วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชี้ทางออกวิกฤติพลังงาน หนุนชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า

นักวิชาการ- เอกชนประสานเสียงสนับสนุนให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าหมุนเวียนในท้องถิ่น ระบุสร้างการจ้างงาน และสร้างทางออกปัญหาต้านโรงไฟฟ้า

วันนี้ ( 17 มิ.ย.) กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สมดุลพลังงานไฟฟ้า เพื่อเศรษฐกิจและสังคมยั่งยืน” ที่ รร.พิมาน จ.นครสวรรค์

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่าในสังคมยุคปัจจุบัน การสร้างโรงไฟฟ้าในจุดใดไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของระบบราชการแล้ว แต่อยู่ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 2550 และพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลเป็นคนตัดสินใจ สำหรับราชการเป็นกลไกของรัฐบาลในการเสนอข้อมูลทางเลือกต่างๆขึ้นไปเท่านั้น

“ตอนนี้หากชาวบ้านไม่เอานิวเคลียร์ และต้องการให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบให้มากขึ้น ก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อให้มาเป็นรัฐบาล จะได้ตัดสินใจดำเนินนโยบายที่ตรงกับความต้องการของเรา “ นายเสมอใจ กล่าว

เขา กล่าวต่อว่า กระทรวงพลังงานไม่ได้มุ่งส่งเสริมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถ่านหินเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมกันด้วย แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ในระดับสูง เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนอยู่ที่ 12-14 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าก็จำกัด โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ผลิตไฟฟ้าได้จริง 15 % เท่านั้น เพราะศักยภาพไม่ใช่อยู่ที่แดดแรงหรือไม่ แต่อยู่ที่ความเข้มของแสงที่มาตกกระทบ ซึ่งหากเทียบกับประเทศในแถบทะเลทรายแล้ว ต้องถือว่าประเทศไทยไม่ได้มีศักยภาพมากนัก

อย่างไรก็ตามขณะนี้สนพ.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปรับปรุงมาตรการส่งเสริมจากการให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ Adder มาเป็นระบบ Feed in Tariff เพื่อให้แรงจูงใจสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ด้วยการกำหนดให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโรงไฟฟ้า จากระบบ Adder ที่ให้ส่วนเพิ่มโดยบวกจากค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์สูงเกินไป เนื่องจากค่าไฟฟ้าฐานปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในภาพรวมจะปรับลดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และจะปรับเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขยะ เป็นต้น

นายเสมอใจ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้เสนอให้สร้างกลไกให้ประชาชนในแต่ละครัวเรือนสามารถระบุได้ว่า ประสงค์จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไม่ หากสนับสนุนก็พร้อมจะดึงเข้าระบบ แต่ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นกว่าครัวเรือนที่ไม่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างระบบมารองรับกลุ่มคนที่พร้อมให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนโดยตรง

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าความยากในการสร้างโรงไฟฟ้า คือการทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้ากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ดังนั้นจึงวิธีการปรับสมดุล คือ ชุมชนจะต้องหันมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ด้วย โดยใช้วัตถุดิบ หรือศักยภาพที่มีในท้องถิ่น เช่น ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ลม หรือแดด ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มในท้องถิ่นด้วย

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อ 1 ปีก่อนพบว่าหากมีการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนแล้ว ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2-4 % ประชาชนและอุตสาหกรรมยอมรับได้ ดังนั้นรัฐต้องนำประเด็นนี้มาพิจารณาด้วย

สำหรับพลังงานทดแทนนั้น ที่ผ่านมาพบว่ามีศักยภาพเพิ่มขึ้น จากเมื่อ 10 ปีก่อนภาครัฐบอกว่าสามารถทำได้ 1,100 เมกะวัตต์เท่านั้น แต่ปัจจุบันทำได้เพิ่มกว่า 2,000 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้นทุกอย่างขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้และวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างในประเยอรมนี ขณะนี้มีแผนชัดเจนที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนในอีก 40 ปีให้มีสัดส่วนเป็น 80 % และยกเลิกการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการผลิตที่ 23 % โดยมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงสุดท้ายในอีก 11 ปีข้างหน้า จากเดิมที่มี 17 โรง และปิดไปแล้ว 8 โรงเหลืออีก 6 โรงสุดท้ายที่จะทะยอยปิดต่อไป ซึ่งโรงไฟฟ้าที่จะมาทดแทนนิวเคลียร์นั้นจะเน้นการผลิตใช้เองในประเทศ และจะนำเข้าเพียง 3 %

