Source : https://politic.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsid=98716
อุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านที่พุ่งทะยานจนเกือบจะถึงจุดแตกหักอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่เป็นความขัดแย้งที่สะสมมายาวนานนับศตวรรษ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจตะวันตกได้แห่กันเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากน้ำมันที่มีอยู่อย่างมหาศาลในอิหร่าน หน่วย CIA ของสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปชักใยการเมืองของประเทศอิหร่านหลายต่อหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งใช้ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำแห่งอิรัก ให้ทำสงครามตัวแทนกับประเทศอิหร่านเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโคมัยนี เหล่านี้จึงเป็นเหตุให้ทั้งสองประเทศกลายเป็นคู่ปฏิปักษ์กันมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันก็ยังมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐอเมริกาจะใช้อิสราเอลเป็นตัวแทนทำสงครามกับอิหร่านอีกครั้ง เพื่อกำจัดก้างชิ้นโตที่ขวางบ่อน้ำมันในอิหร่านอยู่
"อิหร่าน" หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า "เปอร์เซีย" เคยเป็นจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ของโลก ชาวจักรวรรดินับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) แต่ต่อมาถูกกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียเข้ายึดครอง และผลัดเปลี่ยนมือไปอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถูกกวาดล้างอย่างเบ็ดเสร็จโดยชาวมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ตั้งแต่นั้นมาชาวเปอร์เซียจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
แต่ราชวงศ์ที่ปกครองเปอร์เซียก็ยังคงอ่อนแอเรื่อยมา จนถูกชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงหาผลประโยชน์อยู่บ่อยครั้ง เช่น ถูกรัสเซียยึดครองดินแดนแถบเทือกเขาคอเคซัส และถูกอังกฤษเข้าไปกอบโกยน้ำมันซึ่งขุดพบในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914 - 1918) เปอร์เซียถูกปกครองโดยราชวงศ์กาจาร์ (Qajar) เชื้อสายตุรกี จนเมื่อจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) และฝ่ายมหาอำนาจกลางพ่ายแพ้ในสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประกอบไปด้วย อังกฤษ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา จึงเข้าสวมรอยแทนโดยสนับสนุนเรซา ข่าน (Reza Khan) แม่ทัพในกองทัพเปอร์เซีย ให้ยึดอำนาจพระเจ้าชาห์ อะหมัด กาจาร์ (Ahmad Shah Qajar) ในปี ค.ศ.1921
ต่อมาในปี ค.ศ.1925 เรซา ข่าน ได้ถอดถอนพระเจ้าชาห์ อะหมัด กาจาร์ ออกจากตำแหน่งกษัตริย์ แล้วตั้งราชวงศ์ขึ้นใหม่คือ ปาห์ลาวี (Pahlavi) โดยมีตนเองเป็นปฐมกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี (Reza Shah Pahlavi)
พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ทรงเปิดรับวิทยาการอันทันสมัยจากตะวันตกมากขึ้น ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟ การศาล การแพทย์ และการศึกษาที่ได้ส่งพระราชโอรสและชาวอิหร่านจำนวนหลายร้อยคนไปศึกษาเล่าเรียนในยุโรป ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น บริษัทแองโกล-เปอร์เซียน ออยล์ (ปัจจุบันคือ BP) ที่ถือหุ้นโดยอังกฤษ ได้ครอบครองแหล่งน้ำมันส่วนใหญ่ของประเทศอิหร่าน อย่างไรก็ตาม พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ก็ได้ทรงถ่วงดุลอำนาจไว้โดยสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเยอรมนีด้วย
ค.ศ.1941 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษ สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ผู้นำของฝ่ายสัมพันธมิตร จึงได้ร่วมกันนำกองทัพเข้ายึดประเทศอิหร่าน ล้มรัฐบาลพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ให้พระราชโอรสคือ พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ขึ้นครองราชย์แทน และแม้ว่าภายหลังจากนั้นไม่นาน ประเทศอิหร่านจะได้รับอิสรภาพ แต่ก็ยังต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามาอีกเป็นเวลานาน
ดังนั้นกระแสชาตินิยมในอิหร่านจึงถูกจุดติดขึ้น โมฮัมหมัด โมซาเดกห์ (Mohammad Mosaddegh) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการชาตินิยมของอิหร่าน ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1951 หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือนเขาได้ยึดบริษัทน้ำมันของอังกฤษมาเป็นของรัฐบาลอิหร่าน ทำให้ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรด้วยการไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน
