วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โรงเรียนปัญญาเด่น สถาปัตยกรรมจาก ดิน ไม้ไผ่ และหัวใจผู้สร้าง

โดย : ปวิตร สุวรรณเกต

แนวคิดในการสร้างโรงเรียนด้วยวัสดุธรรมชาติที่หลายคนอาจคิดว่าไม่คงทน ดูแลรักษายาก แต่ภูมิปัญญาไทยมีวิธีแก้ไข

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้พบเห็นอยู่เสมอ วัสดุใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการสร้างสรรค์รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ไม่มีขีดจำกัด ขณะที่วัสดุดั้งเดิมที่ใช้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนถูกมองข้ามไปตามกาลเวลา แต่เมื่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ผสมผสานเข้ากับวัสดุดั้งเดิมจากธรรมชาติอย่าง 'ไม้ไผ่' และ 'ดิน' ผลลัพธ์ที่ได้คือสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและมากด้วยคุณค่าจากภูมิปัญญาดั้งเดิมดังเช่นสถาปัตยกรรมของ โรงเรียนปัญญาเด่น
"ผมอยากจะสร้างจากดินและไม้ไผ่ ถ้าสร้างแบบธรรมดาก็ไม่อยากทำ ทุกคนก็เห็นด้วยทุกคนก็ชอบ" คุณ มาร์คูส โรเซลีบ (Markus Roselieb) จาก เชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น (Chiangmai Life Construction) ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนปัญญาเด่น เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างโรงเรียน
"ผมไม่เคยทำมาก่อน แต่เห็นมาจากหลายๆ ที่ เห็นแล้วชอบ คิดว่าตัวเองอยากจะได้บ้านแบบนี้ และถ้าเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กๆ ของเราเอง เราคิดว่าอะไรต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ บ้านดินอยู่ได้สบายๆ ถ้าเด็กอยู่ในบ้านดินได้ตั้งแต่เด็กๆ ความรู้สึกอาจจะเกิดขึ้นมากกว่า ต่อไปจะช่วยเปลี่ยนความคิดของเด็กได้"
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโรงเรียนปัญญาเด่นเป็นการผสมผสานระหว่างการออกแบบจาก 24H Architecture และทีมงานของเชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งมีอาจารย์ เดชา เตียงเกตุ เป็นผู้ดูแลในการปรับเปลี่ยนแบบให้ใช้ได้จริง

"เราอยากจะใช้วัสดุธรรมชาติ แต่ชอบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ เรามีสถาปนิกทำดีไซน์ ออกมาก็สวยดี แต่การจะเปลี่ยนดีไซน์เป็นงานจริงต้องปรับเยอะ อาจารย์เดชาเป็นผู้ปรับดีไซน์ให้เป็นไม้ไผ่ทั้งหมดให้ได้จริงๆ และดูแลใช้ไม้ไผ่ให้พอดีไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป ทำให้แข็งแรงขึ้น ให้น้ำไม่เข้า เพราะว่าบางทีเราทำดีไซน์ แต่สถานที่จริงอยู่ที่นี่ เราไม่เห็นว่าสิ่งแวดล้อมรอบๆ เป็นอย่างไร ลมมาจากไหน ฝุ่นมาจากไหน พระอาทิตย์อยู่ตรงไหน เรารู้คร่าวๆ อยู่แล้วทิศเหนืออยู่ตรงไหนทิศใต้อยู่ตรงไหน เราก็บอกว่าทิศใต้ไม่อยากได้หน้าต่างใหญ่ๆ เพราะว่าโดนแดด ข้างในก็ร้อน หน้าต่างต้องอยู่ทิศเหนือหรือทิศตะวันออก มันละเอียด ทำจากข้างนอกไม่ได้ บางทีเราต้องการอาคารที่ยังไม่มีในแบบ อาจารย์เดชาก็เปลี่ยน และดีไซน์ว่าเปลี่ยนอย่างไร เราหาคนมาจากเมืองนอกและเมืองไทยด้วย เขาจะสอนเราว่า ทำอันนี้ทำอย่างไร ทำอันนั้นทำอย่างไร และเราเองมีความรู้ เราเอาความรู้มาเยอะๆ แล้วเอามาผสมผสาน"

โครงสร้างหลังคาของอาคารทุกหลังใช้ ไม้ไผ่ เป็นวัสดุหลัก โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการยึดไม้ไผ่เข้ากับหินซึ่งเป็นฐาน และเสริมความแข็งแรงให้ไม้ไผ่ด้วย 'ความรู้'

