วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

วันดี กุญชรยาคง เรียกเธอว่า...เจ้าแม่โซลาร์ฟาร์ม

source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20120423/447756/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%98%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2...%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A1.html




วันดี กุญชรยาคง หญิงผู้โลว์โปรไฟล์ แต่ผุดโปรเจก "โซลาร์ฟาร์ม" ในไทยที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป้าหมายแรกสำเร็จแล้ว เป้าหมายถัดไปคือบุกอาเซียน

ขุมทองของนักลงทุนที่นับ วันจะเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ ตามเมกะเทรนด์ของโลก นั่นก็คือ "พลังงานทดแทน" (Renewable Energy) ที่ปัจจุบันมีนักลงทุนมากมายให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ ฐานที่เป็น Sun bright business
 หนึ่งในนั้นคือการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) พลังงานหมุนเวียนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในระยะยาวและยังเข้ากับคอนเซปต์ พลังงานสะอาด อย่างไรก็ตามแม้จะมีผู้เล่นมากมาย แต่ "น้อยราย" ที่จะพัฒนาธุรกิจนี้ได้อย่างมีอีโคโนมี ออฟ สเกล เพราะมักจะถอดใจจาก "ต้นทุนการผลิต" ในปัจจุบันที่แพงลิ่ว เมื่อเทียบกับพลังงานประเภทอื่น
 เป็นการลงทุนที่ไม่มีคนกล้าทำ (เท่าไหร่) !
 แต่ไม่ใช่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ภายใต้การบริหารงานของ "วันดี กุญชรยาคง" ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่  เธอคืออดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โซล่าร์ตรอน จำกัด(มหาชน) ที่โบกมือลาจากตำแหน่งดังกล่าวจากปัญหาภายในซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราว เมื่อปี 2550 หลังจากนั้นเธอเลือกที่จะเก็บตัวเงียบเป็นเวลาร่วม 2 ปี ก่อนหวนคืนวงการ
 "2 ปีนั้นมันเป็นจุดเปลี่ยนของพี่ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจากคนที่เคยทำงานตั้งแต่ 6-7 โมงเช้า พี่ก็ไปซื้อสปาทั่วกรุงเทพฯ มีสปาที่ไหนพี่ไปซื้อหมด พี่ว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนชีวิต คงเป็น Timing ของมันที่เราจะถือโอกาสไปทำอย่างอื่นบ้าง ไปแสวงหาสิ่งใหม่ๆ บ้าง เข้าห้องสมุด ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก" วันดีเล่า
 ก่อนที่จะกลับมาทำงานอย่าง "บ้าคลั่ง" หลังจากรัฐบาลประกาศให้การสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ให้กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8 บาทต่อยูนิต เมื่อปี 2551 ทำให้เธอมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เธอบอก

 ความสำเร็จทางธุรกิจตามมาด้วยฉายาที่คนในวงการที่เรียกเธอว่าเป็น "เจ้าแม่โซลาร์ฟาร์ม" นั่นเป็นเพราะเธอคือผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนเอสพีซีจีกลายเป็นผู้นำในการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน
