วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

'SPCG' ขึ้นแท่นผู้นำพลังแสงอาทิตย์ในอาเซียนกฟภ.ชี้ผู้ผลิตขาด 'เงินทุน'ถูกดองใบอนุญาตอื้อ

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์   8 มีนาคม 2555
Source : http://www.manager.co.th/mgrweekly/ViewNews.aspx?NewsID=9550000030597


     พลังงานแสงอาทิตย์ครองแชมป์อันดับ1 ของพลังงานทดแทน ด้านผู้ว่าฯกฟภ. เดินหน้ารับซื้อพลังงานหมุนเวียน แจง ผู้ประกอบการแสงอาทิตย์ขาด 'เงินทุน' ถูกดองใบสัญญาเพียบ! ด้าน SPCG ก้าวเป็นผู้นำพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน พร้อมลุย34 โครงการครบในปี56
      
       พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ฯลฯ ที่กำลังจะหมดลง หรือเป็นส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล ขยะ ฯลฯ เป็นพลังงานที่มีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเพิ่งเกิดกระแสบูมขึ้นไม่กี่ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และผลักดันอย่างชัดเจน อาทิ การให้แอดเดอร์สนับสนุน รวมถึงการที่เทคโนโลยีเริ่มทันสมัย และมีราคาที่ต่ำลงกว่าอดีต
      
       ดันพลังงานแสงอาทิตย์แทนก๊าซธรรมชาติ
      
       ณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวถึงบทบาทของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน หรือพลังงานหมุนเวียนว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการผลักดัน และพัฒนาาพลังงานทดแทนทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว และจากนโยบายของกระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าหมายรับซื้อพลังงานจากกลุ่ม พลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ใน 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาทำสัญญาแล้วกว่า 700 เมกะวัตต์ ขณะที่ซื้อขายจริงขณะนี้อยู่ที่ 100 กว่าเมกะวัตต์เท่านั้น คาดว่าอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะมีสัญญาที่ครบกำหนดสามารถผลิตไฟฟ้าขายได้ประมาณ 700 เมกะวัตต์
      
       อย่างไรก็ตามโครงการผลิตพลังงานทดแทนส่วนใหญ่จะมีที่ตั้งอยู่ต่าง จังหวัด ซึ่งมักจะขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มีหน่วยงานอยู่หลายพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ ในกรณีที่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ หรือ VSPP ให้ขายแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ถ้าสูงกว่านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเป็นผู้รับซื้อ
      
       “ถ้าทำพลังงานทดแทน เพื่อมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน จะช่วยลดการนำเข้า และลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีจำนวนจำกัด”
      
       โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะทำหน้าที่ในการจัดหา และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในต่างจังหวัด ยกเว้น กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ จะเป็นหน้าที่ของไฟฟ้านครหลวง
      
       “กฟภ.รับซื้อกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก หรือพลังงานทดแทนในรูปแบบ VSPP ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อจำนวน 217 ราย 605.8 เมกะวัตต์ มีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก และยังลงทุนในด้านการสนับสนุนการทดลอง และวิจัย เพื่อพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม โดยให้อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยทดลอง มีกองทุนวิจัยงบประมาณ 445 ล้านบาทเพื่อค้นหาพลังงานทดแทนประเภทไหนเหมาะสมกับประเทศไทย”
      
       จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าพลังงานแสงอาทิตย์ขณะนี้ถือว่ามีศักยภาพมาก ที่สุด เนื่องจากอากาศที่ประเทศไทยร้อน และมีแดดทุกวัน รองมาเป็นชีวมวล ขณะที่ลม ก๊าซชีวภาพ และขยะยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าที่ควร ทั้งนี้พื้นที่ลมดีมักอยู่ที่ในป่า ภูเขาสูง หรืออาจอยู่ในเขตสงวนป่าไม้ต่างๆ ซึ่งจะยากต่อการส่งกระแสไฟฟ้า หรือทำระบบสายส่งอีกด้วย
      
       ผู้ประกอบการแสงอาทิตย์ขาด 'เงินทุน'
      
       ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดเผยถึงมาตรการตรวจสอบ และกำกับดูแลผู้ประกอบการที่ทำสัญญาขอผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ว่า ในแต่ละสัญญาจะมีกำหนดการซื้อขายที่ระบุวันจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน ก่อนถึงขั้นตอนการซื้อขายจริงทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการเข้าตรวจสอบ ความคืบหน้า รวมถึงความพร้อมของผู้ผลิต โดยมีระยะเวลาผ่อนผันให้ 6 เดือน หรือหากพิจารณาเห็นว่าไม่มีความพร้อม อาจถึงขั้นยกเลิกสัญญา หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม
      
