วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลเกมก่อการร้าย เข้าทางสหรัฐฯเปิดสงครามโจมตีอิหร่านฮุบบ่อน้ำมัน?

ภาพเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ ที่ถนนสุขุมวิท 71 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สงครามก่อการร้ายของศัตรูคู่อาฆาตอิหร่าน-อิสราเอล ที่มีชาติมหาอำนาจตะวันตกอยู่เบื้องหลัง นำไปสู่การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก เพื่อสหรัฐฯ จะได้ใช้เป็นข้ออ้างและสร้างเงื่อนไขบุกเข้าโจมตีอิหร่านเหมือนกรณีโจมตีอิรัก ตามเป้าหมายยึดครองศูนย์กลางแหล่งพลังงานของโลก พร้อมกับดับอหังการ์ “อักษะแห่งความชั่วร้าย” แห่งโลกมุสลิม



เหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงเทพฯ บนถนนสุขุมวิท 71 เมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ไทยถูกใช้เป็นสมรภูมิสงครามก่อการร้ายของศัตรูคู่อาฆาตอิหร่านกับอิสรเอลตัวแทนของโลกตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา คล้อยหลังจากการก่อเหตุระเบิดที่พุ่งเป้าสังหารนักการทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจียเมื่อวันจันทร์ (13 ก.พ.) แต่ทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด “ความผิดพลาด” ของกลุ่มผู้ก่อการร้ายทำให้เป้าหมายสังหารไม่บรรลุผล



พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายความมั่นคง ได้ตอบกระทู้ในสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นการก่อการร้าย เพราะวัตถุระเบิดมุ่งกระทำต่อตัวบุคคลไม่ใช่เหตุรุนแรงขนาดใหญ่อย่างก่อการร้าย ทั้งยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับนายอาทริส อุสเซน สัญชาติสวีเดน เชื้อชาติเลบานอนที่จับได้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลุ่มฮิซบอลลอฮ์กับประเทศอิหร่านก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นคนละสัญชาติ เชื้อชาติ และระเบิดก็เป็นคนละชนิดกันอย่างเห็นได้ชัด ส่วนผู้ต้องหาทั้งหมดที่ถือพาสปอร์ตอิหร่านนั้น กำลังตรวจสอบเอกสารตัวบุคคลว่าถือสัญชาติอิหร่านแล้วเป็นคนอิหร่านจริงหรือไม่



ขณะที่สื่อต่างประเทศ ต่างรายงานว่า เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นจุดชนวนให้อุณหภูมิความขัดแย้งของคู่อาฆาตทั้งสองเพิ่มดีกรีความร้อนแรงถึงขีดสุด โดย นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอง ออกมาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปิดโปงให้เห็นถึง “กิจกรรมก่อการร้าย” ของอิหร่าน ซึ่งประเทศทั้งหลายทั่วโลกต้องช่วยกันประณามและหาทางหยุดยั้ง



สื่อของอิสราเอล ยังรายงานว่า นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ชี้ชัดว่า อิหร่านกับกลุ่มฮิซบอลลอฮ์ อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดรถยนต์โจมตีสถานทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจีย และเชื่ออีกว่า อิหร่านและกลุ่มฮิซบอลลอฮ์อยู่เบื้องหลังการโจมตีในไทยด้วย



แต่ทาง รามิน เมห์มานปารัสต์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน สวนกลับทันควันว่า การกล่าวหาของอิสราเอล ซึ่งอิหร่านเรียกขานว่า “ระบอบปกครองไซออนนิสต์ (ลัทธิฟื้นชาติยิว)” เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้น เขายังบอกว่า ข้อกล่าวหาของอิสราเอลมีขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวหาในเดือนต.ค.ปีที่แล้วว่า อิหร่านวางแผนลอบสังหารเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตัน รวมทั้งกรณีที่อินเดียและจอร์เจียซึ่งทั้งหมดต่างเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง



