วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

นโยบายพลังงาน'LPG'ใครได้ใครเสีย(จบ)

นโยบายพลังงานก๊าซแอลพีจี ใครได้ ใครเสีย (จบ) : รู้ทันกระแส เศรษฐกิจและพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

           มาพูดถึงนโยบายการขึ้นราคาแอลพีจีกันต่อครับ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 รัฐบาลได้มีมติปรับราคาจำหน่ายแอลพีจีให้แก่ภาคการใช้แอลพีจีต่างๆ โดยกำหนดให้ครัวเรือนตรึงราคาถึงสิ้นปี 2555 ในขณะที่ภาคขนส่งตรึงราคาถึงวันที่ 15 มกราคม 2555 และตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ให้เริ่มทยอยปรับขึ้นเดือนละ 0.75 บาทต่อกก. ส่งผลให้ราคาขายปรับขึ้นไปเป็น 21.13 บาทต่อกก. ก่อนที่รัฐบาลจะมีมติให้ชะลอการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน  

         แต่ล่าสุดรัฐบาลได้เห็นชอบให้มีการปรับราคาแอลพีจีภาคขนส่งขึ้นจากเดิมอีก ครั้งในอัตรา 0.25 บาทต่อกก. เป็น 21.38 บาทต่อกก. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป 

          ในด้านภาระการเงินที่ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยให้แก่ผู้ นำเข้า ซึ่งเงินดังกล่าวมาจากไหนถ้าไม่ใช่เงินที่เก็บจากผู้บริโภคน้ำมันเอง ในปี 2554 ราคาแอลพีจีในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 846 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แต่ราคาแอลพีจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศก็ยังคงถูกควบคุมโดยภาครัฐให้ อยู่ในระดับต่ำกว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลก ทำให้กองทุนน้ำมันต้องแบกรับภาระการนำเข้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2551 สะสมถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท
          หากภาครัฐยังคงตรึงราคาก๊าซแอลพีจีต่อไป ก็เท่ากับว่าเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้แอลพีจีมากขึ้น ทั้งๆ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาที่สูง (30 บาทต่อกก.) ปัจจุบันมีการเก็บเงินส่วนหนึ่งจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด รวมทั้งราคาก๊าซแอลพีจีในรูปของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้ในการชดเชยแอลพีจี
          ด้วยเหตุนี้ การอุดหนุนด้านราคาก๊าซแอลพีจี จึงไม่ต่างจากการนำเงินที่คนส่วนใหญ่จ่ายทุกครั้งที่เติมน้ำมัน ไปอุดหนุนคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงยานพาหนะราคาถูก เจ้าของโรงงานที่เห็นโอกาสในการลดต้นทุน ในจังหวะที่มีความต่างด้านราคาเชื้อเพลิงมากๆ รวมทั้งยังเปิดช่องให้แก่ขบวนการลักลอบนำออกไปจำหน่าย แทนที่จะนำเงินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง 

          ผมคิดว่า ทางออกที่ดีที่สุดในการใช้พลังงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ได้ผูกขาดเฉพาะกับ น้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ยังมีทางเลือกอื่นๆ สมควรให้เชื้อเพลิงแต่ละชนิดแข่งขันกันโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าจากราคา คุณภาพ และความเหมาะสมจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ แทนการแทรกแซงด้านราคา ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่อย่างไม่คาดฝัน ดังเช่นกรณีของก๊าซแอลพีจีครับ


--------------------
(นโยบายพลังงานก๊าซแอลพีจี ใครได้ ใครเสีย (จบ) : รู้ทันกระแส เศรษฐกิจ และพลังงาน : โดย ... ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) <Chodechai.energyfact@gmail.com>)

sour ce : http://www.komchadluek.net/detail/20120824/138383/%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99LPG%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%28%E0%B8%88%E0%B8%9A%29.html#.UFn7Ia5-m1s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น