วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไนจีเรีย:ตัวอย่างของการบริหารนโยบายพลังงานที่ล้มเหลว

ไนจีเรียเป็นประเทศในกลุ่มผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก (OPEC) และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เรียกว่า ต้องคำสาปจากน้ำมันหรือ oil curse เพราะประชาชนชาวไนจีเรียไม่ได้รับประโยชน์หรือความมั่งคั่งจาก ทรัพยากรอันมีค่าของตนเท่าที่ควร เพราะความฉ้อฉลโกงกินของนักการเมืองและข้าราชการ ประชาชนชาวไนจีเรียไม่ได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมจากรายได้ที่ได้จากการขายทรัพยากรอันมีค่าอย่างทั่วถึง


การแบ่งสรรรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เป็นธรรมนี้ ประกอบกับความยากจนและยากแค้นในการดำรงชีวิต ได้ทำให้ขบวนการก่อการร้ายในไนจีเรียเติบโตอย่างรวดเร็ว และฟักตัวจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ คุกคามการทำธุรกิจขุดเจาะสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่เข้ามาร่วมทุนและได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไนจีเรีย ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียมีปัญหาสะดุด หรือขาดตอนไม่ราบรื่นอยู่เป็นประจำ

นอกจากนี้ ด้วยความที่รัฐบาลไนจีเรียไร้ความสามารถในบริหารความมั่งคั่งจากรายได้จำนวนมหาศาลที่ได้จากการขายน้ำมันเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเลือกวิธีที่ง่ายที่สุดและนิยมใช้กันในหมู่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลก นั่นก็คือการตั้งราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และตรึงราคาน้ำมันไว้เป็นระยะเวลายาวนาน โดยรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากในการอุดหนุนราคาพลังงาน

แต่นโยบายดังกล่าวก็กลายเป็นดาบสองคม เพราะการที่รัฐบาลตั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปต่ำกว่าต้นทุนและควบคุมราคาไม่ให้สูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีใครสนใจลงทุนสร้างโรงกลั่นน้ำมันในไนจีเรีย ดังนั้นไนจีเรียจึงต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศประมาณ 70% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด โดยนำเข้าจากโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปและตะวันออกกลาง ทั้งๆที่ตัวเองเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งของโลก กลายเป็นว่าไนจีเรียส่งออกน้ำมันดิบไปขายในราคา 100 $/bbl. แต่ต้องไปซื้อน้ำมันสำเร็จรูปมาใช้ในราคา 120-130 $/bbl. และปริมาณการใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลไปกดราคาเอาไว้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ประชาชนก็ใช้กันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ประหยัด

การอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศดังกล่าว นอกจากต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากจนรัฐบาลต้องใช้เงินถึง 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (233,100 ล้านบาท) ในการอุดหนุนราคาน้ำมันในแต่ละปี และถ้ายังคงอุดหนุนกันต่อไปในระดับนี้อีกเพียง 3-4 ปี ไนจีเรียก็จะเผชิญกับภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างที่บางประเทศในยุโรปกำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้แล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีเงินไปใช้จ่ายในโครงการพัฒนาประเทศหรือโครงการทางด้านสวัสดิการสังคมน้อยลงอีกด้วย

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ประธานาธิบดี Goodluck Jonathan ผู้ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อเร็วๆนี้ จึงได้ตัดสินใจยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน และประกาศขึ้นราคาน้ำมันเบนซินไปกว่าเท่าตัว จากเดิมซึ่งเคยตรึงราคาอยู่ที่ 12.64 บาท/ลิตร โดยประธานาธิบดีระบุว่าจะนำเงินที่ประหยัดได้นี้ไปลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น โรงไฟฟ้า และถนนหนทาง เป็นต้น แต่ประชาชนก็ไม่พอใจและพากันออกมาประท้วง รวมทั้งมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ทั่วประเทศ กลายเป็นวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับไนจีเรียได้ถึงวันละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว ถ้ามีการปิดกั้นการส่งออกน้ำมันจริง อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น และกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

จะเห็นว่าปัญหาสำคัญที่เป็นปัญหาพื้นฐานของไนจีเรียคือปัญหาทางโครงสร้างการบริหารจัดการรายได้จากทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม และความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการกระจายความมั่งคั่งไปสู่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการอุดหนุนและตรึงราคาพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว

ดังนั้นแม้แต่ในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ถ้าบริหารนโยบายพลังงานผิดพลาดก็อาจนำประเทศชาติไปสู่หายนะได้ ทั้งนี้เพราะทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง เมื่อเราค้นพบก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าและต้องใช้อย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่สักแต่ว่าใช้ให้หมดๆไปในคนรุ่นเรา ต้องคำนึงถึงคนรุ่นหลังด้วย กรณีไนจีเรียจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเอง ถ้ากำหนดทิศทางพลังงานไม่ถูกต้องเสียแล้ว มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายก็ไม่มีประโยชน์ครับ



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,708 26-28 มกราคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น