 "ตอนนี้โครงการของเราไม่ใช่แค่ Talk of the town ในประเทศ แต่ทั่วโลกหันมามองเรา ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น โปรเจคของเราใหญ่ที่สุดในอาเซียน ไม่มีใครใหญ่เท่าเรา"
 กับแผนในการพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มจำนวน 34 แห่ง แห่งละ 6 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตกว่า 240 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยโครงการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2556  โดยในปัจจุบัน 7 โครงการได้ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ไปแล้ว ในสัญญา Non-firm (ไม่ถูกปรับกรณีไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้ตามสัญญา) และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 9 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ในไตรมาสสามของปี 2555 และจะเริ่มพัฒนาอีก 18 โครงการภายในปี 2555
 คิดเป็น 25% (หนึ่งในสี่) ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่รัฐกำหนดไว้ที่ 900 เมกะวัตต์
 ส่งให้เธอกลายเป็น 1 ใน 15 นักธุรกิจหญิงเอเชียที่น่าจับตามองที่สุด ตามการจัดอันนิตยสารธุรกิจชั้นนำ อย่างฟอร์บส์ ในปี 2554 จากธุรกิจที่ดูมีอนาคตและยังเป็นเทรนด์ของโลก (Green Business)
 นั่นเพราะมองเห็นความ"ไม่ธรรมดา"ของผู้หญิงที่ดูจากภายนอกเหมือนจะ"ธรรมดาเอามากๆ"อย่างเธอ
 ทำไมวันดีจึงคิดไม่เหมือนชาวบ้าน ไม่เพียงหลุดวังวนแห่งปัญหาในเรื่อง "ต้นทุนการผลิต"  แบบไม่ปิดกั้นตัวเองจากข้อจำกัด เธอยังมองเห็น "โอกาสทางธุรกิจ" ได้อย่างน่าทึ่ง
 นั่นเพราะคำว่า "กลยุทธ์" คำเดียว
 ทว่าใช่ว่าใครจะคิดได้ วันดีคือผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มานานกว่า 30 ปีมีคอนเนคชั่นเพียบ พ่วงด้วยดีกรีปริญญาโทด้านพลังงานทดแทนทำให้ฐานความรู้แน่น แถมยังจบปริญญาตรีทางกฎหมายที่ใครก็หลอกเธอไม่ได้ง่ายๆ
 "การที่คนอื่นๆ บ่นๆ ว่าการทำโซลาร์แพงๆ แต่เรายังเดินหน้าเพราะเรามีกลยุทธ์ Best Cost  -Best Design -Best Output เราต้องออกแบบให้มีต้นทุน มีกำไรที่เหมาะสมที่ดีต่อนักลงทุน เราเลือกราคาอุปกรณ์ ที่กำหนดไว้เลย การที่เรามีกำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์ถือว่าใหญ่มาก ทำให้เราสามารถต่อรองกับซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้ราคาที่ดี ขณะเดียวกันรัฐบาลก็สนับสนุน Adder ให้กับผู้ผลิต ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ช่วยได้เยอะเลย" เธอบอก
 ก่อนจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เหมือนเราจะส่งใครเข้าประกวดนางงาม ก็ต้องไปเปรียบเทียบส่วนสูง ไปลดน้ำหนัก เพื่อให้เข้าตามสเปคของกองประกวด