"เราใช้วิธีเจาะแกนเหล็กลงไปในหินก่อน เจาะเป็นรูแล้วเราก็ใส่กาว แล้วมาใส่จุกลงไป หยอดปูนลงไปสูงสัก 70 เซนติเมตรเพื่อล็อกไม่ให้ไม้ไผ่ขยับ แต่การรับน้ำหนักจริงๆ คือไม้ไผ่ทั้งลำไม่ได้มีซีเมนต์" อาจารย์เดชา บอก

"ตัวไม้ไผ่ที่เป็นโครงสร้างเป็นเสาทั้งหมด เราใช้ ไผ่ตง ที่มีอายุประมาณ 5-7 ปี ถ้าอายุน้อยกว่านั้นก็จะมีปัญหาเรื่องการหดตัว การแตก ความแข็งแรงไม่พอ ปัญหาของประเทศไทยหรือคนไทยที่เราไม่ค่อยเชื่อมั่นไม้ไผ่เพราะเรื่องมอด เรื่องแมลง เรื่องปลวกกิน เราสามารถป้องกันด้วยการแช่น้ำยา เราใช้บอแรกซ์ที่ใช้ผสมลูกชิ้นแช่ไว้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ก่อนแช่เราจะทะลุข้อทั้งหมดเพราะถ้าเราไม่ทะลุข้อจะมีปัญหาคือน้ำเข้าไปไม่ได้อากาศยังอยู่ข้างในเพราะฉะนั้นแมลงยังสามารถเจาะเข้าไปได้ หรือบางอันมีไข่ของแมลงอยู่ภายในอยู่แล้วเมื่อถึงอายุแมลงจะเจาะออกมามันก็ไม่มีประโยชน์เราทำได้สักปีสองปีก็พัง"

