วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โจทย์หนักรัฐบาล..!!แม้ศก.ฟื้นตัวเร็ว..แต่เงินเฟ้อกลับพุ่งในครึ่งปีหลัง

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวช้าๆ แต่ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯที่ตัวเลขการจ้างงานยังขยายตัวใน เกณฑ์ดีและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับดีขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยและยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาแต่ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจเอเชียแม้ชะลอตัว หากแต่การส่งออกก็เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อโลกยังคงมีอยู่จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น โดยเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและของภาคธุรกิจ และ กำลังซื้อในประเทศที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ แรงกระตุ้นจากภาครัฐ รวมทั้งภาวะการเงินที่ยังเอื้ออานวย จะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ดังจะเห็นได้จากการที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ออกมาระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภาพเศรษฐกิจของประเทศเห็นชัดเจนว่าฟื้นฟูขึ้นมากหลังน้ำท่วม จากตัวเลขทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ดีขึ้น การใช้จ่ายของภาครัฐบาล โดยเฉพาะงบประมาณในการวางระบบพื้นฐานของประเทศที่จะเริ่มทยอยออกได้ประมาณ ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งเมื่อรวมกับเงินทุนไหลเข้าจาก ต่างประเทศ การส่งออกกลับเข้าสู่ภาวะปกติในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เชื่อว่าทั้งปีไทยจะเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงทำให้เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 6-6.5

แต่สิ่งที่กังวลคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดพลังงานการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ เพราะประเทศพม่ากำลังร้อนแรง มีราคาที่ดินที่สูงขึ้น ค่าเงินจ๊าตปรับตัวแพงขึ้น เดิม 100 จ๊าต 4 บาท เป็น 5 บาท 50 สตางค์ หรือแพงขึ้นร้อยละ 40 โดยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอาจไหลกลับเข้าไปทำงานในประเทศตัวเองมากขึ้น ซึ่งต้องดูกันเป็นระยะ และต้องระวังในครึ่งหลังของปีนี้

ขณะที่ผลการสำรวจของศูนย์วิจัย ม.กรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ที่สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20-25 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ ที่ระดับ 47.31 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในสถานะอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 พบว่าสถานะทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 18.90 จุดและเป็นการปรับขึ้นในทุกปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนที่ได้ รับผลดีจากการเข้าสู่ช่วง high season ของการท่องเที่ยวและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม ใหญ่ ตามลำดับ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ในระดับ 62.44 และเมื่อมองออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก็ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 68.24 ซึ่งค่าดัชนีฯ ที่ระดับดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 หมายความว่า นักเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน

โดยปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญใน 3-6 เดือนข้างหน้าคือ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะที่ปัจจัยการบริโภคภาคเอกชนเป็นปัจจัยที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อน เศรษฐกิจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ

สอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ที่เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.55 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนเม.ย.เท่ากับ 67.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.ซึ่งอยู่ที่ 66.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 68.2 เพิ่มขึ้นจาก 67.4 ในเดือนมี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 97.1 เพิ่มขึ้นจาก 95.9 ในเดือนมี.ค.

เดือนเม.ย.ดัชนีความเชื่อมั่นของ ผู้บริโภคทุกรายการ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับตัวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่สถาน การณ์น้ำท่วมใหญ่ในเดือน ต.ค.2554 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำท่วมเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรง ตัวสูง ขณะที่รายได้ปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นและกังวลสถานการณ์ ไม่แน่นอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ การบริโภคประชาชนจะชะลอตัวลงจากปัจจุบันถึงกลางไตรมาส 2 ปีนี้ทำให้รัฐบาลต้องเร่งใช้นโยบายการคลัง ผ่านการใช้งบประมาณและนโยบายการเงินผ่านการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลควรหาสาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้นแค่ 2.47% ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพราะรัฐบาลจะระบุว่าสินค้าไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่ในความรู้สึกประชาชนเห็น ว่าของแพงขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงราคาสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าถูกลง อาจมาจากสาเหตุเศรษฐกิจซึมตัวประชาชนไม่ใช้จ่าย ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงมาก ทำให้รัฐต้องเข้ามาดูแลราคาสินค้าอย่างจริงจังและให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น เพื่อให้นำรายไดที่เพิ่มขึ้นมาใช้จ่าย