 "เดิมทีต้นทุนการผลิตมันอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ แต่มันสูงเกินไปจะทำให้ยังไงให้ต้นทุนไม่เกิน 700 ล้านบาท เราก็ต้องไปหาคนที่ซัพพลายอุปกรณ์ ไปแมทชิ่งทุกอย่าง ต้องไปคิดว่ากำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้กี่ยูนิตต่อเมกะวัตต์ เพราะมันไม่เคยมีของจริงที่ใหญ่ขนาดนี้ ต้องประเมินความเข้มของแสงอาทิตย์ในไทยซึ่งมีความเข้มสุดยอดอยู่แล้ว เพื่อหาค่าพลังงานที่จะผลิตได้ต่อยูนิต ต้องคิดต่อว่าใน 3-5 ปีค่าพลังงานจะเป็นเท่าไหร่ เพราะมันคือตัวเลขรายได้ที่จะกลับมาในระยะยาวตลอดอายุโครงการที่ 30 ปี"
 พอเราเห็นว่าทำได้ ก็ต้องพิสูจน์ให้คนอื่นเห็น ด้วยการลงมือทำ กลายเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มจำนวนมาก หลังสิ้นสุดโครงการในปี 2556 เธอยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มล้อไปตามแผนของรัฐที่จะเพิ่มกำลัง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จาก 900 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ ในระยะ 10 ปี
 "เราต้องมีสัดส่วน 25 % ในนั้น หรือมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 500 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า พี่รู้แล้วว่าจะลงอะไรบ้างแต่ยังบอกไม่ได้ โดยจะพุ่งเป้าไปในพื้นที่ภาคอีสานและในบางจังหวัดในภาคกลาง เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นที่ราบสูง น้ำไม่ท่วมแน่นอน (ทุกโครงการในปัจจุบันอยู่ภาคอีสาน) และการพัฒนาโครงการในประเทศถือว่าเป็นแผนระยะสั้น" เธอหัวเราะ
 น่าสังเกตว่า 9 โครงการโซลาร์ฟาร์มที่เปิดตัวไป ล้วนเป็นการจับมือกับพันธมิตรไม่ซ้ำหน้า เพื่อช่วยแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจ เสริมความแข็งแกร่งทางการเงิน แต่นับจากโครงการที่ 10 เป็นต้นไป แม่เสือสาวบอกว่า จะขอทำเอง 100 % (หัวเราะ)
 มีขนมอร่อย ก็อยากเก็บไว้กินเอง !! เธอบอก
 พร้อมกับความเชื่อมั่นในอนาคตธุรกิจว่า พลังงานคือ "ปัจจัยที่ 6" ของการดำรงชีพ โดยเฉพาะเจเนอเรชั่นถัดไป จะต้องใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ๆ เพราะพลังงานในอดีต ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน กำลังจะหมดไป นั่นหมายถึงรายได้ที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน
 ไกลกว่าธุรกิจในประเทศ ในปี 2557 แม่เสือสาว ยังมีแผนจะขยายธุรกิจเข้าในอาเซียนโดยเดินเกมใช้บริษัทในกลุ่มอย่างโซล่า เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (SPE) หยั่งเชิงเข้าไปรับงานวิศวกรรมซ่อมบำรุงให้กับโครงการโซลาร์ฟาร์มในอาเซียน โดยเฉพาะในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เธอสนใจมาก เพื่อสำรวจตลาด ไม่แน่ว่าเธอจะรุกเข้าไปลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในอาเซียนในภายหลังอย่าง Slow but Sure
