วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

นิวเคลียร์...พลังงานสองด้าน

Source : http://eureka.bangkokbiznews.com/detail/441485


เทคโนโลยีนิวเคลียร์นอกจากผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มหาศาล ยังนำไปใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช กำจัดแมลง ศัตรูพืช  กำจัดเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์ ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ตรวจสอบคุณภาพสินค้าในกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานเดียวกันได้อีกด้วย

:รังสีอุตสาหกรรม
นายสุชาติ วชิรศักดิ์ชัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกเครื่องมือวัด ฝ่ายซ่อมบำรุง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัททีพีไอ มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์ ตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงของแรงงานคนในบางขั้นตอนที่ไม่สามารถใช้แรงงานมนุษย์ได้

“บริษัทใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทต่อปีในการลงทุนด้านการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้แรงงานคนโดยตรง โดยผลที่ได้เกิดความคุ้มค่าจากการลงทุนระยะยาวมากกว่านำเข้าอุปกรณ์เฉพาะทาง จากต่างชาติซึ่งอาจมีราคาแพงกว่ามาก”เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี บริษัท ทีพีไอ โพลีน กล่าว

ปัจจุบันบริษัทนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตปูน ซีเมนต์กว่า 30 รายการ อาทิเช่น โคบอลต์-60 โดยนำมาใช้ในส่วนของการตรวจสอบการอุดตันของวัตถุดิบในเครื่องจักรระหว่าง กระบวนการผลิต รวมถึงการนำไปใช้เพื่อตรวจสอบองค์ประกอบของวัตถุดิบตั้งต้น ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตว่ามีคุณภาพได้มาตรฐานจริง

สำหรับซีเซียม-137 ถูกมาใช้ในขั้นตอนป้อนเชื้อเพลิงเข้าเตาเผา เพื่อตรวจวัดอัตราการไหลของวัตถุดิบที่ระดับตันต่อชั่วโมงขณะลำเลียงเชื้อ เพลิง และลำเลียงวัตถุดิบสำหรับผลิตปูน และยังมีแคลิฟอร์เนียม ที่นำมาใช้ในการตรวจสอบธาตุในวัตถุดิบก่อนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้บริษัททีพีไอ โพลีน ยังนำเครื่องเอ็กซเรย์มาประยุกต์ใช้สำหรับสุ่มตรวจสินค้าที่ผลิตได้แต่ละ ล็อต เพื่อคัดกรองผลิตภัณฑ์ก่อนส่งถึงมือผู้บริโภคหรือพ่อค้าคนกลางว่าได้มาตรฐาน จริงตามที่ตั้งไว้หรือไม่ หากไม่ตรงมาตรฐานที่วางไว้จะได้วางแผนแก้ปัญหาได้ทัน

“ความคุ้มค่าที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอุตสาหกรรมการผลิต คือ กระบวนการผลิตที่แม่นยำเที่ยงตรง ทุ่นค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งอาจต้องใช้เงินบำรุงรักษารายปีสูง อีกทั้งวิธีดังกล่าวยังมีความปลอดภัยในการใช้งาน เมื่อมีการใช้งานรังสีเสร็จหรือหมดอายุของแต่ละรายการแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้ามาตรวจสอบและนำไปทำลายให้ ทั้งหมด”เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี บริษัท ทีพีไอ โพลีน อธิบาย  

:รังสีรักษา
นพ.ธนเดช สินธุเสก ผู้บริหารศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี (ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี มีการประยุกต์ใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ด้านการรักษาโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่ โดยเปิดให้บริการผู้ป่วยมะเร็งทุกเพศทุกวัย ครอบคลุมใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี อยุธยา ปทุมธานี นครนายก และปราจีนบุรี

ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มารับบริการการรักษาที่ศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี 5 อันดับต้นๆ ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งทวารหนัก ซึ่งการรักษาปกติจะต้องเริ่มจากการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออกก่อน จากนั้นจึงใช้วิธีฉายรังสีรักษาเพื่อทำให้เซลล์มะเร็งตาย และตามด้วยการรักษาแบบเคมีบำบัดอีกครั้ง เพื่อยับยั้งเซลล์เนื้อร้ายให้หายไปจากร่างกาย รวมถึงมีการติดตามผลเป็นระยะตามแพทย์นัดหลังการรักษาด้วย

ผู้บริหารจากศูนย์มะเร็ง ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันศูนย์มีบริการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่หลากหลายด้วยงบ ประมาณในการบริหารจัดการประมาณ 144 ล้านบาทต่อปี อาทิเช่น การฉายรังสีด้วยเครื่องโคบอลต์-60 การให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเร่งอนุภาค (Linac) การใส่แร่ (Ir-192) การดูแลด้วยเคมีบำบัด การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การตรวจรักษาด้านหู คอ จมูกและคัดกรองมะเร็ง คลินิกระงับปวด

นอกจากนี้ยังมีบริการวินิจฉัยและรักษาทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อาทิเช่น บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 บริการรักษาผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ ด้วยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-131 บริการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดด้วย Sr-89 และ Sm-153 บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การตรวจกระดูก การตรวจร่างกาย การตรวจไต การตรวจไทรอยด์ เป็นต้น

“การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาทำได้สะดวกยิ่งขึ้น แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างของร่างกาย การทำงานของอวัยวะแต่ละระบบของคนไข้ และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”ผู้บริหารศูนย์มหาวชิราลงกรณ์ ธัญบุรี กล่าว

ศ.เกียรติคุณ ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวว่า เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์จากนิวเคลียร์ในการประยุกต์ใช้ งานที่หลากหลาย ซึ่งไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนวิตก ทั้งยังนำไปใช้งานได้อีกหลาย เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น การถนอมอาหาร การเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณี เป็นต้น

“เทคโนโลยีนิวเคลียร์มีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับใครประยุกต์ใช้แบบไหน หากนำมาใช้และควบคุมอย่างถูกต้อง จะมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมนุษย์เป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของ ปส.มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางรังสีที่คอยให้บริการหน่วยงาน ต่างๆ รวมถึงทำหน้าที่กำจัดกากของสารกัมมันตรังสีที่ถูกใช้งานแล้วให้ด้วย ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน”เลขาธิการสำนักงาน ปรมาณูเพื่อสันติ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น