วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

การตั้งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศไทย

source : http://www.dailynews.co.th/article/825/56347

การตั้งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ที่ยังมีผู้คลางแคลงใจกันมากว่า ทำไมเราจึงต้องไปอิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ ทำไมเราไม่ตั้งราคาของเราเอง บทความนี้มีคำตอบ




มีเพื่อนส่งเอกสารเผยแพร่สำหรับประชาชนของคณะกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เรื่อง “พลังงานไทย... พลังงานใคร?” มาให้อ่าน ซึ่งผมก็เคยอ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง พอมาอ่านซ้ำอีกครั้งก็ได้อรรถรสมากขึ้น



อ่านแล้วก็ต้องชมคณะกรรมาธิการฯ คณะอนุกรรมาธิการฯ และคณะบรรณาธิการ ผู้รวบรวมและเรียบเรียงเอกสารนี้ว่าเขียนให้ประชาชนอ่านได้เข้าใจง่ายและสนุกดี น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภาครัฐว่า ถ้าอยากจะสื่อสารอะไรกับภาคประชาชน โดยเฉพาะเรื่องยากๆอย่างเช่นเรื่องพลังงาน ต้องเอาตัวอย่างแบบนี้ไปทำครับ ถึงจะได้ผล



ข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ในเอกสารก็ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ และมีความน่าสนใจในหลายๆประเด็น ที่สามารถจะนำไปสู่การถกเถียงทั้งจากฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อความกระจ่างต่อสาธารณะชนต่อไป ในสิ่งที่ทางคณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้



แต่สำหรับบทความของผมในวันนี้ ผมตั้งใจจะอธิบายถึงการตั้งราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ที่ยังมีผู้คลางแคลงใจกันมากว่า ทำไมเราจึงต้องไปอิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ ทำไมเราไม่ตั้งราคาของเราเอง ทั้งๆที่เราไม่ได้นำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ แต่เรามีน้ำมันดิบที่ผลิตได้เองในประเทศมากกว่า 40 ล้านลิตร/วันเสียด้วยซ้ำไป อย่างที่อ้างในเอกสารเผยแพร่ของคณะกรรมาธิการฯ



ก่อนอื่นผมต้องเรียนว่าน้ำมันดิบที่เราผลิตได้เองในประเทศนั้นไม่พอใช้นะครับ เราผลิตน้ำมันดิบในประเทศได้ประมาณ 230,000 บาร์เรล/วัน (หนึ่งบาร์เรลมี 159 ลิตร) ก็เกือบๆ 40 ล้านลิตรอย่างที่ระบุในเอกสารฯนั่นแหละ แต่เราใช้วันละ 800,000 บาร์เรล หรือวันละ 127 ล้านลิตรครับ!



อีกทั้งน้ำมันดิบที่เราผลิตได้ภายในประเทศยังมีคุณภาพที่ไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นน้ำมันในบ้านเราอีกด้วย ทำให้เราต้องส่งออกน้ำมันดิบที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดไปขายต่างประเทศ และนำเข้าน้ำมันดิบคุณภาพที่เหมาะสมกับโรงกลั่นของเราเข้ามากลั่นแทน มีผลให้เราต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง 84% ของความต้องการทั้งหมดของประเทศ



ดังนั้นคำกล่าวที่ว่าเราเอาน้ำมันดิบในประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรของเราเองซึ่งควรมีราคาถูกมากลั่นขายในราคาแพงตามราคาในตลาดโลก จึงไม่เป็นความจริงครับ



ความจริงก็คือ น้ำมันดิบที่เราผลิตได้เองภายในประเทศก็ถูกส่งไปขายต่างประเทศในราคาตลาดโลก และเราก็นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในราคาตลาดโลกมากลั่นขายในประเทศ ดังนั้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายในประเทศจึงมีต้นทุนตามราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไปตามราคาในตลาดโลกครับ



ทีนี้มาดูกันว่าทำไมเราต้องไปตั้งราคาน้ำมันตามตลาดสิงคโปร์ เราตั้งราคาของเราเองไม่ได้หรือ คำตอบก็คือได้ครับ แต่ถึงแม้เราจะตั้งราคาของเราเอง ในที่สุดราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ก็จะเป็นตัวกำหนดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในบ้านเราอยู่ดี



เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะระบบการค้าเสรีและการแข่งขันในภูมิภาคยังไงล่ะครับ



ถ้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยตั้งราคาหน้าโรงกลั่นแพงกว่าสิงคโปร์มากเกินไป พ่อค้าขายส่งหรือบริษัทน้ำมันที่ไม่มีโรงกลั่นก็จะไปนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์มาขายแข่งกับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ โรงกลั่นก็ต้องลดราคาลงมาแข่งขันกับตลาดสิงคโปร์



ในทำนองเดียวกัน ถ้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศตั้งราคาหน้าโรงกลั่นถูกจนเกินไป พวกพ่อค้าคนกลางก็จะแห่มาซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในประเทศไทย ส่งออกไปขายต่างประเทศหมด โรงกลั่นก็ต้องขึ้นราคามาให้ใกล้เคียงกับตลาดสิงคโปร์อยู่ดี



