วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ดุลยภาพโลกกับเออีซี-จีน โอกาสและความเสี่ยง(1)

โดย : ทิฆัมพร ศรีจันทร์
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/asean-plus/20120627/458741/ดุลยภาพโลกกับเออีซี-จีน-โอกาสและความเสี่ยง(1).html


แกนของโลกกำลังเปลี่ยน นักวิชาการและกูรูระดับโลกวิเคราะห์ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อแกนของโลกหมุนกลับมาสู่เอเชียมากขึ้น

ในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 โลกกำลังเปลี่ยนขั้วอำนาจ จากตะวันตกสู่ตะวันออก หรือ เรียกยุคใหม่นี้ว่า “บูรพาภิวัฒน์”(1) โดยมีจีนและอินเดียเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัสเซียก็กลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนตะวันออกกลางดินแดนแห่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กลายเป็นนักลงทุนระดับโลก

ไม่เพียงแต่เอเชียที่เติบโตขึ้น แต่บราซิลแห่งทวีปอเมริกาใต้ก็มีเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างมากเม็กซิโกจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในอเมริกากลาง

ด้านมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐกำลังถดถอยลงทุกด้าน โดยเฉพาะการเปลี่ยนฐานะจากเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด เป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดแทน โดยมีเจ้าหนี้ คือ จีน ญี่ปุ่นและประเทศผู้ผลิตน้ำมันแห่งตะวันออกกลาง ทำให้ขนาดเศรษฐกิจสหรัฐลดลงจาก ร้อยละ 50 ของโลก ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหลือเพียงร้อยละ 20 ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในเชิงเศรษฐกิจ สหรัฐที่ประสบภาวะวิกฤติที่เรียกว่าแฮมเบอรก์เกอร์ไครซิส ส่งผลให้สหรัฐต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอย่างยาวนาน ประมาณการว่าอีก 10 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2019 หนี้สาธารณะของสหรัฐจะพุ่งไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านเหรียญ พร้อมกับการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนมากขึ้น

ขณะที่พันธมิตรของสหรัฐอย่างยุโรปหรือเรียกกันว่าชาติตะวันตกอีกกลุ่มหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับหนี้สาธารณะท่วมและคนว่างงานเพิ่ม ซึ่งหากพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะของยุโรปทั้งหมดต่อจีดีพี พบว่าอยู่ที่ ร้อยละ 90 ของผลผลิตทวีป และในช่วง 3 ปีข้างหน้า สัดส่วนหนี้ดังกล่าวจะเพิ่มเป็น ร้อยละ 100 ขณะเดียวกัน ยุโรปกำลังเข้าสู่วัยชรา หรือ ประชากรส่วนใหญ่มีอายุ สี่สิบสอง - สี่สิบหก และอัตราการเกิดต่ำ

ด้านญี่ปุ่นแม้จะอยู่ในเอเชีย แต่ได้พัฒนาเศรษฐกิจไปก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติตะวันตกในยุคก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก หนี้สินภาครัฐหรือ หนี้สาธารณะร้อยละ 190 ต่อจีดีพี และสังคมญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่วัยชราเหมือนกับอียู

หากพลิกปูมประวัติศาสตร์จะพบว่า ศตวรรษที่ 19 - 20 ที่ผ่านมาเป็นของตะวันตก แต่ศตวรรษที่ 21 จะเป็นของเอเชียและซีกโลกตะวันออก ทำให้ไทยและอาเซียนต้องหันมาให้ความสำคัญกับโลกตะวันออกมากขึ้น เพื่อไม่ให้ “ตกขบวน” เพราะจะพลาดโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

พร้อมกับแกนโลกที่หมุนมายังเอเชีย ทางกลุ่มอาเซียนเองได้ตั้งเป้าหมายการรวมกลุ่มกันกระชับมากขึ้นเป็นประชาคมอาเซียนหรือเอซี โดยมีความร่วมมือในสามเสาหลัก ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม วัฒนธรรม

กล่าวสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี มีเป้าหมายการเปิดเสรี สร้างตลาดร่วมที่อนุญาตให้สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนและแรงงานฝีมือสามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใต้ข้อกีดกันลดลงเพื่อสร้างฐานการผลิตร่วมกัน การเร่งส่งเสริมให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการส่งเสริมภาวการณ์แข่งขันในระบบตลาด เป็นภูมิภาคที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นภูมิภาคที่มีปฎิสัมพันธ์กับประชาคมโลกมากขึ้น(2)

โดยมีหลักไมล์สำคัญในปี 2558 ต้องรวมตัวสร้างประชาคมให้สำเร็จ ระยะเวลาเพียง 2-3 ปีที่เหลือจึงต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง พัฒนาเมือง ตึกรามบ้านช่อง ที่อยู่อาศัยเพื่อต้อนรับการมาของนักลงทุนต่างชาติที่เห็นโอกาสตลาดเกือบ 600 ล้านคนในภูมิภาคนี้

เออีซีพัฒนามาจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า ปี2535 รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ลงนามข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าลดภาษีเหลือ0-5%ภายใน 15 ปีการลดภาษีดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสขยายตัวทางการค้าอย่างกว้างขวาง ตลาดอาเซียนก้าวขึ้นเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับแรกแซงหน้าสหรัฐ ยุโรป ผู้บริโภคในแถบอาเซียนต่างให้ความนิยมและเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทย ในสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมัน

ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียน ก็มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลายประเทศมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ไม่นับรวมสิงคโปร์ที่พัฒนาไปก่อนหน้าแล้ว แต่ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามท่ามกลางโอกาสของตลาดที่เปิดกว้างขึ้นอย่างที่กล่าวตอนต้น การก้าวไปสู่เออีซีก็มีความเสี่ยงไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมากระหว่างอาเซียนเดิมและกลุ่มอาเซียนใหม่หรือซีแอลเอ็มวี ซึ่งระดับการพัฒนาที่ยังมีช่องว่างต่างกันมาก เช่น ประชากรสิงคโปร์กับประชากรพม่ามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่างกันถึง 60 เท่า ระดับรายได้ที่ต่างกันส่งผลไปถึงอำนาจซื้อที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้สินค้าที่กลุ่มอาเซียนผลิตยังคล้ายกัน ส่งผลให้ชาติอาเซียนแข่งขันกันเองสูงมาก แทนที่จะมุ่งสร้างฐานผลิตร่วมกัน เช่น เวียดนามที่ให้การยอมรับว่าเป้าหมายเออีซีเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายปี 2558 เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามและภูมิภาคนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะแข่งขันกันเองและตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและสหรัฐ เมื่อเศรษฐกิจผู้นำเข้าถดถอย ผู้นำเข้าจำเป็นต้องชะลอการรับซื้อ เวียดนามจึงต้องเอาตัวให้รอดก่อน ความร่วมมือจึงอยู่ภายใต้พื้นฐานการแข่งขันและความหวาดระแวง คลางแคลงใจ หลายประเทศในอาเซียนเองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกัน
อาเซียนยังมีจุดอ่อนและความเสี่ยงด้านการศึกษาและการพัฒนาคน โดยแต่ละประเทศใช้งบประมาณเพื่อการวิจัยและการพัฒน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก การทุ่มวิจัยและพัฒนาน้อยจะทำให้ภูมิภาคมีจุดด้อยในด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ภูมิภาคยังคงเป็นผู้รับจ้างผลิตในระบบการผลิต มิใช่การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจสมัยใหม่จากความคิดสร้างสรรค์

การก้าวสู่เป้าหมายเออีซีของอาเซียน ยังจำเป็นต้องมีอาเซียนสปิริตและอาเซียนเฟิร์สต์ โดยทุกระดับต้องให้ความสำคัญกับอาเซียนเป็นอันดับแรก หรืออาเซียนต้องมาก่อนในทุกด้าน เพื่อผนึกความร่วมมือในการพัฒนาไปสู่ฐานการผลิตเดียวกันเหมือนกับสหภาพยุโรป หรือ อียู มีอียูเฟิร์สต์ และที่สำคัญอาเซียนต้องเชื่อมโยงกับประเทศนอกกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดที่เปิดใหม่และมีพัฒนาการที่รวดเร็วอย่างจีน
การสร้างประชาคมยาก จะต้องสร้างสปิริตของอาเซียนขึ้นมาให้ได้เพื่อเป้าหมายรวมกันเป็นหนึ่ง เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และพลเมืองของอาเซียน โดยเฉพาะไทยฝ่ายการเมืองต้องเข้มแข็ง ถือธงนำและผลักดันจริงจังมากกว่านี้

อาเซียน-จีน

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเศรษฐกิจโลกจะหมุนมาเอเชีย โดยจีนจะมีบทบาทสำคัญเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 โดยช่วง 10ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวแบบดับเบิลดิจิตมาโดยตลอด เพิ่งลดความร้อนแรงลงเล็กน้อยในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดปรับประมาณการเศรษฐกิจปี2555ของตนเองลงเหลือโตแค่ร้อยละ 7.5 แต่ไม่ได้สะท้อนนัยยะในเชิงถดถอย เพียงแค่ลดความร้อนแรงลงเท่านั้น

จีนประกาศตัวเป็นโรงงานการผลิตของโลก ผลิตสินค้าส่งออกแทบทุกรายการป้อนให้กับตลาดโลกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ โดยอาศัยค่าแรงงานต่ำในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการฐานการตลาดใหญ่ประชากร1.2พันล้านคน สร้างแรงจูงใจให้ทุนต่างชาติไหลเข้าไปลงทุนในจีนมากมายมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา

การส่งออกและการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้จีนสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยดังกล่าวจึงผลักดันให้จีนเริ่มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ 12 ของจีนที่เน้นก้าวไปข้างนอกเพื่อรักษาความสมดุลและเน้นพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีคุณภาพ

ความสัมพันธ์ไทย-จีนและอาเซียน-จีน

ไทยกับจีนได้ตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีก่อน โดยเปิดเสรีสินค้าผัก ผลไม้ เป็นลำดับแรก ก่อนพัฒนามาอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-จีนในปี 2547และลดภาษีมากกว่าสินค้ามากกว่า 5,000 รายการให้เหลือร้อยละ0ในปี2553 พร้อมกับเป้าหมายเปิดเสรีบริการและการลงทุน โดยมีสินค้าสงวนให้เหลือน้อยที่สุด
การเปิดเสรีดังกล่าวสร้างโอกาสให้กับไทย จีน และอาเซียนเป็นอย่างมาก โดยจีนกลายเป็นตลาดส่งออกสำคัญของอาเซียน รวมทั้งไทยในหลากหลายสินค้าทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มันสำปะหลัง ยางพารา

จีนกำหนดให้เมืองหนานหนิงเป็นศูนย์กลางเชื่อมอาเซียน และให้เมืองคุนหมิงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมมายังเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาทางออกลงทะเล โดยการเร่งพัฒนาเส้นทางรถไฟคุนหมิงผ่านลาวมายังไทยผ่านไปมาเลเซียและสิ้นสุดที่สิงคโปร์ ด้านถนนพัฒนาเส้นทางสายอาร์เก้า อาร์สามเอ เชื่อมโยงกรอบความร่วมมืออนุภาคลุ่มน้ำโขง

ขณะเดียวกันโอกาสในการลงทุนในจีนยังเปิดกว้าง โดยเฉพาะในธุรกิจบริการหลากหลายทั้งด้านบันเทิง อาหาร การท่องเที่ยว โรงแรม ที่จีนเปิดรับนักลงทุนมากขึ้นในหลายๆมณฑล

อย่างไรก็ดีโอกาสของตลาดที่เปิดกว้างขึ้น กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น มาพร้อมกับความเสี่ยงหลายประการในการทำการค้าการลงทุนกับจีน โดยเฉพาะมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ที่จีนนำมาใช้มากขึ้นในระยะหลัง ทั้งการตรวจสุขอนามัยพืชและสัตว์ที่เข้มข้น มาตรฐานสิ่งแวดล้อมถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้า ส่งผลให้สินค้าผัก ผลไม้ไทยเข้าไปทำตลาดจีนยากลำบากขึ้น เนื่องจากถูกกักกันที่ด่านเพื่อตรวจสอบเป็นระยะเวลาหลายวันส่งผลให้สินค้าเน่าเสีย รวมทั้งการกระจายสินค้าที่ยังไม่ได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ทำให้สินค้าไทยเข้าไปจีนไม่คล่องตัวมากนัก

นอกจากนี้ยังมีระบบภาษีที่ซ้ำซ้อน โดยหลังจากที่สินค้าผ่านเข้าด่านไปถึงแต่ละมณฑลภายในของจีนจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกต่อหนึ่ง ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีซ้ำซ้อนทั้งที่ภายใต้ข้อตกลงจะมีการยกเว้นภาษี แต่อาศัยอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นในการเก็บภาษีเพิ่ม ขณะที่ผู้ผลิตภายในได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ผู้ส่งออกไทยค่อนข้างเสียเปรียบ

การทำการค้ากับจีนยังเสี่ยงที่จะต้องถูกลอกเลียนแบบสินค้า หรือ ปลอมแปลงสินค้าหากสินค้าไทยได้รับความนิยมทั้งปลอมแปลงแบรนด์และผสมขึ้นใหม่ เช่น นำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยไปผสมกับข้าวในจีนและระบุที่มาจากไทย ส่งผลให้คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยเสียหายและตัดโอกาสทางการค้าของไทย
ความเสี่ยงอีกประการในการทำ การค้า การลงทุนกับจีน คือ กฎระเบียบในการทำการค้า โดยจีนมักอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่ายึดถือกฎระเบียบ การเข้าทำตลาดจีนจึงต้องศึกษาประเพณีวัฒนธรรมให้ชัดเจน เช่น ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ การไปเยี่ยมพบหน่วยงานรัฐหรือผุ้ใหญ่ภาคเอกชน ต้องมีสิ่งของไปคารวะจะได้รับความสะดวกมากขึ้นสะท้อนการไม่ยึดถือกฎ กติกา การค้าของจีน

จากความเสี่ยงที่ได้กล่าวมา รัฐบาลไทยและอาเซียนต้องให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน โดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องเป็นทัพหน้าในการเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะหากมีการเจรจาทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน กลุ่มอาเซียนต้องผนึกกำลังกันกดดันให้จีนลด ละ เลิก มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า พร้อมกับเจรจาเปิดเสรีเพิ่มในส่วนของภาคบริการและการลงทุน ซึ่งจีนยังปิดกั้นในหลากหลายธุรกิจเพื่อให้เป็นประโยชน์กับอาเซียนอย่างแท้จริง

(มีต่อตอน2)
อ้างอิง(1)บูรพาภิวัฒน์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2) 10 จุดอ่อนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปิติ ศรีแสงนาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น