วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บางประเด็นปัญหาพลังงานที่สังคมไทย(ยัง)ไม่สนใจ!

โดย ประสาท มีแต้ม

       ในช่วงไม่นานมานี้สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสังคมเครือข่ายออ นไลน์ได้ให้ความสนใจในปัญหาพลังงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 4-5 ปีก่อน บางคลิปมีผู้เข้าชมถึง 2.8 แสนรายในเวลาอันสั้น แม้จะเทียบกับ “เรื่องนี้ต้องถึงครูอังคณาแน่” (ที่มีผู้ชมกว่า 6 ล้านคน) ไม่ได้ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดกำลังใจต่อผู้ขับเคลื่อนเพื่อ สังคมที่ดีกว่าเดิม
      
       ประเด็นที่คนสนใจกันมากได้แก่ (1) น้ำมันแพง …เข้ากระเป๋าใคร? (2) ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่ทำไมน้ำมันที่ปั๊มกลับสูงขึ้น (3) ประเทศเรามีแหล่งปิโตรเลียมเยอะ แต่ทำไมรัฐได้ค่าภาคหลวงแค่ 12.5% ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก และ (4) ทำอย่างไรจึงจะเอา ปตท. กลับมาเป็นของรัฐดังเดิม
      
       เมื่อพูดถึงภาคไฟฟ้า(ซึ่งมีมูลค่า 4.8 แสนล้านบาท 1.5 แสนล้านหน่วย) คนในเมืองก็จะสนใจแต่ค่าเอฟที ในขณะที่คนชนบทที่เป็นเป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก็จะคัดค้านโรงไฟฟ้า สกปรก
      
       แม้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองควรจะต้องสงสัยตั้งคำ ถามและเรียกร้องสิทธิในการมีส่วนร่วมของตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ผมคิดว่าเท่าที่เป็นประเด็นมาแล้วนี้ยังไม่เพียงพอครับ ผมขอเพิ่มเติมบางประเด็นตามเนื้อที่ที่บรรณาธิการอนุญาตให้
      
       ขอเริ่มต้นด้วยภาพการ์ตูนซ้ายมือก่อนนะครับ (ขอโทษที่หาที่มาไม่เจอ) ในภาพมีคน 6 คนต่างโบ้ยกันไปมาเมื่อมีคำถามว่า “ใครทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น”หก คนที่ว่านี้ได้แก่ ความต้องการบริโภค (demand) บริษัทน้ำมัน (Big oil) รัฐบาล นักเก็งกำไร(speculator) นักสิ่งแวดล้อม และกลุ่มโอเปก
       ในประเด็นนี้ Bernie Sanders วุฒิสมาชิกอิสระจากรัฐ Vermont ของสหรัฐอเมริกาได้ตอบคำถามต่อ CNN(28 ก.พ. 55) ว่า “จงลืมกฎเกณฑ์เรื่องอุปสงค์ อุปทานที่คุณเคยอ่าน ราคาน้ำมันและก๊าซแทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เลย จากข้อมูลของ E.I.A. พบว่า อุปทาน(supply) ในวันนี้มีมากกว่า 3 ปีก่อนซึ่งราคาที่ปั๊มในวันนั้น 15.50 บาท/ลิตร(ผมแปลงให้เข้าใจง่าย) ในขณะที่วันนี้(ในอเมริกา) อุปสงค์ลดลงต่ำที่สุดนับจาก1997 แต่ราคามาอยู่ที่ 32.75 บาทต่อลิตร”
      
        วุฒิสมาชิกท่านนี้ยังกล่าวอีกว่า บริษัทน้ำมันได้ควักกระเป๋าของผู้บริโภคมาเป็นเวลานาน สร้างกำไรมหาศาล แต่ยังมีผู้ร้ายอีกตัวหนึ่งที่ซ่อนอยู่คือตลาด Wall Street ซึ่งเป็นตลาดล่วงหน้าโดยนักเก็งกำไร
      
