วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

“เหลี่ยม” ไม่รู้โรย! (1)

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน


โดย...ประสาท มีแต้ม

http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9550000038100
 
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร ซึ่งเป็นคณะทำงานในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเวทีรับฟังระหว่างกลุ่มชาวบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผมในฐานะอนุกรรมการฯ ได้นั่งฟังมาตลอดโดยไม่ได้ซักถามอะไร แต่ในตอนท้ายผมก็ได้พูดไปอย่างสั้นๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบทความนี้ว่า “เหลี่ยม” ไม่รู้โรย เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งเรื่องที่คุยกันบนโต๊ะอาหารและมีข่าวซุบซิบวงในด้วย




ชาวบ้านซึ่งประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดและเครือข่ายอนุรักษ์บางสะพาน ได้ร้องว่า “ขอให้ระงับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ชั่วคราว จนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการใช้ที่ดินทั้งหมดของ กฟผ.”



ผมเองคิดอยู่ในใจว่า “เอ๊ะ ในเมื่อพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ดีที่ควรสนับสนุน แล้วทำไมชาวบ้านจึงให้ระงับชั่วคราว”



หลังจากได้สดับตรับฟังแล้วได้ความโดยสรุปว่า (1) ทาง กฟผ.ได้ซื้อที่ดินขนาดประมาณ 4 พันไร่ที่อำเภอทับสะแก ซึ่งอยู่ทางตอนล่างของจังหวัดและติดต่อกับทะเล (2) กฟผ.จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 5 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าเป็นโครงการวิจัยต้นแบบและอาจพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมพลังงานทดแทน โดยใช้พื้นที่ประมาณ 250 ไร่ (3) ชาวบ้านสงสัยว่าพื้นที่ที่เหลือ กฟผ.จะใช้ทำอะไร



(4) แต่ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการ กฟผ.ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พื้นที่ทับสะแกเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จากทั้งหมด 9 พื้นที่จำนวน 7,200 เมกะวัตต์ (5) ชาวบ้านชี้แจงว่า ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมของทับสะแก เพื่อจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน พยายามล่ารายชื่อชาวบ้านให้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ (6) ด้วยเหตุการณ์ในพื้นที่และเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ชาวประจวบฯ ซึ่งรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของ กฟผ. ว่าโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์เป็นแค่ฉากบังหน้าไปสู่การปิดล้อมพื้นที่ไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน



และ (7) ชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าให้ระงับการก่อสร้างบนพื้นที่ 250 ไร่ไว้ก่อน แล้วให้รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านว่าควรจะใช้พื้นที่ที่เหลือไปทำอะไรดีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับชาวบ้านและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่



นอกจากสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว ตัวแทนองค์กรฯ (ผู้ร้อง) ได้วิพากษ์นโยบายในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ซึ่งเป็นแผนของประเทศในอีกประมาณ 20 ปี (แต่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงใหม่ของรัฐบาลชุดนี้) นับว่าเป็นการวิพากษ์ (โดยคุณสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล) ที่มีเหตุผลน่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง สมควรที่พลเมืองไทยน่าจะนำไปครุ่นคิดและขยายผล ผมไม่หวังรัฐบาลหรอกนะครับ แต่หวังในขบวนของพลเมือง ข้อวิพากษ์สรุป คือ



การคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความจริงมาทุกแผน นับ 20 ปีมาแล้ว การวางแผนผิดชัดๆ ผิดเห็นๆ ส่งผลให้มีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงในรูปของค่าเอฟที (2) มีการปิดโรงไฟฟ้าเพื่อซ่อมในช่วงฤดูร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก เพื่อให้ดูว่ากำลังผลิตสำรองน้อย เหมือนกับปิดซ่อมโรงน้ำแข็งในฤดูร้อน (ซึ่งคนสติดีเขาไม่ทำกัน ในวงเล็บนี้ผมใส่ไข่ครับ) (3) ไม่มีแผนการประหยัดพลังงาน พลังงานไฟฟ้าต่อจีดีพีของประเทศไทยเราสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และ (4) ไม่มีการบริหารความต้องการสูงสุด (peak) ซึ่งเกิดขึ้นปีละไม่กี่ชั่วโมง



