วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จับตา โซล่าฟาร์มธุรกิจใหม่แรง

อินเทรนท์อนาคตพลังงานทดแทนไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น และการที่พลังงานในโลกเริ่มจะขาดแคลน ทำให้การลงทุนในเรื่องพลังงานทางเลือกได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งในส่วนของการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และในส่วนของภาคเอกชนที่เริ่มเห็นช่องทางการลงทุนในพลังงานทางเลือกมากขึ้น ถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ในระยะเริ่มต้น แต่ก็มีธนาคารพาณิชย์พร้อมที่จะสนับสนุนในเรื่องเงินทุน เพราะการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และวิจัย ทำให้รู้ถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่สามารถแก้ไขได้ ทำให้ธุรกิจพลังงานทางเลือกยังมีช่องทางที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

นางวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท โซล่าเพาเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน และมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30,000 เมกะวัตต์ต่อปี แบ่งเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (EGAT) ประมาณ 48% หรือ 14,328 เมกะวัตต์ กลุ่มไอพีพี ผู้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกิน 100 เมกะวัตต์ ประมาณ 40% กลุ่มเอสพีพีหรือกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 100 เมกะวัตต์ ประมาณ 7% และในส่วนของการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านอีกประมาณ 5% แต่ในโครงการ โซล่าฟาร์มจะเรียกว่าวีเอสพีพีหรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ประเทศของกลุ่มนี้น้อยกว่า 1% ซึ่งถ้าดูกลุ่มที่ใช้ไฟมากที่สุดในประเทศไทยก็จะอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม 36.5% และภาคธุรกิจประมาณ 36.2% เพราะประเทศไทยยังไม่มีรถไฟรางเดี่ยวหรือรางคู่ในการขนส่ง ซึ่งคาดว่าหากประเทศไทยยังคงใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในระดับปัจจุบัน ก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติได้อีกเพียงแค่ 28 ปี

ทำให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้ออกแผนล่าสุด คือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) เพื่อให้เกิดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกัน (Cogeneration) รวมทั้งโครงการที่มีความชัดเจนในการดำเนินการ ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าจาก เอสพีพี ระบบCogeneration และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ตลอดจนการกำหนดปริมาณพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านการหาไฟฟ้าของประเทศ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงาน เนื่องจากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นกว่าเมกะวัตต์ในปี 65 และแผนล่าสุดนี้ก็จะทำขึ้นเพื่อลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เหลือ 44% จากปัจจุบันอยู่ที่ 70% กว่า

ทางบริษัทจึงได้มีการริเริ่มทำโครงการ โซล่าฟาร์ม ซึ่งเป็นแผนการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 34 โครงการ กำลังผลิต 204 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการเสร็จในปี 2556 โดยจะเน้นลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความเข้มข้นของรังสีสูง ได้แก่ 1) จ.นครราชสีมา 9 แห่ง กำลังผลิต 54 เมกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 6,300 ล้านบาท 2) จ.ขอนแก่น 10 แห่ง กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 7,000 ล้านบาท 3) จ.บุรีรัมย์ 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท 4) จ.สุรินทร์ 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท 5) จ.นครพนม 3 แห่ง กำลังผลิต 18 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 2,100 ล้านบาท 6) จ.สกลนคร 2 แห่ง กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท 7) จ.ร้อยเอ็ด 2 แห่ง กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 1,400 ล้านบาท 8) จ.หนองคาย 1 แห่ง กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ และ 9) จ.อุดรธานี 1 แห่ง กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ เงินลงทุนแห่งละ 700 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ลงทุนติดตั้งแผง โซลาร์เซลล์ไปแล้ว 3 โครงการ ที่แห่งแรกคือ “ โซล่าฟาร์ม โคราช 1” กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ ที่ ต.ดอนชมพู อ.โนนสูง ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 700 ล้านบาท และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ร่วม 3 หมื่นแผง บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ เริ่มจำหน่ายไฟไปตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.53 และโครงการ โซล่าฟาร์มแห่งที่ 2 ภายใต้บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (สกลนคร 1) สามารถจำหน่ายไฟได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.54 และโครงการ โซล่า เพาเวอร์แห่งที่ 3 ภายใต้บริษัท โซล่า เพาเวอร์ (นครพนม 1) สามารถจำหน่ายไฟได้ตั้งแต่เดือน มี.ค.54 และขณะนี้กำลังก่อสร้างอีก 2 โครงการ คาดว่าจะจำหน่ายไฟได้ภายในเดือนหน้า ทำให้แผนการสร้าง โซล่าฟาร์มอีก 29 โครงการที่เหลือคาดว่าจะเสร็จตามเป้าในปี 56 อย่างแน่นอน และจากการที่แผง โซลาร์เซลล์มีราคาแพงมาก ส่งผลให้มีการกำหนดเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในรูปของเงินช่วยส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) บวกเข้าไปกับราคาขายไฟฟ้าให้กับรัฐ (กฟผ.-กฟภ.-กฟน.) ทำให้บริษัท โซล่า เพาเวอร์ ได้รับเงินเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) สูงถึง 8 บาท/หน่วย ในทุกโครงการ จากปัจจุบันที่เงินส่วนเพิ่มถูกลดลงไปเหลือเพียง 6.50 บาท/หน่วย เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง จัดเป็นข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาทีหลัง

