วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทางเลือกอื่นนอกจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ปัญหาสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น อาจทำให้คนไทยหยุดชะงักไม่อยากให้รัฐบาลสร้างโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียรฺ์


ไปได้สักพักหนึ่ง แต่คนไทยนั้นมักลืมง่าย ขณะที่นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจไทยบูชาลัทธิการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น พวกเขาจึงคงอยากสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ โดยอ้างว่า เพื่อให้มีไฟฟ้าพอเพียงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปได้



คนที่อยากสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์จะอ้างว่าไทยไม่ได้อยู่ในเขตเสี่ยงแผ่นดินไหวเท่าญี่ปุ่น และโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่กว่าจะปลอดภัยกว่าผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมาก และต้นทุนต่ำกว่าโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนน้อยกว่าด้วย โดยพวกเขาไม่ยอมพูดว่าการเก็บรักษากากสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ปลอดภัยนั้นมีต้นทุนสูงมาก และการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีทั้งในช่วงดำเนินการและหลังจากใช้งานเสร็จแล้วมีความเสี่ยงที่จะก่ออันตรายสูง


รายงานของสถาบัน World Watch เรื่องสภาวะอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลก ปี ค.ศ. 2010-2011 ให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป


ข้อแรก การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ว่าโดยรัฐหรือเอกชนที่ว่าต้นทุนต่ำนั้นส่วนหนึ่งเพราะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐสูงมาก เช่น ในสหรัฐ รัฐให้เงินสนับสนุน 39.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่สนับสนุนพลังงานลมเพียง 900 ล้านดอลลาร์ ต่างกัน 40 เท่า


สารกัมมันตภาพรังสีที่ใช้งานหมดอายุคือผลิตไฟฟ้าไม่ได้แล้ว (ในเวลาเช่น 50 ปี) จะยังคงจะแผ่สารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ได้อีกหลายพันหลายหมื่นปี ต้องลงทุนเก็บใส่ถังแน่นหนาเอาไปฝังใต้ทะเลทรายในระดับที่ลึก ซึ่งถึงกระนั้น ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดอยู่ดี ดังนั้น ต้นทุนต่อหน่วยของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ๆ ไม่ได้ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่น เช่น แสงอาทิตย์ อย่างแท้จริง


การคำนวณเปรียบเทียบต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และจากแสงอาทิตย์ ในเชิงธุรกิจของรัฐนอร์ท คาโรไลมา ในปี พ.ศ. 2553 พบว่าขณะที่พลังงานจากแสงอาทิตย์มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ที่ 14 เซนต์ หรือต่ำกว่า พลังงานจากนิวเคลียร์มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อกิโลวัตต์ ราว 14-15 เซนต์ แม้ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะได้ประโยชน์ทางภาษีของรัฐบาล แต่ต้นทุนไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอนาคตจะต่ำลงอีกและภายในทศวรรษหน้าจะสามารถแข่งขันกับไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ได้ โดยไม่ต้องพึ่งเรื่องประโยชน์ทางภาษีจากรัฐบาลอีกต่อไป


การอ้างว่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าไฟฟ้าจากพลังงานอื่นอย่างมากมายก็ไม่จริง ในสหรัฐ ในช่วง 15 ปีแรกของการใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์และพลังลม โรงงานไฟฟ้าจากพลังลมผลิตไฟฟ้าได้ 1.9 พันล้านกิโลวัตต์ (kw) โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้าได้ 2.6 พันล้านกิโลวัตต์ (kw) ทั้งที่ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากกว่าไฟฟ้าจากพลังงานลม 40 เท่า


โรงงานผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ทั่วโลกผลิตไฟฟ้าในปี 2553 ได้ 375 กิกะวัตต์ (1 gw = 1000 kw) แต่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตทดแทนใหม่ได้ คือ พลังลม พลังน้ำขนาดเล็ก (ไม่รวมเขื่อนขนาดใหญ่) พลังงานชีวมวลและขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตรวมกันได้ 381 กิกะวัตต์

ประเทศเยอรมนี ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 40% ของไฟฟ้าทั้งหมด ในสหรัฐสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตทดแทนใหม่ได้ เพิ่มจาก 2% ในปี ค.ศ. 2004 เป็น 55% ในปี ค.ศ. 2009


ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เศรษฐกิจเติบโตสูง มีความต้องการใช้พลังงานสูง ก็พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมมาก ปัจจุบันจีนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ราว 40 กิกะวัตต์ สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ซึ่งอยู่ราว 10 กิกะวัตต์ 4 เท่า จีนเป็นประเทศที่บุกเบิกลงทุนพัฒนาการใช้พลังงานลมและพลังงานทางเลือกอื่นมีมูลค่าสูงรองลงมา คือ เยอรมนี สหรัฐ อิตาลี ประเทศในกลุ่มยุโรปอื่นๆ บราซิล แคนาดา สเปน ฝรั่งเศส อินเดีย
พลังงานทางเลือก เช่น ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวลและขยะและอื่นๆ น่าจะพัฒนาให้มีต้นทุนต่ำลงได้อีกมาก หากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้มเอียงเข้าข้างธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่ที่รวมศูนย์มากเกินไป ใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลในกลุ่มประเทศสมาชิกองค์กรปรมาณูระหว่างประเทศให้เงินวิจัยและพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์มากกว่า 2 ใน 3 ของงานวิจัยและพัฒนาพลังงานทุกชนิด

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พลังงานนิวเคลียร์ได้ทุนวิจัยและพัฒนามากกว่าพลังงานหมุนเวียนถึง 5 เท่า ทั้งๆ ที่การลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่นั้นอาจจะผลิตไฟฟ้าได้ล้นเกิน และทำให้สังคมใช้พลังงานอย่างไม่ประหยัด พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีการผลิตแบบกระจายเป็นหน่วยย่อยจะมีความคล่องตัวยืดหยุ่น ทำให้เราบริหารการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าและปลอดภัยกว่าด้วย


ไทยใช้พลังงานฟุ่มเฟือยเพื่อการบริโภคมากกว่าเพื่อการผลิตมากไป และส่วนใหญ่ใช้ พลังงานจากฟอสซิล ไทยมีแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและพลังงานทางเลือกอื่นมาก น่าจะทุ่มเทวิจัยและพัฒนาและให้การสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นได้อีกหลายเท่า รวมทั้งต้องหาทางประหยัดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ส่งเสริมการขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมให้โรงงาน ธุรกิจ อาคารต่างๆ ลงทุนด้วยการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น โดยการให้เงินอุดหนุนหรือลดภาษีให้ รวมทั้งรัฐบาลควรเลิกอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซ เพราะยิ่งทำให้คนใช้พลังงานฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐควรส่งเสริม การเกษตรทางเลือกและเทคโนโลยีทางเลือกอื่น ที่ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง เราจะได้ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เสี่ยงภัยสูงมาก


รศ.วิทยากร เชียงกูล

source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/wittayakorn_c/20110704/398106/ทางเลือกอื่นนอกจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์.html

1 ความคิดเห็น:

  1. เห็นด้วยนะครับกับท่านผู้เขียนมีวิสัยทัศน์

    ตอบลบ