 "ตอนนี้มันเป็นความท้าทายเพราะอยากจะพาประเทศไทยเข้าไปอาเซียน เราจะทำยังไง จะวางแผนยังไง จะเข้าไปยังไง เราต้องมีพาร์ทเนอร์อย่างไร วันนี้เรื่องนี้มันเป็นสิ่งใหม่ในอาเซียน ประเทศไทยทำก่อนก็เลยเป็นที่สนใจแต่ไม่ช้าประเทศอื่นๆ ก็จะทำตาม ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองเราก็จะสูญเสียความเป็นหนึ่งให้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เขากำลังจะประกาศโครงการออกมาเร็วๆ นี้ เพราะประเทศเขาคนเยอะ เป็นเกาะ ต้องการใช้ไฟฟ้ามาก เขาต้องพัฒนาเพื่อให้คนของเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
 นั่นคือเป้าหมายและกลยุทธ์ธุรกิจของเอสพีซีจี ขณะเดียวกันในส่วนของโครงสร้างองค์กร "การควบรวมกิจการ"  นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด ทั้งทุนจดทะเบียน รายได้ และราคาหุ้น กลายเป็นแรงส่งการลงทุน เป็นสปอตไลท์ทางธุรกิจที่ทำให้หลายคนจับจ้อง
 ที่ผ่านมา เอสพีซีจี ชื่อเดิมคือ บริษัท สตีล อินเตอร์เทค จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด (SPC) ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 450 ล้านบาท โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอนุมัติการควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 ส่งผลให้เอสพีซีจีมี ทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 500 ล้านบาท (แบ่งออกเป็น 500 ล้านหุ้นๆ ละ 1 บาท) ต่อมาได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 515 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่มากขึ้น บวกกับโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นก้าวกระโดดจาก 1 บาทกว่าๆ มาเป็น 20 กว่าบาท และเคยทำราคาสูงสุดได้ถึง 26-27 บาทต่อหุ้น ในส่วนของทรัพย์สินที่มีอยู่ 200 กว่าล้านบาท เมื่อควบรวมกิจการทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาเป็น 5,000 กว่าล้านบาท
 หากทั้ง 34 โครงการ (หลายโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนา) พัฒนาแล้วเสร็จจะทำให้เอสพีซีจีมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันกว่า  20,000 ล้านบาท รายได้ก็จะเข้ามาเฉลี่ยปีละ 4,000 ล้านบาท วันดี ฉายภาพ
 หันมามองที่โครงสร้างธุรกิจ เอสพีซีจี จะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยแบ่งเป็น 3 บริษัทย่อย ได้แก่ บริษัทโซล่า เพาเวอร์ จำกัด (SPC)  โดยบริษัทนี้จะเป็นผู้ดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์ม เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขณะที่มีบริษัทสตีล โซล่า รูฟ จำกัด (SSR) เป็นบริษัทสนับสนุนในการผลิตหลังคาแผงโซลาร์ เช่นเดียวกับบริษัท โซล่า เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง (SPE) ดำเนินธุรกิจออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ก่อสร้าง และงานบำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์ม
 จะเห็นได้ว่า วันดีอุดช่องโหว่ในการควบคุมต้นทุนการผลิตไว้ทุกทิศทุกทาง ด้วยการมีบริษัทผลิตหลังคาแผงโซลาร์ และงานวิศวกรรม เป็นของตัวเอง แบบเบ็ดเสร็จ ไม่ให้ใครกินค่าหัวคิว




------------------------------------
สาวใหญ่ ผู้ "Low Profile"