ผู้แทนจาก กฟผ.ซึ่งผมทราบชื่อในภายหลังว่าคือคุณเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ ได้ตอบในที่ประชุมด้วยท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใสว่า “ที่พูดมาดูเหมือน กฟผ.ไม่มีอะไรดีเลย ความจริงน่าจะมีอะไรดีบ้าง ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับอันเนื่องมาจากไฟฟ้าไม่พอ (black out)”



“ก็ใช่นะสิ เพราะคุณสำรองไว้มากเกิน แต่ความจริงมีนะ หลายจังหวัดในภาคใต้เคยโดนไปกว่า 6-8 ชั่วโมงเนื่องจากปัญหาโรงแยกก๊าซที่ อ.ขนอม” ผมนั่งคิดเถียงอยู่ในใจเพราะเวลาเลยเที่ยงมามากแล้วและเป็นประเด็นที่ชัดเจนด้วยหลักฐานแล้ว



โดยสรุป ผู้แทน กฟผ.ตอบว่า “กฟผ.ยังไม่มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในขณะนี้” สำหรับเรื่องที่ดินที่เหลือกว่า 3 พันไร่นั้น “จะนำไปปลูกหญ้าเนียร์เปียพันธุ์ปากช่อง 1 เพื่อวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวมวล”



ตรงนี้แหละครับที่ผมทนไม่ได้ เพราะถ้าไม่เป็นการดูถูกผู้ฟังก็ต้องถือว่าเป็นความคิดที่ต่ำต้อยมาก เพราะพลังงานชีวมวลเขาจะทำจากไม้โตเร็ว หรือของเสียจากการเกษตรหรืออุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เริ่มต้นจากการปลูกหญ้า เมื่อประธานในที่ประชุม (นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) ถามผมว่า “อาจารย์ประสาทมีอะไรไหม?” ผมจึงพูดไปว่า “ข้อดีของ กฟผ. คือทำให้ชาวประจวบฯ เข้มแข็งและฉลาดขึ้น เพราะ กฟผ.ไม่มีความจริงใจ” (เสียงปรบมือ แต่ไม่หนักแน่นมากนักเหมือนชาวบ้านด้วยกันพูด)



ระหว่างรับประทานอาหาร ผู้แทน กฟผ.นั่งติดกับผม ต้องยอมรับว่าเขามีมนุษยสัมพันธ์ดีมาก เขาชวนอนุกรรมการไปตีกอล์ฟที่แม่เมาะเพราะอากาศดีมาก ผมชวนคุยเชิงให้แนวคิดและข้อมูลหลายเรื่อง แต่เขาก็โต้กลับมาทุกเรื่อง เช่น (1) ผมบอกว่ามีงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke โดยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ว่า นับจากปี 2553 เป็นต้นมา ต้นทุนโรงไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เริ่มถูกกว่านิวเคลียร์แล้วนะ เขาแย้งว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นของเก่า เดี๋ยวนี้ก้าวหน้าแล้ว พร้อมกับเสริมว่า “เยอรมนีเห็นแก่ตัว ตัวเองประกาศเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่หันไปซื้อไฟฟ้าจากฝรั่งเศสที่ผลิตจากนิวเคลียร์นั่นแหละ”



ผมตอบไปว่า “เท่าที่ทราบเยอรมนีผลิตไฟฟ้าใช้เอง ไม่ได้นำเข้า จะมีบ้างก็เป็นการแลกกันในบางช่วง” และนี่คือหลักฐานที่ผมได้ไปค้นในภายหลัง พบว่าในภาพรวมเยอรมนีส่งไฟฟ้าให้ฝรั่งเศสมากกว่าเยอะเลย (สังเกตตัวเลขและลูกศรกำกับ)




อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้แทน กฟผ.ซุบซิบกับผมก็คือ ตอนนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนหลายรายกำลังทุจริต โดยที่พวกนี้ได้รับค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม (adder) หน่วยละ 8 บาทจากการขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ แต่ปรากฏว่าแทนที่ผู้ลงทุนพวกนี้จะผลิตเองจากพลังงานหมุนเวียน เขากลับเอาไฟฟ้าในระบบมาขายเข้าระบบอีก แล้วได้รับค่าส่วนที่เพิ่มไปฟรีๆ ผู้แทน กฟผ.สะกิดผมพร้อมกับพูดว่า “ความจริงอาจารย์น่าจะทำเรื่องนี้” “อ้าว ก็ กฟผ.รู้อยู่แล้วทำไมไม่ทำเองล่ะ” ผมตอบเสียงดัง (คราวนี้ ผมไม่ได้คิดในใจ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น