อย่างไรก็ตามการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเยอมนีมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็ส่งผลกระทบ แต่ได้มีการแก้ปัญหาด้วยการให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่วนสายส่งไฟฟ้าที่ต้องวางรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้น ในช่วงเวลา 10 ปีสามารถวางไปได้เพียง 80 กม.จากที่ต้องวางทั้งหมด 800 กม. เนื่องจากไปกระทบชุมชน จึงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนมาเป็นสายส่งใต้ดินแทน
ดังนั้นโรงไฟฟ้ามีโอกาสที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชน หากมีการปรับวิธีการต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพี เพื่อให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้น ว่าจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าในจุดใดบ้าง อีกทั้งจะต้องมีข้อมูลแสดงให้ประชาชนเห็นและยอมรับได้ว่าโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน สามารถแก้ไขจุดบกพร่องไม่ให้โรงไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ด้านนายมนูญศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศนั้น จะต้องพิจารณาพลังงานทุกประเภทอย่างรอบด้าน ทั้งพลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงาน ขณะที่พลังงานอื่นก็ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน ทั้งถ่านหิน และนิวเคลียร์ เพื่อรองรับหากไม่สามารถลดการใช้พลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มตามจีดีพีของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ปฏิเสธการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย

นายวิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และขนส่ง ขณะเดียวกันก็มีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้ามากมาย แต่คำถามคือ ใครเป็นคนเลือก ทั้งต้องนึกถึงความมั่นคงในระบบไฟฟ้าสำหรับลูกหลานในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วย ซึ่งการให้ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าก็เป็นทางออกของปัญหาต่างๆได้

“ตอนนี้สิ่งที่ภาคเอกชนกังวล คือไฟฟ้าตกดับ เพราะสร้างผลกระทบให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ขณะที่ประชาชนก็กังวลว่าจะมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ แต่คำถาม คือในอีก 10 ปี ลูกหลานเราจะใช้ไฟฟ้ากันอย่างไร “ นายวิสูตร กล่าว

นายปิยะพงศ์ กฤชภากรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเสรีเจนเนอเรติ้ง จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจำเป็นในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าสร้างประโยชน์มากกว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จะต้องออกมาช่วยกันสนับสนุน

อย่างไรก็ตามการพัฒนาโรงไฟฟ้าก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย เช่น การที่กำหนดให้ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เป็นหนึ่งในเป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น หากพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า รอบๆพื้นที่ปลูกข้าว ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้น ย่อมเกิดการปนเปื้อน และส่งผลกระทบในที่สุด ขณะที่ภาคใต้อาจเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า

รัฐต้องสนับสนุนโรงไฟฟ้าที่ไม่สร้างผลกระทบ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีจนไม่ปล่อยมลพิษออกไปนอกโรงไฟฟ้า ทั้งควัน และฝุ่น ขณะเดียวกันก็มีพลังงานหมุนเวียนบางประเภทที่รัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจังต่อไป เช่น ขยะ

นายสราวุธ ทองถาวรวงศ์ กำนัน หมู่ 1 ต.พินมรอก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า หากต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็น 7 บาทต่อหน่วยจากการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ย่อมคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต้องเจอเหมือนกับกรณีของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างความเสียหาย และจะทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในอนาคต

นอกจากนี้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในจุดใดจุดหนึ่งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น ขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาด้วยว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดใช้ไฟฟ้ากันเท่าใดเมื่อเทียบกับห้างใหญ่ในกทม.อย่างพารากอน

“กฟผ.เคยบอกว่า นิวเคลียร์มีความปลอดภัยมาก โดยหากเกิดการรั่วไหลขึ้น ชาวบ้านสามารถหลบในบ้านแล้วก็จะปลอดภัย แต่ในไทยคงต่างจากญี่ปุ่นแน่นอน เพราะบ้านของชาวบ้านแถบจะไม่มีฝาบ้านด้วยซ้ำไป “นายสราวุธ กล่าว

เขา กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรนำเงินจากการประชาสัมพันธ์นิวเคลียร์ 1,800 ล้านบาทมาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ประกอบกับทุกฝ่ายช่วยกันประหยัด โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าหากปิดเร็วขึ้นก็เชื่อว่าลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 50 % แล้ว

“เราเลือกที่จะอยู่แบบไม่ต้องรวย สามารถใช้เทียนได้ หากเราแวดล้อมไปด้วยคนในครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรง “ นายสราวุธ กล่าว

นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่าในการวางแผนพลังงานของประเทศนั้น จะต้องประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย และต้องเห็นพ้องจากประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายมีการพูดคุยและหารือแล้ว แผนพลังงานที่ออกมาจะสร้างความมั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง และจะทำให้การพัฒนาประเทศเดินไปได้

 source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20110617/396046/ชี้ทางออกวิกฤติพลังงาน-หนุนชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น