภาพแวดล้อมด้วยสถาปัตยกรรมทั้งภายในและภายนอก โดยการยึดมาตรฐานความเป็นอาคารเขียว เพื่อให้พนักงานประมาณ 2-3 พันคนมีคุณภาพชีวิตในการทำงานระหว่างวันที่ดี”รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
หลังเปิดใช้งานอาคารอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ผลที่ได้พบว่าคุ้มค่าในระยะยาวอย่างมาก เพราะเมื่อเทียบกับอาคารสำนักงานที่มีขนาดพอๆกัน สำนักงานเขียวของกสิกรมีรายจ่ายในส่วนของค่าไฟถูกกว่า 30% ส่วนการใช้น้ำภายในอาคารก็น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากมีระบบบำบัดน้ำ แล้วนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่รวมถึงนำไปรดน้ำต้นไม้ในตอนสุดท้าย เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากเรื่องของพลังงานและระบบน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว สำนักงานเขียวยังเน้นประดับด้วยกระจกใสชนิดพิเศษสะท้อนแสงน้อย แต่รับแสงเข้าภายในอาคารและถ่ายเทความร้อนได้ดี รวมถึงมีระบบควบคุมระดับอากาศภายในอาคารให้มีอุณหภูมิพอเหมาะ เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
“ทุกองค์กรสามารถปรับอาคารที่มีอยู่เดิมมาเป็นอาคารเขียวที่เป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อมได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างตึกใหม่เสมอไป โดยคำนึงถึงทุนในกระเป๋าและความจำเป็นของการลงทุนเปลี่ยน อาจไม่ถึงขั้นได้มาตรฐาน LEED ซึ่งเป็นเกณฑ์อาคารเขียวของสหรัฐอเมริกาก็ได้ เพียงแค่มีความตั้งใจ แม้จะทำได้ไม่ครบอย่างมาตรฐานก็ถือว่ามีส่วนร่วมในการลดโลกร้อนได้แล้ว”รอง กรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ. ธนาคารกสิกรไทย กล่าว
หลังจากนี้ธนาคารกสิกรจะค่อยๆปรับสำนักงานในสาขาอื่นให้เขียวไปเรื่อยๆ เพราะเห็นผลระยะยาวแล้วว่าคุ้มค่ากับการลงทุน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น