        เมื่อ 10 ปีก่อน นักเก็งกำไรสามารถควบคุมได้เพียง 30% ของราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดล่วงหน้า แต่ปัจจุบันนักเก็งกำไรดังกล่าวสามารถควบคุมได้ถึงเกือบ 80% “นักเก็งกำไรพวกนี้ซื้อและขายน้ำมันแต่พวกเขาไม่เคยได้ใช้น้ำมันนี้แม้แต่ หยดเดียว หน้าที่ของพวกเขาคือการสร้างเงินให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”
      
        ปัจจุบันในแต่ละวัน ทั้งโลกมีการใช้น้ำมันประมาณ 85 ล้านบาร์เรล แต่มีการซื้อขายกันกว่าหนึ่งพันล้านบาร์เรลต่อวัน รายงานของ CNN ชิ้นนี้ซึ่งอ้างถึงผู้เชี่ยวชาญ Goldman Sachsและซีอีโอของบริษัท Exxon-Mobil ระบุว่า “กว่าร้อยละ 40 ของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นผลมาจากการเก็งกำไรในตลาด Wall Street”
      
        คราวนี้มาถึงภาพการ์ตูนทางขวามือครับ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใช้ชื่อว่า “ยึดวอลล์ สตรีท (Occupy Wall Street)” ได้แบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ 99% กับ 1% ภาพนี้สะท้อนว่าพวกเขากำลังปลุกคนชั้นกลาง แต่สื่อมวลชนได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มคน 1% ที่ขัดขวางการเคลื่อนไหว จริงหรือไม่จริงตีความเอาเองนะครับ
      
        ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยก็คือ ต้นทุนในการนำน้ำมันขึ้นมาจากสู่ผิวดิน (lifting cost) กับต้นทุนในการสำรวจ(finding cost) จากข้อมูลของ E.I.A.(หน่วยงานของสหรัฐอเมริกา) พบว่าต้นทุนรวมในช่วงปี 2550-2552 ในบริเวณตะวันออกกลางและเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่บาร์เรลละ $12.74 (หรือ 2.50 บาทต่อลิตร) และ $26.6 (หรือ 5 บาทต่อลิตร) ร้อยละ 75 ของน้ำมันดิบที่ประเทศไทยซื้อมาจากตะวันออกกลาง แต่ทำไมราคาจึงขึ้นไปอยู่ที่ $76 ต่อบาร์เรล(หรือลิตรละ 15 บาท) ได้อย่างไร? มันแพงกว่าที่ควรจะเป็นถึงกว่าเท่าตัว
      
       ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะสร้างความเข้าใจให้กับสังคม ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนมาจากการใช้พลังงานฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) ถึงประมาณร้อยละ 72 ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งมาจากน้ำมันและก๊าซ
      
       ปัญหาโลกร้อนอันตรายต่อชาวโลกอย่างไร? บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษได้คาดการณ์ว่าอีกประมาณ 40 ปีข้างหน้า ความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดจากปัญหาโลกร้อนจะมากกว่ารายได้ทั้งปีของคน ทั้งโลกรวมกัน น่ากลัว!
      
       ดังนั้น ต่อให้โลกนี้มีน้ำมันมากและราคาถูกราวกับน้ำทะเล แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถใช้ได้มากกว่านี้อีกแล้ว เพราะขีดจำกัดที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน ถ้าชาวโลกต้องการจะอยู่รอดปลอดภัยจะต้องร่วมกันลดการใช้พลังงานฟอสซิลเสีย ตั้งแต่บัดนี้ ทั้งนี้โดยการทำสองอย่างที่สำคัญคือ หนึ่ง หันไปใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งมีมากและคนธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ง่าย อสูรกายอย่าง Wall Street ก็คุมไม่ได้ และสองต้องใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
      
       ดังนั้น ในทัศนะของผมแล้ว ราคาน้ำมันควรจะแพงแต่ต้องไม่มีการโกง การปั่นราคา ต้องมีธรรมาภิบาล และเก็บน้ำมันไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ด้วย ไม่ใช่ล้างผลาญลงในเวลาอันสั้น นักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า “96% ของน้ำมันที่ถูกใช้ไปแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพิ่งมาใช้เอาในช่วง 65 ปีมานี้เอง” 


source : http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000062004 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น