ตามแผนพลังงาน 20 ปี ฉบับล่าสุด (2553-2573) ของไทย
เน้นให้การผลิตไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อช่วยลดภาวะเรือนกระจก
โดยให้ใช้ ’ถ่านหินสะอาด กับพลังงานนิว เคลียร์“
เพื่อรับมือการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 1,200 เมกะวัตต์
เรื่องนิวเคลียร์อย่างที่บอก คนยังกลัวความปลอดภัยเรื่องกัมมันตภาพ
รังสีอย่างมาก แม้ทางวิชาการจะเป็นพลังงานที่สะอาดและถูกสุด
แต่ก็แพ้ความกลัวของคน ในไทยจึงต้องฝ่าด่านถ่านหินให้ได้ก่อน
ตามแผนช่วงปี 2562-2573 ทั้งรัฐและเอกชนต้องสร้างไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง รวม
7,200 เมกะวัตต์ แต่เอาเข้าจริง ทั้งรัฐและเอกชนก็ทุลักทุเลพอกัน
ถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอสุดโต่งไม่ต่างกัน อย่าง กฟผ.ไปจะนะ สงขลา
ไปนครศรีธรรมราช ก็ถูกไล่ จน กฟผ.เป็นฝ่ายหนีหัวซุกหัวซุน
ขณะที่ทุกรัฐบาลเอาตัวเองก็แทบไม่รอด เดี๋ยวปฏิวัติ เดี๋ยวยึดอำนาจ
เดี๋ยวนายกฯถูกขวิดตกเก้าอี้ จะเอาปัญญาที่ไหนไปอุ้ม กฟผ.
ขนาดมีการฆ่าเอ็นจีโอที่สมุทรสาคร ยังเอามาโยงเพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทั้ง ๆ ที่คนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกันเลย
โรงงานอุตสาหกรรมที่สั่งถ่านหินมาใช้เองก็เยอะแยะ
ถ่านหินได้ถูกทำให้เป็นผู้ร้ายตลอด เพราะเหตุนี้
ก็ไม่เถียง โรงไฟฟ้าลิกไนต์ (ถ่านหินชนิดหนึ่ง) ที่แม่เมาะ ของ กฟผ.
เคยเป็นผู้ร้ายฉกรรจ์ในอดีต
จะด้วยเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไม่พอหรือความชุ่ยของคน
กฟผ.ที่ทำให้เกิดมลพิษจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ชาวบ้านเรียก “ฝนเหลือง”
ทำให้ชาวบ้านเป็นโรคผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ แต่นั่นก็ผ่านมาเป็น 10
ปีแล้ว ผู้บริหาร กฟผ.ยุคใหม่ ไม่ได้อยู่หลังเขา จะได้ไม่ตื่นตัว
ก็แม้แต่รถไฟหัวกระสุน “ชินกังเซน” ที่เรานั่ง ยังติดประกาศตัวเบ้อเร่อ
“Green Car” ทั้งขบวน ทั่วโลกมีแต่ตื่นตัว
จัดประกวดองค์กรที่ไม่ทำลายธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีองค์กรไหนไล่แจกหน่วยงานที่ก่อมลพิษให้โลกบ้าง ไม่มีเลย
ต้นไม้ซักต้นใครไปโค่นมั่ว ๆ ยังถูกด่าหูชา แล้ว
กฟผ.จะไม่รู้ร้อนรู้หนาวหรือ เอ็นจีโอจึงต้องให้โอกาสโรงไฟฟ้า “Green Coal”
ถ่านหินสะอาด ได้เกิด มิใช่ต่อต้านหัวชนฝาเช่นทุกวันนี้!?!
อีกอย่าง แผลเก่า โรงฟ้าแม่เมาะ ก็เปลี่ยนไปเยอะแล้ว ปีที่แล้ว
กฟผ.เปิดบ้านโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
คนเป็นแสนแห่ไปเยือน-ไปกิน-ไปพักผ่อนกันเอิกเกริก นี่แสดงว่า กฟผ.มั่นใจ
เปิดให้คนเข้าไปตรวจสอบเต็มที่
น่าเสียดายที่ชุดโฆษณาที่ออกมาไม่ได้เน้นเปรียบเทียบสภาพโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เก่ากับใหม่ให้เห็นชัด ๆ จะจะไปเลยว่า ต่างกันราวฟ้ากับเหวยังไง ความสะอาด
อุปกรณ์ที่กำจัดมลพิษ มีแค่ไหน
เพราะเป็นจุดสำคัญที่ต้องสะสางให้แผลเก่าตกสะเก็ด ฝ่ายบริหาร
กฟผ.จะได้กล้าประกาศจุดยืน
ชูธงเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดอย่างมุ่งมั่น ไม่อ้อมค้อม
(นี่ก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งของสื่อ)
มีของดี จะไปกลัวอะไร!?!