 มาทำความรู้จัก "วันดี กุญชรยาคง" ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี  จำกัด (มหาชน) หญิงเก่งแถวหน้าวงการโซลาร์ฟาร์มให้มากขึ้น

 "น้อยคนนัก !!!" จะรู้จักตัวตนของเจ้าแม่โซลาร์ฟาร์มผู้เก็บเนื้อเก็บตัว ผู้นี้
 “ดีพี่ชอบ จริงๆ แล้วการมีชีวิตที่ Low Profile เป็นชีวิตที่มีความสุข บ้านเราก็มีผู้ใหญ่อีกหลายท่านที่ทำตัว Low Profile ก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน การเป็นแบบนี้ทำให้พี่มีชีวิตที่ง่ายขึ้น ตั้งแต่การคิด วางแผน ทำงาน เพราะคนไม่สนใจเรามาก” เธอ บอก
 เธอยังเล่าถึงหลักการดำเนินชีวิตส่วนตัวว่า สำหรับเธอแล้วจะแบ่งภารกิจไปตามช่วงวัย ช่วงแรกเกิดจนถึง 25 ปีเป็นช่วงการเรียน พอช่วงอายุ 25-50 เป็นช่วงของการเติบโตในหน้าที่การงาน เพราะฉะนั้นต้องทำให้เต็มที่ เหมือนเส้นกราฟชีวิตที่พุ่งสูงสุด (Peak)
 หลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว ต้องเตรียมลง มุ่งสู่ทางสงบ ไม่ใช่ว่าทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้ว่าเธอจะกลับเข้ามาในธุรกิจนี้อีกครั้งในวัย 50 กว่า ก็ตาม
 หากย้อนเวลากลับไปได้ วันดีบอกว่า เธออาจจะไม่หวนกลับมาทำธุรกิจอีก จากการที่เป็นคนทำอะไรทำจริงจัง แต่ในเมื่อ The show must go on ก็ต้องทำให้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่านอกจากเธอจะเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการในเอสพีซีจีแล้ว ยังนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการในทุกๆ บริษัทลูก เพราะยังไม่สามารถวางมือได้
 “จริงๆ พี่ไม่ได้ตั้งใจทำธุรกิจแล้ว พี่อยากส่งผ่านแล้ว ต้องคิดถึงผู้ที่จะมารับช่วงต่อ ตอนนี้ก็รับพนักงานมาอบรมอย่างเดียว ดูว่าคนไหนจะเป็นสตาร์ได้ ก็จะเปิดโอกาสให้เขา คนที่จะเป็นสตาร์ได้คือคนที่ทำมากๆ คิดมากๆ สัมผัสมากๆ มันก็จะเก่ง ถ้ามัวแต่ทำอะไรในหอคอยก็คงจะเก่งยาก คนเราจะประสบความสำเร็จได้จะต้องรู้ ต้องเห็น ในสิ่งที่เป็นจริงมากที่สุดเพราะจะทำให้เราตัดสินใจได้ถูกต้อง ถ้าเราได้ข้อมูลผิดเราก็จะตัดสินใจผิด เพราะฉะนั้นเราต้องมีข้อมูลให้มากที่สุด” วันดีสะท้อนตัวตนของเธอที่เป็นคนลุย และเก็บรายละเอียด (ทุกเม็ด)
 เธอยังยกตัวอย่างว่า งานการเงิน งานเทคนิค จะใช้เทคโนโลยีอะไร ต้องรู้ เหมือนจะซื้อของสักอย่าง ก็ต้องบินไปดูเอง ไม่ใช่ดูแค่ในแค็ตตาล็อก ดูว่าโรงงานเขามีอายุกี่ปีแล้ว ผลิตอะไร มีประสบการณ์อะไรบ้าง เราอาจจะเสียอะไรบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่การที่เราจะซื้อของเป็น 100 ล้านบาท มันต้องทำแบบนี้
 ในวันที่วันดีกำลังมองหาคนที่ใช่ ! สิ่งที่ทำไปพร้อมกันคือการวางระบบภายในองค์กรให้ดี เพราะเมื่อไรที่เธอลงจากหลังเสือ กลายเป็นคนถือแซ่ ระบบจากรันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวมันเอง
 "งานของพี่จะกระจายหมดเป็นจิ๊กซอว์ แม้คนนี้ล้มเหลวก็ยังมีคนนี้ซัพพอร์ตเสมอ คนนี้ไม่อยู่ก็ยังมีคนนี้รับมือ มันคือการบริหารความเสี่ยง เราต้องสร้างระบบให้พร้อม แล้วหาคนมารับช่วงต่อ"