       “มีผู้ที่ขออนุญาติผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จำนวนมากที่ยังไม่ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า หรือลงทุนได้ตามสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่จะติดปัญหาด้านเงินทุน ”
      
       อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่ขอโควต้าผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสง อาทิตย์ในระยะแรกจะได้แอดเดอร์สูงถึง 8 บาท ดังนั้นการคืนทุนจะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี อยู่ที่ประมาณ 6-7 ปี ขณะที่ส่วนใหญ่สัญญาซื้อขาย และสนับสนุนแอดเดอร์จะอยู่ที่ 10 ปี ดังนั้นหลังจากคืนทุนก็ได้ผลตอบแทนที่ดี หลังจากนั้นผู้ที่ขอรอบหลังจะได้แอดเดอร์อยู่ที่ 6.50 บาท และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อย เนื่องจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และราคาถูกลง
      
       “แผงโซล่าเซลล์ส่วนใหญ่จะนำเข้า มีผลิตเองบ้าง แต่น้อยมาก เพราะประเทศไทยไม่มีวัตถุดิบ และหากผลิตเพื่อใช้ในประเทศก็ยังไม่คุ้มแก่การลงทุน ขณะนี้ส่วนแบ่งการตลาดแผงโซล่าเซลล์จะมาจากประเทศจีนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถสู่ราคาได้ แทบจะครองตลาด มีญี่ปุ่นบ้าง ประสิทธิภาพก็ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับราคา เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ”
      
       อนาคต กฟภ.ลุกปั้มไฟฟ้า
      
       ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวถึงระบบการจัดการกระแสไฟฟ้าจากรายย่อยว่า ทางกฟภ. ได้พัฒนาระบบ Smart Grid หรือ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่มีความทันสมัยในระบบการจ่ายไฟ โดยเอาระบบไอซีทีเข้ามาช่วย ทำให้เกิดความสมดุลของดีมานด์ และซัพพลาย โดยเฉพาะเมื่อมีโรงงาน VSPP ขนาดเล็ก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องมีการระบบการจัดการที่ทันสมัย มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการจัดการ ว่ารายไหนขายเมื่อไร และช่วยใด
      
       ขณะที่ในบางประเทศที่มีพลังงานทดแทนเหลือ มีการนำไปชาร์ตเข้ากับรถไฟฟ้า ซึ่งในอนาคตประเทศไทยอาจเปลี่ยนจากปั้มแก๊ส เป็นปั้มไฟฟ้าก็เป็นได้ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในอนาคตอาจทำธุรกิจเสริม เช่น ปั้มไฟฟ้า เป็นต้น

       อย่างไรก็ดีพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่สนใจแก่นักลงทุนด้านพลังงานหมุน เวียนเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเปิดให้ขอโคต้า หรือสัญญารับซื้อกระแสไฟฟ้า โดยให้แอดเดอร์สูงถึง 8 บาท จึงมีผู้ขอเป็นจำนวนมาก และค่าแอดเดอร์ในครั้งหลังลดลงเหลือ 6.50 บาท
      
       วันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงานเปิดโครงการโซล่าฟาร์มของบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จ.เลย ว่าเอสพีซีจีถือเป็นผู้นำในการพัฒนาโซล่าฟาร์มเชิงพาณิชย์แห่งแรก และมีกำลังการผลิตรวมทุกโครงการถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน
      
       พลังงานแสงอาทิตย์ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีเสียงในการทำงาน มีการบำรุงรักษาน้อย ไม่มีค่าเชื้อเพลิง ในด้านการลงทุนจึงมีจุดสำคัญแค่การระดมทุนจำนวนมากรอบแรกเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จไม่ต้องทำอะไรแล้ว ตลอด 30 ปี แผงมีการรับประกัน 25 ปี อายุกว่า 50 ปี อินเวสเตอร์ประมาณ 25 ปี
      