การโยนความผิด การกล่าวหาซึ่งกันและกันของอิสราเอลและอิหร่านจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งทั่วโลก บวกกับความซับซ้อนของความขัดแย้งในประเทศภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีประเทศมหาอำนาจชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำให้ยากที่จะรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายที่ทั้งสองฝ่ายต่างให้การสนับสนุน หรือเป็นการจัดฉากของประเทศมหาอำนาจ ที่สร้างเงื่อนไขเพื่อความชอบธรรมในการเปิดสงครามสมรภูมิตะวันออกกลางระลอกใหม่ โดยมี อิหร่าน เป็นเป้าหมายโจมตี



แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือน ญี่ปุ่น จะกังวลและได้กลิ่นอายสงครามตะวันออกกลางโชยมา จึงเตือน เอฮุด บารัค รมว.กลาโหมของอิสราเอล ที่กำลังตระเวนเยือนชาติเอเชียว่า หากอิสราเอลใช้ปฏิบัตการทางทหารต่ออิหร่านก็อาจเป็น “อันตรายร้ายแรงที่สุด” เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีความเสี่ยงที่จะ “ยกระดับความรุนแรง”



สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง “ASTVผู้จัดการ” เป็นอีกผู้หนึ่งที่เชื่อว่า ความขัดแย้งของโลกมาอยู่ที่อเมริกากับอิหร่าน โดยโลกตะวันตกใช้อิสราเอลเป็นตัวแทน และใช้หน่วยสืบราชการลับกลางหรือซีไอเอออกปฏิบัติการ เช่น การลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ที่สหรัฐอเมริกา อ้างว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่านนั้นเป็นภัยคุกคาม ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าอย่างชัดเจน



ความจริงแล้ว ข้อกล่าวหาโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน อาจเหมือนกรณีสหรัฐฯ ใช้ข้อกล่าวหาว่าโจมตีอิรักว่ามีอาวุธชีวภาพ และอาวุธทำลายล้างสูง โดยซ่อนความกระหายครอบครองเส้นทางขนส่งและฮุบบ่อน้ำมันเอาไว้เบื้องหลัง



หากมองย้อนกลับไป นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง แจ่มชัดมาตั้งแต่หลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วว่า ต้องการเข้ามาควบคุมศูนย์กลางแหล่งพลังงานของโลกเพื่ออำนาจทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา



อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ดิ๊ก เชนีย์ เคยประกาศไว้ว่า อำนาจในการควบคุมท่อส่งน้ำมันเป็น “เครื่องมือในการคุกคามและขู่กรรโชก” หากอำนาจนั้นตกไปอยู่ในมือประเทศอื่นเว้นแต่สหรัฐอเมริกา และหากสหรัฐฯสามารถควบคุมแหล่งพลังงานในตะวันออกกลางได้ สหรัฐฯ ก็จะมีอำนาจวีโต้เหนือประเทศอุตสาหกรรมคู่แข่งอื่นๆ หรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก



เจมส์ เบเกอร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ในปี ค.ศ. 2001 ว่า “...โลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะหมิ่นเหม่ต่อการใช้ความสามารถในการผลิตน้ำมันจนถึงขีดสุด มีโอกาสเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงยิ่งกว่าครั้งใดในรอบสามทศวรรษ ปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางนโยบายของสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้าน ทั้งนโยบายที่มีต่อตะวันออกกลาง อดีตสหภาพโซเวียตและจีน รวมทั้งการต่อสู้กับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ”



แต่ทว่า ยิ่งสหรัฐอเมริกา ต้องการควบคุมแหล่งพลังงานในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งและแรงต่อต้านเพิ่มเท่าทวีคูณ โดยเฉพาะ อิหร่าน ที่ท้าทายไม่ยอมก้มหัวให้ “มาเฟียโลก” สหรัฐอเมริกา กระทั่งอาจถือได้ว่า อิหร่าน เป็นหนึ่งในประเทศที่ท้าทายอำนาจของสหรัฐอเมริกามากที่สุดในเวลานี้ กรณีโครงการนิวเคลียร์ ที่อิหร่านมีท่าทีแข็งกร้าวและเดินหน้าเสริมสมรรถนะยูเรเนียมแม้ว่าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีมติคว่ำบาตรก็ตาม เป็นตัวอย่าง



นอกจากนั้น อิหร่าน ยังเร่งสร้างฐานอำนาจในภูมิภาคและขยายอิทธิพล ทั้งยังวางยุทธศาสตร์การเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าและบริการระหว่างอ่าวเปอร์เซียและอัฟกานิสถานรวมถึงจีน