 เธอยังเหมือนคนอื่นๆ ที่อยากได้ซีอีโอที่อยู่กับองค์กรนานๆ เป็นซีอีโอคนเก่ง ประสบความสำเร็จเหมือนกับซีอีโอหลายๆ คนในโลกนี้ใบนี้ แม้จะไม่ดังเท่าคนพวกนี้ แต่ขอให้มีลูกบ้า (งาน)
 "อย่างสตีฟ จ๊อบส์ มาตายตอนดัง เราอยากให้เขาดังตอนที่ยังไม่ตาย หลายๆ สิ่งที่เราทำต้องคิดอยู่ตลอดเวลา พี่ชอบอะไรที่มัน Move go on  ไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราทำให้วันนี้มันจะเป็นผู้นำให้กับการเติบโตของเจนเนอเรชั่นถัดไป ยากมากนะกว่าจะขึ้นมาเป็นซีอีโอในวันนี้มันเหมือนพิระมิด เพราะในองค์กรมีคนตั้งเยอะ คนที่เป็นท็อปขององค์กรได้ต้องครีเอทจริงๆ และเขาต้องมีความเสียสละสุดๆ"
 สิ่งที่เราต้องทำคือ การรักษาความเป็นลีดเดอร์ขององค์กรให้ได้ และต้องเข้าไปสู่เป้าหมายที่เรากำหนดให้ได้ เธอบอก
 “พี่พยายามผลักคนอื่นๆ ให้ไปอยู่ในที่สูงๆ อย่างการทำงานทุกวันมันจะมีการสนทนา การประชุม สังเกตเลยว่าถ้ามีผู้นำที่ไหนคนนั้นจะต้องนำแล้วและต้องปิดการสนทนานั้น เพราะพวกนี้ไม่ยอมให้เสียเวลาไปเปล่าๆ พี่ไม่วางแผนตัวเองนะว่าจะเป็นซีอีโออีก 20 ปีข้างหน้า พี่มองตัวเองเป็นซีอีโออีกไม่เกิน 2  ปีแล้วไปนั่งเป็นประธานอย่างเดียว”
 ฟังเธอเล่าแล้วรู้สึกว่าเธอเป็นนักบริหารที่สมบูรณ์แบบ (Perfectionist) อยากรู้ว่า เธอเคยมีความผิดพลาดในชีวิตหรือไม่? วันดีเว้นจังหวะก่อนจะตอบแบบติดตลกว่า เคยทำผิดพลาดมาในชีวิต ก็อย่างเวลาอยากกินอะไรก็ไม่ได้กิน (หัวเราะ)  ก่อนจะบอกว่าถ้าสิ่งใดที่ไม่อยากพลาดก็ต้องเก็บรายละเอียดเยอะๆ เธอย้ำ
 "อย่างตอนนี้พี่งานหนักมากต้องอ่านเยอะ บางวันไม่ได้นอนเลยก็ทำให้ร่างกายเราไม่สมดุล  การวางแผนที่ดีจะทำให้เราผิดพลาดน้อยลง แต่คนที่ไม่ผิดพลาดเลยคือคนที่ไม่ทำงาน" เธอให้แง่คิด
 ช่วงที่เป็นซีอีโออยู่โซล่าตรอน เธอยอมรับว่า มีช่วงเวลาวิกฤติ แต่เธอเตือนตัวเองเสมอว่า ความสุขความทุกข์มันเป็นเส้นด้าย ถ้าก้าวข้ามความทุกข์ได้ก็จะพบความสุข ที่สำคัญอย่าไปตั้งความหวังกับใครว่าจะมาดีกับ (เรา) อย่างนั้นอย่างนี้ เธอบอก
 "เราต้องเชื่อว่าเราทำได้ ต้องคิดบวกอย่าไปคิดแง่ลบ เราคือซีอีโอเราคือผู้ตัดสินใจ จะให้ใครมาถือเส้นด้ายแทนเราไม่ได้"
 หลังรีไทร์ตัวเองจากหน้าที่การงานในอีกไม่กี่ปีจากนี้ วันดีบอกว่า อยากทำงานด้านภูมิสถาปัตย์ (Landscape) เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นงานที่สนุกได้มองทั้งภาพรวม และลงลึกในรายละเอียด จะว่าไปก็ไม่ต่างจากงานบริหารองค์กร
 "มันเป็นงานที่สนุกนะ คือพี่เคยเป็นแลนด์ ดีเวลล็อปเปอร์ แต่ไม่เคยทำแลนด์สเคปมาก่อนเลย จ้างเขาหมด งานนี้มันต้องคิดหลายเรื่องคิดเรื่องความโค้ง ความสูง นูน คิดรั้วรูปแบบ ปรับปรุงตกแต่งตลอดเวลาจะเอาต้นไม้อะไร ลงสีอะไร ใบไม้จะออกมาฤดูไหน ต้องรู้จักต้นไม้  มันเป็นโลกที่อยากไป ว่างๆ ก็จะไปเดินคลอง 15  ไปดูต้นไม้" อีกบทสนทนาที่แสดงตัวตนของผู้หญิงที่ชื่อวันดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น