2 ปีต่อมา พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และพระราชินี เสด็จออกจากประเทศอิหร่าน เปิดทางให้คนของหน่วย CIA จากสหรัฐอเมริกา MI6 จากอังกฤษ และนายพลซาเฮดี (Fazlollah Zahedi) ของอิหร่าน ยึดอำนาจรัฐบาลโมซาเดกห์ ตั้งแต่นั้นมาโมซาเดกห์ก็หมดสิ้นอิสรภาพจนกระทั่งหมดลมหายใจไป
ส่วนพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ทรงคืนบ่อน้ำมันและฟื้นฟูความสัมพันธ์กับตะวันตกอีกครั้ง โดยพระองค์ทรงมีบทบาททางการเมืองด้วยพระองค์เองมากขึ้น แต่ฝ่ายต่อต้านที่นำโดยโคมัยนี (Ruhollah Khomeini) ผู้นำทางศาสนาอิสลามคนสำคัญของอิหร่าน ก็มีแรงสนับสนุนจากคนในชาติอยู่ไม่น้อย
การปราศรัยโจมตีรัฐบาลในปี ค.ศ.1963 ทำให้โคมัยนีถูกจับกุมตัว และกลายเป็นเชื้อไฟให้ชาวอิหร่านออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนน จนเกิดปะทะกับฝ่ายรัฐบาลทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ปลายปี ค.ศ.1964 โคมัยนีจึงถูกเนรเทศออกนอกประเทศเป็นเวลานานถึง 12 ปี
แม้จะอยู่ต่างประเทศ แต่โคมัยนียังคงปลุกระดมประชาชนชาวอิหร่านผ่านทางการเขียนข้อความและเทปบันทึกเสียงอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1978 ซึ่งตรงกับวันรำลึกการเสียชีวิตของอิหม่ามฮุเซน ชาวอิหร่านนับล้านคนได้เดินขบวนขับไล่ชาวอเมริกัน โค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี และนำตัวโคมัยนีกลับมาปกครองประเทศ
1 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 โคมัยนีเดินทางกลับประเทศอิหร่าน กองทัพประชาชนของเขาโค่นล้มบัลลังก์พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ได้สำเร็จ พระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยไปยังต่างแดนจนสวรรคต ส่วนโคมัยนีประกาศให้ประเทศอิหร่านปกครองด้วยรูปแบบรัฐอิสลาม โดยมีเขาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศทั้งทางศาสนาและการเมือง เรียกว่า อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ความสำเร็จของโคมัยนีในครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ "การปฏิวัติอิสลาม" ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวมุสลิมในหลายประเทศรวมตัวกันต่อต้านการครอบงำของชาติตะวันตก
เมื่อถูกขับไล่ออกจากประเทศอิหร่าน สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกก็หันไปให้การสนับสนุนซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) ผู้นำแห่งประเทศอิรัก เพื่อให้กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับโคมัยนี จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ประกาศสงครามกันในปี ค.ศ.1980 สงครามครั้งนี้อิรักมีสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลังจึงได้รับความเสียหายน้อยกว่าอิหร่านเป็นเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ได้มีการทำสนธิสัญญายุติสงครามในปี ค.ศ.1988 และหนึ่งปีต่อมาโคมัยนีก็เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลด้วยอาการป่วย
ชาวอิหร่านนับล้านคนที่เสียชีวิตจากสงคราม ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงอย่างมาก แต่อายะตุลลอฮ์ อาลี คาเมนี (Ayatollah Ali Khamenei) ซึ่งขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศต่อจากโคมัยนี ก็ยังคงสานต่อแนวทางเป็นปฏิปักษ์กับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต่อไป ยิ่งเมื่อได้มาจับคู่กับประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) สายเหยี่ยวคนสำคัญที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการหันไปสร้างความสัมพันธ์กับประเทศรัสเซีย เวเนซุเอลา และซีเรีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศัตรูตัวสำคัญของสหรัฐอเมริกา ประเทศอิหร่านจึงยิ่งกลายเป็นที่หนักใจของสหรัฐอเมริกามากขึ้นกว่าเดิม
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1948 สหรัฐอเมริกาได้สนับสนุนให้ชาวยิว (ซึ่งคือผู้กุมเศรษฐกิจตัวจริงของประเทศสหรัฐอเมริกา) ก่อตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นบนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ทำให้กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาและเชื้อชาติอย่างรุนแรงในภูมิภาคนี้ หนึ่งในคู่ขัดแย้งกับอิสราเอล คือ ประเทศเลบานอน ซึ่งมีพรมแดนติดกับทางตอนเหนือของอิสราเอล
ปี ค.ศ.1982 กองทัพอิสราเอลภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกาได้บุกเข้ายึดตอนใต้ของประเทศเลบานอน แต่ด้วยแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี ค.ศ.1979 ทำให้ชาวมุสลิมในเลบานอนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่า เฮซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ทำการขับไล่กองทัพอิสราเอล จนในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.2000 อิสราเอลก็ต้องถอนทหารออกไปจากประเทศเลบานอน ซึ่งสหรัฐอเมริกาและอิสราเอลจดบัญชีแค้นไว้กับประเทศอิหร่านและซีเรียว่า เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและอาวุธให้กับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในครั้งนั้น
