วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตะลุยสำรวจ ขุมทรัพย์พลังงานกลุ่มประเทศ CLMV

ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นั้น แน่นอนว่ายิ่งเศรษฐกิจมีการเติบโตเราก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น วันนี้เราจะพาทุกท่านดูความเคลื่อนไหวด้านพลังงานในกลุ่มประเทศสมาชิกใหม่แห่งอาเซียนอย่าง CLMV
ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น หลายประเทศก็มีสินค้าต่างๆ ส่งอออกค้าขายกันหลายชนิด แต่ที่เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญเลยคือสินค้าพลังงาน เป็นสินค้าที่่หลายชาติอยากจะขวนขวายเพื่อให้ได้มา ยอมทำสงครามสู้รบกันเพื่อจะได้มา หรือถ้าไม่รบกันก็ใช้วิธีลับลวงพรางกันไป สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มสมาชิกใหม่ที่เราชอบเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่มประเทศ CLMV หรือ C กัมพูชา L ลาว M เมียนมาร์ V เวียดนาม ต่างก็มีของดีที่ซุกซ่อนเพราะด้วยที่ไม่ค่อยได้เปิดประเทศแบบเอิกเริกทำให้ทรัพยากรยังมีอยู่มาก
ที่สำคัญข้อมูลด้านพลังงานของประเทศเหล่านี้ก็ไม่ค่อยถูกเปิดเผยอะไรมากมาย มีแค่การประมาณการกันคร่าวๆ ขณะที่ประเทศในตะวันออกกลางสามารถวัดกันได้ว่ามีพลังงานเหลือสำรองมากน้อยแค่ไหน ก็เพราะตอนนี้สัมปทานการผลิตน้ำมันถูกประเทศมหาอำนาจเข้าไปมีบทบาทอย่างมาก จึงทำให้ CLMV เป็นกลุ่มประเทศเนื้อหอมด้านพลังงานเลยก็ว่าได้ ผิดกับพี่ไทยเจาะหาแหล่งพลังงานซะพรุนประเทศไปหมดแล้ว

เมียนมาร์(พม่า)

เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอย่างมาก โดยเฉพาะพลังน้ำ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ นับตั้งแต่ปลายปี 2531 เป็นต้นมา หลังจากที่รัฐบาลของสหภาพพม่า ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารประเทศ จากระบบการวางแผนจากส่วนกลาง เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้น
โดยดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านการค้าเสรี และเปิดโอกาสให้ต่างประเทศ เข้ามาลงทุน เพื่อส่งเสริมการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าในสหภาพพม่า ทั้งในแง่การตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศและการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ภาพจาก MOGP Summit

ด้านพรมแดนพม่าติดกับไทย จีน อินเดีย ด้วยความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีพลังานมหาศาลติดอันดับต้นๆในอาเซียน แต่ด้วยเหตุที่พม่าถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกและพม่าปิดประเทศ ทำให้ในขาดองค์ความรู้สำหรับการขุดเจาะปิโตรเลียมมาใช้ แต่จีนซึ่งคอยหนุนหลังพม่ามาตลอดเข้ามาร่วมมือกับพม่าด้านพลังงาน ทำให้จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของพม่า ต่อมา อินเดียและไทยได้เข้ามาร่วมในบางโครงการ แต่ ณ ปัจจุบันพม่าเปิดประเทศมากขึ้นทำให้ชาติตะวันตกแห่กันมารุมทึ้งทรัพยากรของพม่าอย่างหิวกระหาย

ภาพรวมของทรัพยากรน้ำ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติของพม่า

ทรัพยากรน้ำ
เนื่องจากพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นที่ราบสูง โดยมีทิวเขาทอดยาวจากทิศเหนือและจดมาทางใต้ ประกอบกับได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำให้สหภาพพม่ามีฝนตกชุก และมีทรัพยากรน้ำอย่างมากมายล้นเหลือ ในลุ่มน้ำบริเวณ Ayeyarwady, Sittaung, Thanlwin และ Chindwin
จากรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ทรัพยากรน้ำเหล่านี้สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 37,000 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ประมาณ 25,000 เมกะวัตต์ และที่เหลือจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดกลาง และขนาดเล็กซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกเป็นจำนวนมากกระจายในบริเวณพื้นที่ทั่วไปของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สหภาพพม่าได้ดำเนินการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และ ณ ปัจจุบันพม่ายังมีโครงการจะสร้างเขื่อน 3 เขื่อนบริเวณแม่น้ำสาละวิน ซึ่งได้มีเสียงออกมาคัดค้านอย่างมากจากชนกลุ่มน้อยเพราะจะกระทบต่อชีวิตชุมชนและประเด็นนี้อาจทำให้พม่าไม่สงบอีกครั้งก็เป็นได้
ถ่านหิน
ได้มีการประเมินว่าสหภาพพม่ามีปริมาณถ่านหินสำรองรวมทั้งสิ้นประมาณ 200-230 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถ่านหินประเภท Sub-bituminous และอยู่บริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ โดยมีเหมืองอยู่ 2 เหมือง ได้แก่ เหมืองถ่านหิน Kalewa ขนาดกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น ประมาณ 12,900 ตันต่อปี และเหมืองถ่านหิน Namma ขนาดกำลังการผลิต 25,810 ตันต่อปี อย่างไรก็ดีแหล่ง Kalewa จะเป็นแหล่งถ่านหินที่รัฐบาลของสหภาพพม่าพิจารณาว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 200 เมกะวัตต์ได้ ในอนาคต
ภาพจาก Asiabiomass