ด้านดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ศูนย์ วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ได้ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 5.6-5.8% จากเดิม 4.5% ซึ่ง เป็นผลมาจากปัจจัยบวกในประเทศ คือ การฟื้นตัวที่รวดเร็วของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการลงทุน

ทั้งนี้ ธุรกิจจะเติบโตภายใต้ภาวะที่ต้นทุนสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน หรือต้นทุนทางการเงิน ความเสี่ยงหลักในปีนี้ มาจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ที่อาจลุกลามไปยังประเทศใหญ่ๆ

ทั้งนี้ จีดีพีภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มเติบโตเทียบกับปีที่แล้วได้ในไตรมาส 2 และทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 8.5% ปัจจัยสำคัญ คือ ผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะลงทุนฟื้นฟูกิจการ ทำให้การผลิตกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับปกติ ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่สนับสนุนภาคการผลิตจะขยายตัวได้ 12% และการลงทุนของภาครัฐคาด ช้ากว่าที่คาดไว้ หรือไตรมาส 4 ของปี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้การใช้จ่ายโดยรวมเติบโตได้มากในไตรมาสสุดท้าย

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ จะอยู่ที่ 3.5-4% จากราคาสินค้าที่เพิ่มตามต้นทุนแรงงาน ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ประเมินจะทำให้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของธุรกิจไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.3% และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณ 0.7% และเริ่มเห็นการผลักราคาให้ผู้บริโภคแล้ว ส่วนราคาน้ำมันคาดว่าจะทรงตัวระดับนี้ไปถึงสิ้นปี หรือหากเลวร้ายที่สุดมีการปิดอ่าว ราคาน้ำมันจะพุ่งไปถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงสั้นไม่เกิน 1 เดือนก็จะกลับมาสู่ระดับปกติ

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้ดอกเบี้ยนโยบาย จะต้องปรับขึ้นมาสู้กับเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนมากกว่าความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ โดยคาดว่าจะทรงตัวระดับ 3% ถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้มีช่องว่างเหลือไว้ในกรณีที่จะต้องลดดอกเบี้ย หากเศรษฐกิจยุโรปเลวร้าย กว่าที่คาดไว้

ขณะที่บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์โดยระบุว่า แม้มีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะสามารถกลับมาขยายตัวในกรอบที่สูงกว่า 3.0% ในช่วงไตรมาส 2/55 (เร่งขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.3% ในช่วงไตรมาส 1/55) แต่ทิศทางของเงินเฟ้อที่น่าจะชะลอลงในช่วงไตรมาส 2/55 ไปอยู่ที่กรอบ 2.9-3.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ 2.0-2.3% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (จากค่าเฉลี่ย 3.4% และ 2.7% ในช่วงไตรมาส 1/55 ตามลำดับ) น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ 3% ไปตลอดในช่วงที่เหลือของไตรมาส 2/55

ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการกำหนดจุดยืนนโยบายการเงินของ ธปท.ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ท่ามกลางแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งที่มาจากการเพิ่มสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ค่าไฟฟ้า และราคาพลังงาน และวัตถุดิบบางประเภท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงก ว่า 4.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็อาจไล่ระดับเข้าใกล้ 3.0% ซึ่งเป็นกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อ 0.5-3.0% ของ ธปท. ดังนั้น ถึงแม้จะคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีโอกาสยืนที่ 3% ไปตลอดจนถึงสิ้นปี 2555 แต่ก็คงต้องยอมรับว่า โอกาสของการกลับมาส่งสัญญาณเชิงคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงท้ายๆ ปี ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

source : http://www.siamturakij.com/home/news/display_news.php?news_id=413359518

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น