ความรู้ในการเสริมความแข็งแรงให้ไม้ไผ่ ยังรวมถึงการนำ ภูมิปัญญาโบราณ มาใช้อย่างเข้าใจ อาจารย์เดชา บอกว่า "ไม้ไผ่แต่ละลำเขาบอกเราอยู่ เช่นเราจะดูความแข็ง ใช้มีดสักเล่มฟันดูความแข็งและดูลักษณะของเนื้อภายใน เนื้อไม้ไผ่จะต่างจากไม้ชนิดอื่น คือไม้ชนิดอื่นเวลามันเติบโตมันขยายตัวออกแต่ไม้ไผ่เวลาอายุถึงประมาณสามปีจะเริ่มหยุดการเจริญเติบโต คือไม่ขยายตัวออกแต่มันจะเติบโตภายใน ช่องว่างภายในจะเริ่มลดลงๆ จนกลายเป็นไผ่ตันคือไม่มีรู ในสมัยโบราณเขาถึงชอบเอาไม้ไผ่มาเปรียบเทียบกับเรื่องความเชื่อทางศาสนาคือแนวปรัชญาว่าจริงๆ แล้วมันสามารถเจริญเติบโตภายใน ไม้ไผ่เวลาตัด โบราณเขาจะสอนเรา มีตำราว่าตัดวันไหนดีไม่ดี ตัดขึ้นกี่ค่ำแรมกี่ค่ำ ตัดวันไหนมอดไม่กิน ทุกอย่างมีความหมายหมด เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เพราะว่าบางช่วงที่เขาตัดมันเกี่ยวกับข้างขึ้นข้างแรม น้ำขึ้นน้ำลง ช่วงที่น้ำลงคือช่วงที่พวกโปรตีนพวกน้ำตาลโดนดูดลงมาอยู่ที่รากที่หน่อ เพราะฉะนั้นช่วงนั้นพอตัดไปน้ำตาลมันน้อย แมลงก็ไม่ค่อยเจาะไม่ค่อยกิน มันมีเหตุผลเพียงแต่เราไม่ค่อยเข้าใจซึ่งคนโบราณเขาอธิบายไม่ได้ว่าทำไมแต่เขาบอกได้ว่าตัดช่วงนี้ดี"
"ไม้ไผ่พออยู่ไปนานๆ มีรูน้อยลงและเนื้อไม้เองจะแน่นกว่าด้วย เพราะน้ำตาลกับโปรตีนจะออกมา ในไม้ไผ่ก็มีแต่ไฟเบอร์" คุณมาร์คูส กล่าวเสริม
อายุการใช้งานของไม้ไผ่ที่มีการเตรียมด้วยวิธีการที่เหมาะสม อาจารย์เดชา บอกว่า "ถ้าเป็นโครงสร้างภายในก็อายุสามสิบปีขึ้น อาจจะใช้ได้ถึงร้อยปีถ้าเราดูแลดีๆ เพราะไม้ไผ่หลักจริงๆ คือเราต้องดูแลไม่ให้โดนน้ำโดนแดด เพราะถ้าโดนสองอย่างนี้เขาจะผุได้เร็ว แต่ถ้าเป็นหลังคาที่เรามุงเป็นฝ้า อันนั้นเป็น ไผ่สีสุก คุณสมบัติของเขาคือผิวค่อนข้างแข็งและทนพวกแดดพวกฝนได้ดี ประมาณสิบปีอาจเปลี่ยนหนึ่งครั้ง ..เสาไม้ไผ่อาจจะสองปีครั้งมาทำความสะอาดบ้าง ลูบน้ำมันให้บ้าง เพราะถ้ามันโดนฝุ่นเกาะเยอะๆ ก็มีโอกาสที่มันจะเป็นเชื้อราหรือว่าผุ เราก็ทำความสะอาดให้เขาบ้าง หลังคาอาจจะมีปัญหาเยอะหน่อย แต่เราคิดเอาไว้แล้ว คือใช้วิธีแบบโบราณ เวลาเขามุงหลังคาเวลามันผุ เขาไม่ได้รื้อออก จะใช้วิธีมุงทับลงไป พอผุอีก ก็มุงทับ มันจะกลายเป็นหลังคาที่หนามาก มีชั้นหลังคาที่หนาอยู่ได้เป็น 20-30 ปี เป็นภูมิปัญญาของเขาอีกอย่างหนึ่ง"
รูปทรงหลังคาของอาคารแต่ละหลังได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว "มาจากหลายส่วน ภูเขาบ้าง ใบไม้บ้าง หรือมีอยู่วันหนึ่งเราเห็นคนถือร่มเดินมา อ๊ะ.. อย่างนี้ได้ไหมมาดูกัน ส่วนมากดีไซน์ที่ออกมาไม่ใช่แค่ออกมาจากเราคนเดียว คุณมาร์คูสดูบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนที่ทำงานร่วมกับเราๆ ไม่ได้มองเขาว่าแค่เป็นคนงาน แต่ทุกคนสามารถที่จะสร้างสรรค์ได้ ใครมีความคิดเห็นอะไรก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ เราช่วยกัน"
รูปทรงของหน้าต่าง เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีการออกแบบแตกต่างจากหน้าต่างที่เห็นอยู่ทั่วไป คุณมาร์คูส พูดถึงที่มาของรูปทรงหน้าต่างว่า "มันเบื่อ แค่อยากจะทำอย่างอื่นและไม่มีความหมายที่จะทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบทั่วไป เขาทำกันแบบนั้นเพราะว่าเขาเห็นจากที่อื่นและคิดว่ามันง่ายกว่า แต่จริงๆ ทำรูปทรงอย่างไรก็ได้แต่ต้องมีช่างที่มีฝีมือ เราโชคดีที่มีช่างไม้ที่เก่งและเขาชอบความท้าทาย เขาไม่ใช้ตะปูแต่เอาลิ่มไม้มาใส่"