ก๊าซธรรมชาติ
ในปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบนบกได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าแบบกังหันก๊าซจำนวน 2 หน่วย โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าหน่วยละ 100 เมกะวัตต์ และเนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบนบกมีค่อนข้างจำกัด รัฐบาลแห่งสหภาพพม่าจึงได้มีการพัฒนาและสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในทะเล แหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สำคัญซึ่งถูกค้นพบแล้ว คือ ยาดานา คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองรวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และเยตากุนอีก 1.2 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยปัจจุบันมีหลายประเทศได้รับสัมปทานรวมทั้ง ปตท บริษัทสัญาชาติไทยด้วย

สปป.ลาว

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศขนาดเล็ก ที่กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการ การที่ลาวพยายามจะเป็น “แบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทำให้เกิดการตื่นตัวของอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเป็นอย่างมาก ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยและเวียดนามประกอบกับนักลงทุนใหม่ๆ จากประเทศไทย จีน รัสเซีย เวียดนาม และมาเลเซียช่วยหนุนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น



ลาวมีรายได้หลักจากการส่งออกพลังงาน อาทิ ไฟฟ้าพลังน้ำของลาว รวมถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่าให้กับจีนและอาเซียนลาวมีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำสูงมาก ไทยจึงสนใจที่จะลงทุนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำและรับซื้อไฟฟาจากลาว
ในส่วนของการสร้างเขื่อนการที่ลาวซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล และเป็นประเทศที่ยังไม่ได้ทำอะไรมากนักกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตรงช่วงที่ทั้งสองฟากฝั่งต่างอยู่ภายในพรมแดนของลาวนั้น จะทำให้เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้มีรายได้เข้าประเทศ
ลาวมีการวางแผนการที่จะสร้างเขื่อนแห่งใหม่ๆ 10 กว่าแห่ง ทอดข้ามตอนล่างของแม่น้ำโขง อันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้ออกโรงแสดงการคัดค้านความมุ่งมาดปรารถนาในเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังงานของลาวแล้ว นักวิจารณ์ในเวียดนามกล่าวว่าโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 1,260 เมกะวัตต์แห่งนี้จะกลายเป็นความหายนะทางสิ่งแวดล้อม

กัมพูชา

กัมพูชาเป็นอีกประเทศที่ยังมีปัญหาเรื่องการนำทรัพยากรที่มีออกมาใช้ ทำให้เรื่องของไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของกัมพูชา ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนน้อยไม่คึกคักเหมือนประเทศอื่นๆ กัมพูชาอุดมไปด้วยแร่เหล็ก ทองคำ บ็อกไซต์ ไทเทเนียม และทองแดง รวมทั้งน้ำมันและก๊าซที่อยู่บริเวณนอกชายฝั่ง โดยปัจจุบันพื้นที่ของกัมพูชาถูกซอยออกเป็นแปลงๆ เพื่อทำการสำรวจพลังงาน ปัจจุบันบริษัทน้ำมันต่างชาติกว่า 10 บริษัทกำลังสำรวจในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งเชฟรอนจากสหรัฐฯ ที่ประกาศการค้นพบน้ำมันดิบในแปลงทะเลอ่าวไทย