ความแข็งแกร่งของอิหร่าน ดูเหมือนสหรัฐอเมริกา จะมีส่วนช่วยทางอ้อม เพราะหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สหรัฐอเมริกา ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายโดยล้มล้างระบอบตาลีบานในอัฟกานิสถาน และโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน ศัตรูสำคัญของอิหร่านตั้งแต่อดีตสิ้นซาก เมื่อบวกกับรายได้จากการส่งออกน้ำมัน ชัยชนะของกลุ่มฮามาสในการเลือกตั้งปาเลสไตน์ และความสำเร็จของกลุ่มอิซบอลลอฮ์ ยิ่งหนุนส่งให้อิหร่าน กลายเป็นประเทศที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลโดดเด่นขึ้นมาครอบงำภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ



ความรุ่งโรจน์ของอิหร่าน ที่สหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็น “อักษะแห่งความชั่วร้าย (Axis of Evil)” โดยเชื่อว่าประเทศเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ กำลังพัฒนาอาวุธร้ายแรงและสามารถที่จะส่งต่ออาวุธเหล่านั้นให้กับขบวนการก่อการร้ายได้ เป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกายอมไม่ได้



การใช้ข้อกล่าวหาอิหร่านสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายกลุ่มอิซบอลลอฮ์ก่อเหตุรุนแรงทั่วโลก ทั้งที่ผู้ติดตามสถานการณ์โลกมุสลิม ยืนยันว่า ฮิซบอลลอฮ์ ไม่ก่อการร้ายนอกพื้นที่ตะวันออกกลาง และข้อกล่าวหาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อสร้างเงื่อนไขโจมตีและยึดครองอิหร่าน นอกจากจะสกัดกั้นอิหร่านไม่ให้ท้าทายอำนาจและแผ่อิทธิพลออกไปแล้ว สหรัฐอเมริกายังจะสามารถตักตวงประโยชน์จากการยึดครองแหล่งพลังงานของโลก และมีอำนาจต่อรอง ถ่วงดุล กับกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากขึ้น ในทางทางเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีบทบาทในการเพิ่มหรือลดการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกและเศรษฐกิจโดยรวม



อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า อิหร่านจะเป็นหมูสนาม เพราะหากถูกกดดันหรือถูกโจมตี อิหร่านอาจตอบโต้ด้วยการใช้วิธีลดการส่งออกน้ำมัน หรือหยุดการส่งออกน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนอย่างหนัก กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทรุดตัวลง โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมรายใหญ่จะได้รับผลกระทบมากเสียยิ่งกว่าที่อิหร่านจะได้รับเสียอีก



กรณีตัวอย่างล่าสุด คือ การขยับตัวขึ้นอย่างแรงของราคาน้ำมัน เมื่อวันพุธ (15 ก.พ.) หลังจากกระทรวงการต่างประเทศ อิหร่าน เรียกเอกอัครราชทูต 6 ชาติสมาชิกอียู ว่ากำลังพิจารณาระงับการขายน้ำมันให้ซึ่งเป็นการตอบโต้สหภาพยุโรปที่ออกมาตรการคว่ำบาตรยุติการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ซึ่งเป็นผลมาจากข้อสงสัยว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านยืนยันว่าเป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติ



การเปิดสงครามโจมตีอิหร่านของสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ หากการสร้างสถานการณ์เผชิญหน้าสุกงอมได้ที่ แต่อุดมการณ์ต่อต้านอเมริกันก็จะแผ่กระจายไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีอิหร่านเป็นหัวหอกและต้นแบบในการต่อสู้กับมาเฟียโลก นั่นเท่ากับว่าผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคตะวันออกกลางก็จะถูกสั่นคลอน เสี่ยงต่อภัยคุกคามมากขึ้นเช่นกัน อิสราเอลซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ก็ย่อมมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีมากขึ้นกว่าเดิม การปะทะกันระหว่างโลกตะวันตกกับโลกมุสลิมที่รุนแรงอาจ “ยกระดับ” กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม สงครามที่สุดท้ายแล้วไม่มีใครต้องการ

Source : http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000021789

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น