วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

อีก 2 ปีบางรัฐของแคนาดาจะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน : ทำไม อย่างไร?

โดย ประสาท มีแต้ม http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000041123 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมีแผนการจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 9 โรง (รวม 7,200 เมกะวัตต์) ซึ่งได้สร้างกระแสคัดค้านให้กับชุมชนในพื้นที่หลายจังหวัดเป้าหมาย แต่ในรัฐออนตาริโอ (Ontario) ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งเมืองหลวงของประเทศแคนาดา ได้ประกาศจะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในปี 2557 โดยที่คำมั่นสัญญานี้ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2543 โดยรัฐบาลของรัฐ คำถามก็คือ (1) ทำไมจึงเลิก และ (2) เลิกแล้วจะใช้อะไรแทน แต่ก่อนจะไปถึงคำตอบนั้นเราค่อยๆ มาทำความเข้าใจบางอย่างและโยงมาถึงประเทศไทยที่มีการร้องเรียนบ่อยครั้งมาก ต่อคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร รัฐออนตาริโอมีจำนวนประชากรเพียง 1 ใน 5 ของประเทศไทย แต่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณเท่ากับประเทศไทย (คือ 31,189 เมกะวัตต์ โดยที่ 37% เป็นนิวเคลียร์, 25% เป็นพลังน้ำ, 21% เป็นถ่านหิน, 16% เป็น ก๊าซ/น้ำมัน และ 1.3% เป็นกังหันลม) ทั้งนี้เพราะเป็นรัฐในเขตหนาวตั้งอยู่ทางตอนเหนือติดชายแดนสหรัฐอเมริกา ผมสนใจปัญหาของรัฐนี้ก็เพราะว่าผมได้ติดตามคำปราศรัยของ Dr.Hermann Scheer อดีตสมาชิกรัฐสภาประเทศเยอรมนี ผู้ได้รับเกียรติให้เป็น “Hero for the Green Century” จาก Time Magazine และเป็นฮีโรของผมด้วย เขากล่าวว่า “รัฐออนตาริโอสามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนได้ 100% เพราะขณะนี้ได้ใช้พลังน้ำอยู่แล้วประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ที่ขาดไป 2 หมื่นก็ทำแบบเดียวกับที่ประเทศเยอรมนีทำซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปีก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้” มาถึงประเด็นว่าทำไมต้องเลิกหรือขายทิ้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน คำตอบก็คือเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศที่มีหมอกควัน (smog) มาก จากรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อม(มีนาคม 2544) พบว่า สาเหตุของหมอกควัน 50% เคลื่อนย้ายมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา สารพิษในอากาศที่สำคัญได้แก่ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ จนถึงสารปรอท รายงานชิ้นนี้สามารถจำแนกได้ว่า สารพิษที่เกิดจากภายในประเทศ เช่น NOx มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 15% จากภาคการขนส่ง 44% สารปรอท (ซึ่งทำลายระบบประสาทและสะสมในห่วงโซ่อาหาร) เกิดจากการเผาขยะและโรงไฟฟ้าถ่านหิน 28% และ 23% ตามลำดับเมื่อพบข้อมูล นี้ ผมรู้สึกแปลกใจมากว่าทำไมกรณีมลพิษในมาบตาพุดของประเทศไทยจึงไม่สามารถจำแนก ได้ว่ามาจากโรงงานประเภทใดบ้าง โยนกันไปโยนกันมาจนหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ ต่อไปจะกล่าวถึง นโยบายการผลิตไฟฟ้าของรัฐออนตาริโอ (Ontario Electricity Policy, จากวิกีพีเดีย) สิ่งแรกที่ผมรู้สึกแปลกใจมากก็คือ ในช่วงปี 2536-2547 ในขณะที่อัตราการเพิ่มของประชากรของทั้งสอง (ประเทศไทยกับรัฐ) เพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกันคือประมาณปีละ1 % และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ก็ไม่ต่างกันมากนัก (ออนตาริโอ 2 ถึง 3%, ไทย 4.6%) แต่อัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานไฟฟ้าต่างกันถึงกว่า 10 เท่า คือ ของรัฐออนตาริโอ 0.5% แต่ของไทยอยู่ที่ 5.6% นี่มันสะท้อนอะไรครับ? ในแง่ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 40% ของต้นทุนจากก๊าซและน้ำมัน แต่เชื่อกันว่าค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวเนื่องจากมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหินคิด เป็นประมาณปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อคิดโดยรวมแล้วต้นทุนของไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินจะประมาณสองเท่าของการผลิตจากกังหันลม ใครที่อ่านแล้วรู้สึกไม่ค่อยเชื่อก็ลองค้นที่กูเกิลซิครับ มาถึงคำถามว่าอย่างไร ทางรัฐก็มีแผนการ 2 ประการ คือ (1) เพิ่มพลังงานหมุนเวียน และ (2) การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าทั้งในภาคครัวเรือน (ที่มีส่วนถึง 30%) ภาคพาณิชย์ (25%) และภาคอุตสาหกรรมให้ได้รวมกัน 10 ถึง 20% ภายในเวลาสองสามปี มาถึงเรื่องสุดท้าย คือกลไกอะไรที่ทำให้ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน ของตนเอง จนถึงกลุ่มนักธุรกิจขนาดย่อมที่ลงทุนทำโซลาร์ฟาร์ม ชีวมวล สามารถขายเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้ารวมได้ เรื่องนี้คิดโดย Dr.Scheer ที่ผมเอ่ยถึงตั้งแต่ต้น หลักการของเขาง่ายมากมี 3 ข้อและหลายประเทศได้นำไปใช้คือ (1) รับประกันว่าต้องสามารถส่งไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือ ใหญ่เท่าใดก็ตาม ไม่ต้องขออนุญาตจากโรงไฟฟ้าอื่นๆ (2) รับประกันราคาในระยาว 20 ปี ในราคาที่สูงกว่าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิล โดยผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บางกิจการของโซลาร์เซลล์ให้ผลตอบแทนถึงร้อยละ 10 ต่อปีทั้งๆ มีแสงแดดน้อยกว่าบ้านเราเยอะเลย และ (3) รับซื้อไม่จำกัดจำนวน ประเทศไทยเราก็นำหลักการนี้มาดัดแปลงใช้แต่เพี้ยนทั้งหลักการและการปฏิบัติ เป็นเรื่องยาก ชักช้าและถูกกีดกันที่จะได้ส่งไฟฟ้าเข้าสายส่ง สัญญาก็มีอายุแค่ 7-10 ปีเท่านั้น ทั้งๆ ที่กว่าจะคุ้มทุนได้ก็ต้องนานกว่านั้น เพื่อความอยากจะรู้ว่าในรัฐออนตาริโอเขามีขั้นตอนอย่างไรและนานแค่ไหนในการ ดำเนินการเพื่อขายไฟฟ้าผมก็ค้นพบว่า ผู้ขอใช้สามารถกรอกแบบฟอร์มผ่านอินเทอร์เน็ตได้เลย บริษัทผู้รับผิดชอบจะตรวจทบทวนใบสมัครให้เสร็จภายใน 60 วันทำการ หากทุกอย่างครบถ้วนก็ส่งต่อไปอีกหนึ่งขั้นตอนเท่านั้น ผมคิดเอาเองนะครับว่า คงไม่เตะถ่วงเหมือนบ้านเรา มิฉะนั้นดัชนีความสุขของประเทศแคนาดาคงไม่สูงเป็นอันดับหกของโลก!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น