วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พับแผนนุกเดินหน้า พลังงานหมุนเวียน ทางเดินของเยอรมนีที่ไทยควรดู



ไม่มีใครที่ไม่ตระหนักถึงผลข้างเคียงอันเลวร้ายของนิวเคลียร์อีกต่อไป


นับตั้งแต่เกิดเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิชิ ประเทศญี่ปุ่น แต่ความหวั่นวิตกก็มาพร้อมคำถามในเวลาเดียวกันว่า ถ้าไม่ใช่นิวเคลียร์ แล้วจะเป็นพลังงานอะไรที่สามารถรองรับการเติบโตของจีดีพีและเขตอุตสาหกรรมในประเทศได้




 เยอรมนีนับเป็นชาติแรกที่ให้คำตอบได้อย่างชัดเจนที่สุด กับการประกาศพับแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2020 และโดดเข้าไปเล่นเต็มตัวชนิดที่สื่อบางฉบับเรียกว่าเป็นการพนันครั้งใหญ่ใน “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy)

ดร.ยีอ๊อค เมาเอ้ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูของเยอรมนี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า การยกเลิกพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในเยอรมนี เป็นเรื่องที่หารือกันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษาที่สูง รวมถึงการกำจัดของเสียกากนิวเคลียร์ และเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ก็คือตัวกระตุ้นที่ทำให้ตัดสินใจได้ว่า จะไม่ขยายเวลาการปิดตายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก





ในวงสัมภาษณ์กลุ่มย่อยซึ่งมีผู้แทนของเยอรมนีอีกหลายคน  อาทิ ไค ชเลเกลมิลช์ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูของเยอรมนี ระบุว่า ทิศทางของเยอรมนีในวันนี้ยังสอดคล้องกับอีกหลายชาติในยุโรป อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ที่เสนอให้ยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตเช่นกัน ขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั้น ก็ได้เริ่มมานานและพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วในเยอรมนี

จากข้อมูลในเว็บไซต์ด้านพลังงานที่ยั่งยืนและข้อมูลจากทางการระบุว่า  สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในเยอรมนี ได้เพิ่มขึ้นจาก 6.3% ของพลังงานทั้งหมดเมื่อปี 2000 ไปเป็นราว 17% ในปี 2010 ที่ผ่านมา โดยมีรูปแบบของการใช้พลังงานลมมากที่สุด ขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังสามารถทำให้เกิดการจ้างงานถึงราว 3.7 แสนอัตราในปีที่แล้ว

ชเลเกลมิลช์  กล่าวว่า นโยบายทางการเงินการคลัง และการสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Incentives) ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในภาคเอกชน เกิดการแข่งขัน การลงทุน และใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ซึ่งแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ยังช่วยเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนด้วย เพราะแต่เดิมนั้นคงไม่มีใครต้องการให้เอาสายส่งหรืออะไรมาไว้หลังบ้านตัวเอง แต่การสร้างแรงจูงใจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม   อย่างไรก็ตาม  หากจะนำบทเรียนและประสบการณ์ของเยอรมนี ประเทศเขตเศรษฐกิจอันดับ 1 ของยุโรปมาปรับใช้กับประเทศไทย ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องพลังงานทางเลือกนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก โดยเฉพาะการวางนโยบายอย่างเป็นระบบจากภาครัฐ

“แนวคิดเรื่องการใช้พลังงานหมุนเวียนในไทยได้พัฒนาไปมากแล้ว สังคมไทยมีความรู้และความเข้าใจดีขึ้น เพียงแต่มีบางโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการพัฒนารวดเร็วพอ จากการได้พบปะพูดคุยเราประทับใจหน่วยงานของไทยหลายแห่งซึ่งตระหนักถึงเรื่องนี้ เพียงแต่ว่ายังอาจไม่มีการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในแผนระดับชาติ” เมาเอ้ กล่าว

เพราะแม้ประเทศไทยจะมีแผนยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติปี  2546 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 0.5% ในปี 2545 ไปเป็น 8% ในปี 2554 ทว่าจนถึงปัจจุบัน กลับยังไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์

จากรายงานสถิติการใช้พลังงานทั่วโลกปี  2011 ของบริษัท บีพี พบว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนในไทยเมื่อปีที่แล้วมีสัดส่วนเพียง 1.1% เท่านั้น  ส่วนใหญ่พลังงานหมุนเวียนในไทยมักอยู่ในรูปแบบของพลังงานชีวมวล  และก๊าซชีวภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่อีกมากในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังขาดการสร้างแรงจูงใจในเชิงเศรษฐศาสตร์อยู่มาก   ตรงกันข้ามสิ่งที่เราได้ยินผ่านสื่อดังกว่าและบ่อยครั้งกว่า กลับเป็นการเน้นพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งการซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนในลาว ที่ได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย และก๊าซธรรมชาติจากพม่า ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ผันผวนหนัก จนประสบปัญหาการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันมาแล้ว

“การพึ่งพาพลังงานจากเพื่อนบ้าน เช่น ไฟฟ้าจากลาวนั้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ธรรมดามากของการชื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงาน อย่างการลงทุนด้านพลังงานระยะยาวของเรา ก็มีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิต และส่งกลับมาที่ยุโรปต่อไป แต่ก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น ในภาพรวมผมจึงมองว่าหากต้องพึ่งพาพลังงานภายนอกทั้งหมดโดยสิ้นเชิง คงไม่ดีนัก เพราะอาจส่งผลกระทบได้หากเกิดปัญหาทางการเมืองระหว่างกัน และยังมีประเด็นเรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและผลทางสิ่งแวดล้อม เช่นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่อาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามมาได้ แต่ตรงจุดนั้นก็อาจทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงพลังงานอย่างยั่งยืนขึ้นมาด้วย” เมาเอ้ กล่าว

source : PostToday 12 มิถุนายน 2554 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น