       โดยมีอัตราส่วนการลงทุนค่าที่ดินประมาณ 5-10% แต่ก็จะมีมูลค่าเพิ่มจากที่ดินในอนาคต, มูลค่าอุปกรณ์ รวมถึงแผงโซล่าเซลล์ประมาณ 70%, ค่าทำถนน รั่ว และค่าก่อสร้างต่างๆ ประมาณ 20%, ค่าใช้จ่ายในการเริ่มพัฒนาโครงการอีกประมาณ 5% โดยต้นทุนต่อแผลงประมาณ 7,000-8,000 บาท ที่ดินต้องเลือกที่ดี อย่าถูกมาก อาจเกิดปัญหาโจรขโมย และควรคำนึงถึงเรื่องมูลค่าของที่ดินด้วย
      
       ลุย34 โครงการครบในปี56
      
       ส่วนการลงทุนแต่ละโครงการพลังแสงอาทิตย์ ภายใต้SPCG มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 600-650 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน และใช้พื้นที่ดินประมาณ 100-150 ไร่ โดยบริษัทมีแผนในการลงทุนไว้ 34 โครงการ มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละโครงการจะลงทุน หรือหาทุน 25 % อีก 75% กู้ธนาคาร ระยะเวลาคืนธนาคาร 10 ปีขึ้นไป กำลังการผลิตอยู่ที่โครงการละประมาณ 6 เม็กะวัตต์ กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เลือกเพราะ เป็นราบสูง น้ำไม่ท่วม
      
       ปัจจุบันมีโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว และได้ขายไปแล้วกว่า 7 โครงการ กำลังจะขายอีก 2 โครงการ อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และเริ่มก่อสร้างอีก 7 โครงการ คาดว่าจะขายได้ในไตรมาสที่ 2 หลังจากนั้นจะก่อสร้างอีก 9 โครงการ และประมาณปี 2556 จะสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมดให้ครบ 34 โครงการที่วางไว้ ซึ่งแต่ละโครงการจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5 เดือน ทั้งนี้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตลอดอายุโครงการ และในทุกโครงการ ประมาณ 7 ปีคืนทุน 3 ปีตอบโจทย์ธนาคาร ได้แอดเดอร์ 8 บาท หลังจากนั้นเป็นในส่วนของผู้ถือหุ้น
      
       “กำลังการผลิตของ 1 โครงการต่อปีเพียงพอต่อความต้องการของครัวเรือนประมาณ 20,000 ครัวเรือน เมื่อเทียบกับอัตราใช้ไฟฟรีที่ไม่เกิน 60 หน่วย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มีการใช้ไฟฟ้าที่ไม่สูงมาก”
      
       อีก10ปีไม่มีแอดเดอร์ก็ยังคุ้ม
      
       วันดี กุญชรยาคง มองว่าค่าแอดเดอร์ 8 บาท แม้จะหมดลงในอีก 10 ปี แต่แนวโน้มค่าไฟฟ้า และพลังงานไม่ลดลง ปัจจุบันค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาท และอีก 10 ปีมีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยใกล้หมด และยังต้องนำเข้าน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อค่า FT รวมถึงราคาต้นทุนอุปกรณ์ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มต่ำลง ก็จะเกิดจุดคุ้มทุนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาค่าแอดเดอร์
      
       อีกทั้งในปี 2015 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองว่าหากค่าพลังงานในประเทศไทยยังถูกกว่าประเทศอื่นมาก ก็จะส่งผลให้กลุ่มอาเซียนเข้ามาทำกิจการที่ใช้พลังงานจำนวนมาก จึงควรหามาตรฐานที่เหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปิด AEC
      
       “ต่อไปรัฐบาลจะให้ประชาชนยืนขอแอดเดอร์ สามารถนำแผงมาติด เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง น่าจะไม่เกิน 3 เม็กกะวัตต์ คาดว่าอนาคตจะเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน”
      
       SPCG โกอาเซียนรับ AEC
      
       ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด ประกาศทิศทางของบริษัทในการบุกตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในอาเซียน ว่าขณะนี้ได้เตรียมร่วมลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศอินโดนีเซีย เพราะรัฐบาลให้การสนับสนุน และมีการให้แอดเดอร์เหมือนในประเทศไทย แต่ให้น้อยกว่าไทย และให้ภาษีฟรีตลอดอายุโครงการ จึงน่าเข้าไปลงทุนในปลายปี 55
      
       “ปัจจุบันประเทศไทยคือผู้นำ เรื่องการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน พลังงานแสงอาทิตย์ในภูมิภาคอาเซียน เมื่อผู้ประกอบการต่างชาติสนใจก็อยากมาดูงานที่ประเทศไทย”
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น