โรงไฟฟ้าอิโซโกะของกลุ่ม J-Power ที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งเราไปยลนั้น
เค้ามีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เน้นสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ถ่านหินที่ถูกบดละเอียดถูกเก็บในไซโลและใช้สายพานแรงดันอากาศลำเลียงเพื่อ
ป้องกันการฟุ้งกระจาย โรงไฟฟ้าจึงสะอาดมาก
เถ้าถ่านหินแทบทั้งหมดถูกนำมารีไซเคิลเป็นส่วนผสมของปูนซีเมนต์
น้ำเสียจะถูกบำบัดให้สะอาดก่อนถูกทิ้ง
แม้แต่น้ำทะเลที่สูบเอามาใช้ปั่นกังหัน
ก่อนปล่อยกลับทะเลอีกครั้งยังถูกควบคุมความเร็วเพื่อไม่ให้เกิดคลื่นไปกระทบ
เรือในอ่าวโยโกฮามา
เช่นเดียวกับการขจัดมลพิษของโรงไฟฟ้าแม่เมาะปัจจุบัน รองฯ ธวัช
วัจนะพรสิทธิ์ ก็ยืนยันว่า ใช้ระบบ CEM หรือ Computerization Emission
Monitoring มานานแล้ว นั่นคือ ติดเครื่องอ่านมลพิษที่ปล่องไฟ 13
จุดและที่สถานีตรวจอากาศอีก 13 จุด ร่วมกับเครื่องอ่านของกรมควบคุมมลพิษอีก
3 ตัว เป็นการตรวจเช็กข้อมูลกัน มั่วไม่ได้ หลอกไม่ได้
และอยู่ระหว่างการแปลงผลออกมาเป็นภาษาง่าย ๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น
’หากมีการมั่วข้อมูล ชาวบ้านจะรู้ได้เลย
อยากให้ทุกคนได้เข้าไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะในวันนี้ จะได้ไม่ติดภาพเดิม ๆ”
ก็เหมือนที่ กฟผ.พานักข่าวเปิดหู เปิดตา ไม่ให้เป็นกบในกะลาครอบ นี่แหละ
ว่ากันว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นมี 3 อย่างเกิดขึ้นในโลก 1.
สร้างรถไฟความเร็วสูง ชินกังเซ็น 2. สร้างสถานีโทรทัศน์ เอ็นเอชเค และ 3.
จัดแข่งโอลิมปิก เพื่อประกาศให้โลกรู้ ญี่ปุ่นตื่นแล้ว
เอ็นเอชเคเกิดขึ้นก็เพื่อถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก
ญี่ปุ่นก้าวหน้าเพราะคนในชาติมีเหตุผล ทำงานหนัก
ตึกในโตเกียวเปิดไฟสว่างไสวถึงดึกดื่นค่ำมืดเพราะทุกคนทุ่มเทถึงชีวิตจิตใจ
เวลาเลิกงานบนหน้าปัดนาฬิกาไม่เคยทำให้คนญี่ปุ่นรีบกลับบ้านได้เลย
นึกภาพไม่ออก ถ้าไฟดับ คนญี่ปุ่น ธุรกิจ
อุตสาหกรรมใหญ่น้อยที่ใช้ไฟเพื่อสร้างผลผลิตให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญก้าว
หน้าเช่นทุกวันนี้ จะอยู่ยังไง
เป็นไปไม่ได้ที่ต้องการใช้ไฟ แต่ไม่ยอมให้สร้างโรงไฟฟ้า
แม้แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เหมือนที่เอ็นจีโอไทยกำลังก่อกระแสใหม่ตอนนี้
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกปิดลงทั้งหมด จะทำให้หน้าร้อนอันใกล้นี้
คนญี่ปุ่นจะไม่มีไฟฟ้าใช้ถึง 20% กลายเป็นประเด็นร้อนที่ รัฐบาลนายกฯโนดะ
กำลังถูกไล่บี้อยู่ว่าจะแก้ปัญหายังไง เอ็นจีโอในญี่ปุ่นก็กล่าวหาว่า
การปล่อยให้ไฟฟ้าขาด
เป็นแผนของบริษัทไฟฟ้าที่จะบีบให้รัฐบาลต้องยอมให้เปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ใหม่อีกรอบ เพราะยังไงก็ตาม ญี่ปุ่นไฟขาดแคลนไม่ได้
แล้วถ้าคนไทยไม่มีไฟฟ้าใช้บ้างล่ะ
ใครจะรับผิดชอบ.
source : http://www.dailynews.co.th/article/223/115747
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น