วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

2 บิ๊ก "ว่องกุศลกิจ" นำเครือน้ำตาลมิตรผลผงาดขึ้นผู้นำธุรกิจ"ชีวพลังงาน" ผลิตไฟฟ้าชีวมวล เตรียมงบฯ 5,000 ล้านบาทขยายโรงงานใหม่ในจังหวัดเลยไฮเทคโนโลยีโคเจนฯ เร่งขยายพื้นที่ปลูกอ้อย เพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลและชีวมวลทั้งทั่วไทย ลาว จีน


นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยว่า ได้ขับเคลื่อนแผนธุรกิจการเป็นผู้นำพัฒนาการลงทุนชีวพลังงานเต็มรูปแบบ โดยใช้อ้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการผลิตน้ำตาล ทำระบบไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย และเชื้อเพลิงพลังงานที่อยู่ระหว่างศึกษาอย่างเอทานอล


ขณะนี้มีโครงการจะใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ขยายโรงงานน้ำตาลที่จังหวัดเลย ผนวกทำโครงการไฟฟ้าชีวมวลไฮเทคโนโลยีด้วยแรงดันไอน้ำจากเครื่อง boiler ประสิทธิภาพสูงเป็นแห่งแรกในลักษณะโคเจเนอเรชั่น จะแล้วเสร็จปลายปี 2555 หรือต้นปี 2556 เบื้องต้นตั้งเป้ากำลังการผลิตน้ำตาล 15,000-20,000 ตันอ้อย/วัน ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลยังต้องรออีกสักระยะเพื่อประเมินปริมาณชานอ้อยและ ความต้องการใช้งาน

ขณะที่ภาพรวมของตลาดเอเชียปัจจุบันยังขาดแคลนน้ำตาลอยู่ถึง 10 ล้านตัน/ปี แถมประชากรมีกว่า 3,000 ล้านคน โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง จึงเป็นจังหวะและโอกาสของผู้ค้าน้ำตาลทุกรายที่พร้อมจะเข้าไปชิงส่วนแบ่งรายได้ ด้วยการวางกลยุทธ์ลงทุนหาวัตถุดิบมาผลิตป้อนความต้องการตลาดให้ได้มากที่สุด เครือน้ำตาลมิตรผลเองวางแผนมาเป็นอย่างดีนับจากปลายปี 2553 ได้เข้าซื้อหุ้นบริษัท แมรี่เบอโรว์ ชูการ์ แฟคตอรี่ จำกัด (MSF) 19.99% เป็นเงินรวม 42,783,028 เหรียญออสเตรเลีย ตั้งเป้าจะบริหารการผลิตน้ำตาลป้อนตลาดโลกได้ตลอดทั้งปี ด้วยการใช้ประโยชน์จากฤดูการผลิตสลับกันกับไทย เพราะแต่ละปีไทยจะมีผลผลิตช่วงพฤษภาคม-พฤศจิกายน ส่วนออสเตรเลียจะมีผลผลิตช่วงธันวาคม-เมษายน


ส่วนแผนขยายกำลังการผลิตอ้อย น้ำตาล และไฟฟ้าชีวมวล จะทำควบคู่กันทั้งภายในประเทศ 5 แห่ง คือสิงห์บุรี, กาฬสินธุ์, ด่านช้าง (สุพรรณบุรี), ภูเขียว (ชัยภูมิ) และภูเวียง (ขอนแก่น) ในต่างประเทศ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.บริษัท มิตรลาว จำกัด ดำเนินธุรกิจในสะหวันนะเขต สปป.ลาว มีพื้นที่ปลูกอ้อย 62,500 ไร่ สัมปทาน 40 ปี กำลังการผลิต 500,000 ตันอ้อย/ปี เป็นผลผลิตน้ำตาล 60,000 ตัน/ปี 2.บริษัท กางสี หนานหนิง อีสต์ เอเชีย ชูการ์ จำกัด ในมณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชน จีน มีโรงงานน้ำตาล 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 80,000 ตันอ้อย/วัน หีบอ้อยได้ปีละกว่า 10 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายขาวได้ 1.2 ล้านตัน/ปี ทำไฟฟ้าชีวมวลแห่งเดียวที่ฟูหนาน และเริ่มทยอยทำแห่งที่ 2 ในเมืองหนิงหมิง กำลังการผลิต 15-20 เมกะวัตต์ สัญญา 15 ปี รัฐบาลท้องถิ่นจีนให้แอดเดอร์ 1.40 บาท/หน่วย 3.ออสเตรเลีย จะเน้นการมีส่วนร่วมด้านผลผลิตป้อนตลาดมากกว่าเข้าไปบริหาร


นายอิสระกล่าวว่า ในไทยนั้นต้องการให้รัฐบาลทุกสมัยสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจพลังงานทางเลือกในระบบการผลิตไฟฟ้าให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง อุดหนุนเงินมาตรการจูงใจส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ใกล้เคียง ความจริง อย่างไฟฟ้าชีวมวลให้เพียง 30 สตางค์/หน่วย ทั้งที่ได้ประโยชน์ร่วมตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้ประกอบธุรกิจ ต่างจากโซลาร์เซลล์ที่ได้ถึง 8 บาท/ หน่วย พลังงานลมได้ 3 บาท/หน่วย ทำแล้วผู้มีส่วนร่วมได้ประโยชน์น้อยกว่า



นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ กรรมการ ผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจอาเซียน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า ตั้งเป้าภายใน 2-3 ปีนี้จะใช้ศักยภาพโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแห่งแรกใน สปป.ลาว เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 เท่า จากสัมปทานพื้นที่ปลูกอ้อยที่ได้ขณะนี้ 62,500 ไร่ และกำลังจะได้เพิ่มอีกประมาณ 60,000 ไร่ ผลผลิตอ้อยตอนนี้ทำได้ 3 แสนตันอ้อย/ปี สร้างน้ำตาล 36,500 ตัน/ปี ส่งขายตลาดสหภาพยุโรป 95% ขายใน สปป.ลาว 5%



จากนั้นยังได้นำชานอ้อยมาเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าชีวมวลเบื้องต้นขนาด 9 เมกะวัตต์ อนาคตจะทำให้ได้ถึง 20 เมกะวัตต์ ระหว่างนี้สภาพพื้นที่ปลูกสามารถทำได้เพียง 40% ต้องเข้าไปพัฒนาระบบชลประทาน กับลงทุนติดตั้งเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้ความร้อน ร่วมนำวัตถุดิบทุกขั้นตอนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไปสู่การพัฒนาทำคาร์บอนเครดิตต่อไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางพลังงานให้สะหวันนะเขต ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกำลังเติบโตทั้งการบริโภคและอุตสาหกรรม และเพิ่มความมั่นใจให้เกษตรกรในท้องถิ่น



ทั้งนี้กลุ่มมิตรผลใช้งบ 300 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล ลงทุนซื้อเครื่องจักรทันสมัย สามารถรักษาดูแล สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี โดยภาพรวมแล้วตั้งเป้าร่วมสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งไทยและ สปป.ลาว สร้างเสถียรภาพและความเป็นผู้นำพลังงานอาเซียน


source : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1309765560&grpid=00&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น