การก่อสร้าง ผนังอาคารในรูปแบบของบ้านดิน มีการนำภูมิปัญญาโบราณมาใช้อย่างเข้าใจ อาจารย์เดชา บอกว่า "ผนังดินเรายังใช้แบบโบราณอยู่คือการปั้นอิฐเป็นก้อนแล้วใช้แกลบ เราใช้วิธีเดียวกันเพียงแต่ว่าเราไม่ได้เอาไปเผาเราใช้อิฐดิบมาก่อเรียงกัน อีกเทคนิคหนึ่งที่เรายังใช้ของโบราณอยู่คือเวลาก่ออิฐผนังจะใช้โคลนที่มาเชื่อมต่อบางมาก ถ้าเราใช้หนาเมื่อไรความแข็งแรงจะเปลี่ยนไป เราใช้เทคนิควิธีการแบบโบราณเพียงแต่เราต้องเข้าใจว่าโบราณเขาทำเพื่ออะไร ถ้าเราไม่เข้าใจมันจะไม่มีคุณค่า"
การเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาโบราณ คุณมาร์คูส ยกตัวอย่างให้ฟังว่า "ไม่ใช่ว่าเราต้องใช้วิธีโบราณตลอดเวลา ถ้าวิธีโบราณมีประโยชน์ก็ใช้แต่ถ้าเราเห็นว่ามีเทคโนโลยีใหม่ที่จะใช้ได้ดีก็เอามาเลย เช่นเราใช้แต่ลิ่มไม้ไผ่เพราะว่าถ้าใช้ตะปูหนึ่งจะทำให้ตัวไม้ไผ่แตกง่าย สองแค่สักสองเดือนมีสนิมเกิดขึ้นนิดๆ ข้างนอกตะปูนั้นก็ดึงออกได้ แต่ถ้าเป็นลิ่มไม้ไผ่ผ่านไป 2-3 เดือนจะแข็งแรงขึ้นเพราะว่าดูดน้ำแล้วจะขยาย เราทำลิ่มเป็นแบบโบราณๆ เพราะว่ามีประโยชน์เพราะว่าดีกว่า แต่ที่เราเสียบไม้ไผ่กับหิน เจาะรูใส่เหล็ก เอากาวเอาปูนมาใส่ เพราะว่ามันเหมาะ"
ในส่วนของวัสดุทำผนังเหตุผลที่เลือกใช้ดิน คุณมาร์คูส บอกว่า "ดินช่วยเรามากกว่าผนังปูนเพราะดูดความชื้นออกได้และปล่อยออกได้ ถ้าอากาศแล้งมากตอนเช้าเราไปฉีดน้ำใส่ผนังเขาจะดูดความชื้นเข้าไปและอยู่ได้ทั้งวัน ถ้าอากาศชื้นมากเขาจะดูดความชื้นไว้เวลาแห้งก็ปล่อยออกมา.. ถ้าเราใช้ดินกันร้อนได้ไหม ได้เพราะว่าเราใช้แกลบด้วย กันเย็นได้ไหมตอนกลางคืนถ้าข้างนอกเย็นข้างในยังอุ่นอยู่ กันเสียงได้ไหมได้เพราะมีแกลบ ความแข็งแรงก็เหมือนกันไม่ต้องใช้ปูนถ้าเรามีอะไรที่ดีกว่าสำหรับผนังอย่างนี้ ดินมีสองอย่างที่เราใช้เป็นก้อนดินและใช้เป็นดินอัด ดินอัดความแข็งแรงที่จะรับน้ำหนักสูงมากเกือบเท่ากับปูน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องทำเป็นเสาปูนข้างในก็รับน้ำหนักของหลังคาได้เลย ถ้าเรามีความรู้มันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ปูน เพราะไม่ได้มีประโยชน์มากกว่า...
แม้แต่ไม้ไผ่จริงๆ ความแข็งแรงในการรับน้ำหนักมันเท่ากับเหล็ก หรือมากกว่าเหล็กด้วย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เหล็กถ้าเรารู้ว่าจะไม้ไผ่ใช้อย่างไร เรารู้สึกว่าทำไมทุกคนใช้ปูนกับเหล็กก็งงอยู่ จริงๆ เขาใช้เพราะว่าคนอื่นใช้แค่นี้ คำตอบง่ายๆ (หัวเราะ) ไม่ใช่เพราะดีกว่าหรือถูกกว่า เราคิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องทำตาม ..ความคิดของเราที่ใช้ดินกับไม้ไผ่ไม่ใช่แค่เพราะเราชอบธรรมชาติแต่เป็นสิ่งที่น่าจะทำ จริงๆ ช่วยให้ง่ายขึ้นด้วย ปัญหาสำหรับเราคือฤดูฝน ถ้าฝนตกตลอดสร้างบ้านดินบ้านไม้ไผ่ยากมาก นี่หมายถึงตอนก่อสร้าง"
