สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทยที่การเกษตรพึ่งพาน้ำฝน
และฤดูกาลตามธรรมชาติ เป็นส่วนใหญ่ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ความแปรปรวนของฤดูกาล ภัยแล้ง น้ำท่วม ที่คาดว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร และการผลิตอาหารในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยพื้นฐานของการผลิต
ตัวอย่างที่เป็นไปได้ของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น เนื่องจากความรุนแรงของสภาพอากาศและเหตุการณ์ภูมิอากาศ จากการคาดการณ์ (projection) ถึงกลาง และปลายศตวรรษที่ 21 ดังตารางประกอบ
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก โดยอุณหภูมิมีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ (fertility) ของละอองเรณู (pollen) หรือเกสรตัวผู้ของพืช ซึ่งเมื่อเกิดการผสมกับเกสรตัวเมียจะทำให้พืชติดผล โดยละอองเรณูของพืชชนิดต่างๆ หรือชนิดเดียวกันแต่ต่างสายพันธุ์ มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิต่างกัน ข้าวบางสายพันธุ์มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิ เช่น ถ้าอุณหภูมิสูงเกินกว่า 36 องศาเซลเซียส จะทำให้ความสมบูรณ์ของละอองเรณูเหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 เป็นต้น ในขณะที่ข้าวบางสายพันธุ์อาจมีละอองเรณูที่ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่า เช่น ที่อุณหภูมิสูงถึง 38 องศาเซลเซียส เรณูยังมีความสมบูรณ์เกินกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น
นอกจากนี้ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็มีผลต่อความสมบูรณ์ของละอองเรณู ทั้งนี้ ความสมบูรณ์ของละอองเรณูจะลดลง เมื่อความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มขึ้นจาก 350 ส่วนในล้านส่วน เป็น 690 ส่วนในล้านส่วน ในปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งประมาณค่าโดย National Oceanic and Atmospheric Administration Earth System Research Laboratory มีค่าประมาณ 390.5 ส่วนในล้านส่วน เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือก่อนปี พ.ศ. 2293 (ค.ศ. 1750) ซึ่งมีค่าประมาณ 280 ส่วนในล้านส่วน หรือมนุษย์ใช้เวลาประมาณ 250 ปี ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นประมาณ 100 ส่วนในล้านส่วน
พืชอื่นๆ เช่น ถั่วลิสง (peanut) ความสมบูรณ์ของละอองเรณูลดลงอย่างมาก เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 32 องศาเซลเซียส และสูญสิ้นความสมบูรณ์ เมื่ออุณหภูมิสูงเกินกว่า 42 องศาเซลเซียส พืชตระกูลมะนาว (lime tree) มีละอองเรณูสมบูรณ์ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส เท่านั้น อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำกว่านี้ทำให้ความสมบูรณ์ของละอองเรณูลดลงมาก พืชเหล่านี้ เมื่อได้รับอุณหภูมิสูงแม้เพียงระยะสั้น เช่น การเกิดคลื่นความร้อน จะทำให้ผลผลิตลดลง เช่น ทำให้ข้าวเมล็ดลีบ แม้ยังสามารถเติบโตได้ เป็นต้น
การที่พืชชนิดต่างๆ หรือชนิดเดียวกันมีความทนต่ออุณหภูมิสูงได้ต่างกันทำให้สามารถคัดเลือกสาย พันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ หรือชนิดของพืชให้เหมาะสมต่ออุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกต่างๆ ได้ ทั้งนี้ จะต้องมีการรวบรวมสายพันธุ์ และมีแหล่งเก็บรักษาสายพันธุ์พืชต่างๆ ไว้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์ป่าซึ่งมีพันธุกรรมที่มีความทนต่อสภาพแวดล้อม ต่างๆ ได้ดี เนื่องจากปราศจากการดูแลและบำรุงโดยมนุษย์
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จะส่งผลต่อการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ คุณภาพของผลผลิต การบำรุงรักษาพืช การป้องกันศัตรูพืช การปรับปรุงคุณภาพของดินที่ใช้เพาะปลูก ย่อมส่งผลต่อราคาของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นไปตามกลไกทางเศรษฐกิจ หรืออุปสงค์อุปทานในหลักการตลาดด้วย และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาคพืชเกษตรเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงภาคปศุสัตว์ เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ต้องใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงการล้มตายของปศุสัตว์จากภัยแล้วหรือน้ำท่วม จึงอาจกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันราคาอาหารมนุษย์ให้สูง ขึ้น
แนวทางในการปรับตัวของภาคการเกษตรต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีหลายวิธีการ เช่น ปรับเปลี่ยนเวลาปลูก การปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ (crop variety) การสลับพื้นที่เพาะปลูก การฟื้นฟูการจัดการที่ดิน การควบคุมการพังทลายและสูญเสียหน้าดิน การปกป้องดินโดยการปลูกพืชคลุมดิน หรือการพัฒนาพันธุ์สัตว์และการคิดค้นนวัตกรรมโรงเรือนที่สามารถควบคุมสภาวะ อากาศได้ เป็นต้น วิธีการปรับตัวดังกล่าวยังต้องมีการศึกษาวิจัย เพื่อเตรียมรองรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยยังมีการศึกษาในลักษณะดังกล่าวไม่มากนัก การเตรียมการเพื่อรองรับปัญหา จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมรับมือภาวะดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการผลิตอาหารของไทยมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ...(แม้จะไม่สามารถทัดทานแนวโน้มราคาอาหารของโลกที่มีทิศทางพุ่งสูงขึ้นได้ ก็ตาม)
source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20120503/449852/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3-...%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น