วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ห้องสมุดอีโค่แห่งแรกของไทย

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับห้องสมุดสิ่งแวดล้อมแห่งแรกของประเทศไทย อีโค่ ไลบรารี (Eco-Library)  ห้องสมุดต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ผ่านสื่อความรู้ และการสัมผัสจริงจากงานออกแบบสร้างสรรค์บนเส้นทางสีเขียว โดยศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้  (Scrap Lab) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และสำนักหอสมุด ม.เกษตรศาสตร์ ได้ร่วมจัดทำขึ้น ภายใต้แนวคิด ห้องสมุดเพื่อความยั่งยืน โครงการเกษตรศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม (ECO-LIBRARY)

สำหรับแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาห้องสมุดเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นมุ่งเน้นให้ เป็นแหล่งบริการความรู้ในการนำครุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ โดยใช้องค์ความรู้จากศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ มาออกแบบและเลือกวัสดุ

ห้องสมุดเพื่อสิ่งแวดล้อมมีพื้นที่ใช้สอยเพียง 250 ตารางเมตร จัดสรรให้พื้นที่มี 3 ส่วนหลักประกอบด้วย Common reading space หรือ Eco-space ให้บริการหนังสือทั่วไป เช่น นวนิยาย วรรณกรรม เยาวชน  นวนิยายแปล หนังสือธรรมะ หนังสือความรู้ทั่วไป และหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน  มุมเด็ก  Kid play–space ให้บริการหนังสือสำหรับเด็ก ทั้งการ์ตูน หนังสือนิทาน  และหนังสือส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ  และส่วนสุดท้าย Alumni Space พื้นที่ให้บริการศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับศึกษาหาความรู้เพื่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาต่อ

จุดเด่นของห้องสมุดอยู่ที่การดัดแปลงของทิ้งแล้วในห้องเก็บของและวัสดุในโรง งานมาสร้างสรรค์ อาทิ ตู้บัตรรายการมาทำเป็นผนังและที่เก็บของให้อารมณ์ของการเข้าในห้องสมุด  ของชิ้นนี้เป็นของเก่าเก็บในห้องเก็บของเพราะหมดประโยชน์การใช้งาน เมื่อมีคอมพิวเตอร์มาจัดเก็บทะเบียนหนังสือแทน  รวมทั้งเก้าอี้ โต๊ะล้วนเป็นของเก่าที่เคยถูกทิ้งไว้ในห้องเก็บของเช่นกัน แต่นำมาดัดแปลงและซ่อมแซมจนมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย  นอกจากวัสดุที่หาได้จากมหาวิทยาลัยแล้วยังใช้วัสดุจากภายนอกโรงงานที่เคย เป็นพันธมิตรที่ดีของ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากวัสดุเหลือใช้ อาทิ เศษผ้าม่านจากโรงงานที่ออกแบบฟังก์ชันการใช้สอยให้เป็นที่เก็บหนังสือได้ เศษผ้าชุดเครื่องแบบของพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์นำมาเป็นผ้าหุ้มโซฟา เศษกระดุมจากโรงงานที่นำมาอัดเป็นเคาน์เตอร์ใช้บริการยืมหนังสือ  เศษผ้าไหม นำมาสร้างโคมไฟ ทำหมอนมะเฟืองในมุมเด็ก

ภาพรวมของภายในห้องสมุดนั้น ทำชั้นวางหนังสือทรงกลม ซึ่งทำมาจากแผ่น MDF  คละสีที่เหลือใช้จากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ เสมือนต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรู้และมีพื้นที่ภายในที่สงบ โดยรอบของห้องมีผ้าม่านที่ลดแสงสะท้อนและมีช่องสำหรับใส่วารสารต่างๆ ภายในห้องสมุดทาสีขาวและดำเพื่อให้หนังสือเด่น แต่เป็นสีทีไม่โมเดิร์น เพื่อให้เห็นเส้นสายลายไม้ กระดาษ ที่นำมาทำเป็นชั้นวางหนังสือเก้าอี้  ส่วนเรื่องแสงเน้นจัดให้เหมือนกับอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน

