วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เกษตรยั่งยืนคือทางรอด

โดย : อัญชลี เหมเงิน


การเกษตรต้องมีความยั่งยืน และสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และนี่คือเกษตรทฤษฎีใหม่

ความกระตือรือร้นที่ต้อง การให้ผลผลิตทันฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เกษตรกรหลายรายต้องการทางลัด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติและความเป็นอยู่ ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน จึงมีการนำเสนอแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ ร่วมกับชมรมสื่อบ้านนอก ส่งเสริมแนวทางเกษตรพอเพียง

   ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า พระองค์ท่านบอกเสมอว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อความมั่งคั่งมั่นคงของประเทศ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้พระองค์ท่านถูกอบรมมาอย่างดีในการคิดไตร่ตรองสิ่ง ต่างๆหรือทำสิ่งใดเพื่อประชาชนคนไทย

 "สิ่งที่พระองค์ท่านบอกแก่ข้าราชบริพารหรือผู้ที่ทรงรับใช้ถวายงานเป็น ประจำก็คือ การจัดตั้งโครงการต่างๆ ให้พึงระวัง อย่าแย่งงานหน่วยงานราชการทำ 60 ปีในพระราชดำริของพระองค์ท่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เข้าไปจัดตั้งโครงการก็คือ พื้นที่กลุ่มเสี่ยง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม พื้นที่ขาดแคลนและพื้นที่ที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำโครงการระยะสั้นใช้เวลาเพียง1 ปี”

 เมื่อโครงการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ผู้ที่ต้องดำเนินรอยตามพระราชดำริ ก็คือ ประชาชน พระองค์ท่านมีความประสงค์จะสร้างเครือข่ายให้ประชาชนสอนกันเอง และที่ศูนย์ฯ ของมูลนิธิชัยพัฒนา มีทุกอย่างให้ประชาชน ทั้งเรื่องดิน ป่า น้ำ และสัตว์ เมื่อประชาชนมาที่นี่ มีความสะดวกในการสอบถาม ปรึกษาหรือนำตัวอย่างดินมาตรวจ รวมทั้งมาขอกล้าไม้ไปปลูก ไม่ต้องลำบาก สถานที่แห่งนี้สามารถเลือกอบรมการทำเกษตรยั่งยืนได้ หลักสูตร 7 วันหรือ 15 วัน ก็ได้รับความรู้ พร้อมพันธุ์ไม้ไปต่อยอดในอนาคต โดยเฉพาะที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย

 เลขาธิการมูลนิธิฯ เล่าต่อว่า สาเหตุที่ตั้งชื่อห้วยทราย เพราะความแห้งแล้ง ทำให้ห้วยกลายเป็นทราย ประกอบกับที่นั่นมีเนื้อทรายจำนวนมาก และในหลวงทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด” เพราะเหตุนี้จึงเข้ามาฟื้นฟูอย่างจริงจัง พระองค์ท่านต้องการให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ ฟื้นฟูสภาพดิน น้ำ ป่า และสัตว์ มีแหล่งที่อยู่อาศัย ประชาชนสามารถปลูกพืชผักต่างๆ ได้

 "สิ่งสำคัญที่ทางโครงการหวังไว้ ก็คือ อยากให้เกษตรกรเลิกทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำเกษตรผสมผสานหรือทฤษฎีใหม่ เพราะเมื่อขาดแคลนทุนในการดำเนินชีวิต สามารถปลูกพืชเลี้ยงสัตว์หมุนเวียนหารายได้จากการขายผลผลิตแทนได้”

 ดร.สุเมธ  กล่าวอีกว่า  มีคนถามหลายครั้งถึงแรงบันดาลใจในการทรงงานของในหลวง พระองค์ท่านทรงตรัสเมื่อครั้งที่เสด็จไปต่างประเทศครานั้น ถ้าประชาชนไม่ทิ้งเรา เราก็ไม่ทิ้งประชาชน สิ่งนี้ที่พระองค์ท่าน ยังยึดไว้เสมอ หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ทรงเป็นตลอด 24 ชั่วโมง เป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำ”

