วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“Super Cool Biz” เพื่อลดการใช้พลังงาน

3 ปีก่อนผู้เขียนได้เคยนำเรื่อง “Cool Biz” ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์เพื่อลดโลกร้อนในปี 2548 ของนางยูริโกะ โคอิเกะ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม

ของประเทศญี่ปุ่นในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ โครงการ Cool Biz มีวัตถุประสงค์ให้ข้าราชการและพนักงานบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นเลิกสวมเสื้อสูทและเนกไท แต่กระตุ้นให้ใส่เสื้อเชิ้ตที่ทำด้วยผ้าเบาสบายและปลดกระดุมเม็ดบนในฤดูร้อน และเปิดแอร์โดยตั้งอุณหภูมิที่ 28 องศาเซลเซียสในระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายนของทุกปี



หกปีหลังจากนั้นคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนสาขาต่างๆ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศได้เสนอข่าวเกี่ยวกับแคมเปญ “Super Cool Biz” ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง และเผยแพร่ภาพเกี่ยวกับแฟชั่นโชว์ Super Cool Biz ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวกันอย่างแพร่หลาย


“มหันตภัยคู่” ครั้งประวัติศาสตร์คือแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ปีนี้ ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองฟูกูชิมาเกิดความเสียหายและต้องการหยุดการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผลให้กรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงประสบปัญหาปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ โดยปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือเดือนมิถุนายนถึงกันยายนนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงขอความร่วมมือหน่วยราชการและบริษัทห้างร้านต่างๆ ให้ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าลง 15% และตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 28 องศาเซลเซียสอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไฟฟ้าดับเพราะการใช้เกินขีดจำกัด



ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะเคยไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนมาบ้างคงจะตระหนักดีว่าอากาศร้อนจัดใกล้เคียงกับบ้านเรา ดังนั้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนร่วมกันประหยัดไฟฟ้า ในขณะที่อากาศร้อนจัด รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ประกาศแคมเปญ Super Cool Biz ซึ่งถือเป็นขั้นต่อมาของ Cool Biz แต่แตกต่างจากขั้นแรกค่อนข้างมาก


นั่นคือมีการรณรงค์ให้ใส่เสื้อโปโลหรือเสื้อฮาวายและรองเท้าผ้าใบไปทำงาน โดยในบางกรณีก็สามารถนุ่งกางเกงยีนส์และสวมรองเท้าแตะไปก็ยังได้ อีกทั้งประชาชนยังได้รับการแนะนำให้ใช้เสื้อผ้าสีอ่อนและมีเนื้อบางเบา ตลอดจนใช้แผ่นเจลเย็นช่วยคลายร้อนหรือการรับประทานอาหารที่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดความร้อนลงด้วย


กระทรวงสิ่งแวดล้อมยังสนับสนุนให้ลดการทำงานล่วงเวลาหรือทำงานอยู่ที่บ้านในบางกรณี และลาพักร้อน 2 สัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข่าวแฟชั่นโชว์ Super Cool Biz ทางเคเบิลทีวีหลายช่อง หนึ่งในนายแบบที่มาเดินบนแคทวอล์คนั้นสวมเสื้อปล่อยชายลวดลายสดใสที่เรียกว่า “คาริยูชิ” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะโอกินาวาทางตอนใต้ของญี่ปุ่น พวกเขาจะสวม “คาริยูชิ” ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเสื้อฮาวายที่เราคนไทยคุ้นเคยไปทำงานหรืองานพิธีการต่างๆ แทนเสื้อเชิ้ตและเนกไทในฤดูร้อนซึ่งอากาศร้อนสุดๆ


ในปี 2543 เมื่อมีการจัดประชุม G8 ที่เกาะโอกินาวานั้น ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกาก็สวม “คาริยูชิ” เป็นครั้งแรกและมีการแพร่ภาพไปทั่วโลก ต่อมาในปี 2548 นายกรัฐมนตรีจุนอิจิโร โคอิซูมิ ก็สวม “คาริยูชิ” ในแคมเปญ Cool Biz ด้วย แต่ “คาริยูชิ” ก็ยังไม่เป็นที่นิยมนอกเกาะโอกินาวามากนัก การรณรงค์ Super Cool Biz ครั้งนี้อาจจะทำให้ชาวต่างชาติรู้จัก “คาริยูชิ” มากขึ้นเช่นเดียวกับชุดกิโมโน

หรือยูคาตะก็ได้


นายริว มัทสึโมโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมคนปัจจุบันได้เชิญนางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ริเริ่ม Cool Biz และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเดียวกันอีกสองคนไปร่วมการแสดงแฟชั่นโชว์ครั้งล่าสุดนี้ด้วย เขากล่าวว่า Super Cool Biz ไม่ใช่มาตรการชั่วคราวเฉพาะช่วงหน้าร้อน แต่จะเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่นนับจากนี้ไป


ต่อมาเมื่อวันที่ 13-14 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปทำธุระที่ประเทศญี่ปุ่น และรู้สึกได้ทันทีถึงความพยายามลดการใช้พลังงานของทุกภาคส่วน ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของตรีเพชรอีซูซุนั้น บันไดเลื่อนคู่ขนาดใหญ่ที่เห็นได้ทันทีเมื่อผ่านประตูใหญ่เข้าไปมีแถบเทปพลาสติกสีเหลืองขนาดใหญ่ปิดกั้นอยู่ พร้อมตัวอักษร “งดใช้เพื่อประหยัดพลังงาน” ผู้มาติดต่อต้องเดินขึ้นบันไดหินแกรนิตไปสู่ชั้นสองที่มีเคาน์เตอร์พนักงานต้อนรับอยู่แทน ไม่ว่าจะเป็นแขกวีไอพีระดับไหนก็ตาม


ในยามค่ำคืนไฟฟ้าตามถนนหนทางบางช่วงถูกปิด ทำให้กรุงโตเกียวที่เคยสว่างไสวดูมืดลง ผู้เขียนได้ทราบจากคนญี่ปุ่นที่ร่วมคณะไปด้วยว่ามีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมากขึ้นเพราะผู้ขับรถไม่ชินกับถนนในลักษณะเช่นนี้ แต่เขาก็กล่าวต่อไปว่าในไม่ช้าทุกคนก็จะปรับตัวได้อย่างแน่นอน เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดมหันตภัยครั้งยิ่งใหญ่นี้ ชาวญี่ปุ่นได้ใช้พลังงานเกินความจำเป็น เพราะมีอำนาจซื้อสูงทำให้ละเลยเรื่องมาตรการประหยัดต่างๆ เขามองในแง่ดีว่าภัยพิบัติครั้งนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายมหาศาลแล้ว ยังช่วยสร้างจิตสำนึกที่มีคุณค่าอย่างยิ่งด้วย


เราคนไทยก็ควรจะได้ “ข้อคิด” จากการรณรงค์ของญี่ปุ่นครั้งนี้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างจริงจังโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ “ภัยธรรมชาติ” มาสอนเรา !


Tags : ปนัดดา เจณณวาสิน
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/panatda/20110705/398712/Super-Cool-Biz-เพื่อลดการใช้พลังงาน.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น