ภาพจาก Energy Tribune

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยและกัมพูชานี้สืบเนื่อจากกรณีปราสาทพระวิหาร เชื่อกันว่าศักยภาพปริมาณก๊าซในแหล่งดังกล่าวมีมาก รองรับใช้ได้อีก 30-40 ปี ซึ่งมีปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมาก (ประมาณ 10 -11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต) มีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร
ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า แหล่งพลังงานในกัมพูชาน่าจะมีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติอีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยจะสร้างรายได้ให้กัมพูชาไม่น้อยกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์)
กรณีนี้เชื่อได้เลยว่าไทยต้องเสียเปรียบอย่างแน่นอนนอกจากการแพ้คดีที่ศาลโลกของรัฐบาลไทยแล้ว รัฐบาลกัมพูชาได้มอบสัมปทานในการขุดสำรวจทำเหมืองในประเทศให้กับบริษัทต่างชาติราวๆ 128 บริษัท โดยบริษัทต่างชาติเหล่านี้จะเป็นเสียงสนับสนุนอันเข้ามแข็งของกัมพูชาได้เป็นอย่างดี
อีกด้านหนึ่ง คือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ทางกัมพูชาสนใจอย่างมาก โดยขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถูกอนุมัติและกำลังก่อสร้างไปแล้วในปี 2553 โดยรัฐบาลกัมพูชาวางแผนที่จะสำรองพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ภายในปี 2563 โดยการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนทดแทน ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานน้ำ พลังลมซึ่งกำลังดำนเนินการศึกษาอยู่ และพลังงานชีวมวล (Biomass)

ภาพจาก Energy-pedia

จากภาพด้านบน คือภาพที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนเหนือพื้นที่ดังกล่าว ในพื้นที่ทับซ้อนนี้ เรียกว่า Overlapping Claims Area หรือ OCA ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2001 พื้นที่ OCA นี้ มีที่ตั้งห่างจากชายฝั่งราว 27,000 ตารางกิโลเมตร มีการประเมินคร่าวๆ ว่า มีก๊าซธรรมชาติอยู่บริเวณนี้ถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
  • ปี 1972 กัมพูชาอ้างว่า พื้นที่บริเวณฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ของกัมพูชา
  • ปี 1973 ไทยอ้างว่า พื้นที่บริเวณฝั่งตะวันออกเป็นของไทย
  • ปี 1991 ทั้งกัมพูชาและเวียดนามต่างอ้างว่าในทางตอนใต้เป็นเขตน่านน้ำของทั้ง 2 ประเทศ
ไม่ว่าฝ่ายใดจะอ้างว่าเป็นพื่นที่ของฝ่ายใด เราต่างก็เห็นกันอยู่และรู้ดีว่า ขุมทรัพย์มหาศาลของก๊าซธรรมชาติราว 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มันมากมายเกินกว่าจะให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครอบครอง ดังนั้น บริเวณดังกล่าวจะถูกอ้างให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกันต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย
ประเด็นอยู่ที่ว่าทั้งไทย กัมพูชา หรือแม้แต่เวียดนาม จะหาทางตกลงเพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสานประโยชน์ให้ได้กันทุกฝ่ายอย่างไร ถึงแม้จะมากน้อยต่างกันบ้าง แต่ก็ยังถือว่าได้ประโยชน์ และน่าจะเป็นหนทางที่น่าสนใจกว่าการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนเรื่อยไปแต่หาประโยชน์จากพื้นที่บริเวณ OCA ไม่ได้เลย

เวียดนาม

การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงทำให้ความต้องการด้านพลังงานของเวียดนาม ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เวียดนามกำลังจะเป็นประเทศผู้นำเข้าถ่านหินใน 2-3 ปีข้างหน้าจากที่เป็นผู้ส่งออกถ่านหินในปัจจุบัน เวียดนามกำลังกังวลถึงความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่รัฐบาลเวียดนาม ประกาศนโยบายไม่ส่งออกก๊าซธรรมชาติ
ทางการเวียดนามประเมินว่า ในปี ค.ศ. 2020 มีเป้าหมายว่าจะยกระดับเป็นประเทศอุตสาหกรรมความต้องการพลังงานไฟฟ้าโดยรวมของเวียดนามอยู่ที่ 26,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งมากกว่าที่สามารถผลิตได้ในปัจจุบันถึง 2 เท่า

