วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สงครามโลกครั้งที่ 4

หากท่านมีเงินหรือทองจำนวนหนึ่งที่สะสมได้จากการทำงานอย่างหนักและด้วยความซื่อสัตย์มาตลอดชีวิตอยู่ในธนาคารในประเทศไทยที่เริ่มเกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ท่านจะตัดสินใจทำอะไรกับสมบัติเหล่านี้? ท่านอาจจะตัดสินใจขนออกไปฝากในธนาคารในประเทศที่คิดว่ามีความปลอดภัยกว่า คำถามต่อไปก็คือประเทศอะไรที่ปลอดภัยที่ท่านพอจะไว้ใจได้ในขณะนี้? ผมไม่ทราบว่าประเทศไทยมีทองหรือเงินฝากไว้ที่ประเทศใดในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา หากมีจริงก็คงจะต้องติดตามข่าวประเทศเวเนซุเอลาที่ถอนทองจำนวนแรกออกจากประเทศอังกฤษ 200 กว่าตันคิดเป็นเงินประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังกำลังจะถอนส่วนที่สองหรือสามอีกในเร็วๆ นี้


ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายและอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตัดสินใจดังกล่าว คำถามที่สองก็คือการตัดสินใจส่งทองกลับบ้านจะหนีพ้นอันตรายได้จริงหรือ? หากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากความหมดความน่าเชื่อถือในประเทศอังกฤษแล้วเวเนซุเอลาคงต้องหาประเทศที่มีระดับความน่าเชื่อถือที่สูงกว่า คำถามที่สามคือประเทศที่ว่านี้อยู่ไหน? ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือ สหรัฐฯ สหรัฐฯเป็นประเทศที่แปลกคือมีเงินไม่ขาดมือ แม้ขาดดุลการค้ามหาศาล ซึ่งคำนวณถึงวันนี้แล้วทุกครัวเรือนเป็นหนี้ประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นอย่างต่ำ สหรัฐฯต้องปัดกวาดบ้านให้ได้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สงครามของโลกครั้งต่อไปนี้สหรัฐฯจะไม่มีญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี เป็นคู่ต่อสู้หลักแต่จะเป็นทุกประเทศที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้าทวิภาคีกับสหรัฐฯซึ่งสหรัฐฯได้ตกลงไปแล้ว 17 ข้อตกลงและล่าสุดได้เพิ่มอีก 3 ประเทศคือเกาหลีใต้ ปานามาและโคลัมเบีย

หากมองไปข้างหน้าซัก 5 ปีเราก็อาจได้เห็นจำนวนข้อตกลงเพิ่มขึ้นระหว่างประเทศในกลุ่ม อาเซียน กับสหรัฐฯ และเมื่อเรามองให้ไกลออกไปอีกเราก็จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง อาเซียนกับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เมื่อถึงเวลานั้นสงครามก็อาจจะยุติเพราะสหรัฐฯได้ไปกว่าครึ่งโลกซึ่งเป็นครึ่งโลกที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในศตวรรษ 21

สิ่งที่เราจะได้เห็นหลังสงครามโลกครั้งนี้คือการปรับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพื่อลดตัวเลขขาดดุลการค้าด้วยการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงโดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับการผลิตและบริการที่ลดก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกันสหรัฐฯก็จะต้องแก้ปัญหาการบริโภคเกินขนาด(Overconsumption) ด้วยการทบทวนโครงสร้างภาษีในประเทศเสียใหม่ แต่การแก้ปัญหาก็คงจะยาก หากนักการเมืองจากสองพรรคของสหรัฐฯยังแตกแยกอย่างแรง(Polarized)เช่นในปัจจุบัน การประท้วงที่เรียกว่า "Occupy Wall Street" ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่สหรัฐฯทำข้อตกลงการค้าเสรีมากเกินไป แต่มาจากสาเหตุของความแตกต่างของรายได้ระหว่างผู้บริหารและพนักงานซึ่งมากถึง 300 เท่า สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ซึ่งแปลว่าตลอดเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมานั้นการจัดการเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีปัญหาคือผลิตภาพการผลิตสินค้าตกต่ำแต่กลับไปเพิ่มในภาคบริการทางการเงินซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่แท้จริง ประเด็นสุดท้ายคือสหรัฐฯ ต้องทบทวนนโยบายเศรษฐกิจที่ปล่อยให้ "ตลาด" เป็นตัวกำหนดมากเกินไป เครื่องมือที่สหรัฐฯ กำลังใช้อยู่คือการทำข้อ ตกลงฯดังที่ได้กล่าวข้างต้น และสุดท้ายผมเชื่อว่าสหรัฐฯ จะแก้ปัญหาการเมืองพร้อมๆ กับลดช่องว่างระหว่างชนชั้นได้

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเลือกเดินทางร่วมไปกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ให้ได้ การจะมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศใดนั้นไม่เป็นการสร้างปัญหาเพิ่มหากเรามีเป้าพัฒนาเศรษฐกิจประเทศอย่างชัดเจน



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,705 15-18 มกราคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น