เกาะพะลวย ต้นแบบพลังงานสะอาดแห่งแรกของไทย
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านทรัพยากรและพลังงานทดแทนเพื่ออนาคตโลกของเรา
จึงส่งเสริมชาวบ้านเรียนรู้คุณค่าพลังงาน และทรัพยากรอย่างประหยัด
ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับโครงการเกาะต้นแบบพลังงานสะอาด ณ เกาะพะลวย
หนึ่งในหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี
เป็นการเข้ามาเยียวยาและพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านบนเกาะให้มีชีวิตความ
เป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องพัฒนาการใช้ชีวิตเพียงอย่างเดียว
แต่ยังปลูกฝังให้ชาวบ้านรู้จักหวงแหนพื้นที่และอนุรักษ์ทรัพยากรมีค่าบนเกาะ
รวมไปถึงการต่อยอดสร้างอาชีพให้กับชาวบ้าน
ซึ่งแม้จะมีชีวิตความเป็นอยู่ในพื้นที่ห่างไกล
แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่หลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านทรัพยากร “น้ำ” และพลังงานทดแทนเมื่อเกาะพะลวย ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกาะพลังงานสะอาดแห่งแรกของประเทศไทย โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ที่เข้ามาดูแลเรื่องพลังงานทดแทนในพื้นที่ต่างๆ บนเกาะ อาทิ การนำแผงโซล่าเซลล์มาติดตั้งตามบ้านเรือน, การนำมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้ามาใช้งาน, การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการแปรรูปอาหารและวัตถุดิบจากทะเล รวมไปถึงการลดใช้พลังงาน ทั้งด้านการรณรงค์ให้เรือประมงหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซล และการส่งเสริมให้ใช้เตาพลังงานชีวมวล แทนการใช้ก๊าซหุงต้มฯ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดการน้ำบนเกาะและพัฒนาเป็นระบบ สาธารณูปโภคอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ และภาคเอกชน เข้ามาพัฒนาโครงการเกาะพลังงานสะอาด เกาะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ณ เกาะพะลวย เมื่อปี พ.ศ.2553 เป็นต้นมา
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักที่เข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การส่งทีมงานสำรวจด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ และทดลองขุดเจาะสำรวจทั้งหมด 12 บ่อ แต่สามารถใช้ได้จริง 9 บ่อ แห้งไป 3 บ่อ จากนั้นเมื่อทางกรมฯ ร่วมมือกับหน่วยงานหลัก เร่งเข้าพัฒนาติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเก็บกักน้ำในบ่อพัก แล้วแจกจ่ายเป็นระบบประปาตามบ้านให้กับประชาชนบนเกาะ สร้างความสะดวกสบายและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านในหมู่เกาะพะลวย ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มาก ราว 500 คน ประมาณ 180 ครัวเรือน มีทั้งหมด 4 อ่าว ต่างก็มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานเช่นกัน และเนื่องจากมีประชากรหลากหลายวัย ทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีโรงเรียนประจำเกาะ ซึ่งก็มีความต้องการในการใช้พลังงานแตกต่างกันไป
จนในขณะนี้เมื่อโครงการเกาะพลังงานสะอาดในส่วนของสาธารณูปโภคด้านน้ำ สำเร็จลุล่วงจนเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้น เด็กๆ มีชีวิตที่เป็นสุข อุปโภค-บริโภคอย่างถูกสุขลักษณะ และอีกไม่นานนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการส่ง มอบโครงการต่างๆ บนเกาะให้กับตัวแทนชาวบ้านต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ทางหน่วยงานราชการ ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแบบอย่าง หรือโมเดลแรก เพื่อนำไปพัฒนาต่อในพื้นที่แหล่งอื่นๆ ต่อไป
นอกจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังอาจมีการพัฒนาต่อยอดในเรื่องของรัฐวิสาหกิจชุมชนการนำน้ำที่ขุดพบมา ผ่านกระบวนการเพื่อผลิตเป็นน้ำแร่ธรรมชาติส่งขาย สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกต่อหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากน้ำบาดาลบนเกาะพะลวยนั้นมีแร่ธาตุปะปนอยู่ ซึ่งมีคุณภาพไม่ต่างจากน้ำแร่จากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ เลย สามารถที่จะต่อยอดนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำแร่ขวดส่งขายในเมืองได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนและทำให้ชาวบ้านเกิดรายได้ตามมาอีกทางหนึ่งด้วยนับได้ ว่าเป็นอีกหนึ่งคุณประโยชน์ของน้ำบาดาลที่มีคุณอนันต์ไม่สิ้นสุด
สำหรับการจัดทำโครงการนี้ไม่เพียงเป็นแค่กิจกรรมที่สร้างขึ้นเพียงหวัง ภาพทางสังคมเท่านั้น แต่หวังที่จะสะท้อนความสำเร็จของโครงการนี้ให้ประชาชนรับทราบและตระหนักถึง ความสำคัญของทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าที่สุดนั่นเอง
เป็นสุดยอดนวัตกรรมทางด้านพลังงานสะอาดที่น่าชื่นชมจริงๆ อยากให้ทำแบบนี้อีกหลายๆ พื้นที่เลยครับ
ตอบลบ