ดร.สิงห์  กล่าวถึงเบื้องหลังการทำงานว่า การริเริ่มโครงการนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่สิ่งที่ต้องใช้เวลาคือคิดหาวัสดุที่เหมาะสมและลงตัวที่ใช้ในพื้นที่ 250 ตร.ม. เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยแหล่งหาวัสดุมาจากโรงงานต่าง ๆ โรงงานที่เคยให้ความช่วยเหลือมาก่อน อย่างเช่น โรงงานผลิตผ้าม่าน  ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่มีโรงงานแต่มีชุดพนักงานและมีงบประมาณช่วยเหลือทำให้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง 

สำหรับหนังสือที่อยู่ในห้องสมุดจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เรื่องราวของอีโค่ทั้งหมด รวบรวมมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ม.เกษตร และหนังสือนวนิยายที่ทำให้เด็กอ่านเขียนเป็น วรรณกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ หวังว่าจะใช้หนังสือการ์ตูนมาดึงเด็กให้เข้าห้องสมุดเพราะเด็กไทยไม่ค่อย อ่านหนังสือ เมื่อเด็กมาอ่านการ์ตูนในอีโค่ไลบรารีจะเพิ่มความเข้าใจว่าการมีชีวิตที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสร้างสิ่งสวย ๆ งาม ๆ ได้  ส่วนการใช้ประโยชน์ของห้องสมุด ด้านอื่น ๆ ในอนาคต ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่สอนเรื่องการออกแบบ การใช้ทรัพยากรที่อยู่อย่างคุ้มค่า

“ห้องสมุดนี่จะเป็นต้นแบบของการสร้างห้องสมุดว่าไม่ต้องน่าเบื่อ เป็นห้องสมุดที่เปิดเผยให้ชุมชนเห็นว่าไม่ต้องมีประตูปิดกั้น และอยากให้ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราใช้อย่างฟุ่มเฟือย บางอย่างมันเพิ่มมูลค่าที่ได้จริงและได้เยอะมากดีกว่าไปถลุงผลิตของใหม่ออก มา สามารถมาใช้ได้ทุกวันเพราะแต่ละจุดเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ  จุดเด่นคือนำวัสดุเหลือใช้มาทำห้องสมุด รวมทั้งเรื่องระบบยืมหนังสือที่แตกต่างจากที่อื่น ที่นี่ ยืมได้ฟรีไม่ต้องมีบัตรสมาชิก ใช้ระบบเชื่อใจกัน ว่ายืมไปต้องมาคืนตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เพื่อสอนชุมชนเรื่องความซื่อสัตย์เราไม่แน่ใจเมื่อใช้ระบบนี้ต่อไป ว่าห้องสมุดนี้จะว่างเปล่าหรือไม่ แต่เราต้องลองดู เพราะเราเชื่อในมารยาทของคนไทย”

ด้าน ดร.อารีย์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ม.เกษตร บางเขน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักหอสมุดได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี จัดโครงการเปลี่ยนขยะเป็นความรู้ ฟื้นฟูห้องสมุดหลังน้ำลด  โดยนำหนังสือเปียกน้ำมารีไซเคิล เป็นชั้นหนังสือ โต๊ะ-เก้าอี้ มอบให้ห้องสมุดโรงเรียน โดยมี ดร.สิงห์ ร่วมออกแบบ นอกจากช่วยลดขยะแล้ว ยังปลูกสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

อีโค่ไลบรารี เปิดให้บริการทุกวันตามวันเวลาราชการ  รายละเอียดเพิ่มเติม http://kulc.lib.ku.ac.th/ecolibrary


Source : http://www.dailynews.co.th/article/728/10832

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น