วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ลิกไนต์หงสา : โศกนาฏกรรมที่กำลังจะเกิด

ธารา บัวคำศรี
กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
http://www.thaipost.net/tabloid/080412/55142

    เมื่อรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
ประกาศ แผนการเปลี่ยนประเทศให้เป็น "แบตเตอรี่ของอาเซียน" ภายในปี พ.ศ.2563 เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความเป็นประเทศด้อยพัฒนา และการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนา โดยการวางแผนจากส่วนกลางมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่ดำเนินการสืบเนื่องมา ก่อนหน้านี้ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล หนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือดึงการลงทุนจากต่างประเทศใน โครงการขนาดใหญ่ทั้งด้านป่าไม้ เหมืองแร่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน
    ดังนั้น นอกจากเราจะได้เห็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการเกิดขึ้นใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อย่างเช่น เขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งถือเป็นแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ที่ช่วยเติมเต็มแผนการให้เป็น ไปตามเป้าหมาย แม้ว่าจะต้องแลกกับผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงการสูญเสียระบบ นิเวศวิทยาที่สำคัญอย่างไม่มีวันฟื้นคืน เรายังจะได้เห็นอภิมหาโปรเจ็กต์ด้านพลังงานอีกอันหนึ่งนั่นก็คือ โครงการลิกไนต์หงสา
    โครงการลิกไนต์หงสา มิใช่เป็นเพียงโครงการเหมืองถ่านหินแบบเปิดหน้าดินธรรมดา หากแต่พ่วงเอาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 1.878 กิกะวัตต์ ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง รวมถึงระบบสายส่งไฟฟ้าข้ามพรมแดนเชื่อมกับระบบสายส่งไฟฟ้าของไทยเข้าไปด้วย ถ้าจะเทียบรุ่น ก็เป็นน้องๆ ของเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะ ที่ลำปาง ซึ่งขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำลังทุ่มทุนประชาสัมพันธ์หลอก ประชาชนว่าปลอดภัยไร้มลพิษ
    จะว่าไปแล้ว โครงการลิกไนต์หงสาเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2539 โดยบริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์จำกัด (TLL) โดยมีบริษัททีมคอนซัลติ้งของไทยเจ้าเก่า ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในส่วนของเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า และรายงานการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ในส่วนของระบบสายส่งและแผนปฏิบัติการอพยพย้ายถิ่นของชุมชน แต่โครงการถูกยกเลิกก่อนที่รายงานต่างๆ จะแล้วเสร็จ และในปี 2548 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) ยักษ์ใหญ่ถ่านหินจากไทยได้ถูกพิจารณาให้ดำเนินโครงการโดยร่วมทุนร้อย ละ 37.5 ร่วมกับ บมจ.ไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ซึ่งเข้ามาร่วมทุนในเดือนพฤศจิกายน 2550 อีกร้อยละ 37.5 ส่วนที่ เหลือเป็นของรัฐบาล สปป. ลาว
    มีข้อสังเกตว่า ในกรณีที่ทางบริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ ฟ้องรัฐบาลลาวหลังจากถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโรงไฟฟ้าหงสา โดยเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,700 ล้านบาท) และ การที่ศาลนครนิวยอร์กยืนยันเดินหน้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการเมื่อเร็วๆ นี้ อาจไม่ส่งผลต่อการเดินหน้าโครงการ แต่เมื่อพิจารณาถึงความใหญ่โตของโครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าและผลกระทบด้าน สังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงอายุ 25 ปี ลิกไนต์หงสาอาจไม่มีอนาคตสดใสเสียทีเดียวนัก นี่ยังไม่รวมถึงช่องโหว่ในเรื่องของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำขึ้นระหว่าง โครงการและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การให้เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยหลายแห่ง ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามในเรื่องของธรรมาภิบาลและความโปร่งใสจากกลุ่มประชา สังคมที่ทำงานด้านพลังงานในประเทศไทย
    เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม บทความนี้ไม่สามารถลงรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมได้ ข้อมูลจากการสำรวจวิจัยอิสระภาคสนามซึ่งผู้เขียนได้มาจากอาสาสมัครกลุ่ม หนึ่ง ได้ระบุประเด็นผลกระทบสำคัญในช่วงต้นของการเตรียมโครงการ โดยเฉพาะในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับผลกระทบและการเข้าถึง ข้อมูลข่าวสารของโครงการ เป็นที่ชัดเจนว่าคนท้องถิ่นในอำเภอหงสา แขวงไซยะบุรี ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และหมู่บ้านโดยรอบที่อยู่ในเขตที่ตั้งของโครงการ ไม่รู้ข้อมูลเรื่องโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า ทั้งจากบริษัทและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การประชาสัมพันธ์โครงการนั้น ก็เป็นไปตามแนวทางดั้งเดิมของทุกๆ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด นั่นคือผลดีที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นในเรื่องของการจ้างงานและปรับปรุง คุณภาพชีวิต
    ข้อมูลที่เราได้รับจากการสำรวจภาคสนามในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา (ภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์ที่เข้มงวดใน สปป. ลาว) พบว่า มีหลายชุมชนต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหลีกทางให้กับโครงการถ่านหินยักษ์ใหญ่ที่จะ กลายมาเป็นแบตเตอรี่ก้อนใหม่ให้กับอาเซียน คำบอกเล่าของคนที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่น ทำให้เรานึกถึงภาพในอดีตครั้งเมื่อรัฐบาลไทยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเริ่ม โครงการถ่านหินที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง ชาวบ้านหงสาคนหนึ่งเล่าว่า เขาสูญเสียพื้นที่เกษตรและบ้าน เขาไม่ต้องการย้ายไปยังที่ใหม่แต่ไม่อาจปฏิเสธเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เพราะ ที่ดินเป็นของรัฐ ถ้ารัฐต้องการที่ดิน เราต้องคืนให้เพราะว่ารัฐบาลจะพัฒนาและประชาชนต้องร่วมมือ ส่วนอีกคนหนึ่งบอกว่าตนเองก็สูญเสียที่ดินเพราะว่าอยู่ในพื้นที่โครงการ เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า เขาได้รับค่าชดเชยและมันก็ยุติธรรมดี แต่เขาไม่อยากได้เงินเพราะว่าที่ดินนั้นเป็นมรดกตกทอดจากปู่ย่าตายายและเขา ต้องการเก็บไว้ให้ลูกหลาน ถ้าเขาไม่มีที่ไร่ที่นาเลย เขาจะเอาข้าวมาจากที่ไหน
    ก่อนที่สภาแห่งชาติลาวจะอนุมัติโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าที่หงสา แขวงไซยะบุรี ได้ส่งเสริมให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยจุดขายที่สำคัญคือ เทศกาลช้าง ซึ่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวนับหมื่นคนในแต่ละปีแม้ว่าอำเภอหงสาจะอยู่ห่าง ไกล แน่นอนว่าเทศกาลช้างนั้นทำให้คนท้องถิ่นมีรายได้มาถึงมือโดยตรง คนท้องถิ่นหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลของเขาเปิดให้โครงการเหมืองและโรง ไฟฟ้าถ่านหินที่มีนักลงทุนจากประเทศไทยมาดำเนินการห่างจากหมู่บ้านที่จัด เทศกาลช้างเพียง 5-7กิโลเมตร พวกเขาไม่เข้าใจและกังวลต่อแนวทางการพัฒนาเช่นนี้ อายุของโครงการลิกไนต์หงสานั้นมีระยะเวลาอย่างน้อย 25 ปี นั่นหมายถึงผลกระทบอาจเกิดขึ้นต่อการจางหายไปของรากฐานทางวัฒนธรรมที่คนกับ ช้างที่ชาวหงสาดำรงอยู่มายาวนาน
    การบังคับ (กลายๆ) ให้อพยพย้ายถิ่นออกจากผืนดินเกิดของตนเองด้วยเหตุผลเรื่องการพัฒนา และคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์มาโดยตลอดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าเราจะพิจารณาในมุมใด และสำหรับชาวหงสาซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น เราไม่รู้ว่าขอบเขตผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโครงการนี้จะกว้างขวาง เพียงใด คำตอบมิใช่อยู่ในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยีเผาไหม้ถ่าน หินที่ บมจ.บ้านปู จะนำมาใช้ มิใช่อยู่ในกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของสภาแห่งชาติลาวที่มีความเข้มงวดมาก ขึ้นในการระวังผลกระทบจากโครงการลงทุนจากต่างประเทศ แต่คำตอบอยู่ที่ชาวหงสา แห่งแขวงไซยะบุรีเอง พวกเขาจะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่มีใจกลางของเรื่องอยู่ที่เหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ต่างจากคนแม่เมาะ จังหวัดลำปางที่ทำการต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวด ล้อมที่ดีรุ่นแล้วรุ่นเล่า
    ท้ายที่สุด ไม่ว่าจินตนาการว่าด้วย "แบตเตอรี่ของอาเซียน" จะนำพาสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาวไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงกับประชาชนของตน เราต้องไม่ลืมว่าทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของลาวนั้น มีไว้เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาของลาวใน ระยะยาว และเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดจากผลกระทบที่เป็นหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศโลก มิใช่มีไว้เพื่อความโลภของกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น