วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

บริหารผิดพลาด ทำน้ำมัน-ก๊าซ-ไฟฟ้าราคาแพง

source : http://www.thaipost.net/news/160412/55525

   ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันคือความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะนี้อยู่ในภาวะที่ทรงตัว ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่พุ่งไปที่ 150 หรือ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานว่าอิสราเอลจะต้องไม่โจมตีอิหร่าน และภาวะเศรษฐกิจของยุโรปไม่ได้ย่ำแย่เหมือนอย่างที่คาดการณ์ไว้ ส่วนสหรัฐอเมริกาก็เริ่มดีขึ้น แต่ทางด้านจีนและอินเดียกับมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันที่เดิมสู้รบกัน เริ่มทยอยส่งน้ำมันออกสู่ตลาด
    นายสุเทพ เหลี่ยมศิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ราคาน้ำมันที่มีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุดคือภาคขนส่ง โดยรวมแล้วการขนส่งสินค้าจะใช้น้ำมันดีเซลถึง 95% เอ็นจีวี 5% ดังนั้น ปัจจัยที่จะกระทบกับราคาน้ำมันในประเทศคือราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยใช้ราคาน้ำมันของประเทศสิงคโปร์เป็นตัวเปรียบเทียบ ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์นั้น คงต้องให้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปเพราะเป็นเรื่องยานพาหนะส่วนตัวไม่กระทบ เศรษฐกิจเท่าไหร่
    สนพ.ได้จัดทำสถานการณ์จำลองราคาพลังงาน (ซีนารีโอ ) ในภาวะที่ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อติดตามราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายด้านพลังงานและการบริหารกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง ที่ต้องพิจารณาตามสถานการณ์หากราคาน้ำมันสูงขึ้นอีก จะจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพิ่มได้หรือไม่ จากปัจจุบันที่จัดเก็บจากกลุ่มเบนซินลิตรละ 3 บาท และโซฮอล์ 3 บาท และดีเซลลิตรละ 60 สตางค์ และการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
    สำหรับซีนารีโอที่จัดทำไว้ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1.กรณีราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 135 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จึงอาจต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาช่วยเช่น การลดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของดีเซลที่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ระดับ 0.60 บาทต่อลิตร และหากเกินกว่านั้น ก็อาจลดการเก็บเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ในส่วนของดีเซลที่เก็บอยู่ 0.25 บาทต่อลิตรด้วย
    2.กรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ ปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็อาจต้องใช้วิธีการจ่ายชดเชยเงินกองทุนน้ำมันฯ โดยจะดูราคาน้ำมันเฉลี่ยทุก 3 วัน ซึ่งการปรับขึ้นทุกๆ 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชย 0.18 บาทต่อลิตร
    3.ถือว่าเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยประมาณ 1.80-2 บาทต่อลิตร หรือกองทุนน้ำมันฯ จะต้องจ่ายเงินชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยตกประมาณวันละ 91 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 2,730 ล้านบาท
    นายสุเทพกล่าวว่า ถ้าพูดถึงราคาพลังงานนั้น จะมีตัวหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยหลักคือ แอลพีจี เนื่องจากรัฐบาลควบคุมราคาไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเราอุดหนุนมานาน ทำให้ภาระการชดเชยสูงมาก แม้ว่าเราจะผลิตก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งราคาก็ไปผูกพันกับราคาน้ำมันตลาดโลกด้วย ซึ่งขณะนี้ราคา ณ โรงแยกก๊าซสูงกว่า 333 เหรียญสหรัฐมาก โดยอยู่ที่ 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้น การที่ราคาถูกจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหันมาใช้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น ซึ่งจากเดิมเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น เราส่งออก แต่ปัจจุบันต้องนำเข้า ซึ่งราคาสูง ทำให้เกิดการชดเชยสูง
    ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ในฐานะที่กำกับดูแลกิจการด้านพลังงานของประเทศ จึงมีนโยบายหลักคือเน้นไปที่การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน และสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงของพลังงาน ให้กับประเทศ รวมถึงรณรงค์ให้มีจิตสำนึกให้ใช้พลังงานอย่างมีคุณค่าและประหยัด รวมถึงส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานนโยบายที่สำคัญๆ
    ซึ่ง สนพ. คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานขั้นต้น ปี 2555 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งการผลิตพลังงานขั้นต้น การนำเข้าพลังงานขั้นต้น การใช้พลังงานขั้นต้น การใช้พลังงานขั้นสุดท้าย และมูลค่าพลังงานที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานประเภท อื่น คือ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 7.4% หรือ ปริมาณ 874,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคการขนส่งที่ผู้ใช้รถบางส่วนเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับยาน ยนต์ (เอ็นจีวี) แทน รวมทั้งภาคโรงงานอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น
    อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่ง จะพิจารณาได้จากจำนวนรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซแอลพีจีรายใหม่ ยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11,000 คันต่อเดือน ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่เกิดจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2555 ไปแล้วเฉลี่ยราว 18.4% เป็นผลให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมัน หันไปใช้พลังงานประเภทอื่นที่มีราคาต่ำกว่า และที่นิยมใช้มากก็คือก๊าซแอลพีจี เพราะราคาจำหน่ายยังอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำมันมาก
    ดังนั้น ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีที่เพิ่มขึ้น เกิดขึ้นพร้อมๆ กับภาระในการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซแอลพีจียังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องนำเข้าบางส่วนจากต่างประเทศในราคาที่สูง แต่ต้องนำมาจำหน่ายในประเทศด้วยราคาที่ต่ำกว่าเพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันรัฐอุดหนุนราคาสำหรับก๊าซแอลพีจี ซึ่งนำเข้าในอัตราประมาณ 28 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าผิดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของภาครัฐ ที่มีนโยบายทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีเพื่อลดการอุดหนุน รวมทั้งชะลอการใช้เพื่อลดการนำเข้า
    โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 ว่า ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ดังนี้ 1.) แนวทางการปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี แบ่งเป็น แอลพีจี-ภาคครัวเรือน ขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกที่ 18.13 บาท/กก. ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2554 ไปจนถึงสิ้นปี 2555, แอลพีจี-ภาคขนส่ง ขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีกไปจนถึง 15 มกราคม 2555 เพื่อรอมาตรการบัตรเครดิตพลังงาน และเริ่มปรับขึ้นราคาขายปลีกเพิ่มเดือนละ 0.41 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 และแอลพีจี-ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับก๊าซแอลพีจีที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 1 บาท/กก. ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการลดภาระกองทุนน้ำมันฯ จากการชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของการใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
    2.) แนวทางการปรับราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี ขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวี ในระดับราคา 8.50 บาท/กก. และคงอัตราเงินชดเชยในอัตรา 2 บาท/กก. ต่อไป ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 จนถึง 15 มกราคม 2555 เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องบัตรเครดิตพลังงานและการปรับเปลี่ยนรถแท็กซี่แอล พีจี เป็นเอ็นจีวี, ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกเอ็นจีวี เดือนละ 0.50 บาท/กก. ตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 ถึง ธันวาคม 2555 เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้เอ็นจีวีมากเกินไป, ทยอยปรับลดอัตราเงินชดเชยก๊าซเอ็นจีวี ลงเดือนละ 0.50 บาท/กก. จำนวน 4 ครั้ง ตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 ถึง เมษายน 2555 ซึ่งปัจจุบันมีการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2 บาท/กก. พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ไปพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี
    3.) แนวทางการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันเบนซิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์เดือนละ 1บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป และปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อัตรา 0.60 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
    อย่างไรก็ตาม จากนโยบายดังกล่าวนั้น ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารและรถขนส่งไม่ยอมรับ จนนำไปสู่การต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง ซึ่ง สนพ.ได้หาทางออกโดยการจ้างสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีใหม่ ซึ่งล่าสุดผลการศึกษาได้สรุปเบื้องต้นว่า ราคาเอ็นจีวีที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม และคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน  2555 นี้
    แต่ตัวเลขดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับ ซึ่ง นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขต้นทุนเอ็นจีวี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษานั้น เป็นค่าเฉลี่ยโดยทั่วไป ยังไม่ลงลึกในรายละเอียดและเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ภาคเอกชนประเมินไว้ ซึ่งมีต้นทุนหลายส่วนที่ลดลงได้มากกว่านี้ เช่น ต้นทุนการก่อสร้างสถานีแม่แห่งใหม่ ที่
อ.แก่งคอย ที่มีต้นทุนเพียง 69 สตางค์ต่อกิโลกรัม แต่ผลการวิจัยราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1 บาทต่อกิโลกรัม