เราจะเห็นว่านี่คือกลไกการตลาด และตลาดสิงคโปร์ก็คือตลาดกลางซื้อขายน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย และอยู่ใกล้บ้านเรามากที่สุด เราจึงต้องอิงราคาน้ำมันที่ตลาดสิงคโปร์ และไม่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศในเอเซียก็ล้วนแต่อิงราคาน้ำมันในตลาดสิงคโปร์ทั้งสิ้น



อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือสูตรราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศ ในเอกสารเผยแพร่ของคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ระบุว่า นอกจากมีการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงโปร์แล้ว ยังมีการบวกค่าโสหุ้ยนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าขนส่ง (สิงคโปร์-ระยอง/ศรีราชา) ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง (product loss) ค่าประกันภัย และค่าปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ค่าโสหุ้ยเหล่านี้ทำให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นในประเทศสูงเกินจริงเป็นภาระต่อประชาชน



ประเด็นนี้ผมเห็นว่าต้องมีการตรวจสอบและพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม แต่เท่าที่ผมทราบ การขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังประเทศไทยมีค่าขนส่งที่แพงกว่าไปที่สิงคโปร์ ทั้งนี้เพราะระยะทางที่ไกลกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่ด้อยกว่า เช่น ท่าเรือและ jetty เป็นต้น ดังนั้นการบวกค่าขนส่งให้จึงเป็นการให้แต้มต่อกับโรงกลั่นในประเทศในระดับหนึ่ง เพื่อจูงใจให้มาลงทุนสร้างโรงกลั่นในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ปัจจุบันยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ก็ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอีกครั้ง



ส่วนค่าปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์นั้นผมว่าเป็นค่าใช้จ่ายจริงครับ เพราะน้ำมันที่เราใช้อ้างอิงในตลาดสิงคโปร์ทั้งเบนซินและดีเซลนั้น มีคุณภาพต่ำกว่าที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งได้มาตรฐานยูโร 4 ดังนั้นค่าปรับปรุงคุณภาพจึงควรคงอยู่ในสูตรราคาหน้าโรงกลั่นต่อไป



อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะกำหนดสูตรราคาหน้าโรงกลั่นอย่างไร เราก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีการฉวยโอกาสทำกำไรอย่างไม่สมควร ตราบเท่าที่เราเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เพราะถ้าสูตรราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยแพงเกินไปอย่างไม่มีเหตุผล ก็จะมีคนนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เข้ามาขายแข่งกับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศอย่งแน่นอน



แต่เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นมีใครนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาขายแข่งกับโรงกลั่นในประเทศเลย แม้แต่บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย อย่างเปโตรนาสที่เข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกปั้มน้ำมันในประเทศไทย ยังต้องวิ่งขอซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยเลย ไม่เห็นจะไปนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซียหรือสิงคโปร์มาขายในประเทศไทยแต่อย่างใด นั่นแสดงว่าราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของเรายังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และกลไกการตลาดได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว



ส่วนการขายน้ำมันออกไปต่างประเทศที่ต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆออกไปนั้นก็เป็นเรื่องของการแข่งขันตามกลไกของตลาดอีกเช่นกัน ในเมื่อราคาขายในตลาดสิงคโปร์มันมีค่าขนส่งที่ถูกกว่าและคุณภาพน้ำมันก็ต่ำกว่า เราก็ต้องลดราคาลงไปแข่งขัน เพื่อให้ขายได้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องขาย



เมื่อเราไม่ขายไปต่างประเทศ เราก็ผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิต (กำลังการผลิตเรามี 1 ล้านบาร์เรล/วัน ความต้องการอยู่ที่ 8 แสนบาร์เรล/วัน) เมื่อผลิตได้ไม่เต็มกำลังการผลิต ต้นทุนต่อหน่วยก็สูง ถึงแม้จะลดราคาในประเทศลง ยอดขายก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะความต้องการมีแค่นั้น จึงต้องดิ้นรนไปหาตลาดในต่างประเทศ ทั้งๆที่ต้องไปแข่งขันด้านราคา จนบางครั้งถึงกับต้องขายขาดทุนก็ต้องยอม



เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ ที่พ่อค้าต้องยอมขาดทุนในการส่งออกเพื่อรักษาธุรกิจในประเทศที่เป็นธุรกิจหลักเอาไว้ ธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำมันในบ้านเราก็เช่นกัน เป็นธุรกิจทดแทนการนำเข้า ดังนั้นเรื่องของการส่งออกจึงเป็นเพียงธุรกิจรองเท่านั้น ไม่ใช่ธุรกิจหลักของอุตสาหกรรม การขาดทุนหรือไม่มีกำไรในธุรกิจรองจึงเป็นเรื่องปกติ



ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามของผมที่จะให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนเห็นภาพพลังงานไทยได้ลึกยิ่งขึ้น เมื่อเห็นทั้งสองด้านของเหรียญแล้ว ก็เป็นสิทธิของท่านที่จะพิจารณาไตร่ตรองตามที่เห็นสมควร



อย่างไรก็ตามสำหรับผู้มีหน้าที่ให้ข้อมูล ผมอยากให้ท่านให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนทั้งสองด้าน และข้อสำคัญต้องให้ข้อมูลโดยปราศจากซึ่งอคติด้วยครับ!!!



มนูญ ศิริวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น