วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพบผู้ว่าฯ ตราดจี้แก้ปัญหาลอบส่งออกก๊าซ



      ตราด - อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานพบผู้ว่าฯตราด จี้ปัญหาลักลอบส่งก๊าซขายตปท. พบเสียหายปีละพันล้าน ระบุใช้ผิดประเภทอีกมาก ประกาศส่ง จนท.ลงตรวจ หลังพบ อ.คลองใหญ่ใช้เพิ่ม 10 เท่าตัว ผู้ว่าฯ ตราด ตีกรอบแก้ไขร่วมกระทรวง

วันนี้( 23 พ.ค. ) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดตราด นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน พร้อมคณะเดินทางติดตามสถานการณ์การลักลอบส่งออกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) กับ หน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดตราด โดยมีนางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด ศุลกากรคลองใหญ่ร่วมหารือแนวทางป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกก๊าซหุงต้มไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายวีระพล กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อร่วมชี้แจงกับผู้ว่าราชการ 3 จังหวัด ชายแดน คือ จ.จันทบุรี จ.ตราด และ จ.สระแก้ว เพื่อร่วมรับฟังข้อมูลในเรื่องการค้าแก๊ส LPG ในจังหวัดชายแดนว่า แต่ละจังหวัดเป็นเช่นใด และมีข้อมูลในการใช้และการลักลอบออกไปในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน มีการนำแก๊ส LPG มาใช้ผิดประเภทตามที่กฎหมายกำหนดมากน้อยเพียงใด เนื่องจากทางกรมได้มีการกำหนดใช้ในแต่ละประเภทแล้ว ห้ามมีการใช้ผิดประเภท ทั้งในครัวเรือน ในโรงงานและในการขนส่ง

สิ่งที่เห็นชัดเจนมากที่สุดก็คือสาเหตุจูงใจที่มีผู้ลักลอบนำก๊าซ LPG ส่งไปขายในกัมพูชา คือ ราคาในไทยกำหนดไว้ 18 บาท/กก. แต่เมื่อนำไปขายในกัมพูชามีราคาถึง 40 บาท/กก.
ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมจะต้องขอความร่วมมือจากตำรวจ ทหาร และศุลกากร ในการป้องกันและควบคุมไม่ให้มีการใช้ผิดประเภท และมีการลักลอบเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน

“ตัวเลขที่จะทราบแน่ชัดว่าจะลักลอบไปเท่าไรนั้นไม่มีเป็นตัวเลขแน่นอน แต่ในการใช้ในครัวเรือนปกติจะเพิ่ม 3-4% แต่ในจำนวนนี้จะเพิ่ม 8% บางส่วนใช้ผิดประเภทไปใช้ในอุตสาหกรรม แต่ที่ลักลอบออกนอกประเทศไม่สามารถบอกได้เป็นตัวเลขแน่ชัด แต่หากประเมินแล้ว 1 ปีน่าจะเกิน 1,000 ล้านบาท”

นายวีระพล กล่าวว่า เรื่องนี้ ได้คุยกับผู้ว่าฯ และพลังงานจังหวัดให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาให้ พลังงานจังหวัดเป็นเลขาฯ เพื่อประสานและเข้าตรวจการทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กปม. (คณะกรรมการปราบปรามน้ำมันเถื่อน) ก็ได้มีการปราบปรามอยู่แล้ว

นายวีระพล กล่าวด้วยว่า ในการร่วมมือกับประเทศกัมพูชาเพื่อร่วมกันปราบปรามและป้องกันนั้น คงยังไม่ทำถึงระดับนั้น แต่จะให้ กปม. ที่มี 15 ชุด ออกปราบปรามในจุดที่เป็นจุดเสี่ยง ส่วนจังหวัดก็จะมีการตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบว่าเมื่อมีการนำแก๊ส LPG จากโรงงานมาจะมีใบกำกับว่าจะมาเพื่อการอะไร ซึ่งมีการนำมาใช้ผิดประเภทหรือไม่ เพราะหากผิดจะถูกดำเนินคดี ต้องอาญาที่มีโทษ 10 ปี และปรับ 3 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนนางสาวเบญจวรรณ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้ทำความเข้าใจกับส่วนราชการและการควบคุม การลักลอบ รวมทั้งช่องทางการขายแก๊สได้มีการกระทำผิดและมีปริมาณการใช้ที่เกินกับความเป็นจริงแค่ไหน ประเด็นในเรื่องการลักลอบส่งไปยังต่างประเทศ อธิบดีได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบตัวเลขข้อเท็จจริงว่าตรงกับข้อมูลของจังหวัด และสอดรับกันหรือไม่ และการลักลอบส่งไปจำหน่ายในกัมพูชาจะมีการร่วมมือกับอธิบดีเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังต่อไป

สำหรับตัวเลขที่พลังงานจังหวัดรายงานต่อที่ประชุมปรากฏว่า เดือนมกราคม 2555 มีปริมาณของแก็สที่นำมาจากคลังก๊าซบ้านโรงโป๊ย 95,000 กิโลกรัม เดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีปริมาณที่สูงขึ้นเป็น 700,000 กิโลกรัม และเดือนมีนาคม 2555 มีปริมาณ 800,000 กิโลกรัม ที่โรงเก็บแก็ส 2 แห่ง ใน อ.คลองใหญ่ ได้สั่งเข้ามาเก็บไว้ในพื้นที่ อ.คลองใหญ่ โดยผ่านด่านตรวจศุลกากรแล้วทั้งหมด
source : http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000063571

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น