วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

“ปิดสวิตช์ เปิดยิ้ม” : ญี่ปุ่นประหยัดไฟฟ้าหลังฟูกูชิมะ

โดย...ประสาท มีแต้ม 
source : http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000047236



      
       “นักกิจกรรมญี่ปุ่นบอกผมว่า ขณะนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นทำงานอยู่เพียง 1 โรงเท่านั้น จากทั้งหมด 54 โรง”
      
       คำพูดข้างต้นนี้เป็นของบรรณาธิการ “จับตานิวเคลียร์” ซึ่งเป็นเอกสารรายสะดวกที่มีคุณภาพ เขาเล่าให้ผมฟังเพียงสั้นๆ ในโอกาสที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร เชิญมาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีชาวบ้านร้องเรียนเรื่องการทบทวนแผนพัฒนา กำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2010)
      
       “เขาทำได้อย่างไร” ผมถาม “ไฟฟ้าทั้งหมดของญี่ปุ่นมาจากนิวเคลียร์ 30% เขาทำได้โดยการประหยัดครับ แต่ผมก็ไม่ทราบรายละเอียดมากกว่านี้” เขาตอบก่อนจะแยกย้ายจากกันด้วยธุระจำเป็น
      
       ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ และกำลังเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเราครับ เพราะเป็นช่วงฤดูร้อนที่จะเกิดช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละปี (เรียกว่า peak) ซึ่งในแต่ละปีจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่ว่าสำคัญก็เพราะทางกระทรวงพลังงานจะนำเอากำลังผลิตไฟฟ้าที่สูงที่สุดใน ช่วงนี้ไปเป็นฐานในการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคต ถ้าค่าตัวนี้สูงจะทำให้เป็นข้ออ้างในการสร้างโรงไฟฟ้าเยอะๆ กำลังผลิตสำรองก็เยอะตามไปด้วย ถ้าเราช่วยกันลด peak ลงได้ การสร้างโรงไฟฟ้าก็น้อยลง ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลงด้วย
      
       ด้วยคำบอกเล่าอย่างย่อๆ แต่มีความสำคัญมากของบรรณาธิการมาดสุขุม ผมจึงต้องลงมือค้นคว้ าและนำมาเล่าสู่ท่านทั้งหลาย โดยเริ่มจากภาพประกอบข้างล่างครับ
       ซ้ายมือเป็นโปสเตอร์น่ารักๆ ข้อความข้างล่างเขียนว่า “ทุกคนประหยัดไฟฟ้า” แต่ที่กินใจผมมากๆ ก็คือข้อความที่เขียนว่า “ปิดสวิตช์ เปิดยิ้ม” นั่นแปลว่า เข้าร่วมประหยัดไฟฟ้าด้วยความเต็มใจ เข้าใจเป้าหมายและมีความสุข มีความภูมิใจ ส่วนภาพขวามืออาจจะดูไม่ชัด เพราะเขาเปิดไฟเฉพาะที่โต๊ะทำงานเท่านั้น ไม่ใช่เปิดสว่างจ้าไปทั้งห้อง
      
       พูดมาถึงตรงนี้ ผมเองก็แอบภูมิใจมากที่หลายห้องของอาคารภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ผมเคยทำงาน ได้ใช้แนวคิดนี้มา 3 ปีแล้ว โดยใช้สวิตช์กระตุกเฉพาะบริเวณที่จะใช้แสงสว่างจริงๆ (หวังว่ายังคงอยู่ตลอดไปนะครับ)
      
       หลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด (มี.ค.54) รัฐบาลได้ใช้แผนรณรงค์ประหยัดพลังงานที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “Setsuden” (แปลว่าประหยัดพลังงาน จากบทความของ Suvendrini Kakuchi ใน Guardian Environment Network) ปรากฏว่า ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นหน้าร้อนสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 9% ของปีก่อน (ประชากรญี่ปุ่นมีประมาณสองเท่าของไทย แต่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 6.2 เท่า, แสดงว่าโดยเฉลี่ยคนญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้าเป็น 3 เท่าของคนไทย แต่รายได้ต่อหัวประมาณ 8.8 เท่าของไทย ฮาไม่ออก!)
      
       แผนการรณรงค์ครั้งนี้ถือว่าเป็น “การเคลื่อนไหวระดับชาติ” ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2554 ในตอนแรกรัฐบาลต้องการจะลด peak ให้ได้ 15% แต่ปรากฏว่า สามารถลดจริงได้ถึง 20% โดยใช้มาตรการที่หลากหลาย เช่น ปิดไฟ เพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 28 องศาเซลเซียส ทำความสะอาดอุปกรณ์ ฯลฯ โดยได้รับความร่วมมือจากสาธารณะ สื่อ บริษัท ฯลฯ (เรื่องลด peak นี้เมืองไทยไม่เคยทำครับ-ย้ำ)
      
       นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า “การประหยัดพลังงานในขณะนี้ก็คล้ายกับสมัยหลังสงครามโลกครั้งสองที่ชาว ญี่ปุ่นต้องทำงานหนักเพื่อสร้างประเทศขึ้นมาใหม่”
      
       ที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวญี่ปุ่นพบว่าร้อยละ 74 ต้องการให้ญี่ปุ่นค่อยๆ เลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด ในขณะที่ร้อยละ 11 ต้องการให้หยุดในทันที และร้อยละ 13 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนนโยบาย
      
       ผมขอจบบทความนี้ด้วยความเห็นของอีกท่านหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ว่า “ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากที่เรากำลังเผชิญในวันนี้ ได้เปิดโอกาสให้แก่เรา เราจึงต้องไม่พลาดโอกาสนี้ หลังจากหายนภัย ประเทศญี่ปุ่นจะต้องเปลี่ยนแปลง และเราสามารถทำได้โดยวิธีการในระยะยาวเท่านั้น เพื่อจะทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความปลอดภัยมากขึ้น”
      
       แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นก็ประกาศจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 3 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2020 สาธุ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น