หลังจากนั้นการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยประเทศอิหร่านถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลังกลุ่มเฮซบอลเลาะห์
แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่านได้ดำเนินมาจนถึงจุดใกล้แตกหักจากกรณีการพัฒนาโครงการโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน ซึ่งรัฐบาลอิหร่านยืนยันว่าเป็นการพัฒนาพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ แต่สหรัฐอเมริกาก็เชื่อว่าเป็นการใช้โรงงานไฟฟ้าบังหน้า ส่วนเบื้องหลังคือการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งโครงการนี้ของอิหร่าน เพราะหากประเทศอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเองเมื่อไร สหรัฐอเมริกาก็จะไม่ปลอดภัยอย่างถึงที่สุดเมื่อนั้น
สหรัฐอเมริกาพยายามดำเนินมาตรการคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันจากประเทศอิหร่านเหมือนเช่นที่เคยทำในสมัยรัฐบาลโมซาเดกห์ และชักชวนให้ทั่วโลกคว่ำบาตรด้วย แต่ดูจะไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากลูกค้ารายใหญ่ของอิหร่านอย่างประเทศจีนและญี่ปุ่นเท่าใดนัก มาตรการนี้จึงไม่สามารถกดดันรัฐบาลอิหร่านให้หยุดพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมา ได้เกิดเหตุการณ์แปลกๆ ขึ้นกับ 4 นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงานนิวเคลียร์และยูเรเนียม บางรายถูกลักพาตัวและบางรายต้องจบชีวิตลงจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดสังหาร รายล่าสุดคือ มอสตาฟา อาห์มาดี-โรชาน (Mostafa Ahmadi-Roshan) ซึ่งเสียชีวิตจากระเบิดแถบแม่เหล็กติดรถจักรยานยนต์
แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังระเบิดสังหาร แต่ชาวอิหร่านตลอดจนนักวิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลกต่างก็เชื่อว่าเป็นฝีมือของ CIA ดังนั้นรัฐบาลอิหร่านจึงตอบโต้โดยขู่จะปิดเส้นทางเดินเรือที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ (Hormuz) ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับมหาสมุทรอินเดีย นั่นหมายความว่า น้ำมันจากตะวันออกกลางจะถูกตัดเส้นทางลำเลียงออกสู่ทะเล ทำให้ส่งผลกระทบต่อทั้งโลกและโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุด
เมื่อรัฐบาลอิหร่านคิดเล่นอาวุธหนักเช่นนี้ ก็อาจเป็นการบีบให้สหรัฐอเมริกาต้องชิงลงมือก่อน มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะใช้ยุทธการณ์สงครามตัวแทนโจมตีประเทศอิหร่านอีกครั้งหนึ่งเหมือนที่เคยใช้ประเทศอิรักเป็นตัวแทนมาก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้จะมีประเทศอิสราเอลเป็นตัวแทน โดยอาศัยข้ออ้างว่า รัฐบาลอิหร่านให้การสนับสนุนกลุ่มเฮซบอลเลาะห์เพื่อโจมตีอิสราเอล
3 เหตุการณ์ประจวบเหมาะในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ การลอบวางระเบิดรถยนต์ของนักการทูตอิสราเอลประจำกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย การลอบวางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทูตอิสราเอลประจำกรุงทิบลิซี ประเทศจอร์เจีย และเหตุระเบิดที่ซอยสุขุมวิท 71 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า มีเป้าหมายคือรัฐมนตรีของอิสราเอลที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ใช้ระเบิดแถบแม่เหล็กในรูปแบบเดียวกับการลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์อิหร่าน แต่ทั้ง 3 เหตุการณ์ก็ถูกรัฐบาลอิสราเอลกล่าวหาอย่างทันทีว่าเป็นฝีมือของชาวอิหร่านซึ่งโยงใยไปถึงกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ศัตรูคู่แค้นของอิสราเอล ในขณะที่รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นใดๆ กับเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ก็ได้เพิ่มความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอิสราเอลที่จะเปิดฉากตอบโต้อิหร่านด้วยกำลังทหารในอนาคต ซึ่งหากปฏิบัติการณ์โจมตีอิหร่านของสหรัฐอเมริกาโดยมีอิสราเอลเป็นตัวแทนประสบผลสำเร็จแล้ว นอกจากจะกำจัดศัตรูตัวสำคัญไปได้ สหรัฐอเมริกายังจะได้กอบโกยผลประโยชน์จากประเทศอิหร่านซึ่งมีมีปริมาณแก๊สธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับสามของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโอเปกอีกด้วย
ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ปฏิบัติการณ์ครั้งนี้อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เสี่ยงมากแต่ก็คุ้มมากสำหรับสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
ขอบคุณ ทีมีบทความฃดีฯไห้อ่านครับ
ตอบลบความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลกเกิดจาก CIA โดยสหรัฐอเมริกา
อยากเห็นหลายฯประเทศทั่วโลกรู้ทันอเมริกาครับ