 สำหรับ โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย  จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในโครงการในพระราชดำริ ทรงเริ่มให้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533 ที่นี่ คือ แหล่งบำบัดน้ำเสียและขยะในธรรมชาติมาใช้กับธรรมชาติ เช่น การนำพืชหรือหญ้ามากรองน้ำเสีย อย่าง ธูปฤาษี กกกลม และหญ้าแฝกอินโดนีเซียเป็นตัวกรองน้ำเสีย หรือระบบแปลงป่าชายเลนใช้การบำบัดที่เจือจางระหว่างน้ำทะเลกับน้ำเสีย ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับชุมชนหรือการเพาะเลี้ยงกุ้งที่มีพื้นที่ติดป่าชาย เลนได้ สิ่งเหล่านี้เป็นการดำเนินงานเพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชน และสามารถนำน้ำดีที่บำบัดแล้วไปใช้ได้ต่อไป

 ทางด้านโครงการอนุรักษ์พลังงานและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตไบโอดีเซล เป็นอีกโครงการที่พระองค์ท่านทรงเป็นผู้ริเริ่มคิดค้นและพัฒนา ทรงคำนึงถึงภาวะของพลังงานที่จะหมดลงในอนาคต สิ่งนี้ทำให้ประชาชนประจักษ์แล้วว่า ในหลวงของปวงชนชาวไทยทรงเป็นแนวทางที่ยิ่งใหญ่และมีแนวคิดที่กว้างไกล
 โครงการผลิตไบโอดีเซล ตั้งอยู่ที่พื้นที่ปลูกป่าชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโรงงานสกัดน้ำมันพืชและผลิตไบโอดีเซลครบวงจร เมื่อได้น้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากกระบวนการจากโรงงาน จึงนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล การผลิตไบโอดีเซลของที่นี่จะหลีกหนีปัญหาน้ำเสีย และน้ำมันพืชใช้แล้วในการผลิตมาจากโรงแรมแถวอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์และอ.ชะอำ  จ.เพชรบุรี
 ใจ ยินดี เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องตีลูกปาล์ม  อาชีพเดิมทำงานโรงงาน กระทั่งมีโอกาสมาทำงานโรงงานผลิตไบโอดีเซล 

 "ทำ มาได้ 5 ปีแล้ว ไม่คิดว่าปาล์มจะทำไบโอดีเซลได้ แต่เมื่อผมมาทำ จึงได้รู้ว่ากระบวนการผลิตเป็นอย่างไร  งานที่นี่เป็นอาชีพที่มั่นคง”

 ทางด้าน ประนอม แซ่เล้า วัย 64 ปี ทำงานที่โรงงานผลิตไบโอดีเซล กล่าวเเสริมว่า "แต่ก่อนผมทำเซรุ่มแก้พิษงูอยู่โรงงานรั้วติดกันนี่เองครับ เมื่อเกษียณแล้ว มีหัวหน้างานชวนมาทำงานที่นี่ ทำมาได้ปีกว่า โครงการนี้ช่วยให้ชาวบ้านมีความรู้และปลูกปาล์มเพื่อขายให้โรงงานผลิตไบโอ ดีเซล คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ที่บ้านผมไม่ได้ปลูกครับเพราะเนื้อที่ในการปลูกปาล์ม ต้องใช้พื้นที่ 50-60 ไร่ หรือ 100 ไร่ ปาล์มต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและที่สำคัญต้องดูแลอย่างดี ผลของปาล์มสามารถเก็บได้เรื่อยๆ เหมือนมะพร้าว ที่นี่ผลิตไบโอดีเซลได้ประมาณ 400 ลิตร/วัน แล้วแต่จำนวนปาล์มที่สามารถผลิตได้และกำลังคน คนงานมีประมาณ 11-12 คนที่ทำงานที่โรงงาน ส่วนการแปรรูปเป็นสบู่หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆก็จะมีคนงานและผู้เชี่ยวชาญอีกส่วน หนึ่งทำหน้าที่นี้ ส่วนพวกกากปาล์มหรือทะลายปาล์มสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังใช้ในการเพาะเห็ดฟาง ะลดรายจ่ายให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก ”

 การผลิตไบโอดีเซล นอกจากให้พลังงานที่มีคุณภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อให้เกิดอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน และเกษตรกรที่ทำสวนปาล์มเพื่อส่งขายให้แก่โรงงานผลิตไบโอดีเซลอีกด้วย ซึ่งมีหลายแห่งที่เริ่มดำเนินโครงการตามพระราชดำริ

source : http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/society/20120504/450246/%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94.html 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น