อาจารย์เดชา กล่าวเสริมว่า "ส่วนใหญ่ปัญหาบ้านดินที่เราเห็นทั่วไปเช่นจะเป็นเชื้อราเยอะ มีปัญหาเรื่องความชื้นมาก หนึ่งอาจจะเป็นที่ดีไซน์หรือการทำหลังคาซึ่งการระบายอากาศค่อนข้างที่จะทึบเลยทำให้ดูว่าบ้านดินอยู่แล้วอึดอัด จริงๆ อยู่บ้านปูนก็อึดอัดถ้าเราทำแบบนั้น นั่นก็คือพออึดอัดเราก็จะคิดถึงการใช้แอร์ติดแอร์ติดพัดลม และบ้านดินที่เรารู้สึกกันส่วนใหญ่คือไม่ถาวร ดินเดี๋ยวโดนน้ำโดนฝนก็พัง เดี๋ยวก็ผิวเสีย จริงๆ แล้วเราเคยชินกับปูน แต่ถ้าเป็นสมัยโบราณแต่ละปีเขาก็ต้องมีการดูแลรักษา ไม่ใช่สร้างไว้สิบปีค่อยมาดู บ้านมันก็มีชีวิต สมัยโบราณอย่างบ้านของทางภาคเหนือ นอกชานตากฝนด้วยซ้ำ มันก็ผุ ไม่ใช่ไม่ผุ พอออกหน้าแล้งทีหนึ่งเขาก็มาดูซ่อมแซมตรงไหนที่ผุพังไป ที่จะต้องบำรุงรักษา คือส่วนที่โดนฝน ส่วนมากจะเป็นแค่นั้น ส่วนอื่นก็อยู่เหมือนบ้านธรรมดา"
อาจารย์เดชา บอกว่า การสร้างสถาปัตยกรรมด้วยดินและไม้ไผ่เป็นสิ่งที่เหมาะกับประเทศไทยเพียงแต่การนำมาใช้ต้องใช้ด้วย 'ใจ'
"เราทำบ้านดินให้ทันสมัยได้และใช้ได้ทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งที่เราพยายามทำงานนี้คือเราอยากให้ชาวบ้านหรือคนไทยเริ่มเห็นว่าจริงๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวเขาใช้ได้หมด ชาวต่างชาติหลายคนพูดว่าเขาเสียดายที่คนไทยไม่ค่อยเห็นคุณค่าของดินและไม้ไผ่ที่จะเอามาทำที่อยู่อาศัย ในขณะที่ประเทศเขาในยุโรปในอเมริกาเขาหายาก เป็นสิ่งที่มีค่า แต่คนไทยเราถ้าใครปลูกบ้านไม้ไผ่ คือไม่มีปัญญาสร้างบ้านปูน คือจน (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งคือเวลาที่เราเริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ทางเลือกหรือมันเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าเราก็ไม่คิดต่อ ว่าทำไมมอดถึงกิน ทำไมเอาไม้ไผ่แช่น้ำแล้วไม่ได้ผล แค่มันไม่ได้ก็ไม่ได้ แต่ไม่ได้คิดพัฒนาต่อ เวลาเรามาทำจริงเวลาเราเริ่มให้ชาวบ้านหรือคนงานเขาเริ่มคิด เขาก็เริ่มคิดออก ในภาคเหนือโดยเฉพาะคนงานเรา บางส่วนเป็นชาวเขา เกิดมาก็อยู่กับไม้ไผ่ ไม้ไผ่อยู่ในวิถีชีวิตเขามาตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้นเขาปรับนิดเดียวเขาเข้าใจแล้ว เพียงแต่เราให้โอกาสเขาแค่นั้น...
สิ่งหนึ่งที่เราสอนคนงานคือ การทำงานด้วยใจ คุณทำงานดิน ถ้าใจคุณไม่นิ่ง หรือว่าใจคุณไม่อยู่กับดิน งานออกมาเรารู้เลยว่ายังไม่ได้ สิ่งที่เราทำประสบความสำเร็จค่อนข้างเยอะ คือสร้างคนที่ทำงานด้วยใจ อย่างคนที่ทำเรื่องไม้ไผ่ การดัดไม้แต่ละอัน ถ้าคนไม่ได้ทำด้วยใจ ดัดไปเถอะ ...หัก แต่คนที่ใจได้ดัดได้ หรือหินการเจาะหินแต่ละก้อนมันไม่ใช่ง่าย ถ้าใจคุณอยากให้เร็ว คุณใช้แรงเยอะๆ อัดไปเถอะ บางทีวันนึงยังไม่ได้ แต่เมื่อไรใจคุณได้ ใจเย็นๆ ค่อยๆ เจาะ สิบนาทีได้แล้ว"
ความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมของโรงเรียนปัญญาเด่นเป็นสิ่งยืนยันถึงผลสำเร็จของการสร้างสรรค์ด้วย 'ใจ' ได้เป็นอย่างดี
อาคารผู้ปกครองสร้างความแตกต่างด้วยโครงสร้างจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเสียบไม้ไผ่เข้ากับหิน
ผนังห้องเรียนใช้ดินอัดซึ่งมีความแข็งแรงและรองรับน้ำหนักได้ดี
สร้างรูปทรงโค้งมนด้วยการก่ออิฐดิบซึ่งทำจากดินและแกลบ
หน้าต่างรูปทรงแปลกตายึดด้วยลิ้มไม้ตรงกลางให้พลิกเปิดได้ทั้งสองด้านตามทิศทางลม
มร.มาร์คูส โรเซลีบ และ อาจารย์เดชา เตียงเกตุ

รูปทรงหลังคาสร้างสรรค์จากแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น