“โครงการลงทุนดังกล่าว เราใช้เงินกู้ประมาณ 60-70% ที่เหลือใช้เงินหมุนเวียนของบริษัท โดยโครงการแรกนั้นได้รับสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นโครงการด้านพลังงานสะอาดโครงการแรกของธนาคาร และคาดว่าจะได้รับสินเชื่อในโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง” นางวันดี กล่าว

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แบ่งเป็นการลงทุนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 70% ซึ่งบริษัทเลือกใช้แผงจากบริษัทเคียวเซร่าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิต 1 ใน 5 ของโลก ส่วนเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ใช้ของบริษัท SMA จากเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเชื่อว่าหากบริษัทลงทุนครบทั้ง 34 จุด จะทำให้ต้นทุนต่ำลงแน่นอน จากปัจจุบันอยู่ที่ 120 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

“การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลภาวะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษาน้อย และยังสามารถพัฒนาคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย” นางวันดี กล่าว

นางวันดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ทางบริษัทได้รับคัดเลือกจากไอบีเอ็ม เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี จึงได้มีการจัดทำสื่อโฆษณา 14 นาที และได้มีการคัดเลือกโครงการจากทั่วโลก 14 โครงการ และหนึ่งในนั้นก็เป็นโครงการ โซล่าฟาร์ม ซึ่งจะมีการฉายออกไปทั่วโลก ซึ่งทางบริษัทก็ถือว่าโครงการนี้เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ดี ในเรื่องการโปรโมทประเทศไทย ให้เป็นผู้นำในด้านพลังงานทดแทน

ด้านนายนพเดช กรรณสูต ผู้อำนวยการฝ่ายสหบรรษัทธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารอยากเห็นโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับสังคม จึงได้เข้าร่วมกับโครงการ โซล่าฟาร์มในการทำวิจัยกับบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งทั่วโลกก็ให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานมาตลอด และประเทศไทยยังขาดการสนับสนุนในเรื่องพลังงานทางเลือก ซึ่งโครงการ โซล่าฟาร์มนับเป็นโครงการแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นให้โครงการอื่นๆ ได้ศึกษาและเข้าใจถึงวิธีการลงทุนในเรื่องพลังงานทางเลือก และโครงการแบบนี้ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย

อีกทั้งยังได้มีการไปศึกษาในต่างประเทศในเรื่องการทำพลังงานทางเลือกว่ามีการปฏิบัติอย่างไร และยังศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการต่างๆ ทำให้ทางธนาคารเชื่อมั่นในโครงการนี้และปล่อยสินเชื่อให้ และนับได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายนพเดช กล่าวต่อว่า ธนาคารจึงได้มีการตั้งเป้าสนับสนุนการทำโครงการในส่วนของพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วมในโครงการ โซล่าฟาร์มจำนวน 21,000 ล้าน หรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่จะมีการลงทุนในอีกไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้าจำนวน 3 โครงการ คิดเป็นวงเงินของโครงการ 9,000 กว่าล้านบาท ซึ่งการปล่อยสินเชื่อพลังงานทางเลือก ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคาร ขณะนี้สินเชื่อรายใหญ่รวมอยู่ที่ 330,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อในส่วนของพลังงานประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท และในจำนวนนี้แบ่งเป็นสินเชื่อพลังงานทางเลือกประมาณ 5,000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีสัดส่วนสินเชื่อพลังงานของธนาคารจะเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นสินเชื่อพลังงานทางเลือกที่เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท หรือโตขึ้น 100%

ทั้งนี้ทางธนาคารก็ยังตั้งเป้าที่จะเป็นอันดับ 1 ในเรื่องธุรกิจพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และขนาดเล็ก (SPP) ในด้านของจำนวนโครงการที่ธนาคารได้รับเลือกให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการเงินกู้ร่วม โดยในปี 53 ถึงเดือน เม.ย.54 ทางธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดเรื่องพลังงานผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 91 ของจำนวนโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือคิดเป็นวงเงินรวมที่ได้รับมอบหมายให้จัดเงินกู้รวมทั้งสิ้นกว่า 150,000 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดสินเชื่อรวมกว่า 161,100 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 1 โครงการคือ โรงไฟฟ้าหงสา ลิกไนต์ ประเทศ สปป.ลาว โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเข้าร่วมสนับสนุน 16 โครงการ จากทั้งหมด 19 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 84 และโครงการพลังงานทดแทนขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ ร้อยละ 90

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ภายหลังที่เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่ญี่ปุ่นปีนี้ ทำให้กระแสความกังวลเพิ่มมากขึ้นถึงการบริหารจัดการและความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการประเมินว่าเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนการผลิตต่ำ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแง่ของปริมาณการปล่อยคาร์บอน ที่ต่ำกว่าแหล่งพลังงานประเภทอื่นๆ และสามารถแก้ไขปัญหาการพึ่งพิงแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ดีก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องหันมาทบทวนแผนการผลิตไฟฟ้าอีกครั้ง โดยพิจารณาทางเลือกที่อาจจะต้องจัดสรรการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานอื่นมาทดแทน และทางเลือกการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่นๆ อาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในรูปแบบที่แตกต่างกันไป หลายฝ่ายจึงให้ความสนใจในเรื่องพลังงานทดแทนกันมากขึ้น

โดยในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการธุรกิจเสนอขายไฟฟ้าต่อ กฟผ.แล้วกว่า 5,051 เมกะวัตต์ ในขณะที่เป้าหมายตามที่รัฐได้กำหนดไว้ภายในปี 65 อยู่ที่ 5,604 เมกะวัตต์ แสดงให้เห็นว่าธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้รับความสนใจจากเอกชนไม่น้อย และภาครัฐเองก็แสดงท่าทีเปิดกว้างต่อการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากทีเดียว ดังจะเห็นได้จากปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนบางประเภทสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์รับซื้อไว้ที่ 2,225.1 เมกะวัตต์ ขณะที่รัฐได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 500 เมกะวัตต์ และพลังงานจากก๊าซชีวภาพรับซื้อไว้ที่ 131 เมกะวัตต์ ขณะที่รัฐได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 120 เมกะวัตต์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ประเมินว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน น่าจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดของพลังงานทดแทนในปัจจุบัน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และการบริหารการจัดการต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และเพื่อให้ธุรกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนสามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนี้ ศักยภาพของธุรกิจพลังงานทดแทนจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ยังต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล และการจัดการทรัพยากรเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ ยังคงเป็นแนวทางที่สำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่กันไปเพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืนของการใช้พลังงาน

source : http://www.banmuang.co.th/economic.asp?id=239065

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น