ภาพจาก Viet Nam Industrial Parks Investment Promotion

แหล่งพลังงานที่สำคัญของเวียดนามในอนาคตคือบางส่วนของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ที่เวียดนามเรียกร้องสิทธิพร้อมกับอีกหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย จีน และไต้หวัน แต่ในที่สุดเวียดนาม จีน และฟิลิปปินส์ได้ทำข้อตกลงพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติร่วมกัน เหนือดินแดนข้อพิพาทนี้ในปีค.ศ. 2005 ได้สำเร็จ ทำให้อดีตคู่สงครามอย่างจีนหันกลับมาลงทุนร่วมกับเวียดนาม แต่อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งบริเวณทะเลจีนใต้ก็ยังเป็นปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่ คงต้องติดตามต่อไปว่าความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยยุติปัญหาความขัดแย้งนั้นได้หรือไม่
เวียดนามมีแหล่งน้ำมันสำรองที่สำรวจแล้วในระดับ 600 ล้านบาร์เรล และยังมีการค้นพบแหล่งน้ำมันสำรองเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ ในปีค.ศ. 2005 เวียดนามสามารถผลิตน้ำมันดิบได้วันละ 370,000 บาร์เรล ถึงแม้ว่าเวียดนามจะสามารถผลิตน้ำมันดิบได้เกินความต้องการ แต่ก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ เพราะความสามารถในการกลั่นยังไม่สูงพอ
เวียดนามส่งน้ำมันดิบเป็นสินค้าส่งออกได้วันละ 110,000 บาร์เรลในปี ค.ศ. 2005 ส่วนใหญ่จะส่งไปยังญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีเป็นหลัก บริษัทผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเวียดนามกับรัสเซีย
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศลงทุนร่วมกับเวียดนามในการสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมถึง ปตท. สำรวจและผลิตของไทยด้วย จากความสามารถในการกลั่นที่จำกัดนี้เอง ทำให้เวียดนามดำเนินการลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่อีก 2 โครงการ รวมไปถึงระบบขนส่งน้ำมันที่กระจายไปทั่วประเทศ และคาดว่าโครงการต่าง ๆ จะสำเร็จสมบูรณ์ภายใน 12 ปีข้างหน้า
เวียดนามจะยังคงเดินหน้าแผนพลังงานนิวเคลียร์ต่อไปตามเดิม หลังจากที่เลือกผู้ผลิตมาตั้งแต่ปี 2010 คือบริษัท Rosatom จากรัสเซียเตาปฎิกรณ์เตาแรกของเวียดนามมีแผนก่อสร้างในปี 2013 และน่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2020 จากนั้นจะมีการสร้างต่อเนื่องจนครบ 10 เตาในปี 2030 และเพิ่มขึ้นจนปี 2050 พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นแหล่งพลังงานของประเทศถึง 25%

แผนเป้าหมายพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ของเวียดนาม

เป้าหมายของเวียดนาในการผลิตพลังงานจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7
ภาพจาก The Socialist Republic of Vietnam

ในตอนนี้พลังงานของเวียดนามครึ่งหนึ่งมาจากน้ำมัน, 20% จากเขื่อน, 18% จากถ่านหิน, ที่เหลือเป็นก๊าซธรรมชาติส่วนก๊าซธรรมชาตินั้น เวียดนามมีระดับสำรองสูงถึง 6.8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งเวียดนามได้ผลิตก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ภายในประเทศเท่านั้น โดยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก นอกเหนือไปจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว เวียดนามยังมีแหล่งพลังงานธรรมชาติด้านอื่นอีก เช่น ถ่านหินแอนทราไซท์ที่มีปริมาณสำรอง 165 ล้านชอร์ทตัน (short tons) ซึ่งเวียดนามได้เพิ่มกำลังการผลิตจนทำให้สามารถส่งออกถ่านหินได้

เวียดนามได้วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินอีก 8 แห่งด้วยกำลังผลิตติดตั้ง 2,900 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ในระดับ 25% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด โดยรัฐบาลคาดว่าปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าของประเทศจะพุ่งไปถึงระดับ 20,000 เมกะวัตต์

ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามจึงพยายามสร้างความมั่นคงด้านปริมาณถ่านหินด้วยการเร่งเจรจากับประเทศใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย เพื่อนำเข้าถ่านหินอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งพลังงานจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ด้านการเงินแก่บริษัทที่มีการคิดค้นพลังงานทดแทนใหม่และพัฒนาพลังงานทดแทนจากสิ่งเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรมและขยะในชุมชนเมือง

จากทั้งหมดนี้เราจะพอเห็นภาพคร่าวๆ ในด้านมิติพลังงานของกลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งส่วนหนึ่งก็เพราะยังไม่ได้มีการแปรรูปทรัพยากรมาใช้กันมาก ในเรื่องของตัวเลขทางสถิติเกี่ยวกับปริมาณของพลังงานที่เปิดเผยก็มีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และตัวเลขเหล่านี้ก็ยังขาดความน่าเชื่อถือว่าจริงเท็จประการใด ก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่าในกลุ่มประเทศ CLMV ทิศทางพลังงานจะเป็นเช่นไร หากความต้องการพลังงานของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดการแทรกแซงจากมหาอำนาจนอกอาเซียนหรือไม่ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป


source : http://www.siamintelligence.com/survey-energy-of-clmv-countries/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น