    ทั้งนี้ ราคาเอ็นจีวีที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม หากจะมีการปรับขึ้นราคามากกว่านี้ ปตท.จะต้องขยายสถานีเอ็นจีวีให้เพียงพอกับความต้องการเพื่อลดต้นทุนการเสีย โอกาสในการจอดรอเติมก๊าซฯและจะต้องเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซเอ็นจี วี เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดค่าพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวีที่จุฬาฯ ศึกษามานี้ ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้ายเพราะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้สรุปราคาสุดท้ายว่าจะอยู่ ที่เท่าไร
    อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมานั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมีนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์  รมต.พลังงาน เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 เพิ่มขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร ในรอบที่ 4 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2555 ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 จำหน่ายปลีกปรับขึ้นเป็น 47.53 บาทต่อลิตร จากเดิม 46.53 บาทต่อลิตร, เบนซินออกเทน 91 เพิ่มขึ้นเป็น 44.08 บาทต่อลิตร จากเดิม  43.08 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ยังคงตรึงไว้เช่นเดิม ทำให้ส่วนต่างระหว่างน้ำมันเบนซิน 91 กับแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นเป็น 3.42 บาทต่อลิตร จาก 2.35 บาทต่อลิตร และเบนซิน 95 กับแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นเป็น 7.37 บาทต่อลิตร จาก 6.30 บาทต่อลิตร      
    และยังเห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจี-ภาคขนส่ง อีก 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม หรือ 41 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย -15 พ.ค.55 ราคาขายปลีกแอลพีจี-ภาคขนส่ง จะอยู่ที่ 11.41 บาทต่อลิตร หรือ 21.13บาทต่อกิโลกรัม และส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ เอ็นจีวี ปรับลดการชดเชยลง 50 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกเอ็นจีวี ตั้งแต่วันที่ 16  เม.ย.เป็นต้นไป ปรับเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาขึ้นไปเป็น 10.50 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม
    อย่างไรก็ตาม การเรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 เพิ่มขึ้น ทำให้ช่วยลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ ลง 10 ล้านบาทต่อวัน เหลือติดลบ 60 ล้านบาทต่อวัน จากปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ยังคงติดลบ 23,501 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้กู้เงินไปแล้ว 6,530 ล้านบาท เพื่อนำมาชดเชย ส่วนที่ กบง.มีมติให้กองทุนฯ กู้จำนวน 20,000 ล้านบาทก่อนหน้านี้ ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะอยู่ระหว่างการเจรจากับธนาคารกรุงไทย ถึงแนวทางการดำเนินการว่าจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากธนาคาร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาพของตลาด
    ด้านไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสูงกว่า 70% ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากพม่า ซึ่งในวันที่ 7-18 เมษายน นี้ พม่าจะหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเยตากุน เพื่อซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จะส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทย ทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 5,600 เมกะวัตต์
    ซึ่ง นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในปี 2555 จะปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดทั้งปี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้า ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้น ดังนั้น จะส่งผลกระทบต้นทุนค่าก๊าซในการคำนวณค่าเอฟทีเพิ่มสูงขึ้น และขณะนี้ กฟผ. แบกรับภาระ เพื่อช่วยลดภาระประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว 8,000 ล้านบาท หากงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ยังต้องตรึงค่าไฟไว้อีก กฟผ. จะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาท
    นายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ค่าเอฟทีงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.55 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นประมาณ 30 สตางค์/หน่วย เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นกว่า 250-280 บาท/ล้านบีทียู แต่ยังคงมีเงินที่เหลือจากการไม่ได้ลงทุนตามแผนของทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง อีกกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยรับภาระค่า
เอฟทีงวดใหม่ได้ประมาณ 6 สตางค์/หน่วย
    อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ว่าที่ผ่านมานั้นได้มีการบริหารงาน ที่ผิดพลาด และถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานอย่างไร เพราะขณะนี้เครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างกองทุนน้ำมันและสรรพ สามิตน้ำมันก็ไม่มีเสียแล้ว. 
      +++++++++++++

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น