วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การปรับโครงสร้างราคาพลังงานทำให้ราคาสินค้าแพงจริงหรือ?



ระยะนี้เรื่องของแพงกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในสื่อต่างๆจนกลบประเด็น อื่นๆเสียเกือบหมด และจำเลยตัวสำคัญที่ถูกโทษว่าเป็นตัวการที่ทำให้ของแพง (นอกเหนือไปจากรัฐบาล) ก็คือราคาพลังงานนั่นเอง ถึงขนาดพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเลยทีเดียว ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ทำให้พลังงานมีราคาสูงขึ้นทั้งน้ำมันและก๊าซ จนเป็นต้นเหตุให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น

เรื่องราคาน้ำมันแพงทำให้สินค้ามีราคาแพง พูดทีไรก็มีคนเชื่อทุกที ทั้งๆที่กระทรวงพาณิชย์เคยมีการทำสำรวจมาแล้วว่า สินค้าแต่ละชนิดมีน้ำมันเป็นต้นทุนในการผลิตน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานในการผลิต มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางแห่งใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิต และโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กใช้น้ำมันเตาในการผลิต ซึ่งพลังงานทั้งสามชนิด คือ ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันเตา ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในครั้งนี้

การปรับโครงสร้างราคาพลังงานคราวนี้พุ่งเป้าไปที่การปรับโครงสร้างราคา ก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและก๊าซ NGV เป็นหลัก ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งบ้าง แต่เป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารมากกว่าผู้ประกอบการขนส่งสินค้าครับ

เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องจ่ายค่าก๊าซ LPG/NGV ในราคาที่สูงขึ้น คือ รถแท๊กซี่ รถตู้ รถเมล์ รถโดยสารประจำทางที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้บางส่วนก็ยังได้รับความช่วยเหลือในรูปส่วนลดจากปตท.อยู่ 2 บาท/ก.ก. ยังไม่ได้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นการปรับโครงสร้างราคาในส่วนของ LPG/NGV จึงไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าแต่อย่างใด

อาจมีข้อโต้แย้งว่ามีรถบรรทุกสินค้าจำนวนหนึ่งซึ่งเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ NGV ได้รับผลกระทบทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ผมก็ต้องเรียนว่า จำนวนรถบรรทุกที่ใช้ NGV นั้นมีปริมาณแค่ 4%ของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมดเท่านั้น และรถบรรทุกที่ใช้ NGV ก็ไม่เคยใช้ราคา NGV ในการคิดราคาค่าบรรทุกสินค้าเลย จึงไม่มีสาเหตุใดๆให้เป็นข้ออ้างมาขอขึ้นราคาค่าบรรทุกสินค้า เพราะ NGV ขึ้นราคาได้

ตอนนี้ก็เหลืออยู่เพียงเหตุผลเดียวเท่านั้นนะครับที่จะใช้เป็นข้ออ้างใน การขึ้นราคาค่าขนส่งที่จะทำให้ต้นทุนค่าสินค้าแพงขึ้นได้ นั่นคือราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นทะลุลิตรละ 30 บาท ที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยตรึงราคาเอาไว้ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีนโยบายดังกล่าว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโจมตีนโยบายพลังงานของรัฐบาลชุดนี้ว่าผิดพลาด และเป็นต้นเหตุของสินค้าราคาแพงอยู่ในปัจจุบัน

ผมลองตรวจสอบย้อนหลังดูประวัติการขึ้นลงราคาน้ำมันดีเซลครั้งสำคัญๆของรัฐบาลชุดนี้พบเหตุการณ์ที่น่าสนใจดังนี้ครับ

27 ส.ค. 54   ลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 2.80 บาท/ลิตร + vat 0.20 บาท/ลิตร มีผลให้ราคาลดลง 3.00 บาท/ลิตร จาก 29.99 มาอยู่ที่ 26.99 บาท/ลิตร
13 ม.ค. 55   ขึ้นราคาดีเซลเกิน 30 บาทเป็นครั้งแรก โดยอยู่ที่ 30.49 บาท/ลิตร
16 ม.ค. 55   เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 60 ส.ต. ทำให้ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 31.13 บาท/ลิตร
12 มี.ค. 55   ราคาดีเซลขึ้นสูงสุดที่ 32.33 บาท/ลิตร หลังจากนั้นราคาปรับลดลงต่อเนื่อง 4 ครั้ง จนล่าสุด
9 พ.ค. 55    ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30.83 บาท/ลิตร

กล่าวโดยสรุปก็คือรัฐบาลนี้ได้ลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิครละ 3 บาท ตั้งแต่วันที่ 27 เดือนส.ค. 54 จนถึง วันที่ 16 เดือนม.ค. 55  แล้วจึงเก็บคืน 60 ส.ต. แสดงว่ารัฐบาลยังคงอุดหนุนอยู่อีกลิตรละ 2.40 บาท (นอกเหนือจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บอยู่เพียง 0.005 บาท/ลิตร จากที่เคยเก็บสูงถึง 5.31 บาท/ลิตร)
นั่นหมายความว่าขณะนี้รัฐอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลสูงถึง 7.705 บาท/ลิตร (2.40+5.305) .ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันเบนซินต้องจ่ายทั้งเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันและภาษี สรรพสามิตสูงถึงลิตรละ 11.00 บาท แล้วอย่างนี้ยังจะเรียกร้องให้ตรึงราคาดีเซลให้เกินลิตรละ 30 บาทอีก ผมว่ามันจะเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ได้ใช้สติปัญญามากจนเกินไป

ถ้าเรากลับไปทบทวนราคาน้ำมันดีเซลที่ผมยกมาให้ดูข้างต้น เราจะพบว่าราคาดีเซลที่สูงกว่า 30 บาท เพิ่งจะเริ่มมาได้เพียงแค่ 4 เดือน และที่สูงจริงๆ คืออยูระหว่าง 31-32 บาท ก็มีเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น เดือนนี้ราคาก็เริ่มลดลงแล้ว ดังนั้นถ้าจะมีผลกระทบต่อค่าขนส่งสินค้าจริงก็ไม่น่าจะมากนัก

อนึ่ง จากการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอิสระอีกหลายแห่ง พบว่าชนิดของสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้น ได้แก่สินค้าอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่หรือมีน้ำหนักมาก เช่น ปูนซีเมนต์ และเหล็กเส้นเป็นต้น สินค้าอุปโภคบริโภคโดยทั่วไปจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

ดังนั้นผมจึงไม่อยากให้เราด่วนสรุปว่าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเป็นต้นเหตุทำให้สินค้าราคาแพง
แต่ผมไม่ได้โต้แย้งนะครับว่าสินค้าราคาไม่แพง ผมยอมรับว่าสินค้าราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป แต่ไม่ใช่เพราะพลังงานราคาสูงขึ้นอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอย่างอื่นที่มีส่วน (อย่างสำคัญ) ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นด้วย

เรื่องการตรึงราคาพลังงานแล้วราคาสินค้าจะไม่แพง ใครจะเชื่อก็เชื่อไปเถิดครับ แต่ผมคนหนึ่งละไม่ขอเชื่อเด็ดขาด ก็เห็นๆกันอยุ่ในอดีตที่ผ่านมาหมาดๆนี่เอง นอกจากของแพงแล้ว แถมยังเอาเงินผมไปอุ้มก๊าซอุ้มดีเซลอีกด้วย !!!

มนูญ ศิริวรรณ

source : http://www.dailynews.co.th/article/825/114525

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น