วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ปตท.พร้อมขายธุรกิจ'เอ็นจีวี'

Source : http://www.thairath.co.th/content/eco/251663

 
กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมฯ บมจ.ปตท.เผย พร้อมขายธุรกิจการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี หากมีคนสนใจเข้าซื้อ โดยพบว่าหากไม่มีการปรับขึ้นราคาสะท้อนต้นทุน อาจขาดทุนสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท/ปี...

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจก๊าซเอ็นจีวีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปตท.ขาดทุนสะสม 3-4 หมื่นล้านบาท สาเหตุเพราะไม่สามารถปรับราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การลงทุนระยะแรกๆ เป็นการลงทุนที่รัฐบาลให้ ปตท.นำร่องเพื่อชักจูงให้เกิดการใช้ จึงขายในราคาขาดทุน ข้อกำหนดสำคัญ คือ จะให้ปรับราคาเป็นราคาไม่เกินครึ่งหนึ่งของดีเซล แต่ภายหลังรัฐบาลก็มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การขยับราคา และเพิ่งเริ่มขยับในปีนี้

ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารต่างเรียกร้องและกล่าวหาการคำนวณราคาของ ปตท. รวมทั้งสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือและเป็นกลาง มีการคำนวณราคาไม่ถูกต้อง ดังนั้น หากเอกชนรายใด หรือหน่วยงานใดก็ตามเห็นว่าสามารถบริหารธุรกิจเอ็นจีวีให้มีกำไรและอยู่รอดได้ ทางกลุ่ม ปตท.ก็พร้อมที่จะขายออกไป ทั้งกิจการปั๊มเอ็นจีวี การขนส่ง สถานีแม่-ลูกต่างๆ ปตท.ก็พร้อมจะขายเฉพาะเนื้อก๊าซให้ เพื่อให้การใช้เอ็นจีวียังคงมีต่อเนื่อง

นายวิชัย กล่าวต่อว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นขณะนี้ ทำให้ยอดใช้เอ็นจีวีโตรวดเร็ว ยอดขายปีนี้สูงกว่า 7,700 ตันต่อวัน หากราคาไม่ปรับขึ้นอีก การขาดทุนจะสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท สินค้าพลังงานที่กำหนดราคาต่ำในช่วงแรกก็เพื่อแรงจูงใจให้เกิดการใช้ ซึ่งผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งรถบรรทุก-รถโดยสาร แม้ลงทุนติดตั้งเครื่องเอ็นจีวีแพง แต่ก็คุ้มทุนได้กำไรไปแล้ว เพราะค่าขนส่งอิงราคาดีเซลเป็นหลักไม่ได้อิงเอ็นจีวี

ทั้งนี้ ปัญหาด้านต้นทุนเอ็นจีวี ทางกระทรวงพลังงานได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องต้นทุนเอ็นจีวี ซึ่งจัดรับฟังความคิดเห็นรอบแรกไปแล้ว และจะจัดรับฟังรอบที่ 2 ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ โดยจะสรุปนำเสนอต่อ นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เพื่อประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายราคาเอ็นจีวี หลังจากที่ภาคขนส่ง เช่น รถบรรทุก-รถโดยสาร คัดค้านการปรับขึ้นราคาเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม หรือขึ้น 6 บาทต่อกิโลกรัม ภายในปีนี้ โดยเอกชนต้องการเห็นการขึ้นราคาเพียง 2 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงานหากเปรียบเทียบกับสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พบว่าราคาต้นทุนของเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 8.90 บาทต่อกิโลกรัม แต่ที่มีความแตกต่างกันคือในส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทางสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ระบุว่ามีต้นทุนอยู่ที่ราคา 5.56 บาทต่อกิโลกรัม แต่ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ อยู่ที่ราคา 3.98 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อนำไปรวมกับราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ รวมค่าดำเนินการ ค่าปั๊ม ทำให้ราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวี หรือราคาขายปลีก ซึ่งยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีความแตกต่างกันประมาณ 1.58 บาทต่อกิโลกรัม โดยสถาบันปิโตรเลียมฯ ราคาอยู่ที่ 14.46 บาทต่อกิโลกรัม และของจุฬาฯ 12.88 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยนโยบายพลังงาน ยังได้ศึกษากรณีสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เสนอให้แยกต้นทุนแอลเอ็นจีที่นำเข้าจากต่างประเทศออกจากการสูตรคำนวณราคาพูล ก๊าซ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีที่ไม่รวมมูลค่าเพิ่ม ปรับลดลงจาก 12.88 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 12.63 บาทต่อกิโลกรัม.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น